พบผลลัพธ์ทั้งหมด 44 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11486/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิรับเงินชดเชยจากผลกระทบเขื่อนเป็นมรดกได้ การปลอมเอกสารทำให้ทายาทเสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าชดใช้
แม้ขณะที่ ก. ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2540 ก. ยังไม่มีสิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยเพราะคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติให้ผู้ที่ถูกน้ำท่วมอันเป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรได้รับสิทธิเช่นว่านั้น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรีจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ ก. มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายและมิใช่เป็นมรดกของ ก. ผู้ตายก็ตาม แต่ ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะมรดก เป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชย ดังนั้น สิทธิได้รับจัดที่ดินและการชดเชยของ ก. จึงควรตกทอดได้แก่ทายาทของ ก. เสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปลอมคำขอสละมรดกสิทธิการได้รับจัดที่ดินและการชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 และใช้เอกสารปลอมดังกล่าว จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นบุตรของ ก. ไม่ได้รับเงินชดเชยตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของ ก. จึงได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสามจึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งได้แก่การคืนทรัพย์สินอันโจทก์ร่วมทั้งสามต้องเสียไปจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกอันเป็นการกระทำละเมิดหรือใช้ราคาทรัพย์ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดพยายามฆ่าจากไม้เบสบอล ศาลพิจารณาจากบาดแผลร้ายแรง เจตนา และการชดเชยความเสียหาย
ผู้เสียหายถูกไม้เบสบอลตีจนหมดสติไปทันทีในที่เกิดเหตุและต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกันกว่า 2 เดือน โดยอาการไม่ดีขั้น ต้องให้อาหารเหลวทางจมูกและพูดจาไม่ได้ ขณะที่ผู้เสียหายมาเบิกความเป็นระยะเวลาหลังเกิดเหตุ 1 ปีเศษ ผู้เสียหายต้องนั่งรถเข็นไม่สามารถยืนได้ พูดแต่ละคำด้วยความยากลำบาก แสดงให้เห็นชัดว่า จำเลยที่ 2 ใช้ไม้เบสบอลยาวประมาณ 1 เมตร ตีที่ศีรษะผู้เสียหายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญอย่างแรง แม้ตีเพียงครั้งเดียวก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มุ่งหมายจะให้เสียผู้เสียถึงแก่ความตาย เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับช่วงสิทธิในสัญญาประกันภัย: โจทก์ได้รับชดเชยค่าเสียหายเต็มจำนวนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยอีก
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้รถยนต์ของโจทก์เสียหายต้องนำรถยนต์ไปซ่อมที่อู่บริษัท ท. และชำระค่าซ่อมแก่บริษัทดังกล่าว ขณะยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยทั้งสองยังมิได้ชำระค่าซ่อมแก่บริษัทดังกล่าวและยังมิได้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าวันที่ 11 เมษายน 2545 บริษัท พ. ได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ให้แก่บริษัท ท. จำนวน 654,568.68 บาท ถือว่าโจทก์ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินค่าซ่อมเต็มจำนวนตามที่เสียหายแล้วจากบริษัท พ. ย่อมทำให้บริษัท พ. เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยโดยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง การที่จะบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าซ่อมแก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องอีกจะมีผลทำให้โจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับจริง จึงไม่อาจบังคับให้ได้ ส่วนการที่บริษัท พ. ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจะใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่บริษัทดังกล่าวจะใช้สิทธิเรียกร้องต่อไป หาทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเกินกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกระทำละเมิดจากการสำแดงเท็จเพื่อรับเงินชดเชยภาษีอากร และความรับผิดชอบของหุ้นส่วนผู้จัดการ
การที่จำเลยที่ 1 สำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกฉบับพิพาท โดยไม่มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีและไม่มีสิทธิโอนสิทธิตามบัตรภาษีให้บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 คือวันที่จำเลยที่ 3 รับบัตรภาษีพิพาทไปจากโจทก์ มิใช่นับแต่วันที่มีการนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย