คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ทรัพย์สินทางปัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 89 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2532

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนแบบเครื่องหมายการค้าจนเกิดความสับสน และการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้ง 3 แบบ ปรากฎอยู่ที่กระป๋องบรรจุขนมปังกรอบกับที่กล่องบรรจุขนมปังกรอบของโจทก์ เมื่อนำกล่องบรรจุขนมปังกรอบของจำเลยมาเปรียบเทียบกับกล่องบรรจุขนมปังกรอบของโจทก์กับนำกระป๋องบรรจุขนมปังกรอบของจำเลยมาเปรียบเทียบกับกระป๋องบรรจุขนมปังกรอบของโจทก์ จะเห็นได้ว่ากล่องและกระป๋องดังกล่าวของจำเลยมีขนาดเท่ากับกล่องและกระป๋องดังกล่าวของโจทก์ทั้ง 6 ด้าน รูปร่างลักษณะของกล่องและกระป๋องตลอดจนฝาก็เหมือนกัน สีและภาพต่าง ๆ ในตำแหน่ง เดียวกันก็เหมือนกัน ขนาดของภาพและตัวอักษรที่อยู่ในตำแหน่ง เดียวกันก็เท่ากันนอกจากนี้ยังมีตัวอักษรที่เหมือนกันคือคำว่า"CREAMCRACKERS" และคำว่า "EXTRALIGHT" ด้วย ส่วนตัวอักษรที่ต่างกันก็คือ ของโจทก์ใช้ คำว่า "JACOB&COS" ส่วนของจำเลยใช้คำว่า "CHITCHATCO.,LTD." ของโจทก์ใช้ คำว่า "JACOB'S"ของจำเลยใช้ คำว่า "DRAGONBRAND" สำหรับผู้ที่อ่านอักษรโรมันไม่ได้ หากได้ เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยในขณะเดียวกันก็ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีอะไรแตกต่างกันบ้าง แม้ผู้ที่อ่านอักษรโรมันได้ หากไม่พิจารณาให้รอบคอบหรือได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่าง เวลากันก็น่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าได้ เลยเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏที่กล่องขนมปังกรอบและกระป๋องขนมปังกรอบของจำเลยจึงมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เริ่มมีการจดทะเบียนในประเทศไทยไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะเริ่มดำเนินกิจการ จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยผลิตสินค้าโดย ใช้ เครื่องหมายการค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยใช้ เครื่องหมายการค้าดังกล่าว และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งมิใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่สามารถได้ กรรมสิทธิ์มาโดย การครอบครองปรปักษ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6808/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญา: การซื้อกิจการ ไม่ใช่การรับโอนสิทธิเรียกร้อง ทำให้ศาลไม่รับวินิจฉัยประเด็นนี้
เมื่อตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ได้รับสิทธิมาโดยการเข้าซื้อกิจการของบริษัท ซ. มิใช่อ้างว่าได้สิทธิมาโดยการรับโอนสิทธิเรียกร้อง แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบ ทำนองว่าการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างบริษัท ซ. กับโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีก็ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัท ซ. กับโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องจึงไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหานี้จึงถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 (เดิม) ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6807/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความในคดีทรัพย์สินทางปัญญา: จำเลยต้องยกอายุความชัดเจน ศาลไม่วินิจฉัยเอง
จำเลยให้การว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับค่าตอบแทนการจำหน่ายค่าระวางขนส่งสินค้าระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2536 ถึง 15 กรกฎาคม 2552 ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 10 ปี คำให้การดังกล่าวไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ชัดแจ้งว่า คดีขาดอายุความเรื่องใด คำให้การของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องสำหรับค่าตอบแทนการจำหน่ายค่าระวางขนส่งสินค้าช่วงเวลาดังกล่าว ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4505/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญา: อำนาจฟ้อง, การแก้ไขคำฟ้อง, และผู้ถูกฟ้องที่ไม่ใช่ผู้โต้แย้งสิทธิ
โจทก์ระบุตัวบุคคลที่จะถูกฟ้องในช่องชื่อคู่ความกับที่บรรยายว่าขอยื่นฟ้องผู้ใดขัดกันเอง ทั้งการที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องมาในอุทธรณ์โดยขอเพิ่มกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาเป็นจำเลยในคดีอีกคนหนึ่งไม่ใช่การแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย และเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องหลังจากที่ศาลทรัพย์สินฯ มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องแล้ว ล่วงเลยเวลาที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 180
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามในคำสั่งให้ยกคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสามเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชาของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผู้แทนของกรม และเป็นผู้ที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจพิจารณาและออกคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับสิทธิบัตร จำเลยทั้งสามจึงไม่ใช่ผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการพิจารณายกคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 74 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55 ซึ่งชอบที่ศาลทรัพย์สินฯ จะมีคำสั่งยกฟ้อง การที่ศาลทรัพย์สินฯ เพียงแต่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง อันเป็นการสั่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 18 จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2280/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาเหตุงดบังคับคดี: ไม่จำเป็นต้องไต่สวนเสมอไป
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่จะใช้ดุลพินิจพิจารณาเหตุผลตามรูปคดีว่ามีเหตุสมควรที่จะงดการบังคับคดีไว้หรือไม่ คำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 เป็นคำขอให้ศาลสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ เพื่อบังคับตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 25 ซึ่งมิได้บัญญัติว่าศาลต้องออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอโดยต้องทำการไต่สวนก่อน ดังนั้นหากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงแห่งคดีเพียงพอที่จะวินิจฉัยคำขอของจำเลยที่ 2 แล้วก็ไม่จำต้องทำการไต่สวนคำขอ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการไต่สวนและให้ยกคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยที่ 2 นั้นเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9971/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายบริการ "SINGAPOREAIR" ไม่เป็นเครื่องหมายบ่งเฉพาะและขัดต่อกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
โจทก์นำสืบว่า โจทก์ประดิษฐ์คำว่า "SINGAPOREAIR" ขึ้นใหม่โดยนำคำว่า "SINGAPORE" และ "AIR" มาเรียงต่อกันเกิดเป็นคำใหม่และไม่มีคำแปลหรือความหมายตามพจนานุกรม แม้คำที่โจทก์นำมาเรียงต่อกันจะเป็นภาษาโรมันขึ้นใหม่เพราะเรียงอักษรติดต่อกันไป แต่โจทก์และประชาชนทั่วไปก็เรียกขานว่า สิงคโปร์แอร์ ซึ่งเป็นคำเรียกขานของคำเดิมที่นำมาเรียงต่อกันนั่นเอง คำว่า "SINGAPORE" ตามพจนานุกรมและความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง ประเทศสิงคโปร์ และคำว่า "AIR" แปลว่า อากาศจึงไม่อาจถือได้ว่าคำว่า "SINGAPOREAIR" ไม่มีคำแปลดังที่โจทก์กล่าวอ้างได้ เมื่อเครื่องหมายบริการคำว่า "SINGAPOREAIR" ของโจทก์นำมาใช้กับบริการในจำพวก 39 รายการบริการการขนส่งทางอากาศ การขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า ฯลฯ ย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของการบริการโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)
คำว่า "SINGAPORE" แปลว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชื่อของรัฐต่างประเทศ ถือได้ว่าเครื่องหมายบริการ คำว่า "SINGAPOREAIR" ของโจทก์มีชื่อของรัฐต่างประเทศอยู่ด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของประเทศสิงคโปร์ให้นำคำว่า "SINGAPORE" มาใช้เป็นชื่อทางการค้า คำขอของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5329/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายบริการที่คล้ายคลึงกัน ละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา
บริษัทในเครือโจทก์ประกอบกิจการขายอาหารประเภทโดนัทมาเป็นเวลานานหลายสิบปี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคจนมีการขยายกิจการไปหลายแห่งทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ แสดงถึงการเป็นกิจการขนาดใหญ่มีสาขาเครือข่ายมาก ถือได้ว่าเป็นกิจการที่มีชื่อเสียง และมีการประชาสัมพันธ์โดยเปิดเว็บไซต์ให้บุคคลเข้าดูรายละเอียดทางอินเทอร์เน็ตได้ ทั้งคำว่า "KRISPY KREME" ซึ่งมีลักษณะเลียนจากคำว่า "CRISPY CREAM" โดยมีเสียงอ่านเป็นทำนองเดียวกันนั้น มีลักษณะให้เห็นได้ว่าเป็นคำประดิษฐ์ที่ใช้ความคิดสร้างคำโดยนำคำ 2 คำ มาใช้ประกอบกัน ทั้งที่คำทั้งสองไม่น่าจะใช้ประกอบกันได้เนื่องจากคำว่า CRISPY ซึ่งย่อมเข้าใจได้ตามปกติว่ามีความหมายว่ากรอบ ขณะที่คำว่า CREAM เป็นคำที่หมายถึงครีมที่มีลักษณะเหลวเป็นปกติ เมื่อนำมาใช้ประกอบกันจึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน จึงเป็นการใช้คำที่แปลกไปจากการใช้คำตามปกติธรรมดาโดยทั่วไป ย่อมดึงดูดและสร้างสรรค์ให้เกิดความสนใจรวมทั้งช่วยให้สังเกตจดจำได้ดีมีลักษณะเด่น มีลักษณะที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ดังนี้ที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบริษัทว่า "บริษัท ค." ซึ่งตรงกับคำว่า "CRISPY CREAM" ทั้งที่เป็นคำที่มีความแปลกเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากที่ไม่น่าจะมีผู้อื่นนำใช้พ้องกันโดยบังเอิญเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าการใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 เช่นนี้เป็นการลอกเลียนชื่อทางการค้าที่มีชื่อเสียงของโจทก์แม้เครื่องหมายบริการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมาย โดยใช้คำว่า "CRISPY CREAM" ประกอบกับภาพประดิษฐ์ก็ตาม แต่ก็ย่อมเห็นได้ชัดว่าคำว่า "CRISPY CREAM" ที่ใช้นี้ย่อมเป็นคำเรียกขานถึงเครื่องหมายบริการและกิจการบริการของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ซึ่งเมื่อเป็นการนำมาใช้โดยไม่สุจริตแล้ว การใช้ชื่อบริษัทของจำเลยที่ 1 ก็ดี การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวก็ดี ย่อมล้วนเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 และเป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้สาธารณชนผู้พบเห็นการให้บริการด้านจัดหาอาหารและเครื่องดื่มสำหรับการประชุมและสัมมนาภายใต้ชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และเครื่องหมายบริการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนที่คล้ายกับโจทก์ย่อมมีโอกาสเข้าใจไปได้ว่า การให้บริการของโจทก์และจำเลยที่ 1 มีภาพลักษณ์และชื่อเสียงในทางธุรกิจในมาตรฐานเดียวกัน การใช้ชื่อทางการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์แล้ว จึงชอบที่โจทก์จะมีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวได้
คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายบริการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนซึ่งโจทก์ยื่นคำคัดค้านอ้างว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้อันเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 38 วรรคสอง ซึ่งศาลต้องวินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการหรือไม่ โดยหากฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 ก็แสดงว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ซึ่งไม่มีสิทธิจดทะเบียน แล้วพิพากษาไปตามที่ฟังได้ดังกล่าว และมีผลให้นายทะเบียนไม่อาจมีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการให้จำเลยที่ 1 ตามคำขอจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้โดยไม่จำต้องพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนแต่อย่างใด
นอกจากนี้โจทก์ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการเฉพาะกับสินค้าหรือบริการที่ได้จดทะเบียนไว้ และอาจห้ามจำเลยที่ 1 ขายสินค้าหรือให้บริการในลักษณะลวงขายหรือลวงการให้บริการให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์หรือบริการของโจทก์เท่านั้น หากจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อจำเลยที่ 1 ประกอบการอย่างอื่นโดยไม่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการในรายการเดียวกับที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้หรือไม่ได้ลวงขายสินค้าหรือลวงให้บริการ จำเลยที่ 1 ก็ยังกระทำได้ โจทก์ยังไม่มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบริษัทว่า บริษัท ค. โดยเด็ดขาดทุกกรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3377/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญาต้องแสดงรายละเอียดการกระทำผิดที่ชัดเจน มิฉะนั้นศาลอาจยกฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ไซยาโนเทค ไบโอแอสติน (Bioastin) เมื่อประมาณต้นปี 2555 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันถึงวันฟ้อง จำเลยได้ลงโฆษณาสินค้าทางอินเทอร์เน็ท ชื่อเว็บไซต์ www.เจ้าแม่อาหารเสริม.com อ้างว่าจำเลยเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมประเภทสาหร่ายแดงไบโอแอสติน (Bioastin) ซึ่งเป็นความเท็จ รายละเอียดปรากฏตามคำโฆษณาของจำเลยในเว็บไซต์ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาชื่อ รูป และรอยประดิษฐ์ ไซยาโนเทค ไบโอแอสติน (Bioastin) ในการประกอบการค้าของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์มาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้าหีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน โดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าไซยาโนเทค ไบโอแอสติน (Bioastin) หรือการค้าของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์ และจำเลยไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเท็จอย่างไรเพื่อให้เสียความเชื่อถือในสถานที่การค้า สินค้า อุตสาหกรรมหรือพาณิชย์การของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์ โดยมุ่งประโยชน์แก่การค้าของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) (3) และ 275 และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า สินค้าที่จำเลยจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์ และจำเลยเป็นผู้ปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108, 109 และ ป.อ. มาตรา 273, 274 หรือจำเลยเป็นผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามมาตรา 108 หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 หรือ 109 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า บริษัทไซยาโนเทค จำกัด เป็นเจ้าของสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใด และสินค้าที่จำเลยจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด อย่างไรอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 36, 38 และ 85 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ซึ่งโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยมาอีกเช่นกัน ฟ้องโจทก์จึงมิได้แสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับการกระทำนั้นๆ พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาความผิดดังกล่าวได้ดีตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14503/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ที่ขัดแย้งกับคำรับสารภาพเดิม และการแก้ไขโทษทางอาญาในคดีทรัพย์สินทางปัญญา
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าโทรศัพท์จำนวน 1 เครื่อง ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "NOKIA" ของผู้เสียหาย อันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้โดยชอบแล้ว โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีการปลอมเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของผู้เสียหายดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ตามคำฟ้องดังกล่าว แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้วจำเลยกลับอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดเพราะจำเลยเป็นเพียงผู้รับจ้างขายสินค้า มิใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์ ไม่ทราบแหล่งที่มาของโทรศัพท์ของกลาง รวมทั้งไม่ทราบว่าโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำเลยทำงานเป็นพนักงานขายโทรศัพท์ที่ร้านเกิดเหตุเพียงสองเดือนเศษก่อนถูกจับกุมจึงไม่มีความถนัดรอบรู้ในชนิดสินค้าที่เพิ่งรับหน้าที่ขาย ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13585/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความทางอาญาที่ไม่สมบูรณ์และการระงับคดีทรัพย์สินทางปัญญา ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาและจำเลยยื่นอุทธรณ์แล้ว การพิจารณาว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปหรือไม่และต้องจำหน่ายคดีในส่วนดังกล่าวหรือไม่จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ การที่ศาลดังกล่าวมีคำสั่งว่าผู้เสียหายกับจำเลยเป็นการยอมความกันโดยชอบ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 ระงับ และจำหน่ายคดีส่วนดังกล่าวออกจากสารบบความ จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศชอบที่จะมีคำสั่งในส่วนดังกล่าวเสียใหม่
ตามรายงานสรุปผลการไกล่เกลี่ยของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยแถลงขอชำระเงินบรรเทาค่าเสียหาย ฝ่ายผู้เสียหายแถลงตกลงรับเงินดังกล่าว แต่ในส่วนของคดีขอให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่าผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความในทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการยอมความทางอาญาโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 จึงไม่ระงับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
of 9