คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บัญชีเดินสะพัด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 98 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3567/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบัญชีเดินสะพัด: การคิดดอกเบี้ยทบต้นและการพิจารณาคดีใหม่
ตามระเบียบการเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ข้อ 2 มีข้อความว่า การฝากเงินผู้ฝากต้องกรอกรายการลงในใบนำฝากตามแบบของธนาคาร ข้อ 6 มีข้อความว่าการถอนเงินต้องกระทำโดยใช้เช็คหรือเอกสารสั่งจ่ายอย่างอื่นที่ธนาคารอนุมัติให้ใช้ได้ ข้อ 11 มีข้อความว่า เมื่อธนาคารจ่ายเงินตามเช็คทั้ง ๆ ที่ยอดเงินในบัญชีมีไม่เพียงพอแล้ว ผู้ฝากตกลงและยินยอมใช้เงินส่วนที่ธนาคารจ่ายเกินบัญชีนั้นคืนให้ธนาคารพร้อมทั้งยินยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่ง-ประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารเรียกเก็บได้ในขณะนั้นนับแต่วันที่ธนาคารได้จ่ายเงินเป็นต้นไป ข้อ 17 มีข้อความว่า ธนาคารจะจัดส่งรายการเดินสะพัดของบัญชีเงินฝากไปยังผู้ฝากเดือนละครั้ง และข้อ 20 มีข้อความว่า ให้นำวิธีการและประเพณีอันเกี่ยวกับการดำเนินบัญชีกระแสรายวันที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปปฏิบัติมาใช้บังคับถึงการฝากและถอนเงินตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันคดีนี้ด้วยและธนาคารยังได้สงวนสิทธิที่จะหักทอนบัญชีของผู้ฝากเมื่อใดก็ได้แล้วแต่ธนาคารจะเห็นสมควร ตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และระเบียบการเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวแสดงว่า นับแต่ที่จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝาก-กระแสรายวันกับโจทก์แล้ว โจทก์จำเลยตกลงให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีตามบัญชี-เงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวสืบไปโดยจำเลยใช้ใบฝากเงินตามแบบของโจทก์ในการฝากเงิน และใช้เช็คในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของจำเลย หากโจทก์จ่ายเงินตามเช็คไปทั้งที่เงินในบัญชีไม่เพียงพอ จำเลยก็ตกลงจะใช้เงินที่โจทก์จ่ายเกินบัญชีไปคืนให้โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาต นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป ทั้งนี้โดยโจทก์จะจัดส่งรายการเดินสะพัดทางบัญชีเงินฝากไปยังจำเลยเดือนละหนึ่งครั้งการฝากและการถอนเงินจากบัญชี-กระแสรายวันดังกล่าวนี้โจทก์จำเลยตกลงให้นำวิธีการและประเพณีอันเกี่ยวกับการดำเนินบัญชีกระแสรายวันที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปถือปฏิบัติมาใช้บังคับด้วย และโจทก์ยังสงวนสิทธิที่จะหักทอนบัญชีของจำเลยเมื่อใดก็ได้ความผูกพันระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแก่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่คงเหลือโดยดุลภาค อันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 แล้ว โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันตามฟ้องได้ตามประเพณี-การค้าขายของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
แต่ปัญหาดังกล่าว ศาลล่างทั้งสองยังมิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้เมื่อปรากฎว่าคดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ขณะที่โจทก์ยื่นฎีกา ฎีกาโจทก์ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีของโจทก์ในประเด็นเรื่องบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวนี้เสียใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3567/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บัญชีเดินสะพัด: การคิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีการค้าขายธนาคารพาณิชย์
ตามระเบียบการเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่โจทก์ได้ทำไว้กับจำเลยซึ่งเป็นลูกค้า ข้อ 2 มีข้อความว่า การฝากเงินผู้ฝากต้องกรอกรายการลงในใบนำฝากตามแบบของธนาคาร ข้อ 6 มีข้อความว่า การถอนเงินต้องกระทำโดยใช้เช็คหรือเอกสารสั่งจ่ายอย่างอื่นที่ธนาคารอนุมัติให้ใช้ได้ ข้อ 11 มีข้อความว่า เมื่อธนาคารจ่ายเงินตามเช็คทั้ง ๆที่ยอดเงินในบัญชีมีไม่เพียงพอแล้ว ผู้ฝากตกลงและยินยอมใช้เงินส่วนที่ธนาคารจ่ายเกินบัญชีนั้นคืนให้ธนาคาร พร้อมทั้งยินยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารเรียกเก็บได้ในขณะนั้นนับแต่วันที่ธนาคารได้จ่ายเงินเป็นต้นไปข้อ 17 มีข้อความว่า ธนาคารจะจัดส่งรายการเดินสะพัดของบัญชีเงินฝากไปยังผู้ฝากเดือนละครั้ง และข้อ 20 มีข้อความว่า ให้นำวิธีการและประเพณีอันเกี่ยวกับการดำเนินบัญชีกระแสรายวันที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปปฏิบัติมาใช้บังคับถึงการฝากและถอนเงินตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันนี้ด้วย และธนาคารยังได้สงวนสิทธิที่จะหักทอนบัญชีของผู้ฝากเมื่อใดก็ได้แล้วแต่ธนาคารจะเห็นสมควรดังนี้ แสดงว่า นับแต่ที่จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์แล้ว ความผูกพันระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแก่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่คงเหลือโดยดุลภาคอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ได้ตามประเพณีการค้าขายของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2095/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิธนาคารในการแก้ไขข้อผิดพลาดทางบัญชีและการเรียกร้องหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด แม้หลังปิดบัญชี
จำเลยสั่งจ่ายเช็คเบิกถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยแต่เจ้าหน้าที่ธนาคารโจทก์พลั้งเผลอนำเช็คไปหักทอนบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่น เมื่อโจทก์ทราบข้อผิดพลาด แม้เป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยขอปิดบัญชีแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิแก้ไขให้ถูกต้อง โดยนำเช็คฉบับนั้นไปหักทอนจากบัญชีของจำเลยตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลย เมื่อโจทก์ปรับปรุงบัญชีใหม่แล้ว จำเลยเป็นหนี้โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้หนี้ดังกล่าวแม้โจทก์จะยอมให้จำเลยไถ่ถอนจำนองและปิดบัญชีกระแสรายวันของจำเลยแล้วก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2014/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหนี้จากบัญชีเดินสะพัด และการให้การลอยๆ ของจำเลย
จำเลยได้เบิกเงินเกินบัญชีเงินฝากกระแสรายวันซึ่งจำเลยเปิดบัญชีไว้กับโจทก์เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2519 โจทก์ได้หักทอนบัญชีของจำเลยและบอกเลิกสัญญากับจำเลยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2523นับแต่วันที่โจทก์หักทอนบัญชีถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2531 ซึ่งเป็นวันฟ้อง สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดยังไม่เกิน10 ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกิน 10 ปีโดยไม่มีสิทธิ และไม่มีรายละเอียดอื่นใด จึงเป็นการให้การลอย ๆไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1629/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบัญชีเดินสะพัด, เบิกเงินเกินบัญชี, ดอกเบี้ยทบต้น, อายุความ 10 ปี, การเลิกสัญญา
จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์ โดยด้านหลังคำขอเปิดบัญชีปรากฏมีระเบียบการฝากเงินกระแสรายวันว่า ถ้าเงินในบัญชีมีไม่พอจ่ายตามเช็ค แต่โจทก์ได้จ่ายให้ไปจำเลยต้องจ่ายเงินส่วนที่เกินคืนให้โจทก์ เสมือนหนึ่งได้ขอเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร และโจทก์จะคิดดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีเป็นดอกเบี้ยทบต้นถือได้ว่าเป็นสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยและการที่จำเลยนำเงินเข้าฝากในบัญชีและเบิกเงินเรื่อยไปโดยวิธีใช้เช็คสั่งจ่ายหลายครั้งเข้าลักษณะสัญญาบัญชีเดินสะพัด จำเลยใช้เช็คสั่งจ่ายเงินครั้งสุดท้ายวันที่ 12 มิถุนายน2522 และนำเงินเข้าฝากครั้งสุดท้าย วันที่ 10 มิถุนายน 2528โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงชำระหนี้เสร็จสิ้นเมื่อใด สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีกัน และเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลืออันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856,859 เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถาม ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2530 ให้จำเลยชำระหนี้คิดเพียงวันที่ 27 เมษายน 2530 ภายในกำหนด 15 วันนับแต่ได้รับหนังสือทวงถาม ถือว่าได้มีการเลิกบัญชีเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันที่ 27 เมษายน 2530 มูลหนี้อันเกิดจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดมีอายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4963/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ไม่ใช่สัญญาเดินสะพัด ธนาคารไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น
จำเลยเพียงแต่ทำสัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารสาขาของโจทก์ จึงไม่ใช่เรื่องทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 และถือไม่ได้ว่าเป็นการค้าอย่างอื่นในทำนองเช่นว่านั้น ตามข้อตกลงในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 13,14 ที่ว่าถ้าธนาคารจ่ายเงินตามเช็คให้เกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของผู้ฝากไป ผู้ฝากยอมใช้เงินส่วนที่ธนาคารได้จ่ายเงินเกินบัญชีนั้นให้ธนาคารพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดเท่าที่กฎหมายอนุญาต นับแต่วันที่เบิกเกินจนถึงวันที่ชำระหนี้เงินเบิกเกินคืน ก็มิได้มีข้อตกลงให้เรียกดอกเบี้ยทบต้นได้ กับทั้งไม่ใช่เรื่องกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 แต่เป็นเรื่องของธนาคารโจทก์ได้จ่ายเงินตามคำสั่งของจำเลยผู้ออกเช็คเกินกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีซึ่งมาตรา 991 มิได้บังคับโดยเด็ดขาดมิให้ธนาคารจ่ายเงินเกินบัญชีของผู้เคยค้าและตามเงื่อนไขคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวก็ให้ธนาคารโจทก์มีอำนาจจ่ายเงินตามเช็คให้จำเลยเกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลย ส่วนโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราเท่าใดนั้น จำเลยไม่ได้ฎีกาในเรื่องอัตราดอกเบี้ยกลับรับในฎีกาว่าขอเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่ 17เมษายน 2529 ซึ่งเป็นวันผิดนัดโดยไม่ทบต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2174/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเงินฝากกระแสรายวันไม่ใช่บัญชีเดินสะพัด คิดดอกเบี้ยไม่ได้ตามอัตราธนาคารพาณิชย์ แต่คิดได้ตามอัตรากฎหมาย
สัญญาเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันระหว่างธนาคารโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดเงื่อนไขไว้หลายข้อที่แสดงว่าโจทก์จะจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินจากบัญชีไม่เกินจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ฝากเข้าบัญชี จำเลยที่ 1 จึงไม่มีเจตนาตกลงกันโดยตรงว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วระยะเวลากำหนดอันใดอันหนึ่งให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหักกลบลบกันคงชำระแต่ส่วนที่เหลือโดยดุลยภาค อันเป็นลักษณะสำคัญของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 และถือไม่ได้โดยปริยายว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้เดินสะพัดบัญชีกัน ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ตกลงให้คิดดอกเบี้ยไว้ในสัญญาและจำเลยที่ 1 ก็มิได้ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ถือว่าโจทก์และจำเลยไม่ได้ตกลงกันเรื่องดอกเบี้ย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีโดยวิธีธรรมดานับแต่วันผิดนัดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีและอายุความดอกเบี้ย กรณีบัญชีเดินสะพัด และการมอบอำนาจฟ้องคดี
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไว้ และในฟ้องระบุถึงจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่จนถึงวันฟ้องทั้งแสดงหลักฐานหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับสัญญาค้ำประกันมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว บัญชีกระแสรายวันที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องเป็นรายละเอียดในชั้นนำสืบไม่จำต้องแนบมาท้ายฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ได้มอบอำนาจให้ ป. ฟ้องคดีแทน และโดยที่เป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนได้ทั่วไป แม้มิได้ระบุตัวบุคคลที่จะให้ฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงในหนังสือมอบอำนาจ ป. ก็มีอำนาจฟ้อง หลังจากวันที่ 31 มีนาคม 2521 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุสัญญาที่ต่อออกไปเป็นครั้งสุดท้าย จำเลยยังคงถอนเงินออกและนำเงินเข้าบัญชีหักทอนหนี้กับโจทก์อีกหลายครั้ง จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน2525 ถือได้ว่า คู่กรณีตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดอายุสัญญา เมื่อไม่มีการหักทอนบัญชีและบอกกล่าวเลิกสัญญา สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงยังไม่สิ้นสุดลง เมื่อต่อมาโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 มีนาคม 2526 ย่อมถือได้ว่าเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาและมีผลให้สัญญาเลิกกันในวันที่ 15มีนาคม 2526 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันเลิกสัญญาคือวันที่ 15 มีนาคม 2526 จำเลยที่ 3 ให้การเพียงว่า จำเลยที่ 3 ได้วางบัญชีเงินฝากของตนค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ยินยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ได้ ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ถอนเงินฝากดังกล่าวมาชำระจนหมดแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 3 มิได้ให้การถึงการที่โจทก์ใช้สิทธิในการถอนเงินล่าช้าอันเป็นการใช้สิทธิไม่ชอบ และทำให้จำเลยที่ 3 เสียหายตามที่ฎีกาโต้เถียงมา จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3938/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีเดินสะพัด: ผลผูกพันต่อผู้ทำสัญญา แม้ผู้สั่งจ่ายไม่ใช่เจ้าของบัญชี
สัญญาบัญชีเดินสะพัดอาจมีข้อตกลงระหว่างลูกค้ากับธนาคารให้บุคคลอื่นนอกจากเจ้าของบัญชีเงินฝากมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้เมื่อเช็คถูกต้องตามเงื่อนไขและเงินฝากในบัญชีมีเพียงพอ ธนาคารก็ต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้ทรงเช็ค และกรณีเช่นนี้แม้บุคคลอื่นเป็นผู้สั่งจ่ายเงินก็ตาม ย่อมผูกพันลูกค้าผู้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดต้องร่วมรับผิดต่อธนาคาร.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดเมื่อครบกำหนด/ไม่ต่ออายุ สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจำกัด
นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่มีกำหนดระยะเวลาไม่มีการเบิกเงินหรือนำเงินเข้าบัญชี จึงไม่มีการเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันอีกต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาอีกต่อไป สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีซึ่งผู้ฝากเงินต้องนำเงินเข้าบัญชีและมีการหักทอนกันเป็นระยะเวลาอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงสิ้นสุดนับแต่ถึงกำหนดในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 หาจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ก่อนสัญญาจึงจะเลิกกันไม่ ทั้งเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงแล้วก็ไม่จำต้องมีการบอกเลิกสัญญาอีก เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อไปนับแต่วันสิ้นสุดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคสอง ข้อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้ส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 5 ของเดือน มิฉะนั้นยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับจำนวนเงินเบิกเกินบัญชีทันทีที่ค้างชำระเป็นคราว ๆ ไป และให้กลายเป็นเงินเบิกเกินบัญชี กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยทบต้นได้เป็นรายเดือน ดังนั้น ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของสัญญานั้นยังไม่ถึงหนึ่งเดือนตามสัญญา เจ้าหนี้จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ ปัญหานี้แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ฎีกาแต่เป็นดอกเบี้ยที่จำเลยไม่ต้องรับผิด และกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายพิเศษมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ให้ได้รับชำระหนี้หรือส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรม ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 คดีนี้เจ้าหนี้เป็นโจทก์ผู้ฟ้องคดี ดอกเบี้ยค้างส่งจึงนับแต่วันก่อนฟ้องย้อนหลังไปซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกได้เพียง 5 ปีดอกเบี้ยก่อนนั้นเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 166 ส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องไปจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกได้เพราะมิใช่ดอกเบี้ยค้างส่ง แต่เมื่อเจ้าหนี้ไม่ฎีกา จึงให้ได้รับดอกเบี้ยทั้งหมดเพียง 5 ปี ตามศาลอุทธรณ์วินิจฉัย.
of 10