คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12768/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและการเพิกถอนชื่อมารดาออกจากทะเบียนบ้าน
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อ จ. ออกจากการเป็นมารดาของจำเลยต่อนายทะเบียนท้องถิ่นแล้วให้จำเลยกลับไปใช้ชื่อบิดามารดาเดิมโดยอ้างว่าจำเลยไม่มีความเกี่ยวข้องกับ จ. เป็นเพียงคนที่ จ. อุปการะเลี้ยงดู และให้ใช้ชื่อสกุลเท่านั้น เมื่อตามทะเบียนบ้านระบุว่าจำเลยเกิดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 ความเป็นบิดามารดากับบุตรระหว่างจำเลยกับ จ. ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 กำหนดว่า บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ได้ตรวจชำระใหม่ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการเป็นบิดามารดากับบุตร ดังนั้นความเป็นมารดากับบุตรระหว่างจำเลยกับ จ. ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม ซึ่งมาตรา 1525 บัญญัติรับรองความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงว่าเด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชายย่อมต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นเสมอ นอกจากนี้การพิสูจน์ความเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้เหมือนการพิสูจน์ความเป็นบิดา การพิสูจน์ความเป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายระหว่างจำเลยกับ จ. จึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกมาบังคับได้ จึงต้องอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งได้แก่บทบัญญัติที่ใช้พิสูจน์ความเป็นบิดาตามมาตรา 1524 วรรคสองและวรรคสามตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาพิสูจน์ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายระหว่างจำเลยกับ จ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1993/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์สถานะความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้อมูลทะเบียนราษฎรไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
หากข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยไม่ใช่บุตรของนาง พ. ตราบใดที่แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรยังระบุว่า นาง พ. เป็นมารดาของจำเลย ย่อมเกิดการกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของนาง พ. เพราะจำเลยสามารถนำเอกสารดังกล่าวไปใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานดำเนินการในกิจการต่าง ๆ อันอาจทำให้สิทธิประโยชน์หรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองเปลี่ยนแปลงไป การกระทำตามคำฟ้องจึงเกิดการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องห้ามจำเลยไม่ให้ใช้ชื่อนาง พ. เป็นมารดาของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4427/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดและอำนาจฟ้องขอเพิกถอนสูติบัตร
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควรตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดี แม้ว่าถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้ แต่การไม่ยินยอมก็มีผลตามกฎหมายโดยมาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติผลของการไม่ยินยอมให้ตรวจของคู่ความไว้ว่า หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอม โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น อย่างไรก็ตาม การไม่ยินยอมของคู่ความจะมีผลให้ใช้ข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่เป็นผลร้ายแก่คู่ความที่ไม่ยินยอมให้ตรวจได้ จะต้องเกิดจากคำสั่งของศาลที่สั่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยชอบ กล่าวคือเป็นการสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ด้วย แต่เมื่อประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของ ส. ตามที่สูติบัตรของจำเลยที่ 1 ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งการตรวจพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรตามปกติต้องตรวจสอบจากตัวบิดากับผู้ที่อ้างว่าเป็นบุตรนั้น เมื่อ ส. เสียชีวิตไปแล้วจึงไม่อยู่ในวิสัยจะทำการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ได้ กรณีต้องใช้กระบวนการทางเลือก โดยให้ตรวจกับบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับ ส. เช่น เป็นบิดา มารดา บุตรหรือพี่น้องของ ส. แต่คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างโต้แย้งความเป็นบุตร ส. ของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงความเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในขณะที่ต่างยังโต้แย้งกันอยู่ แม้มีการตรวจพิสูจน์แล้วและผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถนำผลการตรวจมาวินิจฉัยเป็นยุติว่า บิดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 คือ ส. ได้ ส่วนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจนำมาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทสำคัญในคดีที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหรือไม่เป็นบุตรของ ส. ได้ เพราะจำเลยที่ 1 อาจไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 แต่อาจเป็นบุตรของ ส. ก็เป็นได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ใช่คำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามบทบัญญัติมาตรา 160 แม้คู่ความไม่ยินยอมไปตรวจก็ไม่มีผลให้นำข้อสันนิษฐานใด ๆ มาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทไปตามพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายนำสืบ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนาย ส. ตามที่สูติบัตรระบุไว้ กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนสูติบัตรของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาเรื่องความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและค่าอุปการะเลี้ยงดู ต้องพิจารณาประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้ว
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของโจทก์ และให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสองคนละ 15,000 บาท ต่อเดือน โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าผู้เยาว์ทั้งสองไม่ใช่บุตรของโจทก์และมิได้คัดค้านจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด คงมีแต่จำเลยเพียงฝ่ายเดียวที่อุทธรณ์ขอเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นอีก ตามจำนวนเงินที่เรียกร้องมาในฟ้องแย้ง ดังนั้นปัญหาว่าผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรของโจทก์หรือไม่จึงยุติไป คงมีประเด็นวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์เพียงว่า สมควรที่จะกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นตามที่จำเลยอุทธรณ์หรือไม่เท่านั้น คดีไม่มีประเด็นในชั้นอุทธรณ์ว่าผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์หรือไม่ ทั้งโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธว่าผู้เยาว์ทั้งสองไม่ใช่บุตรของโจทก์ เพียงแต่อ้างว่าโจทก์ไม่สมควรจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู มิได้ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าผู้เยาว์ทั้งสองไม่ได้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ยกฟ้องแย้งในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสอง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5943/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย & อำนาจการขอเป็นผู้จัดการมรดก
แม้สูติบัตรจะระบุว่าเจ้ามรดกเป็นมารดาและผู้ร้องเป็นบิดาของผู้ร้องขอ แต่เอกสารดังกล่าวก็หาใช่พยานหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างเด็ดขาดว่า ผู้ร้องขอเป็นบุตรของเจ้ามรดกกับผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะการที่เอกสารดังกล่าวปรากฏชื่อเจ้ามรดกกับผู้ร้องเป็นมารดาและบิดาของผู้ร้องขอ ก็เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับการบอกเล่าและบันทึกลงในเอกสารดังกล่าวตามการบอกกล่าวของผู้แจ้งเท่านั้น หาใช่เป็นการตรวจพิสูจน์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่หากมีการคัดค้านเอกสารดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ต้องมีภาระการพิสูจน์ความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารดังกล่าว
ผู้ที่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า "ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้" ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 มิได้เป็นทายาทของเจ้ามรดก และแม้ผู้คัดค้านที่ 7 จะเป็นทายาทของผู้ร้องและผู้ร้องมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 7 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และอำนาจปกครองเด็ก
ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 บัญญัติว่า "ให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีข้อตกลงเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม สามีหรือภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน... มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนนับแต่วันที่ผู้นั้นเกิด ทั้งนี้ ไม่ว่าสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนจะเป็นสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่..." ย่อมหมายความว่า การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแม้จะไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด คุณสมบัติ ขั้นตอนและวิธีการตามพระราชบัญญัติก็ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย คดีนี้การดำเนินการให้ผู้คัดค้านตั้งครรภ์แทนและ ค. เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ จึงเป็นการไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ย่อมผูกพันคู่สัญญาและใช้บังคับได้ แม้ตามกฎหมายดังกล่าว ระบุให้เฉพาะสามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน และผู้ร้องกับ ม. มิอาจเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ก็ตาม แต่ผู้ร้องเป็นเจ้าของอสุจิที่เข้าผสมกับไข่ของหญิงที่บริจาคจนปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน แล้วนำไปฝังในโพรงมดลูกของผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับ ค. ในฐานะเป็นบิดาซึ่งผู้คัดค้านแถลงยอมรับในข้อนี้ และไม่คัดค้านหากศาลจะมีคำสั่งให้ ค. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องด้วยแล้ว จึงเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติให้สิทธิของผู้ร้องไว้โดยตรง ต้องอาศัยบทเฉพาะกาลตามมาตรา 56 มาวินิจฉัยคดีนี้อย่างบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ค. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง
ผู้คัดค้านไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับ ค. แต่เป็นเพียงผู้ให้กำเนิด ค. จึงมีสถานะเป็นมารดาของ ค. เท่านั้น เมื่อกรณีผู้ร้องกับ ค. อยู่ในบังคับของบทเฉพาะกาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มาตรา 29 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคสอง (5) สั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียวได้ เพื่อความผาสุกและประโยชน์สูงสุดของเด็ก
of 5