คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ปรับบทกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 58 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7760/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการปรับบทกฎหมายอาญาตามประกาศคณะปฏิวัติ
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายองค์ประกอบความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 ไว้ชัดเจนว่า จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมากิ่งอำเภอเกาะจันทร์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินดังกล่าวภายใน 30 วัน แต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมากิ่งอำเภอเกาะจันทร์ได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่พักอาศัยภายใน 7 วัน จำเลยได้รับคำสั่งแล้วไม่ดำเนินการรื้อถอน ถือได้ว่าโจทก์บรรยายถึงการกระทำผิดของจำเลยครบถ้วนแล้วตามมาตรา 9 และมาตรา 108 แล้ว แม้คำฟ้องโจทก์ระบุวันกระทำผิดของจำเลยคือ ต้นปี 2514 อันเป็นวันก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 มีผลบังคับ ซึ่งต้องปรับบทตามมาตรา 108 ก็ตามและคำฟ้องของโจทก์ได้อ้างมาตรา 108 ทวิ มิได้อ้างมาตรา 108 มาก็ตาม กรณีถือได้ว่าโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า
ธ. ช่างรังวัดที่ดินก่อนทำการรังวัดไปตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องและคำนวณตามหลักวิชาช่างแล้วก็ยืนยันว่าที่ดินที่จำเลยยึดถือครอบครองอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ และได้ความจาก ด. ปลัดกิ่งอำเภอเกาะจันทร์ว่า ในปี 2540 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต้องการสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอเกาะจันทร์ตรงบริเวณที่ดินที่จำเลยยึดถือครอบครองได้ให้เงินจำนวน 20,000 บาท แก่จำเลยเป็นค่าวัชพืชที่จำเลยทำการเกษตรไว้และให้จำเลยออกจากที่ดิน ซึ่งจำเลยเบิกความรับว่าทางราชการได้ให้เงินไว้ตามจำนวนดังกล่าวจริง ได้มีการทำบันทึกในการรับเงินไว้ ข้อความในเอกสารดังกล่าวระบุว่า ที่ดินที่ทางราชการจะทำการก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอเกาะจันทร์ซึ่งจำเลยครอบครองอยู่เป็นที่สาธารณประโยชน์ การที่จำเลยนำสืบบ่ายเบี่ยงว่าที่ดินที่จำเลยครอบครองอยู่นอกเขตที่ดินสาธารณประโยชน์หนองหูช้างเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ จึงไม่ผิดตาม ป.อ. มาตรา 368 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปอีก และเมื่อการกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 108 ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทเพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากการฉ้อฉล การกระทำโดยสุจริต และการปรับบทกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิแก่ตนได้อยู่ก่อน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะทำนิติกรรมขายฝากจำเลยที่ 2 รู้ข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนอันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ แม้จำเลยที่ 1 จะเสียค่าตอบแทนก็เป็นการร่วมกันฉ้อฉล โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่ถือเป็นการนอกฟ้อง เกินกว่าคำขอดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเพิกถอนการฉ้อฉลไว้ครบถ้วน เพียงแต่ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นเรื่องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นอำนาจศาลที่จะปรับบทให้ตรงกับคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่ยังได้จากการพิจารณาคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4754/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บทสันนิษฐานการครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ และการปรับบทกฎหมาย
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติว่า "การผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย...(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป" ซึ่งเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางมีน้ำหนักสุทธิรวม 1.697 กรัม ซึ่งมีปริมาณน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่ให้ถือว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยมีเจตนามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงมีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยครอบครองมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เพียง 0.244 กรัม ไม่ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 66 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิ ดังนั้น การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 18 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 1.697 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 0.244 กรัม จึงเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ปรับบทกฎหมายและกำหนดโทษใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14536/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทกฎหมายอาญา มาตรา 309: การข่มขู่ด้วยอาวุธปืนไม่ถือเป็นการข่มขืนใจโดยมีอาวุธตามฟ้อง
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 309 โดยไม่ได้ระบุวรรค เนื่องจาก ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) มิได้บังคับไว้เช่นนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามพูดข่มขู่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองให้ตายจนผู้เสียหายทั้งสองต้องย้ายที่พักอาศัยไปอยู่ที่บ้านพักเจ้าหน้าที่สวนป่าบางขนุน แตกต่างจากที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งสองโดยมีอาวุธก็ตาม ก็มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้อง การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก จึงเป็นการปรับบทกฎหมายให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เท่านั้น และไม่เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 969/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันในความผิดเกี่ยวกับเอกสารทางราชการและการแจ้งความเท็จ การปรับบทกฎหมายและขอบเขตการแก้ไขโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ออกเป็นสามกรรมต่างกันและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 แม้ความผิดดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะกระทำเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของระบบงานทะเบียนราษฎรและมีจุดประสงค์ในการกระทำความผิดเพียงอย่างเดียวคือเพื่อให้ได้อาศัยอยู่กับสามีและบุตรในประเทศไทยอย่างถาวรก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระและอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชัดแจ้งและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 137, 265, 267, 268 วรรคแรก เป็นความผิดสามกรรม จำคุกกระทงละ 2 ปี ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้กระทงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 (1) (3) วรรคสองด้วย และลงโทษจำเลยที่ 1 สองกระทง กระทงละ 2 ปี ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ละกระทงไม่เกินห้าปี ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้และคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้พร้อมฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3
ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 วรรคท้าย บัญญัติว่าถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยต้องระวางโทษหนักขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 (1) (3) วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษให้หนักขึ้นได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความคำขอท้ายฟ้อง และการปรับบทกฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่ ศาลไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอ
โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องดังกล่าว กล่าวถึงการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 11 โดยชัดแจ้งแล้วการที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี ย่อมหมายถึงมาตรา 160 ตรี ที่เพิ่มเติมแล้วนั่นเอง แม้โจทก์ไม่ได้อ้าง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 11 ก็เป็นเพียงโจทก์อ้างบทกฎหมายไม่ครบถ้วนชัดเจนเท่านั้น และถือว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี ซึ่งเพิ่มโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 11 แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5471/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทกฎหมายฐานบุกรุก และผลของการยอมความระหว่างโจทก์และจำเลย
โจทก์ฟ้องว่า เหตุเกิดระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันตลอดมา โดยข้อเท็จจริงตามทางนำสืบได้ความว่าพยานโจทก์เห็นจำเลยบุกรุกในเวลากลางวัน ดังนั้น ความผิดฐานบุกรุกจึงเกิดขึ้นและสำเร็จตั้งแต่ขณะที่จำเลยเข้าไปในที่ดินในเวลากลางวันแล้ว การที่จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินอันเป็นการบุกรุกต่อเนื่องถึงเวลากลางคืนและวันต่อมาทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จึงเป็นเพียงผลของการกระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางวันเท่านั้น จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ไม่ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนั้นเมื่อได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 แล้ว คดีนี้จึงเป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องว่าไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยและขอถอนคำแก้ฎีกาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ถือว่าโจทก์ร่วมและจำเลยยอมความกันแล้ว สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทกฎหมายความผิดฐานจ้างงานคนต่างด้าว และการพิจารณาความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เมื่อข้อเท็จจริงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด
แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งยื่นฎีกาเพียงผู้เดียวถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความของศาลฎีกาแล้ว แต่สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า สถานบริการที่เกิดเหตุเป็นสถานบริการที่เปิดเพื่อให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ในวันเวลาเกิดเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจสอบพบหญิงสัญชาติพม่า 30 คน นั่งอยู่ในตู้กระจกใสอันเป็นที่เปิดเผยเพื่อรอให้บริการแก่ลูกค้า เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้งหมดทำงานเป็นหญิงบริการให้แก่ลูกค้าในสถานบริการเท่านั้น หาได้มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้ง 30 คน พ้นจากการจับกุมไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิด กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เป็นความผิดก็มีอำนาจยกขึ้นพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 3(1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ซึ่งความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตาม มาตรา 27 ที่ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 54 ให้ระวางโทษปรับสถานเดียวต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ต่างจาก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 39 ที่ให้ระวางโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า แต่ในส่วนโทษปรับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมีบางส่วนเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะยุติการพิจารณาไปในชั้นศาลอุทธรณ์แล้ว แต่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10385/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษและระยะเวลาฝึกอบรมเยาวชนในคดีอาญา: อำนาจศาลในการแก้ไขโทษและปรับบทกฎหมาย
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมโดยกำหนดระยะเวลาให้อบรมในเวลาขั้นต่ำไม่น้อยกว่ากี่ปี และขั้นสูงไม่เกินกว่ากี่ปีนับแต่วันพิพากษานั้น เป็นการกำหนดระยะเวลาตามที่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ประกอบมาตรา 143 ให้อำนาจไว้เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงความประพฤติของจำเลย แต่การจะส่งจำเลยไปจำคุกหลังจากอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ตามมาตรา 142 วรรคท้าย มิใช่เป็นกำหนดระยะเวลาของการฝึกอบรม จึงกำหนดระยะเวลาเป็นขั้นต่ำและขั้นสูงอย่างเดียวกับการฝึกอบรมไม่ได้ เพราะจะเป็นการกำหนดเวลาที่ไม่ชัดเจนแน่นอน เป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6
การที่จำเลยแก้ฎีกาขอให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบา หากมีโทษจำคุกก็ขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นกรณีที่จำเลยขอให้ศาลฎีกาแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยจะขอมาในรูปของคำแก้ฎีกาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4135/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เอกสารปลอมและการสนับสนุนการปลอมเอกสาร ศาลปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวม 40 กระทง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำเลยแต่ละกระทงตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดเพียง 13 กระทง ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
แม้ อ. และ ธ. จะปลอมลายมือชื่อ ท. น. และ บ. ตามคำสั่งของจำเลยอันมีลักษณะเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำเบิกความของ อ. และ ธ. เพียงแต่มีน้ำหนักน้อย หากไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบจะไม่มีน้ำหนักพอฟังลงโทษจำเลยได้เท่านั้น ดังนั้น ศาลจึงรับฟังคำเบิกความของ อ. และ ธ. ได้
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ท. น. และ บ. ไม่ได้ลงลายมือชื่อในเอกสาร แต่ อ. และ ธ. เป็นผู้ลงลายมือชื่อแทน แม้ ท. น. และ บ. จะให้ความยินยอมก็ไม่ทำให้ลายมือชื่อปลอมกลายเป็นลายมือชื่อจริง ดังนั้นเอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม
of 6