พบผลลัพธ์ทั้งหมด 587 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4536/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
รับของโจร: ความสงสัยตามสมควรเมื่อผู้เสียหายไม่ได้รับรถคืนตามนัด และรถถูกพบในพื้นที่อื่น
จำเลยเรียกเอาเงินค่าไถ่รถยนต์กระบะจากผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไป แต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้รับรถยนต์กระบะคืนตามที่จำเลยนัดหมาย แต่ได้รับคืนเนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ในท้องที่อื่นคนละท้องที่กับที่จำเลยนัดหมายให้ไปรับคืน ทั้งเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยนัดหมายไว้ประมาณ 10 วัน ไม่อาจสันนิษฐานว่าคนร้ายนำรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไปจอดทิ้งไว้ เพื่อให้ผู้เสียหายรับคืนไปได้ จำเลยอาจสวมรอยคนร้ายเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายเพียงลำพัง มิได้ช่วยคนร้ายจำหน่ายรถยนต์กระบะของผู้เสียหายโดยวิธีให้ผู้เสียหายไถ่คืน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4446/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์: ตัวการต้องรับผิดต่อผู้ซื้อสุจริตแม้ยังไม่ได้รับเงินจากตัวแทน
การที่จำเลยที่ 2 ติดต่อขอซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1ส่งมอบรถยนต์ ณ สำนักงานของจำเลยที่ 2 หากมีลูกค้ามาติดต่อขอซื้อรถยนต์และจำเลยที่ 2 ขายได้แล้ว จำเลยที่ 2 จะส่งมอบเงินค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่ลูกค้าผู้ซื้อ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ติดต่อขายรถยนต์ด้วยวิธีการดังกล่าวหลายครั้ง แสดงว่าขณะที่จำเลยที่ 2 ครอบครองรถยนต์พิพาทและเสนอขายให้แก่โจทก์นั้น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ตลอดเวลาจนกว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระเงินค่ารถยนต์พิพาทจากโจทก์และนำเงินดังกล่าวมาชำระราคาค่ารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว พฤติการณ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อและยอมให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิขายรถยนต์พิพาท เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาโดยสุจริต จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตมิให้ต้องเสื่อมเสียสิทธิอันเนื่องมาจากข้อตกลงของจำเลยทั้งสองเมื่อโจทก์ชำระราคาค่ารถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้แก่โจทก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4446/2545
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อและตัวแทน: ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกจากการซื้อขายรถยนต์
ขณะที่จำเลยที่ 2 ครอบครองรถยนต์และเสนอขายให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองตกลงกันไว้ว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของจำเลยที่ 1 จนกว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับชำระเงินค่ารถยนต์จากโจทก์และนำมาชำระค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วจำเลยที่ 1 จึงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อและยอมให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิขายรถยนต์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้สุจริตมิให้ต้องเสื่อมเสียสิทธิอันเนื่องมาจากข้อตกลงของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างว่าหากโจทก์ตรวจสอบพบชื่อของจำเลยที่ 1 ในสมุดรับประกันและสอบถามไปก็จะทราบถึงข้อตกลงระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ชำระค่ารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์แก่โจทก์การที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับเงินค่ารถยนต์จากจำเลยที่ 2 ไม่เป็นข้ออ้างที่จะปฏิเสธไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ เพราะสิทธิหน้าที่และความรับผิดระหว่างตัวการกับตัวแทนเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องว่ากล่าวเอาเองอีกส่วนหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับความรับผิดที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3535/2545
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีความเสียหายจากรถยนต์: เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง
ตามสัญญาซื้อขายระบุว่า ป. ซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุในฐานะส่วนตัว มิได้ซื้อแทนห้างโจทก์หรือในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ ซึ่งย่อมเป็นสิทธิที่ ป. จะจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ หาใช่ว่าหาก ป. ลงนามในนิติกรรมหรือสัญญาใด ๆ ทั้งที่มิได้ระบุว่าทำแทนโจทก์หรือในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์แล้วจะต้องถูกผูกพันว่าเป็นการกระทำการแทนโจทก์แต่อย่างใดไม่ และการที่ ป. นำรถยนต์คันเกิดเหตุไปประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท ส. หรือนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าแล่นในเส้นทางสายเชียงใหม่ - ขอนแก่นนั้น อาจเป็นวิธีจัดการทรัพย์สินส่วนตัวของ ป. ก็เป็นได้ ประกอบกับคำบรรยายฟ้องโจทก์ยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุมาโดยตรง โดยมิได้บรรยายว่าโจทก์ซื้อรถดังกล่าวโดยให้ ป. เป็นคู่สัญญาแทนแต่ประการใด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดในค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3053/2545
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด: กรรมสิทธิ์รถยนต์โอนทันทีหลังทำสัญญา แม้ยังไม่ได้ชำระเงินครบ
หนังสือสัญญาซื้อขายมีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์ของกลางไปในราคา 90,000 บาท โดยผู้ซื้อจะทำการโอน ย้าย ต่อภาษี พระราชบัญญัติเองทุกอย่าง แสดงว่าหลังจากทำสัญญาแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์หมดภาระหน้าที่เกี่ยวกับการซื้อขายรถยนต์ของกลางอีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแม้ในสัญญาจะระบุว่า วันทำสัญญาผู้ซื้อวางมัดจำ 60,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วันก็ตาม แต่ก็มีข้อความต่อไปว่า หากไม่ชำระถือว่าผู้ซื้อผิดสัญญายอมให้ผู้ขายฟ้องร้องได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวและยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญา แสดงว่าการชำระเงิน 2 งวดดังกล่าวเป็นเพียงการแบ่งชำระราคาซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อเท่านั้น มิใช่เป็นการวางมัดจำ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการซื้อขายรถยนต์ของกลางระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางตกเป็นของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันทำสัญญา ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2688/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในแผ่นป้ายทะเบียนรถเมื่อเลิกสัญญาเดินรถ: จำเลยมีหน้าที่คืนนายทะเบียน, โจทก์ไม่มีสิทธิยึดถือ
หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ ตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 อันเป็นเอกสารราชการระบุว่า จำเลยเป็นผู้ประกอบการขนส่ง ส่วนผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โดยโจทก์เป็นผู้เช่าซื้อ ทั้งสัญญาเดินรถเข้าร่วมกิจการของโจทก์และจำเลยก็ระบุให้จำเลยมีอำนาจบอกเลิกสัญญาหรือถอนรถออกจากการเป็นรถร่วมได้ทันที การที่โจทก์ได้รับแผ่นป้ายทะเบียนรถมาโดยผลจากการทำสัญญาเดินรถเข้าร่วมกิจการในเส้นทางสัมปทานของจำเลย เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเดินรถเข้าร่วมกิจการกับโจทก์แล้วพอถือได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจะเลิกใช้รถยนต์โดยสารแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งให้นายทะเบียนประจำจังหวัดทราบและต้องนำแผ่นป้ายทะเบียนรถดังกล่าวคืนแก่นายทะเบียนตามมาตรา 79 แห่ง พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มิฉะนั้นจำเลยจะมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาตาม มาตรา 143 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิยึดแผ่นป้ายทะเบียนรถนั้นไว้ และต้องส่งคืนให้แก่จำเลยเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2545
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำหรือไม่? สิทธิจากการบังคับตามคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์รถยนต์
คดีก่อนจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องขอให้บังคับ ภ. และ น. ร่วมกันโอนทะเบียนรถยนต์พิพาท โดยทำเป็นสัญญาขายแก่จำเลยระหว่างพิจารณาโจทก์คดีนี้ยื่นคำร้องสอดเข้ามาในคดีดังกล่าวอ้างว่าจำเลยและ ภ. กับพวกทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกันโดยไม่สุจริตเพราะรถยนต์พิพาทเป็นของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยให้การแก้คำร้องสอดว่า จำเลยซื้อรถยนต์พิพาทจาก ภ. และพวกโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้รับมอบการครอบครองไว้ตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขาย จำเลยจึงมีสิทธิไม่คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ เว้นแต่โจทก์จะใช้ราคาแก่จำเลย ศาลฎีกาฟังว่ารถยนต์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด ให้ยกฟ้อง ผลของคำพิพากษาฎีกาย่อมผูกพันจำเลยมิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ร้องสอดอีก จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยึดถือรถยนต์พิพาทไว้ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์เป็นคดีนี้จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดขึ้นจากผลของคำพิพากษาคดีดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องจำเลยได้ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1395/2545
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความเสียหายหลังคำพิพากษา: คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ แม้เหตุเดิมจากสัญญาเช่าซื้อ
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคาแทนและใช้ค่าขาดประโยชน์ ค่าเช่าซื้อค้างชำระกับดอกเบี้ย แต่คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องโดยอ้างเหตุจำเลยทั้งสองผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเช่นเดียวกับคดีก่อน แต่ตามคำฟ้องได้บรรยายว่าภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว จำเลยทั้งสองไม่คืนรถยนต์แก่โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ตามยึดรถยนต์คืนมาได้ในสภาพชำรุดทรุดโทรมผิดปกติจากการใช้อย่างไม่ระมัดระวัง โจทก์นำรถยนต์ออกประมูลขายได้เงินต่ำกว่าราคารถยนต์ที่ศาลพิพากษากำหนดให้อยู่ 192,000 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยดังนี้ความเสียหายของโจทก์ตามคำฟ้องคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำพิพากษาคดีก่อนแล้ว คำขอให้บังคับทั้งสองคดีต่างกันและมิใช่ประเด็นที่ศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1079/2545
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเช่าซื้อรถยนต์: จำเลยไม่ต้องรับผิดค่าเสื่อมราคา หากมิได้ใช้รถโดยประมาทเลินเล่อ
ในทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์คันที่เช่าซื้อโดยประมาทเลินเล่ออย่างไร และรถได้เสื่อมราคาลงไปเนื่องจากเกิดความเสียหาย เพราะจำเลยที่ 1 ใช้รถโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ แต่กลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษารถดังกล่าวตามสมควรแล้วโดยนำไปตรวจเช็คและซ่อมแซมที่ศูนย์รถยนต์ของโจทก์เป็นประจำตลอดมา ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยถือมิได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับการเสื่อมราคาตามสภาพของการใช้รถตามปกติ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นควรให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8314/2544
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์รถยนต์คดีอาญา: การโอนสิทธิก่อนคำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ซื้อย่อมเป็นเจ้าของได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง และริบรถยนต์ของกลาง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์เพราะพอใจในโทษของตนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 ย่อมถึงที่สุด แต่จะถือว่าประเด็นในเรื่องการริบรถยนต์ของกลางถึงที่สุดตามโทษของจำเลยที่ 2 ทำนองเดียวกับคดีแพ่งที่มีการถึงที่สุดเป็นประเด็น ๆ ไปหาได้ไม่ เพราะปัญหาในคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงโทษจำเลยตลอดจนริบทรัพย์สินล้วนเป็นปัญหาที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ทั้งสิ้น แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง,195 วรรคสอง และมาตรา 213 คำพิพากษาเกี่ยวกับรถยนต์ของกลางจึงยังไม่ถึงที่สุด
เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางจึงยังเป็นของบริษัทเงินทุน ท. อยู่ยังไม่ได้ตกเป็นของแผ่นดิน การที่ผู้ร้องซื้อสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของกลางและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ผู้ร้องย่อมเป็นเจ้าของแท้จริงในรถยนต์ของกลางได้โดยชอบ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังในวันที่ 25 มกราคม 2542 และไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คำพิพากษาคดีนี้ย่อมถึงที่สุดในวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2542 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางคืนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 จึงเป็นการยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางจึงยังเป็นของบริษัทเงินทุน ท. อยู่ยังไม่ได้ตกเป็นของแผ่นดิน การที่ผู้ร้องซื้อสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ของกลางและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ผู้ร้องย่อมเป็นเจ้าของแท้จริงในรถยนต์ของกลางได้โดยชอบ เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังในวันที่ 25 มกราคม 2542 และไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คำพิพากษาคดีนี้ย่อมถึงที่สุดในวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2542 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางคืนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 จึงเป็นการยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว