พบผลลัพธ์ทั้งหมด 44 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15130/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์คำสั่งประกันสังคมต้องยื่นต่อคณะกรรมการอุทธรณ์โดยตรง ไม่สามารถยื่นผ่านรัฐมนตรีได้
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ชัดเจนว่า นายจ้าง ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดซึ่งไม่พอใจในคำสั่งของเลขาธิการหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้เว้นแต่เป็นคำสั่งตามมาตรา 50 ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว ทั้งมาตรา 87 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ยื่นตามมาตรา 85 โดยวรรคสามบัญญัติว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย แต่ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานส่งมอบให้คณะกรรมการอุทธรณ์อีกทางหนึ่งไม่ที่ศาลแรงงานภาค 4 วินิจฉัยว่า หนังสือที่โจทก์ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่เป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 85 โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายในสามสิบวันก่อน เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ตามมาตรา 87 โจทก์ไม่ดำเนินการตามขั้นตอน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องเวนคืนและการโต้แย้งคำวินิจฉัยค่าทดแทน: ศาลฎีกาวินิจฉัยอำนาจฟ้องและขอบเขตการโต้แย้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี
ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืน...ฯ กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.ในฐานะดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวแทนของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีอำนาจหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างถนนเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย การดำเนินการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์อ้างว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ให้สิทธิแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์โต้แย้งหรือไม่ปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี เมื่อปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์นั้น รัฐมนตรีฯ ได้วินิจฉัยอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ และเพิ่มค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 10,000 บาท เท่ากับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจะฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์โดยอ้างว่าอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์เหมาะสมแล้วไม่ได้ เพราะจะเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ให้สิทธิแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์โต้แย้งหรือไม่ปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี เมื่อปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์นั้น รัฐมนตรีฯ ได้วินิจฉัยอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ และเพิ่มค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 10,000 บาท เท่ากับที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจะฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์โดยอ้างว่าอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์เหมาะสมแล้วไม่ได้ เพราะจะเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิตรวจสอบรัฐบาลและตั้งข้อสงสัยการกระทำของรัฐมนตรีได้ หากมีเหตุผลสมควร
ขณะที่จำเลยที่ 1 อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอก ช. นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5)ฯ ใช้บังคับ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันในการอภิปรายของจำเลยที่ 1 มีกำหนดไว้ในมาตรา 131 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่าในที่ประชุมวุฒิสภาก็ดี ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ดี สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้ และวรรคสองของมาตรา 131 บัญญัติว่า เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภาและการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น ส่วนจำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 157 ซึ่งประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 หลังจากที่จำเลยที่ 1 อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของจำเลยที่ 1 จึงต้องนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5)ฯ ในขณะที่จำเลยที่ 1 อภิปรายมาใช้บังคับ ไม่อาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาใช้บังคับย้อนหลังแก่กรณีของจำเลยที่ 1 ได้ และกรณีก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 131 ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 157 อันจะนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 157 มาใช้บังคับแก่กรณีของจำเลยที่ 1 แม้ระหว่างพิจารณาของศาลจะมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ออกมาใช้บังคับแล้วก็ตาม คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่จำเลยที่ 1 อภิปรายนั้น มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 131 ไม่คุ้มครองจำเลยที่ 1 หากการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่จำเลยที่ 1 อภิปรายมีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงโทรทัศน์ ถ้อยคำดังกล่าวในที่ประชุมของจำเลยที่ 1 ไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภาและมีลักษณะที่อาจเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 131 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6747/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อยกเว้นความผิดหมิ่นประมาท: การติชมด้วยความเป็นธรรมของ ส.ส. ต่อรัฐมนตรี
ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 เป็นรองหัวหน้าพรรค ป. และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีโจทก์ที่ 2 เป็นภริยา ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรค พ. ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตรวจสอบพบว่า บริษัท ก. มีหลักเกณฑ์การปรับระดับชั้นที่นั่งโดยสารอยู่ 2 หลักเกณฑ์ คือ กรณีที่หนึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดไว้ และอีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีนอกหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษว่าพนักงานระดับใดมีอำนาจอนุมัติและจะอนุมัติได้ในกรณีใดบ้าง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตรวจสอบหลักฐานการเดินทางของโจทก์ทั้งสองและครอบครัวรวม 14 เที่ยวบิน มีการปรับระดับชั้นที่นั่งบัตรโดยสารของโจทก์ที่ 2 โดยใช้สิทธิบัตรทองอาร์โอพีคลับโกลด์ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกรณีที่หนึ่งเพียงรายการเดียว รายการอื่นๆ นอกนั้นล้วนเป็นการปรับชั้นที่นั่งให้สูงขึ้นแบบนอกหลักเกณฑ์ โดยบางรายการมีการระบุผู้อนุมัติพร้อมเหตุผล แต่อีกหลายรายการระบุเพียงตัวผู้อนุมัติเท่านั้น แต่มิได้ระบุเหตุผล บางรายการอนุมัติด้วยวาจา บางรายการมิได้ระบุว่าอนุมัติด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า การอนุมัติปรับชั้นที่นั่งให้สูงขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองและครอบครัวดำเนินการโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ หรือไม่ บริษัท ก. มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การเลือกกรรมการบริษัทฯ กระทำโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้ลงคะแนนเลือก โดยก่อนที่จะนำรายชื่อของคณะกรรมการให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงคะแนนนั้น จะต้องมีการเสนอรายชื่อดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลังพิจารณาก่อน โดยสถานะและตำแหน่งกับอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบอัตราค่าโดยสารในแต่ละชั้นที่นั่ง เช่น สำหรับการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ บัตรโดยสารชั้นประหยัดราคา 34,745 บาท ชั้นธุรกิจ ราคา 150,765 บาท และชั้นหนึ่ง ราคา 228,200 บาท ประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองกับครอบครัวได้รับจากการปรับระดับชั้นที่นั่งโดยสารให้สูงขึ้นรวม 14 เที่ยวบิน จึงอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้มิใช่จำนวนเล็กน้อย แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ที่ 1 ใช้อภิสิทธิ์ใดๆ ในการเลื่อนชั้นบัตรที่นั่งโดยสารก็ตาม แต่โจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีหน้าที่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ของแผ่นดิน แม้พนักงานผู้มีอำนาจของบริษัทฯ จะพิจารณาอนุมัติเองโดยโจทก์ที่ 1 มิได้ร้องขอ โจทก์ที่ 1 เองก็ควรจะตระหนักรู้และอาจใช้วิจารณญาณได้ว่าสมควรที่โจทก์ที่ 1 จะรับหรือปฏิเสธประโยชน์ที่จะได้รับจากการอนุมัติปรับเลื่อนชั้นที่นั่งโดยสารรวม 14 เที่ยวบิน ซึ่งอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้มิใช่น้อยเช่นนั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนใส่ความโจทก์ทั้งสองว่า ในการเลื่อนชั้นที่นั่งโดยสารของโจทก์ทั้งสองและครอบครัวอาจทำได้ในสองลักษณะ คือ 1 โจทก์ที่ 1 อาจใช้อำนาจและอภิสิทธิ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งให้พนักงานที่มีอำนาจดำเนินการอนุมัติให้เลื่อนชั้นบัตรโดยสารเป็นชั้นหนึ่งโดยไม่มีการจ่ายค่าโดยสารเพิ่มทั้งอาจมีการสั่งให้เลื่อนชั้นการเดินทางของบุตรจากชั้นประหยัดเป็นชั้นธุรกิจด้วย และ 2 ผู้มีอำนาจในการอนุมัติทำการเลื่อนชั้นบัตรโดยสารให้โจทก์ที่ 1 กับครอบครัวเพื่อแลกผลประโยชน์หรือความก้าวหน้าของตน หรืออาจมีผู้มีอำนาจเหนือกว่าเป็นผู้สั่งการ จึงเป็นการตั้งข้อสังเกตที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทน พรรค พ. ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอยู่ในขณะนั้น เมื่อตรวจสอบพบหลักฐานความไม่ชอบมาพากลของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย่อมชอบที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะแสดงความคิดเห็นเพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
หลักการสำคัญของการดำเนินคดีอาญาว่า แม้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นความผิดให้แก่จำเลยก็ตาม โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดเช่นนั้น หาใช่ว่าในกรณีที่จำเลยได้รับยกเว้นความผิดเช่นนั้นแล้วหน้าที่นำสืบจะตกอยู่แก่จำเลยไม่
สาระสำคัญของบทยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) นั้น อยู่ที่ว่า เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ดังนั้น หากความเห็นหรือข้อความที่แสดงเพื่อใส่ความผู้อื่นนั้น ต้องด้วยสาระสำคัญของข้อยกเว้นความผิดดังกล่าวและไม่ว่าผู้ใส่ความจะแสดงความคิดเห็นหรือข้อความด้วยวิธีการอย่างไร ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะกระทำได้ แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่และมีสิทธิที่จะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิการตรวจสอบเอาไว้คือ การยื่นกระทู้ถาม กระทู้สด เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือยื่นถอดถอนรัฐมนตรีได้ แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับใช้สิทธิการตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่กระทำได้ตามมาตรา 329 (3) ดังกล่าวข้างต้น
หลักการสำคัญของการดำเนินคดีอาญาว่า แม้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นความผิดให้แก่จำเลยก็ตาม โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดเช่นนั้น หาใช่ว่าในกรณีที่จำเลยได้รับยกเว้นความผิดเช่นนั้นแล้วหน้าที่นำสืบจะตกอยู่แก่จำเลยไม่
สาระสำคัญของบทยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) นั้น อยู่ที่ว่า เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ดังนั้น หากความเห็นหรือข้อความที่แสดงเพื่อใส่ความผู้อื่นนั้น ต้องด้วยสาระสำคัญของข้อยกเว้นความผิดดังกล่าวและไม่ว่าผู้ใส่ความจะแสดงความคิดเห็นหรือข้อความด้วยวิธีการอย่างไร ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะกระทำได้ แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่และมีสิทธิที่จะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิการตรวจสอบเอาไว้คือ การยื่นกระทู้ถาม กระทู้สด เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือยื่นถอดถอนรัฐมนตรีได้ แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับใช้สิทธิการตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่กระทำได้ตามมาตรา 329 (3) ดังกล่าวข้างต้น