คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาขนส่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 56 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2471/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ผู้รับตราส่งตามใบตราส่งทางทะเลและผลของการไม่ปฏิบัติตามสัญญาขนส่ง
ใบตราส่งที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศจัดทำขึ้นนอกราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118
ใบตราส่งระบุว่าจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้ที่ต้องได้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า โดยมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำการในฐานะตัวแทนของ ย. ในใบตราส่งนั้นด้วย เมื่อมีเงื่อนไขการขนส่งแบบ ซีวาย/ซีวาย ข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องแจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบและส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และเมื่อตู้สินค้าถูกขนส่งถึงท่าปลายทาง โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งจะต้องส่งมอบตู้สินค้าทั้งตู้แก่จำเลยในฐานะผู้รับตราส่งเพื่อนำไปเปิดที่โกดังของตนเอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่รับสินค้า พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยอมรับเอาหน้าที่ที่จะต้องรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ตามข้อกำหนดของใบตราส่งโดยเงื่อนไขของ ซีวาย ตัวหลังแล้ว เมื่อโจทก์ขนส่งสินค้ามาส่งมอบให้จำเลยและจำเลยยอมรับหน้าที่ตามใบตราส่งแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่รับตู้สินค้าและส่งคืนตู้สินค้าดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ทำหน้าที่ของตนกลับมีหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งและไม่ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อส่งมอบตู้สินค้าแก่ ย. และนำตู้สินค้ามาคืนโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18431/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาขนส่งทางทะเล: โจทก์ในฐานะตัวแทนไม่มีสิทธิเรียกร้องโดยตรงจากผู้ขนส่ง
โจทก์เป็นเพียงผู้รับจัดการขนส่งสินค้าให้แก่บริษัท ว. โดยโจทก์ได้ติดต่อว่าจ้างจำเลยให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าให้บริษัท ว. จำเลยได้รับขนส่งสินค้าโดยออกใบตราส่งระบุว่าบริษัท ว. เป็นผู้ส่งของบริษัท ม. เป็นผู้รับตราส่ง แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้ขนส่งทำสัญญารับขนของทางทะเลกับบริษัท ว. ผู้ส่งของ โดยโจทก์เป็นตัวแทนเข้าจัดการว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ขนส่ง อันเป็นการทำสัญญาในฐานะตัวแทนของบริษัท ว. ผู้เป็นตัวการ บริษัท ว. ในฐานะผู้ส่งของย่อมเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลยโดยตรง โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาและไม่ใช่ผู้มีสิทธิรับสินค้า ส่วนตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 28 ที่บัญญัติให้ผู้รับตราส่งจะเรียกให้ส่งมอบของได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งแก่ผู้ขนส่งนั้น หากผู้ขนส่งมอบสินค้าไปโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่ง แม้จะเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้ขนส่งก็เป็นกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดตามสัญญาขนส่ง เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ส่งของและมิใช่ผู้รับตราส่งหรือผู้มีสิทธิรับสินค้าจากผู้ขนส่ง โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาต่อโจทก์ ส่วนกรณีที่หากบริษัท ว. ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ก็เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้รับจัดการขนส่งและเป็นตัวแทนตามหลักกฎหมายตัวแทนต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล: สิทธิเรียกร้องจากการประกันภัยและสัญญาขนส่ง
การที่โจทก์รับประกันภัยสินค้าจากผู้เอาประกันภัยโดยกำหนดทุนประกันภัยไว้สูงกว่าราคาสินค้าโดยรวมเอาค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มเข้าไปอีกร้อยละ 10 รวมเป็นร้อยละ 110 ของราคาสินค้านั้น แม้จะเป็นการชอบด้วยหลักการรับประกันภัยทางทะเลซึ่งมีผลให้การคิดค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชำระแก่ผู้เอาประกันภัยจะคิดจากจำนวนเงินทุนประกันภัยที่โจทก์รับประกันภัยไว้ แต่กรณีดังกล่าวเป็นการรับประกันภัยและการคิดค่าสินไหมทดแทนที่ผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายแก่ผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยเท่านั้น จำเลยมิใช่คู่สัญญาจึงไม่มีความผูกพันหรือความรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว จำเลยเป็นเพียงผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องเท่านั้น ซึ่งหากสินค้าที่ขนส่งเสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่งที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยแล้ว จำเลยก็ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาขนส่งหรือผู้รับตราส่งหรือผู้ที่มีสิทธิรับสินค้าตามใบตราส่ง อันเป็นความรับผิดตามสัญญาขนส่งต่างหาก คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างถึงเหตุที่จำเลยต้องรับผิดต่อบริษัท ก. ผู้ซื้อสินค้าและรับสินค้าจากจำเลยผู้ขนส่งเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่ง และบริษัท ก. ได้เอาประกันภัยสินค้าไว้กับโจทก์ และโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท ก. ผู้เอาประกันภัยนั้นไป โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของบริษัท ก. มาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาขนส่ง โดยจำเลยในฐานะผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเป็นผลจากการที่ของหรือสินค้าที่จำเลยได้รับมอบจากผู้ส่งของเสียหายตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง และเมื่อเป็นกรณีที่ถือว่าสินค้าตามฟ้องเสียหายโดยสิ้นเชิงทั้งหมดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โดยสินค้าทั้งหมดมีราคาซีเอฟอาร์ โดยผู้ขายได้คิดค่าขนส่งมายังท่าเรือกรุงเทพรวมเข้าเป็นราคาดังกล่าวไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าความเสียหายของสินค้ามีจำนวนมากที่สุดเพียงเท่านั้น เมื่อหักราคาขายซากสินค้า จึงคงเหลือค่าเสียหายของสินค้าที่แท้จริง ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2452/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาขนส่งทางทะเลผิดสัญญา การชำระหนี้ไม่ตรงตามความประสงค์ และค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งลำไยอบแห้งจากจังหวัดเชียงใหม่ไปส่งให้แก่บริษัท ซ ที่ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ จากท่าเรือแหลมฉบังไปส่งที่ท่าเทียบเรือหมายเลข 9 และ 14 ปรากฏว่าจำเลยจัดส่งสินค้าดังกล่าวไปที่ท่าเทียบเรือหมายเลข 4 ท่าเรือไหว่เกาเชียว เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งพยานจำเลยก็ยอมรับว่า ที่เมืองเซี่ยงไฮ้มีท่าเรือขนาดใหญ่อยู่ 3 ท่าเรือ คือ ท่าเรือไหว่เกาเชียว ท่าเรือวูซองและท่าเรือหยานชาง และข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างได้ความว่าท่าเรือไหว่เกาเชียวไม่มีท่าเรือหมายเลข 9 และ 14 ดังนั้น จึงรับฟังได้ว่า หากกล่าวถึงท่าเรือหมายเลข 9 และ 14 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ย่อมหมายถึงท่าเรือวูซองหมายเลข 9 และ 14 ดังที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยปฏิบัติผิดสัญญารับขนของทางทะเล ไม่ขนส่งสินค้าของโจทก์ไปยังท่าเรือปลายทางที่ตกลงไว้ การที่บริษัท ซ. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งมารับสินค้าไปจากจำเลยที่ท่าเรือปลายทาง ซึ่งมิใช่ท่าเรือที่ตกลงกันไว้ภายในกำหนดเวลาและสินค้าอยู่ในสภาพปกติไม่มีความเสียหาย ก็ถือได้ว่าการปฏิบัติการชำระหนี้ของจำเลยเป็นกรณีไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้กับโจทก์ หากโจทก์ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22785/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนขนส่งทางทะเล: จำเลยในฐานะตัวแทน มิใช่ผู้ขนส่งจริง ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาขนส่ง
จำเลยลงชื่อในใบตราส่งไว้ในฐานะตัวแทนเรือ จำเลยรับจองระวางเรือและลงชื่อในใบตราส่งแทนผู้ขนส่งเท่านั้น โดยจำเลยเป็นสำนักงานตัวแทนของผู้ขนส่งในประเทศไทย มีสำนักงานอยู่ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ แม้จำเลยและผู้ขนส่งต่างก็เป็นผู้ประกอบกิจการให้บริการการขนส่งระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) เช่นกัน แต่จำเลยก็มิใช่ผู้ขนส่ง และเมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ขนส่งโดยไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะเป็นตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับโจทก์แทนผู้ขนส่งตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศอันจะทำให้จำเลยต้องรับผิดแต่ลำพังตนเอง จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1790/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตาม พ.ร.บ.ขนส่งต่อเนื่องฯ
จำเลยรับจ้างบริษัท ฟ ทำการขนส่งจากบริษัท ฮ ในประเทศอังกฤษทางรถยนต์ไปยังท่าอากาศยานในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อขนส่งทางเครื่องบินมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในประเทศไทย แล้วจำเลยยังต้องรับผิดชอบขนส่งทางรถยนต์ต่อไปยังคลังสินค้าของบริษัท ฟ ที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ด้วย ย่อมเป็นการรับขนของโดยมีรูปแบบการขนส่งทางรถยนต์หรือทางบกกับการขนส่งทางเครื่องบินหรือทางอากาศ อันเป็นรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกัน 2 รูปแบบในสัญญาขนส่งเดียวกัน จากสถานที่รับของในประเทศอังกฤษมาส่งมอบของยังสถานที่อีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ดังนี้ การใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายตามสัญญาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบของบริษัท ฟ ต่อจำเลยจึงมีอายุความ 9 เดือน นับแต่วันที่จำเลยในฐานะถือว่าเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ เมื่อได้ความด้วยว่า หากสินค้าไม่สูญหายก็จะส่งถึงบริษัท ฟ ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 จึงฟังได้ว่า วันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยควรจะส่งมอบสินค้า นับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 เกินกว่า 9 เดือน คดีจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10852/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่ง และการรับผิดในฐานะนายจ้าง กรณีสินค้าเสียหาย
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งและมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกของตนนำสินค้าไปส่งตามสัญญารับขน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกพลิกคว่ำระหว่างทาง ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2 อ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อไม่ให้ตนต้องรับผิดจากความเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าการเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 616
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากจำเลยที่ 3 จะดำเนินการพิธีการศุลกากรแล้ว ยังได้จองรถและออกค่าเช่ารถให้แก่จำเลยที่ 2 แทนบริษัท อ. ผู้เอาประกันภัยไปก่อน รวมทั้งเป็นผู้ออกใบตราส่งด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประสานงานอำนวยความสะดวกให้ทั้งบริษัท อ. และจำเลยที่ 2 ด้วยเพื่อให้การขนส่งสินค้าลุล่วงไป ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งตามฟ้อง แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ออกใบตราส่ง แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ติดต่อจัดหาผู้ขนส่งให้แก่บริษัท อ. โดยทำธุรกิจเช่นนี้มานานแล้ว แสดงว่าการจองรถของจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 เป็นการติดต่อว่าจ้างผู้ขนส่ง แทนบริษัท อ. ผู้ส่งนั่นเอง จำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 3 ได้ทำใบจองรถบรรทุกโดยขีดเครื่องหมายในช่องเลือกแบบการขนส่งที่คุ้มครองความเสียหายในวงเงิน 20,000 บาท ต่อครั้ง ย่อมถือได้ว่าบริษัท อ. ในฐานะตัวการเลือกแบบการขนส่งโดยตัวแทนแล้ว จึงถือได้ว่าบริษัท อ. ได้แสดงความตกลงชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งไว้ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งมีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และ 617 บัญญัติให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า รวมถึงความเสียหายอันเกิดแต่ความผิดของบุคคลอื่นที่ตนได้มอบหมายของไปอีกทอดหนึ่งด้วย การที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้าอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่งหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง ย่อมเป็นการผิดสัญญารับขนและเป็นการละเมิดด้วย แต่เมื่อมีการทำสัญญาตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ก็เท่ากับว่าผู้ส่งและผู้ขนส่งมีเจตนาที่จะถือเอาความรับผิดต่อกันให้เป็นไปตามสัญญารับขนแล้ว ย่อมต้องบังคับกันไปตามเจตนาของคู่สัญญาตามที่ได้ตกลงกันจำกัดความรับผิดกันไว้ ผู้ส่งย่อมไม่อาจขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลละเมิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดให้ผิดไปจากข้อตกลงได้ สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ได้ความว่าเหตุใดจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาจึงได้รับประโยชน์จากสัญญาขนส่งด้วยแต่อย่างใด ย่อมเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5338/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดสัญญาขนส่ง: การสำแดงมูลค่าสินค้า, ความสัมพันธ์ค่าระวาง, และความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ. ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น และวรรคสาม (1) กำหนดให้ข้อตกลงยกเว้นหรือข้อจำกัดความรับผิดที่เกิดจากการผิดสัญญาที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น การจะพิจารณาว่าข้อจำกัดความผิดของจำเลยทั้งสองตามใบรับขนของทางอากาศเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าข้อจำกัดความรับผิดนั้นเป็นผลให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดความรับผิดได้เปรียบผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรหรือไม่ เห็นว่า สัญญารับขนของทางอากาศระหว่างผู้ส่งกับจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญาต่างมีหนี้ที่จะต้องชำระตอบแทนกัน โดยหนี้ที่ผูกพันฝ่ายหนึ่งเป็นมูลฐานของการชำระหนี้ของอีกฝ่ายหนึ่ง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งมีหน้าที่ที่จะต้องขนส่งสินค้าไปส่งให้แก่ผู้รับตราส่ง หากสินค้าสูญหายหรือเสียหายอันเกิดขึ้นจากการผิดสัญญาก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนผู้ส่งก็มีหน้าที่ที่ต้องชำระค่าระวางขนส่งตามอัตราที่ตกลงกัน ซึ่งจากเงื่อนไขการขนส่งที่กล่าวมาเห็นได้ชัดเจนว่า อัตราค่าระวางที่ผู้ส่งต้องรับภาระจะสัมพันธ์โดยตรงกับมูลค่าสินค้าที่สำแดงเพื่อการขนส่งเช่นเดียวกับจำนวนความรับผิดกรณีสินค้าสูญหายหรือเสียหายโดยเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามกันหากสำแดงราคาสินค้าไว้สูง ผู้ส่งก็จะต้องเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้นแต่หากสินค้าสูญหายหรือเสียหายก็จะได้รับการชดใช้ตามมูลค่าที่สำแดงไว้ แต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดเท่านั้น ดังนั้น มูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งที่ระบุจึงเป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคาค่าระวางขนส่งและจำนวนความรับผิด การที่ผู้ขนส่งคิดค่าระวางเพิ่มขึ้นก็เนื่องมาจากมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มภาระในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หนี้ที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องชำระตอบแทนกันในส่วนนี้ จึงถือเป็นหนี้ที่มีความสำคัญขนาดเดียวกัน หากผู้ส่งต้องการค่าสินไหมทดแทนที่มากขึ้นก็ต้องยอมจ่ายค่าระวางขนส่งสูงขึ้นจึงจะเป็นธรรมแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย พิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่ว่าสินค้าที่ผู้ส่งจ้างให้จำเลยทั้งสองขนส่งมีมูลค่าเกินกว่าจำนวนสูงสุดที่จำเลยที่ 2 อนุญาตให้สำแดงได้ไปมาก ประกอบพฤติการณ์ที่ผู้ส่งซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 2 ไปต่างประเทศอยู่เป็นประจำย่อมทราบดีถึงเงื่อนไขการขนส่งและข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 แต่สมัครใจเข้าทำสัญญารับขนของทางอากาศกับจำเลยที่ 2 และไม่ได้แจ้งหรือระบุมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งไว้ ทั้งยังได้ทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยจากการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่งกับโจทก์เต็มมูลค่าของสินค้าโดยยอมเสียเบี้ยประกันภัยอันเป็นทางเลือกอย่างอื่น แสดงให้เห็นชัดถึงเจตนาที่จะเข้าเอาประโยชน์จากการที่จะไม่ต้องเสียค่าระวางเพิ่มและหากสินค้าสูญหายหรือเสียหายผู้ส่งยังได้รับชดใช้ตามกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์ ทางเลือกและทางได้เสียทุกอย่างของผู้ส่งกับจำเลยทั้งสอง เห็นว่า เงื่อนไขการขนส่งและข้อจำกัดความผิดตามใบรับขนของทางอากาศดังกล่าวมิได้มีผลให้ผู้ส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ หรือทำให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งได้เปรียบผู้เอาประกันภัยเกินสมควรแต่อย่างใด ข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและบังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4671/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศต่อความสูญหายของสินค้า และขอบเขตการจำกัดความรับผิดตามสัญญา
จำเลยจะต้องเป็นผู้ออกใบรับขนของทางอากาศ (AIRWAYBILL) ให้แก่โจทก์เมื่อสินค้าได้มีการชั่งน้ำหนักและผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้ว โดยระบุปลายทางของการขนส่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งและสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ส่วนการที่โจทก์มีหน้าที่ชำระเงินค่าขนส่งระหว่างบริษัทโจทก์ไปยังท่าอากาศยานกรุงเทพให้แก่จำเลยก็เป็นเพียงข้อตกลงแบ่งแยกความรับผิดชอบในการชำระเงินค่าขนส่ง ส่วนที่อยู่ภายในประเทศให้แก่โจทก์เท่านั้น
การที่จำเลยทำสัญญารับขนส่งทางอากาศกับโจทก์ ซึ่งสัญญาขนส่งประเภทนี้ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ใช้บังคับโดยเฉพาะเหมือนดังเช่นการขนส่งของทางทะเลที่มี พ.ร.บ.รับขนของทางทะเลฯ ใช้บังคับ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะ 8 ว่าด้วยรับขน ตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 616 แห่ง ป.พ.พ.บัญญัติให้ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย หรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือรับตราส่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องของโจทก์ จำเลยรับสินค้าตามฟ้องของโจทก์มาอยู่ในความดูแลของตนแล้วมีคนมาลักเอาสินค้าตามฟ้องไป ดังนี้การสูญหายของสินค้าตามฟ้องมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากสภาพของสินค้าหรือเกิดจากความผิดของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับชดใช้ค่าสินค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ แต่อย่างไรก็ตามในการทำสัญญารับขนส่งระหว่างโจทก์กับจำเลยได้มีข้อตกลงจำกัดความรับผิดของจำเลยไว้ ซึ่งจำเลยอาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวขึ้นได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 371 ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยนำสินค้าของโจทก์ไปกองรวมกับสินค้าของลูกค้ารายอื่นเพื่อรอชั่งน้ำหนักตามวิธีการขนส่งสินค้าธรรมดาแต่สินค้าของโจทก์ถูกโจรกรรมหายไป ซึ่งยังฟังไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยอย่างไรที่ทำให้เกิดการสูญหายของสินค้าโจทก์ จำเลยจึงอ้างข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวขึ้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2587/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาขนส่งสินค้าทางทะเลและทางบก: ความรับผิดของผู้ขนส่งเมื่อเกิดข้อจำกัดในการขนส่ง
สัญญาขนส่งสินค้าระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นสัญญารับขนของโดยมีการขนส่งทางทะเลและทางอื่นรวมอยู่ด้วย อันเข้าเป็นลักษณะของสัญญาจ้างทำของ และลักษณะของสัญญามุ่งเน้นการขนส่งทางทะเลเป็นสาระสำคัญ การที่ใบจองระวางเรือและใบตราส่งสินค้าพิพาทระบุจุดหมายปลายทางของการขนส่งทั้งสองเที่ยวว่าเมืองชิคาโกและเมืองดีทรอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงว่าความรับผิดของจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ขนส่งจะสิ้นสุดลงต่อเมื่อได้ส่งของที่รับขนส่งให้แก่ผู้รับตราส่งที่จุดหมายปลายทางเรียบร้อยแล้ว แม้จำเลยทั้งสองเรียกเก็บค่าระวางจากโจทก์ในลักษณะการขนส่งทางทะเลบวกกับการขนส่งทางบก ก็ไม่อาจถือได้ว่าการขนส่งทางบกโดยรถไฟเป็นสาระสำคัญของสัญญาขนส่งตามฟ้อง เพราะสภาพแห่งสัญญามุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ว่าจ้างโดยการที่สินค้าพิพาทไปถึงมือผู้รับตราส่งที่เมืองปลายทางเท่านั้น การที่สินค้าของโจทก์ไม่อาจขนส่งทางรถไฟจากเมืองแวนคูเวอร์ไปยังเมืองชิคาโกและเมืองดีทรอยต์ได้เพราะมีข้อจำกัดของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศแคนาดา ก็ไม่อาจถือได้ว่าการขนส่งสินค้าพิพาททั้งสองเที่ยวอันเป็นการชำระหนี้ของจำเลยทั้งสองต่อโจทก์ตามสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องกลายเป็นพ้นวิสัย เพราะสินค้าตามฟ้องสามารถขนส่งไปยังเมืองปลายทางได้โดยทางรถบรรทุก ทั้งไม่อาจถือได้ว่าการขนส่งทางรถบรรทุกอยู่นอกเหนือจากข้อตกลงขนส่งสินค้า การที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการขนส่งสินค้าพิพาทจากเมืองแวนคูเวอร์ไปยังเมืองชิคาโกและเมืองดีทรอยต์อันเป็นสถานที่ปลายทางตามสัญญาขนส่งสินค้าโดยโจทก์ได้บอกกล่าวแก่จำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาภายในระยะเวลาพอสมควรแล้ว ถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองได้ การที่โจทก์เกรงว่าหากปล่อยเวลาเนิ่นนานไปจะเกิดความเสียหายเพราะผู้ซื้ออาจปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้า จึงได้แจ้งแก่จำเลยที่ 2 ว่าจะขนส่งสินค้าช่วงจากเมืองแวนคูเวอร์ไปยังปลายทางเอง ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องแก่จำเลยทั้งสองแล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ยินยอมตกลงส่งมอบตู้สินค้าให้แก่บุคคลภายนอกที่โจทก์ติดต่อให้รับขนส่งต่อ โดยจำเลยที่ 2 ตกลงไม่เรียกเก็บค่าเสียเวลาตู้สินค้าที่เมืองแวนคูเวอร์ และจะไปรับตู้สินค้าคืนที่เมืองปลายทาง รวมทั้งยินยอมคืนค่าระวางบางส่วนให้แก่โจทก์ ถือเป็นส่วนที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชอบและไม่มีสิทธิได้รับค่าระวางในส่วนนั้นอยู่แล้ว ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยทั้งสองสมัครใจเลิกสัญญาขนส่งสินค้าตามฟ้องต่อกัน เมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินค่าจ้างขนส่งสินค้าพิพาททั้งสองรายการจากเมืองแวนคูเวอร์ไปยังเมืองปลายทางโดยทางรถยนต์เป็นเงิน 46,370 ดอลลาร์สหรัฐ จึงถือเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาซึ่งจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ โดยหักเงินค่าระวางส่วนต่างจากท่าเรือเมืองแวนคูเวอร์ไปยังเมืองปลายทางทั้งสองเที่ยวที่จำเลยทั้งสองส่งคืนให้แก่โจทก์แล้วออก
of 6