คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิเจ้าของที่ดิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14701/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าของที่ดิน vs. เสรีภาพประกอบอาชีพ: การคุ้มครองจากความเสียหายจากการประกอบกิจการ
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยออกระเบียบแก่บุคคลที่มาใช้บริการสนามกอล์ฟของจำเลย ห้ามมิให้ใช้ไม้กอล์ฟที่มีประสิทธิภาพตีไกล เช่น หัวไม้ 1 ห้ามมิให้ตั้งทีสูงเกิน 45 มิลลิเมตร ที่บริเวณชั้น 1 และกำหนดเวลาเปิดปิดตั้งแต่ 8 ถึง 20.30 นาฬิกา เป็นการคุ้มครองสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421, 1337, 1337 และ 1374 เพื่อระงับยับยั้งมิให้การใช้สิทธิของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 5 และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง และเป็นการพิพากษาบังคับให้จำเลยในฐานะผู้ประกอบกิจการสนามฝึกซ้อมกอล์ฟโดยตรงให้กระทำการและเป็นผู้ออกระเบียบ มิใช่เป็นการบังคับบุคคลภายนอกซึ่งสภาพแห่งหนี้เปิดช่องให้กระทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4648/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดสรรที่ดินและการใช้ประโยชน์จากถนนสาธารณูปโภค โครงการจัดสรรต้องเคารพสิทธิการใช้ถนนของเจ้าของที่ดิน
ในการแบ่งที่ดินออกเป็นแปลงย่อยแล้วนำออกขายตามโครงการของจำเลยทั้งสองได้ระบุแผนผังแนบท้ายกับสัญญาซื้อขายให้แก่ผู้ซื้อที่ดินในโครงการว่า มีรูปถนนดังแผนผังแนบท้ายโฉนด จากนั้นผู้ดำเนินโครงการได้ทยอยแบ่งที่ดินออกเป็นแปลงย่อย คราวละไม่เกิน 9 แปลง ทำให้ไม่ตกอยู่ในบังคับของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ก็ตาม แต่ก็เป็นการจัดสรรที่ดินอันทำให้ถนนที่พิพาทเป็นสาธารณูปโภคตามผลในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แล้ว แม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว แต่มาตรา 69 ก็บัญญัติให้ถือว่าการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 เป็นการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ด้วย ดังนั้น ถนนพิพาทจึงเป็นสาธารณูปโภคแก่ที่ดินแปลงย่อยที่โจทก์ซื้อปลูกสร้างอาคารในโครงการจัดสรรดังกล่าว จำเลยทั้งสองไม่อาจกระทำการใดอันทำให้เสื่อมต่อสิทธิของเจ้าของที่ดินในโครงการในอันที่จะใช้ถนนดังกล่าวได้
โจทก์ฟ้องขอให้รื้อถอนแท่นคอนกรีตออกไปจากถนนพิพาท จึงมีความหมายว่าขอให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เพื่อให้ถนนกลับมามีสภาพดังเดิม การรื้อถอนแท่นคอนกรีตจึงมีความหมายถึงสิ่งที่ติดตั้งอยู่บนแท่นคอนกรีตซึ่งหมายความรวมถึงศาลพระภูมิด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15674/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าของที่ดินต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น การสร้างกำแพงบดบังทัศนียภาพทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิกระทำการใด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของจำเลย แต่การใช้สิทธิของจำเลยต้องเป็นไปโดยสุจริต และไม่เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นด้วย ที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่เพียง 35 ตารางวา เป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง มีความกว้างสุดประมาณ 2 เมตร ตามสภาพย่อมไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จะบดบังทัศนียภาพหน้าที่ดินที่เป็นตึกแถวตั้งอยู่ได้ ซึ่งทัศนียภาพดังกล่าวเป็นคูน้ำและทางหลวงสายสุพรรณบุรี - ชัยนาท หมายเลข 340 ที่อยู่หน้าที่ดินของจำเลย ส. เจ้าของที่ดินเดิมก็คงคาดหมายเช่นนี้ จึงสร้างตึกแถวขาย แต่เมื่อมีกำแพงทึบสูงถึง 2.70 เมตร ย่อมทำให้ชั้นล่างของตึกแถวถูกบดบังและผู้อยู่อาศัยย่อมไม่อาจเห็นทัศนียภาพดังกล่าวได้ ทำให้ผู้อยู่ในตึกแถวเสียโอกาสเห็นความเป็นไปบนทางหลวง และผู้สัญจรบนทางหลวงไม่อาจเห็นตึกแถวได้ชัดเจนเช่นกัน ย่อมทำให้ผู้อยู่ในตึกแถวเสียโอกาสในการค้าขาย การที่จำเลยทำกำแพงคอนกรีตทึบสูง 2.70 เมตร โดยขาดเหตุผล จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต และเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่ให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 421

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 796/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินจากการขายทอดตลาดและการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง การใช้สิทธิของเจ้าของที่ดิน
ขณะจำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ติดกันนั้น จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 ต่อมาที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาด แม้โจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตามมาตรา 1330 โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว โจทก์ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์และมีสิทธิตามมาตรา 1335 และมาตรา 1336 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป และบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดินพิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้ มิใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยเพียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4846/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรื้อถอนอาคารรุกล้ำที่ดิน & ข้อจำกัดการฟ้องบังคับตามข้อบัญญัติท้องถิ่น
จำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารผิดต่อข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครหรือไม่ เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องดำเนินการแก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้ หากโจทก์เห็นว่าหน้าต่างของอาคารที่จำเลยทั้งสองก่อสร้างเมื่อเปิดแล้วจะรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องห้ามมิให้จำเลยทั้งสองเปิดหน้าต่างล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารพอแปลได้ว่า โจทก์ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองเปิดหน้าต่างหรือส่วนของอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ส่วนประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองก่อสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 16 เมตร จำเลยทั้งสองให้การว่า มิได้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์หากแต่ปลูกสร้างบนที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีที่โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกันจึงเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้ตีราคาที่ดินส่วนที่พิพาทกันเพื่อให้คู่ความเสียค่าขึ้นศาลในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงระวางที่ดินเลขที่ดิน หน้าสำรวจ ตำบล อำเภอ และจังหวัดที่ตั้งของที่ดินส่วนที่พิพาทซึ่งมีสภาพเป็นทางเข้าวัดโจทก์แล้ว เห็นว่ามีราคาไม่ถึง 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าของที่ดินถมลำรางส่วนบุคคลเมื่อไม่มีภาระจำยอม การใช้สิทธิไม่สร้างความเสียหาย
เดิมเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5638 ขุดลำรางพิพาทผ่านที่ดินเพื่อนำน้ำจากคลองสาธารณประโยชน์มาใช้ในที่ดินมาประมาณ 40 ปี ต่อมาที่ดินตกเป็นของโจทก์กับจำเลยและบุคคลอื่นอีกหลายคนเป็นเจ้าของรวมกัน กับได้แบ่งแยกที่ดินเป็นของเจ้าของแต่ละคนลำรางจึงถูกแบ่งออกเป็นส่วนตามที่ดินที่ถูกแบ่งแยก เมื่อเจ้าของรวมในที่ดินมิได้มีข้อตกลงหรือจดทะเบียนให้ลำรางดังกล่าวเป็นลำรางที่ตกอยู่ในภาระจำยอมขณะมีการแบ่งแยกโฉนด จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ลำรางส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะถมดินกลบลำรางพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336
เมื่อลำรางพิพาทมิได้ตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์การที่โจทก์ขอให้จำเลยเปิดลำรางพิพาทย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์ฝ่ายเดียวโดยจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินลำรางพิพาทเป็นฝ่ายเสียประโยชน์จากการใช้ที่ดินของตน การที่จำเลยถมดินกลบลำรางพิพาทจึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421
of 5