คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิใช้ทาง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 152 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 269/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภารจำยอมโดยอายุความ: สิทธิใช้ทางเฉพาะที่ดินเจ้าของ ไม่ใช่เจ้าของบ้าน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 อสังหาริมทรัพย์จะตกอยู่ในภารจำยอมก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นกรณีการใช้ทางในที่ดินของบุคคลหนึ่งจะตกเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความก็ต้องเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของบุคคลอื่นเท่านั้นไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ตัวบ้านซึ่งเจ้าของบ้านอาศัยสิทธิปลูกอยู่บนที่ดินของบุคคลดังกล่าว โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ใกล้กับบ้านโจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินที่บ้านตั้งอยู่จึงไม่อาจอ้างการได้สิทธิทางภารจำยอมโดยอายุความตามมาตรา 1401ทางพิพาทจึงตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอม โจทก์ที่ 1 และบริวารย่อมมีสิทธิใช้ทางพิพาทตลอดเวลา หากจำเลยปิดประตูเหล็กตาข่ายไว้สองบานหรือบานใดบานหนึ่ง ย่อมเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอม ลดไปหรือเสื่อมความสะดวก จำเลยย่อมไม่มีสิทธิทำเช่นนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนการใช้ทางร่วม และสิทธิการใช้ทางเมื่อมีการปลูกสร้างอาคาร
ทางพิพาทกว้าง3เมตรเกิดขึ้นจากการที่ส. และจำเลยได้ตกลงกันเว้นที่ดินบริเวณที่มีแนวเขตติดกันในที่ดินของแต่ละฝ่ายกว้าง1.50เมตรยาวตลอดแนวเขตที่ดินที่ติดกันเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกซอยจรัญสนิทวงศ์46 และทางพิพาทดังกล่าวมีมาตั้งแต่ปี2508บุคคลที่ซื้อที่ดินจากส. ซึ่งรวมทั้งโจทก์ต่างก็ตกลงยอมให้ที่ดินของตนส่วนที่ส. ให้เว้นไว้เป็นทางใช้เป็นทางได้เมื่อโจทก์เข้ามาอยู่ในที่ดินที่ซื้อจากส. และปลูกบ้านอยู่อาศัยมาเป็นเวลา10ปีเศษก็ได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกซอยดังกล่าวตลอดมาส่วนจำเลยและบุคคลที่อาศัยอยู่ในที่ดินของจำเลยก็ได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกซอยนั้นเช่นเดียวกันข้อตกลงระหว่างส.กับจำเลยเช่นนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ให้อีกฝ่ายหนึ่งใช้ที่ดินของตนเป็นทางได้จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมายต่อมาเมื่อโจทก์ซื้อที่ดินจากส. ก็ได้ยอมรับข้อตกลงดังกล่าวและหลังจากที่โจทก์เข้ามาปลูกบ้านอยู่ในที่ดินที่ซื้อจากส. โจทก์ก็ได้ใช้ทางพิพาทมาเป็นเวลา10ปีเศษโดยจำเลยไม่เคยโต้แย้งห้ามปรามและจำเลยก็ยังใช้ทางพิพาทซึ่งต้องผ่านที่ดินของโจทก์เหมือนเดิมจึงต้องถือว่าจำเลยได้ตกลงกับโจทก์โดยปริยายให้โจทก์ใช้ทางพิพาทในที่ดินส่วนที่เป็นของจำเลยและให้จำเลยใช้ทางพิพาทในที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนเช่นเดียวกับที่จำเลยตกลงกับส. ดังนั้นแม้จะฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นจำเลยก็จะปิดกั้นทางพิพาทในส่วนที่เป็นที่ดินของจำเลยไม่ให้โจทก์ใช้อันถือว่าเป็นการเลิกสัญญาต่างตอบแทนโดยโจทก์ไม่ยินยอมและไม่ได้กระทำการใดๆที่จะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2325/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมที่ดินจัดสรร: สิทธิใช้ทางสัญจร vs. การบำรุงรักษา และการโต้แย้งสิทธิเจ้าของกรรมสิทธิ์
การที่โจทก์แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1831 ออกเป็นแปลงย่อยปลูกสร้างตึกแถวขายถึง 50 แปลง อีกทั้งยังจัดให้มีการทำถนนออกสู่ทางสาธารณะโดยจัดสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างตึกแถวขายเพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อตึกแถวเป็นการจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไป ที่ดินที่โจทก์เว้นไว้เป็นถนนจึงเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้น ต้องตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามนัยแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30วรรคแรก และข้อ 32 ดังนั้น ถนนหน้าตึกแถวของจำเลยและผู้ที่ซื้อตึกแถวรายอื่น ๆย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรเพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อตึกแถวทุกห้อง
จำเลยคงมีสิทธิใช้ถนนพิพาทเป็นทางสัญจรผ่านเข้าออกได้เท่านั้นส่วนโจทก์ในฐานะเป็นผู้จัดสรรมีหน้าที่บำรุงรักษากิจการอันเป็นสาธารณูปโภคนั้นให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป เมื่อจำเลยก่อสร้างกันสาดและวางของขายบนถนนย่อมทำให้ถนนอันเป็นสาธารณูปโภคนั้นเสื่อมสภาพ เสื่อมประโยชน์การใช้ทางสัญจร ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรและเจ้าของกรรมสิทธิ์ในถนนพิพาทนั้นด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2539 เวอร์ชัน 5 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดสรรที่ดินโดยปริยาย ทางภาระจำยอม และสิทธิการใช้ทางของผู้ซื้อ
แม้จะไม่ปรากฏว่าบริษัท ก.เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 และที่ดินโฉนดเลขที่ 31569 ส่วนที่เป็นทางพิพาทนั้นเป็นที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตก็ตาม ก็ถือได้ว่าการกระทำของบริษัท ก.ที่แบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อย 90 แปลง เพื่อขายนั้น เป็นการแสดงออกโดยปริยายแล้วว่าบริษัท ก.จัดให้มีสาธารณูปโภคคือทางพิพาท อันถือได้ว่าเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 30
การที่บริษัท ก.จะขออนุญาตจัดสรรที่ดินหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก หากจะเป็นการดำเนินการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวก็ไม่ทำให้การดำเนินการของบริษัท ก.ไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย ดังนั้นทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมตามกฎหมายแก่ที่ดินที่จัดสรรและที่ดินที่โจทก์ซื้อจากบริษัท ก.จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ต่อจากบริษัท ก.ย่อมอยู่ในบังคับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 ที่จะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้
โจทก์ซึ่งซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวในที่ดินจัดสรรดังกล่าว ย่อมมีสิทธิใช้ทางพิพาทได้ การที่มีการก่อสร้างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางภาระจำยอม ย่อมเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อที่ดินแปลงที่ทางภาระจำยอมตั้งอยู่โอนมาเป็นของจำเลย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางภาระจำยอมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ทาง-การปิดกั้นทาง-ละเมิด-สิทธิโดยสุจริต-ภารจำยอม
การที่โจทก์ทำประตูเหล็กปิดกั้นถนนพิพาท ไม่ยอมให้จำเลยเข้าออก เว้นแต่จะยอมเสียค่าตอบแทนแก่โจทก์ ย่อมทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าถูกโจทก์โต้แย้งสิทธิ ดังนั้นที่จำเลยยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นขอให้เปิดถนนพิพาทและในระหว่างพิจารณาได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา จึงเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แม้ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยมีความเห็นหลงไปว่า การมีคำสั่งเช่นนั้นมีเหตุผลอันสมควรโดยความผิดหรือเลินเล่อของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 263(1)การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1404/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภารจำยอมเกิดขึ้นไม่ได้สำหรับผู้เช่า แม้ใช้ทางต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี สิทธิเกิดเฉพาะเจ้าของที่ดินเท่านั้น
ภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่กฎหมายก่อตั้งขึ้นสำหรับเจ้าของสามยทรัพย์ การสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยซึ่งเป็นเพียงผู้เช่าที่ดินของกระทรวงการคลังเป็นที่ตั้งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของโจทก์ขนส่งไปรษณีย์ภัณฑ์เข้าออก มิได้เป็นการใช้แทนหรือทำในนามหรือเพื่อประโยชน์ของกระทรวงการคลังอันจะก่อให้เกิดภารจำยอมแก่สามยทรัพย์ แม้จะใช้มาเป็นเวลา 10 ปีเศษก็ไม่ก่อให้เกิดภารจำยอม จำเลยจะอ้างสิทธิว่าได้ใช้ทางพิพาทจนได้ภารจำยอมแก่กระทรวงการคลังเจ้าของที่ดินผู้ให้เช่าแล้วไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9374/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ทางจำเป็น & ค่าทดแทน: การใช้ทางผ่านที่ดินของผู้อื่นต้องจ่ายค่าทดแทนตามกฎหมาย
ก่อนที่โจทก์จะรับโอนที่ดินโฉนดพิพาทมาจากมารดา แม้โจทก์เคยใช้ถนนพิพาทมาก่อนก็เป็นการใช้โดยอาศัยอำนาจของเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมการใช้ถนนพิพาทดังกล่าวหาก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์แต่อย่างใดไม่ ดังนั้นที่คู่ความนำสืบโต้เถียงกันว่า ถนนพิพาทมีมาแต่เดิมหรือไม่ จึงหาใช่ข้อสาระสำคัญแต่อย่างใดไม่ แต่ภายหลังที่จำเลยรับโอนที่ดินโฉนดพิพาทจากมารดาซึ่งมีถนนพิพาทผ่านแล้วตามฟ้องและทางนำสืบโจทก์อ้างว่า โจทก์ใช้ถนนพิพาทโดยอาศัยข้อตกลงยินยอมของจำเลยให้ใช้ได้ตลอดไปโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใด แม้จำเลยจะมิได้นำสืบปฏิเสธในข้อนี้ เพียงแต่ตั้งเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่จำเลยและครอบครัวเท่านั้น อย่างไรก็ดีลำพังข้อตกลงยินยอมของจำเลยดังกล่าว เป็นเพียงให้สิทธิแก่โจทก์ใช้ถนนพิพาทได้โดยไม่เป็นการละเมิดเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิยกเอาความยินยอมนั้นผูกพันจำเลยตลอดไป จำเลยอาจยกเลิกไม่ให้ใช้ถนนพิพาทเสียเมื่อไรก็ได้ การที่ต่อมาจำเลยทำประตูเหล็กใส่กุญแจ ปิดประกาศกำหนดเวลาผ่านเข้าออกและทำโครงไม้คร่อมถนนพิพาทดังกล่าว ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้โจทก์ใช้ถนนพิพาทให้พอควรแก่ความจำเป็นเช่นที่เคยผ่านมา อันมีผลเท่ากับจำเลยได้ยกเลิกข้อตกลงยินยอมให้ใช้ถนนพิพาทโดยปริยาย ข้อตกลงยินยอมของจำเลยที่ให้โจทก์ใช้ถนนพิพาทโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใด ๆ จึงสิ้นสุดลง แต่โดยที่ถนนพิพาทโดยสภาพยังเป็นทางจำเป็นอยู่ เพราะที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ ซึ่งตามฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายสภาพแห่งข้อหาว่า ที่ดินที่โจทก์ปลูกบ้านอยู่อาศัยนั้นตกอยู่ในวงล้อม ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ คงมีถนนพิพาทเท่านั้นที่ผ่านที่ดินของจำเลยเป็นทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ ซึ่งสะดวก มีระยะทางสั้นและเสียหายแก่ที่ดินของจำเลยน้อยที่สุด ดังนั้นโจทก์จึงอาจใช้ถนนพิพาทได้ดังเดิมโดยอาศัยสิทธิดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1349 ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าววรรคท้ายบัญญัติว่าผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น โจทก์จึงต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลย
ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1349 วรรคสาม ผู้ที่ใช้ทางผ่านต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็น กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ถ้าจำเป็น ความจำเป็นของโจทก์คือให้มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยสะดวกการที่จำเลยทำถนนพิพาทเป็นถนนคอนกรีต ทำรั้วคอนกรีตด้านที่ติดกับที่ดินบ้านโจทก์โดยเว้นช่องประตูเป็นทางเข้าออกกับทำประตูรั้วเหล็กด้านที่ติดริมซอยเหรียญทองแล้วโจทก์ก็ยังคงใช้ถนนพิพาทได้โดยสะดวกตลอดมา จนกระทั่งต่อมาจำเลยใส่กุญแจประตูรั้วเหล็กและทำโครงไม้คร่อมถนนพิพาทเป็นสาเหตุให้เกิดพิพาทกันเป็นคดีนี้จึงฟังไม่ได้ว่า การที่จำเลยทำกำแพงรั้วมีช่องประตูกว้างเพียง 2.80 เมตร กับการทำประตูรั้วเหล็กริมซอยเหรียญทองดังกล่าว ทำให้โจทก์ใช้ถนนพิพาทไม่ได้พอแก่ความจำเป็น กับทั้งได้คำนึงถึงในข้อที่ควรให้จำเลยได้รับความเสียหายน้อยที่สุดแล้ว จึงไม่สมควรบังคับให้จำเลยรื้อประตูรั้วเหล็กและขยายช่องกำแพงรั้วดังกล่าว เพียงแต่จำเลยต้องไม่กระทำการใดอันเป็นการขัดขวางโจทก์และบริวารในการใช้ถนนพิพาทให้พอแก่ความจำเป็นเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9050/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน, ราคาลดลง, การชดเชย, ดอกเบี้ย, และสิทธิในการใช้ทาง
การที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถือราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531ถึง พ.ศ. 2534 ของกรมที่ดินเป็นเกณฑ์กำหนด โดยกำหนดสูงกว่าราคาที่ดินที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีบำรุงท้องที่ อันเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ก่อนถูกแก้ไขโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ที่ให้นำมาตรา 21(2)(3) มาเป็นเกณฑ์กำหนดก็ตามแต่ก็เป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญญัติดังกล่าว มิใช่ราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งกำหนดราคาเบื้องต้น การจ่ายเงินค่าทดแทนในการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับดังกล่าวใช้บังคับ และโจทก์ได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่14 มกราคม 2534 คดีจึงยังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่29 กุมภาพันธ์ 2534 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มีผลใช้บังคับ ฉะนั้นการพิจารณาค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนสอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติดังกล่าวจะต้องนำเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาตรา 21(1)(4) และ (5) มาประกอบการพิจารณาด้วย อำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเพราะเหตุราคาลดลงนี้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสามบัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงการอุทธรณ์เงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดที่โจทก์ควรได้รับเนื่องจากเหตุการเวนคืนที่ดินของโจทก์ครั้งนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนที่เหลือจากการเวนคืนได้ จำเลยได้สร้างทางจำเป็นกว้าง 4.80 เมตร ให้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือจากการเวนคืน ซึ่งโจทก์สามารถใช้ทางจำเป็นดังกล่าวเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้โดยสะดวกอยู่แล้ว ที่โจทก์จะขอให้จดทะเบียนเป็นภารจำยอมให้มีความกว้าง 6 เมตรนั้น เมื่อที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนไปนั้นเพื่อ วัตถุประสงค์ให้เป็นทางด่วนสาธารณูปโภคและได้มีประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515ข้อ 29 บัญญัติมีใจความว่า ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งอื่นเชื่อมต่อทางพิเศษ หากมีการฝ่าฝืน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีอำนาจรื้อถอนหรือทำลายได้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ห้ามเด็ดขาดที่จะมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือน หรือสิ่งอื่นเชื่อมทางพิเศษ ทั้งการได้ภารจำยอมในที่ดินแปลงใดก็ตามต้องได้มาโดยนิติกรรม โดยอายุความ หรือโดยผลกฎหมายที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เท่านั้น เมื่อกรณีของโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่อาจบังคับภารจำยอมให้โจทก์ได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้นับแต่วันต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น ดังนี้ผู้ได้รับชำระเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นจะต้องได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใด ก็เป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง การที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราต่อปีคงที่เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8399/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิภาระจำยอมเกิดขึ้นจากการใช้ทางต่อเนื่องเกิน 10 ปี แม้มีการตกลงร่วมกันก่อนหน้า
โจทก์ทั้งสิบเอ็ด โจทก์ร่วม จำเลย และผู้ร่วมซื้อที่ดินทุกคนตกลงกันว่ายอมให้จำเลยเลือกเอาที่ดินด้านที่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 941 ของจำเลยตลอดแนวเป็นเนื้อที่ 2,400 ส่วน โดยไม่ต้องจับสลาก และจำเลยยอมให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ด โจทก์ร่วม และผู้ร่วมซื้อคนอื่น ๆ ผ่านเข้าออกที่ดินโฉนดเลขที่ 941ของจำเลยไปสู่ถนนสามัคคีได้ เมื่อมีการทำแผนที่แบ่งที่ดินเป็นแปลงย่อยและถนนแล้วให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ด โจทก์ร่วม และผู้ซื้อทุกคนตรวจดูเห็นว่าถูกต้องจึงได้จับสลากเป็นของแต่ละคน จำเลยได้จัดการถมดินในที่ดินแปลงย่อยทั้งสองของจำเลยและทำถนนต่อจากถนนที่ใช้ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 875 ผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 941ไปสู่ถนนสามัคคี ซึ่งเป็นถนนสาธารณะ โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้ใช้ประโยชน์จากถนนดังกล่าวเข้าออกสู่ถนนสาธารณะตลอดมาตั้งแต่ปี 2520 โจทก์ที่ 3 ได้เข้าไปปลูกต้นไม้ และโจทก์ที่ 4 ได้เข้าไปปลูกบ้านและขุดบ่อเลี้ยงปลา ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้ถนนดังกล่าวตามสิทธิตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงได้ภาระจำยอมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 837/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ทางจำเป็น การกำหนดความกว้างของทางและค่าทดแทนความเสียหาย
ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินของจำเลยทั้งสองและของผู้มีชื่อปิดล้อมไม่อาจออกสู่ทางสาธารณะได้แม้ทางด้านทิศตะวันออกติดกับลำรางสาธารณะแต่สภาพปัจจุบันตื้นเขินประชาชนไม่ได้ใช้สัญจรมาประมาณ10ปีจึงถือไม่ได้ว่าที่ดินของโจทก์ติดทางสาธารณะเมื่อวัดจากที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองออกสู่ทางสาธารณะเป็นระยะใกล้ที่สุดโจทก์ย่อมได้สิทธิ ทางจำเป็นเหนือที่ดินของจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์มีสิทธิใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยศาลก็ไม่สมควรจำกัดสิทธิให้ผ่านได้เฉพาะรถยนต์โดยควรให้โจทก์มีสิทธิใช้เดินด้วยเท้าด้วย การที่โจทก์จะใช้สิทธิติดตั้งไฟฟ้าท่อน้ำประปาท่อระบายน้ำโทรศัพท์และสาธารณูปโภคอันจำเป็นอื่นๆผ่านที่ดินของจำเลยนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสนอ ค่าทดแทนตามสมควรแก่จำเลยนั้นตามนัยมาตรา1352แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และคำขอท้ายฟ้องมิได้ขอให้จำเลยรับเงิน ค่าทดแทนจากโจทก์จึง ไม่มี ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ชอบจะใช้สิทธิตามมาตรา1352หรือไม่
of 16