พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22691/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หน้าที่โจทก์ในการพิสูจน์ความผิดอาญา & พยานหลักฐานรับจำนำต้องเชื่อมโยงกับธุรกิจ
ในคดีอาญาเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธ เป็นหน้าที่ของโจทก์โดยตรงที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนคำฟ้อง และพิสูจน์ให้ได้ความชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายว่า จำเลยตั้งโรงรับจำนำ ประกอบการรับจำนำสิ่งของ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า กบไสไม้ โทรศัพท์เคลื่อนที่และอื่น ๆ เป็นประกันหนี้เงินกู้เป็นปกติธุรกิจแต่ละรายมีจำนวนไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าจะได้ไถ่คืน โจทก์มีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงให้สมฟ้อง แต่โจทก์มีพยานเพียง 3 คน เบิกความว่านำสิ่งของจำนำไว้แก่จำเลยเท่านั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้หนังสือสัญญาซื้อขาย 69 เล่ม และคู่มือจดทะเบียนรถของกรมการขนส่งทางบก 10 เล่ม มาเป็นของกลาง แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้อ้างส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานและมิได้นำสืบให้เห็นว่าหนังสือสัญญาซื้อขายและคู่มือจดทะเบียนรถนั้นเกี่ยวข้องกับการรับจำนำสิ่งของที่ร้านค้าของจำเลยหรือไม่ อย่างไร ทั้งในชั้นสอบสวนก็ไม่ได้สอบผู้ที่ทำสัญญาซื้อขาย จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าหนังสือสัญญาซื้อขายและคู่มือจดทะเบียนรถเป็นพยานเกี่ยวกับการรับจำนำสิ่งของของจำเลยอันจะเป็นพฤติการณ์บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยประกอบการรับจำนำสิ่งของเป็นปกติธุระตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ.2505 จำเลยจึงยังไม่มีความผิดฐานตั้งโรงรับจำนำโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5308/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หน้าที่โจทก์ในการพิสูจน์ความผิดฐานมีอาวุธปืน และผลของการขาดอายุความในความผิดเล็กน้อย
ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานมีและฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์มีหน้าที่นำสืบว่า จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืน เมื่อโจทก์ไม่นำสืบจึงไม่สามารถลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ได้
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย ก็เพื่อนำข้อเท็จจริงมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลย มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย และแม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมความประพฤติโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบ แต่ก็เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วย ศาลจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท เพียงสถานเดียว อันเป็นระวางโทษอย่างอื่นนอกจากโทษจำคุก และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 376 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดวันที่ 16 มกราคม 2548 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 13 กันยายน 2549 จึงเลยกำหนดระยะเวลา 1 ปี คดีของโจทก์สำหรับความผิดทั้งสองมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย ก็เพื่อนำข้อเท็จจริงมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลย มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย และแม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมความประพฤติโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบ แต่ก็เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วย ศาลจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท เพียงสถานเดียว อันเป็นระวางโทษอย่างอื่นนอกจากโทษจำคุก และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 376 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดวันที่ 16 มกราคม 2548 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 13 กันยายน 2549 จึงเลยกำหนดระยะเวลา 1 ปี คดีของโจทก์สำหรับความผิดทั้งสองมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6295/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หน้าที่โจทก์ในการแถลงคดีเพื่อขอให้นับโทษต่อ ศาลไม่ต้องตรวจสอบคดีเอง
เมื่อโจทก์เป็นผู้ขอให้ศาลนับโทษต่อจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องแถลงให้ศาลทราบว่าคดีอาญาอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้น ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่ และลงโทษอย่างไร เพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจนับโทษต่อให้ตามคำขอของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่แถลงให้ศาลทราบ แม้คดีดังกล่าวจะอยู่ในศาลเดียวกันก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลต้องรู้เองและศาลไม่มีหน้าที่จะต้องไปตรวจสอบคดีนั้นด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13849/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีโดยจำเลยไม่มาศาล และหน้าที่ของโจทก์ในการนำตัวจำเลยมาส่งศาลในคดีทรัพย์สินทางปัญญา
ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาล โดยข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2552 ว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.5425/2552 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี ซึ่งคดีดังกล่าวศาลได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับและปรับนายประกันแล้ว แม้คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเดียวกัน แต่เมื่อเป็นการฟ้องต่างคดีและโจทก์มีหน้าที่ต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวจำเลยดังกล่าวมา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 141 วรรคสี่ โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้โดยไม่มีตัวจำเลยมาศาลและอ้างว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้วด้วยหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับสารภาพที่ไม่ชัดเจน และหน้าที่ของโจทก์ในการพิสูจน์ความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ว่าขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานใดจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงลงโทษจำเลยไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2550
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หน้าที่ติดตามผลการส่งหมาย และดุลพินิจศาลในการจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ถึงแม้มิได้สั่งให้โจทก์เป็นผู้นำส่ง แต่เมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องติดตามผลการส่งหมายเอง เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยได้โดยวิธีปิดหมายตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2546 และต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล ซึ่งหากโจทก์ตรวจสำนวนย่อมจะทราบผลการส่งหมายและดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ก่อนวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี การที่โจทก์ไม่ติดตามขวนขวายตรวจสำนวนเพื่อทราบผลการส่งหมายอันเป็นความบกพร่องไม่ใส่ใจในคดี จึงเป็นการปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกสารบบความจึงชอบแล้ว
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง เป็นคำสั่งที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 132 (2) ด้วย แม้มาตรา 132 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยการกำหนดเงี่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควรแต่บทบัญญัติที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะสั่งกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมหรือไม่ หากศาลจะมีคำสั่งดังกล่าวคำสั่งนั้นก็ต้องไม่ขัดแย้งกับมาตรา 151 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ซึ่งบัญญัติถึงเงื่อนไขในการคืนค่าธรรมเนียมศาลไว้โดยเฉพาะ ดังนี้ เมื่อมาตรา 151 ไม่ได้กำหนดให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามมาตรา 198 วรรคสอง จึงสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์ไม่ได้
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง เป็นคำสั่งที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 132 (2) ด้วย แม้มาตรา 132 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยการกำหนดเงี่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควรแต่บทบัญญัติที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะสั่งกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมหรือไม่ หากศาลจะมีคำสั่งดังกล่าวคำสั่งนั้นก็ต้องไม่ขัดแย้งกับมาตรา 151 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ซึ่งบัญญัติถึงเงื่อนไขในการคืนค่าธรรมเนียมศาลไว้โดยเฉพาะ ดังนี้ เมื่อมาตรา 151 ไม่ได้กำหนดให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามมาตรา 198 วรรคสอง จึงสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์ไม่ได้