คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ห้องชุด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 45 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 935/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายห้องชุดและที่จอดรถ: ข้อตกลงไม่ขัด กม. และสิทธิการใช้ประโยชน์
แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 12 บัญญัติไว้ว่า "กรรมสิทธิ์ในห้องชุดจะแบ่งแยกไม่ได้" แต่มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เจ้าของห้องชุดมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลที่เป็นของตน และมีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ส่วนกลาง" และ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดคำนิยามไว้ในมาตรา 4 "ทรัพย์ส่วนบุคคล" หมายความว่า ห้องชุด และหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย "ห้องชุด" หมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่แยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนเฉพาะของแต่ละบุคคล จากบทนิยามดังกล่าวและบทบัญญัติในมาตรา 12, 13 หาได้มีการกล่าวถึงการเป็นส่วนควบของห้องชุดไว้แต่อย่างใด การที่ที่จอดรถซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลจะเป็นส่วนควบของห้องชุดหรือไม่นั้น จึงต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. บรรพ 1 ว่าด้วยทรัพย์ ซึ่งมีบทบัญญัติส่วนควบในมาตรา 144 ว่า "ส่วนควบของทรัพย์หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้ นอกจากจะทำลาย ทำให้บุบสลาย หรือทำให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น" เมื่อพิจารณาสภาพของที่จอดรถของห้องชุดที่กำหนดไว้ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด ก็ระบุเพียงว่าเป็นรายการทรัพย์ส่วนบุคคลที่อยู่นอกห้องชุด ทั้งที่จอดรถสำหรับห้องชุดก็หาได้อยู่ติดกับห้องชุดไม่ โดยจะเป็นพื้นที่สำหรับจอดรถแยกไว้ต่างหากในบริเวณที่กำหนดให้เป็นที่จอดรถ ประกอบกับที่จอดรถนั้น แม้จะมีความสำคัญสำหรับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด ซึ่งต้องมีที่จอดรถสำหรับรถยนต์ของตนเอง แต่ที่จอดรถก็หาได้เป็นสิ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีคู่กับห้องชุดทุกห้องไม่ โดยลักษณะของห้องชุดที่ซื้อขายกันทั่วไปนั้น อาจจะมีที่จอดรถรวมอยู่หรือไม่ก็ได้ และอาจจะซื้อที่จอดรถเพิ่มได้สำหรับบางอาคารชุด ดังนั้นที่จอดรถตามสภาพแห่งทรัพย์และจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นจึงไม่เป็นสาระสำคัญในความเป็นอยู่ของห้องชุดสามารถแยกออกจากกันได้ ที่จอดรถจึงเป็นเพียงทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของห้องชุด มิใช่ส่วนควบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7567/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายห้องชุดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ผู้ขายต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากข้อบกพร่อง และการรบกวนการอยู่อาศัย
จำเลยที่ 1 ขายห้องชุด ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองโดยไม่ได้ระบุว่าใต้ห้องชุดดังกล่าวเป็นห้องสำหรับติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง แต่ระบุว่าเป็นที่จอดรถ จึงเป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญมีผลกระทบต่อการพักอาศัยของผู้บริโภคทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผิดสัญญาซื้อขาย ผู้บริโภคทั้งสองมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 แต่ผู้บริโภคทั้งสองไม่ได้มีคำขอดังกล่าว คงเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาโดยให้เคลื่อนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองออกไปติดตั้งที่แห่งอื่น เมื่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่ติดตั้งไว้ที่อาคารชุดเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของรวม จึงเป็นทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 การเคลื่อนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปติดตั้งที่แห่งใหม่ถือเป็นการก่อสร้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมหรือปรับปรุงทรัพย์ส่วนกลาง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับมติจากคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 48 (6) สภาพแห่งหนี้จึงไม่เปิดช่องให้ดำเนินการตามคำขอของโจทก์ได้ และเมื่อจำเลยที่ 1 ทำให้ผู้บริโภคทั้งสองได้รับความเดือดร้อน มีผลกระทบต่อการพักอาศัย และความปลอดภัยย่อมเป็นการทำละเมิดต่อผู้บริโภคทั้งสองมาโดยตลอด กรณีจึงเป็นเรื่องที่วิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับให้เหมาะสมได้ แม้จะเกินกว่าที่ปรากฏในคำขอบังคับของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 โดยเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นเงินให้แก่ผู้บริโภคทั้งสองและเมื่อพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ เป็นกรณีไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคทั้งสอง และขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงอีกสองเท่า
จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และไม่ใช่คู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายห้องชุด จึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้บริโภคทั้งสอง แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นฎีกาศาลฎีกาก็เห็นสมควรวินิจฉัยให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4183/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด คุ้มครองผู้บริโภค
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เป็นบทกฎหมายที่กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทในคดีผู้บริโภคไว้โดยเฉพาะเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ส่วนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ แม้จะเป็นวิธีการที่คู่สัญญาอาจเลือกใช้ในการระงับข้อพิพาทและมีผลใช้บังคับกันได้ตามข้อตกลงของคู่สัญญาตามหลักเสรีภาพของการแสดงเจตนา แต่ก็ต้องเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ผู้บริโภคต้องมีโอกาสต่อรองหรือตระหนักดีว่าการดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการซึ่งกล่าวเฉพาะคดีนี้ต้องบังคับตามข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติแตกต่างจากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หลายประการ ซึ่งโดยรวมแล้วอาจเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้บริโภคที่พึงมี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการลดทอนสิทธิที่ผู้บริโภคพึงได้รับตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 อยู่มาก โดยที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดซึ่งต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 6/2 กล่าวคือ แบบของสัญญาต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด การที่จำเลยผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาเป็นแบบมาตรฐานให้ผู้บริโภคที่จะซื้อห้องชุดต้องยอมรับข้อสัญญา ข้อ 10.4 ที่บังคับให้การระงับข้อพิพาทต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการสถานเดียว โดยไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการนี้โดยเฉพาะเช่นนี้ นอกจากจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในอันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นข้อตกลงที่นอกเหนือไปจากแบบที่รัฐมนตรีกำหนดและไม่เป็นคุณต่อโจทก์ผู้จะซื้อ ซึ่งไม่มีผลใช้บังคับตามมาตรา 6/2 วรรคสอง กับมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระเกินกว่าที่โจทก์พึงมีตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันถือได้ว่าข้อสัญญาข้อนี้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสามด้วย กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาข้อ 10.4 ใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้โดยไม่จำต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3787/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการโอนห้องชุดสินสมรส และอำนาจศาลในการแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามคำขอท้ายฟ้อง
เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนห้องชุดกึ่งหนึ่ง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้ว ห้องชุดดังกล่าวกลับเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาในส่วนนี้มาจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง
ห้องชุดพิพาททั้งสองห้องเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกิดจากการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น มิใช่เป็นความบกพร่องของโจทก์ที่มิได้บรรยายฟ้องถึงฐานะแห่งกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย และเมื่อพิจารณาจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ที่ขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบห้องชุดตามฟ้องคืนแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น ฟังว่าโจทก์มีคำขอบังคับตามลำดับโดยชัดแจ้งแล้ว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ห้องชุดพิพาททั้งสองห้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ถือว่าศาลชั้นต้นพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์โดยชอบแล้ว มิได้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ประกอบกับตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 19 มิได้ห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดเสียทีเดียว ฉะนั้น คนต่างด้าวจึงอาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งจึงไม่ชอบ เพราะนอกจากโจทก์จะชนะคดีไม่เต็มตามฟ้องแล้ว โจทก์ยังไม่สามารถบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2811/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ห้องชุด: การซื้อขายจริง vs. ถือกรรมสิทธิ์แทน และภาระการพิสูจน์
คำฟ้องโจทก์มีคำขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากห้องชุดพิพาทและเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธและฟ้องแย้งต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ว่า ห้องชุดพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง คดีฟ้องขับไล่จึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์อันเป็นการจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วย โดยหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ส่วนจำเลยทั้งสองหากเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาท โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทคืนแก่จำเลยทั้งสองตามฟ้องแย้ง ดังนั้น การฟ้องขับไล่โดยมีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ห้องชุด จึงเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเข้าว่าคดีนั้นทั้งหมดแทนจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 25 จำเลยที่ 1 ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปโดยยื่นฎีกาได้
of 5