พบผลลัพธ์ทั้งหมด 47 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6638/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
องค์คณะผู้พิพากษาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลให้การพิจารณาคดีทั้งหมดเป็นโมฆะ
คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 297 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัด และตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ แต่ปรากฏว่าการพิจารณาของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2544 วันที่ 4 กันยายน 2544 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 และวันที่ 13 มีนาคม 2545 มีผู้พิพากษานั่งพิจารณาเพียงผู้เดียว จึงเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีผลให้การพิจารณาและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายหลังย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเช่นกัน แม้คู่ความจะมิได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้อโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5802/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาคดีที่ยังไม่สิ้นสุด และอำนาจการพิจารณาพิพากษาขององค์คณะที่ได้รับมอบหมาย
ศาลชั้นต้นให้โอกาสแก่จำเลยทั้งสองในการผ่อนชำระหนี้และเลื่อนการฟังคำพิพากษาไป จึงมีผลเท่ากับมีคำสั่งให้เลื่อนการนั่งพิจารณาไป เพราะเมื่อถึงกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นต้องสอบถามโจทก์และจำเลยทั้งสองก่อนว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ เพื่อประกอบดุลพินิจว่าจะให้โอกาสจำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ต่อไปหรือมีคำพิพากษาในวันดังกล่าว จึงหาใช่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้เสร็จสิ้นแล้วไม่ ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดฟังคำพิพากษาที่เลื่อนมาว่า ศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการชำระหนี้ตามข้อตกลง จำเลยทั้งสองแถลงว่าได้นำเงินบางส่วนมาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ และขอให้โอกาสจำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ต่อไป แต่โจทก์แถลงคัดค้านไม่ยอมรับเงินที่จำเลยทั้งสองวางศาลเพราะจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง ดังนี้ คดีจึงยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มิใช่อยู่ระหว่างการทำคำพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 ผู้พิพากษาอีกคนในศาลชั้นต้นที่ได้รับมอบหมายจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลให้นั่งพิจารณาคดีแทนองค์คณะพิจารณาคดีเดิมในวันนัดฟังคำพิพากษาดังกล่าว จึงเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 (3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11367/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
องค์คณะไม่ครบถ้วนในการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค การวินิจฉัยของศาลฎีกาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาคหรือศาลฎีกา ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสามคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ เมื่อคดีนี้มีผู้พิพากษาลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพียงสองคน จึงไม่ครบองค์คณะ ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3977/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
องค์คณะผู้พิพากษาไม่ครบตามกฎหมาย ทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นเป็นศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้นั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีโดยมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะซึ่งไม่อยู่ในอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11417/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งศาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากองค์คณะไม่ครบถ้วนในการวินิจฉัยอำนาจการยื่นคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่อายัดจำนวน 15,875,688.13 บาท ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขอแล้วสั่งว่า ผู้ร้องไม่อาจร้องขอเพิกถอนให้ปล่อยทรัพย์ที่อายัด ไม่รับคำร้อง เป็นการวินิจฉัยอำนาจในการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมาย อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามความหมายแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) แล้ว ซึ่งมีผลเป็นการพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องทันที โดยมิได้มีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้ก่อน กรณีมิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 18 เมื่อปรากฏว่าในการสั่งคำร้องขอของศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษาคนเดียวตรวจคำร้องขอแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) เพราะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี ซึ่งต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9264/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
องค์คณะผู้พิจารณาคดีแรงงานและการชอบด้วยกฎหมายของคำพิพากษา
การนั่งพิจารณาคดีแรงงาน ศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กัน เป็นองค์คณะพิจารณา ซึ่งจะต้องนั่งพิจารณาคดีไปจนเสร็จสิ้นการพิจารณาคดี เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้องค์คณะผู้พิจารณาคดีไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไปอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางจะนั่งพิจารณาคดีแทน หรือมอบหมายให้ผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาสมทบนั่งพิจารณาคดีแทนต่อไปก็ได้ และตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 20 บัญญัติว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานมีอำนาจจัดให้ผู้พิพากษาสมทบคนอื่นเข้าปฏิบัติหน้าที่แทน ในกรณีมีเหตุจำเป็นอื่นที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ ประกอบกับโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ทั้งล่วงพ้นเวลาโต้แย้งคัดค้านแล้ว และมิได้มีคำขอให้ศาลแรงงานกลางรอการพิจารณาไว้ก่อนเพื่อให้มีการปฏิบัติในเรื่ององค์คณะในการพิจารณาคดีให้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแสดงว่าโจทก์ยอมรับอำนาจศาลในเรื่ององค์คณะในการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางดังกล่าว การพิจารณาคดีนี้จึงเป็นการชอบแล้ว และเมื่อการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จึงมีอำนาจทำคำพิพากษาต่อไปได้ คำพิพากษาคดีนี้จึงชอบแล้วเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7651/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาคดีหมิ่นประมาท ต้องมีจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 326, 328 ซึ่งตามมาตรา 328 การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) มาด้วย แต่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดเพียงกรรมเดียวต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัด ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) และมาตรา 26