คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เปลี่ยนแปลง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 393 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3932/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คำพิพากษาศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงสิทธิในที่ดิน ทำให้ฟ้องขับไล่เดิมเป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้โจทก์อ้างผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของบิดาโจทก์ซึ่งตกทอดได้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ มอบให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ เพราะโจทก์กู้เงินจำเลยไป 600 บาท เป็นคำฟ้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นมรดกของโจทก์ ดังนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมผูกพัน คู่ความนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษา นั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เมื่อปรากฏว่าขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เสียแล้ว โดยพิพากษาว่า ไม่มีการกู้ยืมเงินกันระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว ย่อมไม่มีการคิดดอกเบี้ยโดยมอบ ที่ดินพิพาทให้ทำกินต่างดอกเบี้ยได้ จึงเป็นคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแล้ว ย่อมมีผลผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังกล่าวข้างต้นการที่โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2818/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยสัญญาเงินกู้และจำนอง: ข้อตกลงดอกเบี้ยเป็นสาระสำคัญ ต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงตามสัญญา
สัญญากู้เงินเป็นหนี้ประธาน ส่วนหนี้ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเป็นหนี้อุปกรณ์ แม้ในสัญญาจำนองจำเลยจะตกลงเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 18 ต่อปี ก็มิใช่ว่าจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 18 ต่อปี เสมอไป จำเลยจะรับผิดเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามสัญญาจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์เพียงใด ต้องดูข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธาน
เมื่อโจทก์ยอมรับดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินอัตราร้อยละ 12.75ต่อปี อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงิน แม้ในสัญญากู้เงินจะระบุว่าหากภายหลังจากวันทำสัญญากู้เงิน จำเลยผิดนัดผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่จำเลยค้างชำระหนี้อยู่ตามสัญญากู้เงินนี้ในอัตราสูงสุดตามประกาศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บได้นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับได้ตลอดไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้น โดยเพียงแต่โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบเท่านั้น จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ตามที่แจ้งนั้นทุกประการก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อสัญญาให้โจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยหรือเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นเท่านั้น มิใช่ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าในกรณีจำเลยผิดนัดสัญญากู้เงินอย่างเดียว เพราะต้องอยู่ในเงื่อนไขที่โจทก์จะสามารถเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดได้เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยด้วย ดังนั้นข้อสัญญาในส่วนนี้จึงมิใช่เบี้ยปรับ
แม้จำเลยจะผิดสัญญากู้เงินในเวลาต่อมาจนโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดร้อยละ 18 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ แต่โจทก์มิได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี มาเป็นอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ให้จำเลยทราบตามที่ตกลงไว้ในสัญญากู้เงิน ถือได้ว่าโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายงานการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้การเปลี่ยนแปลงกรรมการเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1024 จะบัญญัติว่าในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันก็ดี ในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทก็ดี ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาสมุดบัญชีของบริษัทย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้นั้นทุกประการก็ตาม แต่เมื่อพยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบมานั้นมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าไม่มีการประชุมกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทโจทก์ ตามรายงานการประชุมของบริษัท ดังนั้นการที่รายงานการประชุมของบริษัทระบุว่าที่ประชุมลงมติให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ส. และ ป.ลาออกจากตำแหน่งกรรมการและแต่งตั้งกรรมการใหม่ 4 คนคือ ฮ.น.จ.และช. จึงไม่ถูกต้อง แม้จะมีการนำรายงานการประชุมดังกล่าวไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทและนายทะเบียนรับจดทะเบียนให้ก็เป็นการไม่ชอบ หาทำให้กรรมการใหม่ทั้งสี่คนดังกล่าวเป็นกรรมการโจทก์ไม่ กรรมการใหม่ดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจบริหารงานของบริษัทโจทก์และกระทำการแทนบริษัทโจทก์ได้การที่ ฮ. และ จ. กรรมการใหม่ร่วมกันลงนามและประทับตราบริษัทโจทก์แต่งตั้ง ร.เป็นทนายความดำเนินการฟ้องร้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ไม่มีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผิดสัญญาซื้อขายทาวน์เฮาส์จากเปลี่ยนแปลงทำเลที่ตั้งตามแผนผังโครงการ
ตามแผนผังโครงการแนบท้ายสัญญาจะซื้อขายทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินพิพาทระบุว่า ทาวน์เฮาส์และคอนโดมิเนียมตามโครงการ มีถนนด้านหน้าและด้านหลัง จากถนนด้านหน้าเข้าสู่ถนนในโครงการด้านซ้ายเป็นทาวน์เฮาส์ 7 ห้องและด้านขวาอีก 7 ห้อง ถัดจากทาวน์เฮาส์ไปเป็นบริเวณของสระว่ายน้ำและลานลอยฟ้า มีตึกคอนโดมิเนียมอยู่ด้านในติดกับถนนด้านหลัง และโจทก์ตกลงจะซื้อทาวน์เฮาส์ห้อง บี 7 ที่ระบายสีเหลืองไว้ซึ่งอยู่ใกล้สระว่ายน้ำจากจำเลย เมื่อแผนผังดังกล่าวเป็นการแสดงทำเลที่ตั้งของทาวน์เฮาส์ที่จะก่อสร้างเสนอขายตามโครงการของจำเลยว่ามีสระว่ายน้ำ ลานลอยฟ้า และคอนโดมิเนียมอันอยู่ในทำเลที่สง่าสวยงามน่าอยู่ ไม่เปลี่ยวโดดเดี่ยวเหมือนอย่างที่มีทาวน์เฮาส์ 14 ห้อง เพียงอย่างเดียวหากเป็นทำเลคนละแห่งกันก็จะเห็นถึงความแตกต่างที่ไม่อาจเปรียบเทียบกันได้ การที่จำเลยก่อสร้างทาวน์เฮาส์เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้สร้างสระว่ายน้ำ ลานลอยฟ้าและคอนโดมิเนียมให้เต็มตามโครงการที่ได้โฆษณาไว้ย่อมทำให้ทำเลที่ตั้งของทาวน์เฮาส์ที่สร้างขึ้นแตกต่างไปเป็นคนละอย่าง ไม่เหมือนทำเลที่ตั้งทาวน์เฮาส์ตามแผนผังโครงการที่นำออกโฆษณาต่อลูกค้า ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าสระว่ายน้ำและลานลอยฟ้าเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของทาวน์เฮาส์หรือไม่ หรือโจทก์จะมีสิทธิใช้สิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวได้หรือไม่ กับไม่เกี่ยวกับความแตกต่างของการถือครองกรรมสิทธิ์ระหว่างผู้เป็นเจ้าของทาวน์เฮาส์และผู้เป็นเจ้าของห้องชุดในคอนโดมิเนียมแต่ประการใด และแม้จำเลยจะแยกโครงการดังกล่าวออกเป็นโครงการย่อย 2 ส่วนคือ ส่วนของโครงการทาวน์เฮาส์ และส่วนของโครงการคอนโดมิเนียม ก็ไม่ทำให้จำเลยผู้เป็นเจ้าของโครงการพ้นจากการตกเป็นผู้ผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2540 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงอัตราอากรศุลกากรสำหรับวัตถุแต่งสีอินทรีย์สังเคราะห์และผลิตภัณฑ์ฟลูออเรสเซนต์
ตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า ประเภทที่ 32.04 รายการ วัตถุแต่งสีที่เป็นอินทรีย์สังเคราะห์จะนิยามไว้ในทางเคมีหรือไม่ก็ตาม สิ่งปรุงแต่งที่มีวัตถุแต่งสีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นหลักตามที่ระบุไว้ในหมายเหตุ 3 ของตอนนี้ ผลิตภัณฑ์อินทรีย์สังเคราะห์ชนิดที่ใช้เป็นตัวให้ความขาวสว่างชนิดฟลูออเรสเซนต์หรือใช้เป็นลูมิโนฟอร์ จะนิยามไว้ในทางเคมีหรือไม่ก็ตาม วัตถุแต่งสีอินทรีย์สังเคราะห์และสิ่งปรุงแต่งที่มีวัตถุดังกล่าวเป็นหลักตามที่ระบุไว้ในหมายเหตุ 3 ของตอนนี้ ประเภทย่อย 3204.20 ผลิตภัณฑ์อินทรีย์สังเคราะห์ชนิดที่ใช้เป็นตัวให้ความขาวสว่างชนิดฟลูออเรสเซนต์ มีอัตราอากรร้อยละ 30 ต่อมามีประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.1/2531 เรื่อง การลดอัตราอากรศุลกากรและการกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากร ข้อ 1.ให้ลดอัตราอากรสำหรับของในภาค 2 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ดังต่อไปนี้ข้อ 1.1 ของซึ่งกำหนดให้ได้รับการลดอัตราอากรตามบัญชีท้ายประกาศนี้ ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.1/2531 ระบุให้ของในประเภทที่ 32.04รายการ เฉพาะวัตถุแต่งสีที่เป็นอินทรีย์สังเคราะห์ จะนิยามไว้ในทางเคมีหรือไม่ก็ตาม สิ่งปรุงแต่งที่มีวัตถุแต่งสีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นหลักตามที่ระบุไว้ในหมายเหตุ 3ของตอนนี้ ผลิตภัณฑ์อินทรีย์สังเคราะห์ชนิดที่ใช้เป็นตัวให้ความขาวสว่างชนิดฟลูออเรสเซนต์หรือใช้เป็นลูมิโนฟอร์ จะนิยามไว้ในทางเคมีหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่สีเม็ดพลาสติก สีแวต สีไดเร็ก และสีรีแอกทีฟ อัตราอากรปกติร้อยละ 30 ลดลงเหลือร้อยละ 15 แต่หลังจากนั้นมีประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.15/2531เรื่อง ยกเลิกการลดและลดอัตราอากรศุลกากรและกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรข้อ 1.2 ให้ยกเลิกการลดอัตราอากรขาเข้าสำหรับของตามประเภทที่ 32.04ตามประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.1/2531 และข้อ 2. ให้เพิ่มรายการตามบัญชีท้ายประกาศนี้ไว้ในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.1/2531 ลงวันที่1 มกราคม พ.ศ.2531 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้าตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.15/2531 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า ประเภทที่ 32.04รายการ เฉพาะสิ่งปรุงแต่งที่มีวัตถุแต่งสีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นหลักตามที่ระบุไว้ในหมายเหตุ 3 ของตอนนี้ ผลิตภัณฑ์อินทรีย์สังเคราะห์ชนิดที่ใช้เป็นลูมิโนฟอร์ และวัตถุแต่งสีที่เป็นอินทรีย์สังเคราะห์ จะนิยามไว้ในทางเคมีหรือไม่ก็ตาม เว้นแต่สีเม็ดพลาสติก สีแวต สีไดเร็ก สีรีแอกทีฟ สีดีสเฟอร์ส สีแอซิด สีเบลิก และสีซัลเฟอร์ อัตราอากรปกติร้อยละ 30 ลดลงเหลือร้อยละ 15 จึงเป็นที่เห็นได้ว่าการที่ประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.15/2531 ยกเลิกการลดอัตราอากรขาเข้าสำหรับของประเภทที่ 32.04 และให้เพิ่มรายการตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลังที่ ศก.15/2531 ไว้ในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.1/2531แสดงว่า ให้ยกเลิกการลดอัตราอากรขาเข้าสำหรับของประเภทที่ 32.04 ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.1/2531 ดังนี้ เมื่อรายการที่เพิ่มตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.15/2531 ประเภทที่ 32.04 ไม่มีรายการ"ผลิตภัณฑ์อินทรีย์สังเคราะห์ชนิดที่ใช้เป็นตัวให้ความขาวสว่างชนิดฟลูออเรสเซนต์"อยู่ด้วย ผลิตภัณฑ์อินทรีย์สังเคราะห์ชนิดที่ใช้เป็นตัวให้ความขาวสว่างชนิดฟลูออเรสเซนต์ จึงไม่ได้รับการลดอัตราอากรขาเข้าอีกต่อไป ตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ของประเภทที่ 32.04 ได้แยกชนิดของวัตถุหรือผลิตภัณฑ์ในประเภทนี้ออกเป็นหลายชนิดโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อินทรีย์สังเคราะห์ชนิดที่ใช้เป็นตัวให้ความขาวสว่างชนิดฟลูออเรสเซนต์ แยกเป็นประเภทย่อย 3204.20 และตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.15/2531 ก็ตัดคำว่า "ผลิตภัณฑ์อินทรีย์สังเคราะห์ชนิดที่ใช้เป็นตัวให้ความขาวสว่างชนิดฟลูออเรสเซนต์" ออกไปจากเดิมที่เคยระบุไว้ในประกาศกระทรวงการคลัง ที่ ศก.1/2531 แสดงว่ากฎหมายมีเจตนาแยกผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเฉพาะดังกล่าวออกต่างหากและไม่ต้องการให้ได้รับการลดอัตราอากรอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของบริษัทจากการสลักหลังเช็คโดยกรรมการผู้มีอำนาจ แม้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ
จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 2,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาท โดยมีบริษัทจำเลยที่ 3 สลักหลังชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ ขณะที่จำเลยที่ 3 สลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 และอ.ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 อยู่ ทั้งเช็คพิพาทก็เป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ โจทก์ในฐานะผู้ครอบครองเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าว ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คเพื่อการชำระหนี้เงินกู้โดยชอบ การที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้สลักหลังเช็คทั้งสองฉบับนั้นจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ย โดยได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายทั้งสองฉบับ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายตามเช็คทั้งสองฉบับนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับดังกล่าว จะเห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์ที่ว่านี้ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับพร้อมทั้งได้แสดงถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามที่ ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติบังคับไว้แล้วฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ หาได้เคลือบคลุมไม่
ข้อฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่จำเลยที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้คดีไว้แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ก็เป็นการไม่ชอบ ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ก่อนที่จำเลยที่ 1 และ อ.ลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และ อ.ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 และประทับตราของจำเลยที่ 3 เป็นสำคัญโดยชอบ แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 และ อ.จะได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 3 และบุคคลทั้งสองได้โอนหุ้นที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 3ให้แก่บุคคลอื่นก่อนเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โดยที่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ชุดใหม่ไม่ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับเลยก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 และ อ.ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 3 โดยชอบนั้นเอง การเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ในภายหลัง ไม่มีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 3ที่มีอยู่ต่อโจทก์ก่อนแล้วต้องเปลี่ยนแปลงไป แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากกันตามวาระของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนก็ไม่ได้ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 2ต้องหลุดพ้นไป ผลแห่งการลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยที่ 1และ อ.ซึ่งมีตราของจำเลยที่ 3 ประทับเป็นสำคัญย่อมผูกพันให้จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในเช็คพิพาทต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 716/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความและการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงหลังสัญญา ศาลไม่รับรู้ข้อตกลงนอกศาล
โจทก์ที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวที่ระบุไว้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 ไปโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในส่วนของทรัพย์สินที่โจทก์ที่ 1 จะต้องโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ไว้แทนจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ใส่ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้วางเงินในส่วนที่จำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยที่ 1 ได้จ่ายแทนไปก่อนไว้ที่ศาลชั้นต้นเพื่อให้จำเลยที่ 1 รับไปแล้วจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามที่จำเลยที่ 2 มีความประสงค์ดังกล่าวจำเลยที่ 2 จึงขอให้บังคับคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นได้
ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1ว่าไม่ประสงค์จะรับที่ดินและตึกแถวที่จำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์แทนและขอโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วนั้น ข้อตกลงกันดังกล่าวมิได้กระทำต่อหน้าศาล ศาลจึงไม่อาจรับรู้ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าวและรับบังคับให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6987/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงสถานะเมทแอมเฟตามีนจากวัตถุออกฤทธิ์เป็นยาเสพติดโทษ และความผิดฐานครอบครองยังคงอยู่
จำเลยได้กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณ0.589 กรัม เกินปริมาณรัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ในครอบครอง และเมื่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ.2539) ซึ่งออกตามความในพ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีผลเป็นเพียงให้เมทแอมเฟตามีนถูกเพิกถอนจากการเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 มาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เท่านั้นโดยไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติยกเลิกความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองแต่อย่างใด ฉะนั้นจำเลยจึงยังมีความผิดและต้องรับโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอยู่ ส่วนจะต้องรับโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ย่อมเป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิด ซึ่งต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นณแก่จำเลย คือตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 ทั้งนี้ ตามป.อ.มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6609/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งต้องชัดเจนและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง จึงจะรับพิจารณาได้
คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา79 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 ให้นำ ป.วิ.พ.มาใช้บังคับโดยอนุโลม ฉะนั้น คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งจึงต้องอยู่ในบังคับของป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง
ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ 2 ว่าเป็นไปโดยมิชอบโดยอ้างเหตุเป็น 2 ตอน โดยในตอนที่สองได้บรรยายคำร้องว่า นอกจากจะมีการทุจริตในหน่วยเลือกตั้งที่ 1 แล้ว หน่วยเลือกตั้งอื่นอาจจะมีการกระทำทุจริต กล่าวคือ อำเภอ ก.หน่วยเลือกตั้งที่ 1 มีผู้ใช้สิทธิคนเดียวหลายครั้งเพื่อลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลขอื่น และกรรมการนับคะแนนโดยไม่ขานคะแนนของผู้ร้อง หน่วยเลือกตั้งที่ 5 กรรมการนับคะแนนโดยไม่ขานคะแนนของผู้ร้อง และทำบัตรดีให้เป็นบัตรเสียโดยมีการกา 2 ครั้งในช่องเดียวกัน เจ้าหน้าที่ขานว่าเป็นบัตรเสีย ซึ่งลักษณะการกระทำผิดในหน่วยเลือกตั้งอื่นของอำเภอ ก. อำเภอ บ. และอำเภอ ด.นั้น ผู้ร้องเข้าใจว่าอาจเป็นการกระทำทุจริตโดยเจ้าหน้าที่อาจปล่อยให้มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหลายครั้ง ทำให้คะแนนของผู้ร้องลดลง ดังนี้ คำร้องของผู้ร้องในตอนที่สองที่เกี่ยวกับหน่วยเลือกตั้งอื่นดังกล่าวนี้ ผู้ร้องมิได้ยืนยันว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้ง แต่เป็นความเข้าใจเอาเองของผู้ร้องทั้งผู้ร้องมิได้บรรยายให้เห็นว่าบัตรเลือกตั้งที่ใช้เวียนลงคะแนนก็ดี บัตรที่ขานคะแนนของผู้ร้องเป็นของผู้สมัครคนอื่นก็ดี บัตรที่ไม่ขานคะแนนให้ผู้ร้องโดยอ้างว่าเป็นบัตรเสียก็ดีนั้นมีจำนวนเท่าใด การใช้คนเวียนลงคะแนนให้ผู้สมัครคนอื่นและขานคะแนนของผู้ร้องเป็นของผู้สมัครคนอื่นนั้นเป็นผู้สมัครคนใดบ้าง และมีผลทำให้คะแนนของผู้สมัครคนใดเพิ่มขึ้นหรือลดลงจำนวนเท่าใด คำร้องของผู้ร้องที่อ้างเหตุในตอนที่สองนี้เป็นคำร้องที่มิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง จึงเป็นคำร้องที่เคลือบคลุม
ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า ทางอำเภอกำแพงแสนจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่ามีจำนวน 875 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียง 775 คน และมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 437 คน แต่จากรายงานผลการนับคะแนนว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับคะแนน 752 คะแนน เกินกว่าจำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถ้าเปิดหีบเลือกตั้งมานับใหม่แล้วจะทำให้คะแนนของผู้ร้องเพิ่มขึ้นและทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปนั้น เมื่อปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้คะแนนน้อยกว่าผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 2,305 คะแนน ดังนั้น แม้จะนำจำนวนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในหน่วยเลือกตั้งนี้เป็นคะแนนที่ลงให้แก่ผู้ร้องนำมาหักออกจากคะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 ก็หาทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปอันจะทำให้ผู้ร้องได้รับการเลือกตั้งและผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงไม่จำต้องเปิดหีบเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนเสียงใหม่
เมื่อคำร้องของผู้ร้องที่คัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นคำร้องที่เคลือบคลุมและไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่อาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6609/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งต้องชัดเจนและมีเหตุผลเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง
คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ฉะนั้น คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งจึงต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ 2 ว่าเป็นไปโดยมิชอบโดยอ้างเหตุเป็น 2 ตอน โดยในตอนที่สองได้บรรยายคำร้องว่านอกจากจะมีการทุจริตในหน่วยเลือกตั้งที่ 1 แล้ว หน่วยเลือกตั้งอื่นอาจจะมีการกระทำทุจริต กล่าวคือ อำเภอ ก.หน่วยเลือกตั้งที่ 1 มีผู้ใช้สิทธิคนเดียวหลายครั้งเพื่อลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลขอื่น และกรรมการนับคะแนนโดยไม่ขานคะแนนของผู้ร้อง หน่วยเลือกตั้งที่ 5กรรมการนับคะแนนโดยไม่ขานคะแนนของผู้ร้อง และทำบัตรดีให้เป็นบัตรเสียโดยมีการกา 2 ครั้งในช่องเดียวกันเจ้าหน้าที่ขานว่าเป็นบัตรเสีย ซึ่งลักษณะการกระทำผิดในหน่วยเลือกตั้งอื่นของอำเภอ ก. อำเภอ บ. และอำเภอ ด. นั้นผู้ร้องเข้าใจว่าอาจเป็นการกระทำทุจริตโดยเจ้าหน้าที่อาจปล่อยให้มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งหลายครั้ง ทำให้คะแนนของผู้ร้องลดลง ดังนี้ คำร้อง ของ ผู้ร้องในตอนที่สองที่เกี่ยวกับหน่วยเลือกตั้งอื่นดังกล่าวนี้ ผู้ร้องมิได้ยืนยันว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้ง แต่เป็นความเข้าใจเอาเองของผู้ร้องทั้งผู้ร้องมิได้บรรยายให้เห็นว่าบัตรเลือกตั้งที่ใช้เวียน ลงคะแนนก็ดี บัตรที่ขานคะแนนของผู้ร้องเป็นของผู้สมัครคนอื่นก็ดี บัตรที่ไม่ขานคะแนนให้ผู้ร้องโดยอ้างว่าเป็นบัตรเสียก็ดีนั้นมีจำนวนเท่าใด การใช้คนเวียน ลงคะแนนให้ผู้สมัครคนอื่นและขานคะแนนของผู้ร้องเป็นของผู้สมัครคนอื่นนั้นเป็นผู้สมัครคนใดบ้าง และมีผลทำให้คะแนนของผู้สมัครคนใดเพิ่มขึ้นหรือลดลงจำนวนเท่าใด คำร้อง ของผู้ร้องที่อ้างเหตุในตอนที่สองนี้เป็นคำร้องที่มิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง จึงเป็นคำร้องที่เคลือบคลุม ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า ทางอำเภอกำแพงแสนจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่ามีจำนวน 875 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียง 775 คน และมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง437 คน แต่จากรายงานผลการนับคะแนนว่า ผู้คัดค้านที่ 2ได้รับคะแนน 752 คะแนน เกินกว่าจำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถ้าเปิดหีบเลือกตั้งมานับใหม่แล้วจะทำให้คะแนนของผู้ร้องเพิ่มขึ้นและทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปนั้น เมื่อปรากฏตามคำร้อง ของ ผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้คะแนนน้อยกว่าผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 2,305 คะแนน ดังนั้นแม้จะนำจำนวนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในหน่วยเลือกตั้งนี้เป็นคะแนนที่ลงให้แก่ผู้ร้องนำมาหักออกจากคะแนนของผู้คัดค้านที่ 2 ก็หาทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปอันจะทำให้ผู้ร้องได้รับการเลือกตั้งและผู้คัดค้านที่ 2ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จึงไม่จำต้องเปิดหีบเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนเสียงใหม่ เมื่อคำร้อง ของ ผู้ร้องที่คัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นคำร้องที่เคลือบคลุมและไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่อาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้ ให้ยกคำร้อง ของ ผู้ร้อง
of 40