คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 632 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12488/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของป้ายที่แท้จริงมีหน้าที่เสียภาษีป้าย การประเมินภาษีป้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาให้สิทธิและดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางรวม 250 หลังที่ทำกับจำเลยเป็นผลให้บรรดาวัสดุก่อสร้างและสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้ว รวมทั้งป้ายโฆษณาที่ติดตั้งไว้ที่ศาลาที่พักผู้โดยสารดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลย โจทก์จึงเป็นเจ้าของป้ายทั้งหมดนับแต่วันดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของป้ายพิพาทในปี 2544 จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายในปีภาษี 2544 แม้จำเลยจะยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีต่อสำนักงานเขตก็ไม่ทำให้จำเลยซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายกลับกลายเป็นต้องเสียภาษีขึ้นมา การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ทำการประเมินให้จำเลยเสียภาษีป้ายสำหรับปีภาษี 2544 จึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะไม่ได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน แต่การอุทธรณ์การประเมินตาม พ.ร.บ. ภาษีป้ายฯ มาตรา 30 นั้น ใช้บังคับเฉพาะผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายที่เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายก็ไม่มีเหตุที่จำเลยจะอุทธรณ์การประเมิน ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิให้การต่อสู้ได้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์เป็นการไม่ชอบ และเมื่อการประเมินของเจ้าพนักงานโจทก์ไม่ชอบดังวินิจฉัยมาแล้วโจทก์ก็ไม่สามารถบังคับให้จำเลยชำระภาษีป้ายให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน-อำนาจพิจารณาคดี: ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาคดีได้ แม้ศาลอื่นประทับฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามข้อหาหมิ่นประมาทต่อศาลจังหวัด ก. เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2542 ไว้แล้ว โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาเดียวกันต่อศาลจังหวัด ป. อีกในวันรุ่งขึ้น ฟ้องคดีหลังของโจทก์เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 อันส่งผลให้คำสั่งประทับฟ้องของศาลจังหวัด ป. ไม่ชอบไปด้วย แม้ศาลจังหวัด ก. จะไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาหลังจากศาลจังหวัด ป. มีคำสั่งประทับฟ้องโจทก์ไว้แล้ว กรณีก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 (เดิม) เพราะไม่ใช่กรณีที่ศาลจังหวัด ป. มีคำสั่งประทับฟ้องไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลจังหวัด ก. ซึ่งโจทก์ฟ้องคดีเป็นศาลแรก จึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12199/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีต้องอาศัยราคาสินค้าจริง หากราคาที่สำแดงถูกต้อง การประเมินเพิ่มเติมจึงไม่ชอบ
การที่จำเลยได้รับแจ้งการประเมินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วไม่อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 30 แม้อธิบดีกรมสรรพากร โจทก์ที่ 2 จะมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งตามมาตรา 12 แห่ง ป. รัษฎากร และจำเลยไม่มีสิทธิยกขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องให้จำเลยชำระค่าภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ทั้งสองที่จะต้องนำสืบว่า การประเมินของเจ้าพนักงานถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย
การคำนวณภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยฐานจากราคาสินค้าที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อราคาใบชาอันแท้จริงในท้องตลาดตรงตามที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าซึ่งจำเลยได้เสียภาษีอากรให้แก่โจทก์ทั้งสองครบถ้วนแล้ว การแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 ที่ให้จำเลยเสียอากร ขาเข้าเพิ่มเติมนั้นไม่ชอบจึงไม่มีฐานราคาสินค้าที่จะประเมินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมจากจำเลยอีกตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง (วรรคนี้วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/2547)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 950/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แผนฟื้นฟูกิจการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เหตุจากรายการไม่ครบถ้วน ชำระหนี้ไม่เท่าเทียม และเจตนาทุจริต
คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ในอันที่จะถูกปรับลด หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตลอดจนวิธีการในการชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง คำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจึงมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าหนี้โดยตรง แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขแผนโดยการแปลงหนี้เป็นทุนโดยออกหุ้นใหม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ก็หาใช่กรณีที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนตามที่เรียกร้องไม่ สิทธิในการอุทธรณ์คัดค้านของเจ้าหนี้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วจึงยังมีอยู่ ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
ที่มาตรา 90/58 บัญญัติว่า "ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า (1)? (2)? (3)?" หมายความว่า เมื่อแผนมีลักษณะครบถ้วนตามมาตรา 90/58 (1) ถึง (3) ถือว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ให้ศาลมีดุลพินิจที่จะให้ความเห็นชอบด้วยแผนได้ หาได้หมายความว่าถ้าแผนมีลักษณะครบถ้วนดังกล่าวแล้ว ศาลจะต้องมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนทุกกรณีไป
การที่มาตรา 90/42 บัญญัติว่า ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย ไม่ได้หมายความเพียงว่า ให้ศาลพิจารณาดูรูปแบบว่ามีรายการแต่ละรายการหรือไม่ แต่ย่อมรวมถึงการพิจารณาว่ามีรายละเอียดของรายการดังกล่าวพอสมควรและถูกต้องหรือไม่ด้วย การที่แผนมิได้นำสิทธิเรียกร้องจำนวนมากมาระบุไว้ในแผน แผนมิได้ระบุกำหนดเวลาในการชำระหนี้ไว้ทั้งผู้บริหารแผนไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้บริหารแผนและค่าตอบแทนของผู้บริหารแผนนั้นสูงเกินสมควร ถือว่าแผนมีรายการไม่ครบถ้วน
การที่แผนกำหนดให้ลูกหนี้ไปพัฒนาที่ดินของเจ้าหนี้รายหนึ่งโดยไม่ได้กำหนดว่าลูกหนี้จะได้รับประโยชน์อย่างไร เมื่อลูกหนี้เข้าไปพัฒนาแล้วย่อมทำให้สิ่งปลูกสร้างเป็นส่วนควบของที่ดิน เจ้าหนี้รายดังกล่าวจึงได้รับประโยชน์มากกว่าเจ้าหนี้อื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน เป็นการขัดต่อมาตรา 90/58 (2) ประกอบมาตรา 90/42 ตรี
ในการพิจารณาว่า เมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้ว เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ จะต้องนำรายละเอียดต่าง ๆ แห่งสินทรัพย์ หนี้สิน ตลอดจนภาระผูกพันต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณา คำว่า สินทรัพย์ นั้นย่อมรวมทั้งทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องด้วย เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องอยู่จำนวนมาก แผนจะต้องนำสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาจัดบริหารเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้
การที่ลูกหนี้ได้ขายเงินลงทุน (หุ้น) ไปในราคาต่ำมากก่อนที่จะทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ผู้ทำแผนซึ่งมีกรรมการเป็นบุคคลเดียวกับบริษัทลูกหนี้มิได้เสนอแผนฟื้นฟูกิจการในแนวทางเดียวกับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ทั้งผู้ทำแผนมิได้ยืนยันความถูกต้องของรายการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับกำหนดไว้ในแผนว่าผู้ทำแผนไม่ขอรับผิดในความสูญเสียหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฉ้อฉล พฤติการณ์ดังกล่าวส่อไปในทางไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7158/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิในเช็คผู้ถือและการเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ทำให้การร้องทุกข์เดิมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้เสียหายโอนสิทธิความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเช็คพิพาทให้แก่ ส. แล้ว กอปรกับเช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือซึ่งย่อมโอนให้แก่กันได้ด้วยการส่งมอบ ส. จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และนับเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงเมื่อ ธ. เป็นผู้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย การร้องทุกข์ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6055/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องเพิ่มข้อหาและขอบังคับใหม่ ถือเป็นการนอกเหนือคำฟ้องเดิม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เดิมโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนรับผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนและให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2543 และครั้งที่ 2/2543 โดยมิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายแต่อย่างใด การที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะโจทก์เสียโอกาสได้รับการจัดสรรซื้อหุ้นเพิ่มทุนซึ่งโจทก์มีสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชำระค่าเสียหายจำนวน 90,000,000 บาท ดั้งนี้เป็นการขอเพิ่มข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและขอบังคับนอกเหนือไปจากคำฟ้องเดิม มิใช่เป็นกรณีที่เพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทในฟ้องเดิมหรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 179 ทั้งมิใช่การแก้ไขเล็กน้อย การแก้ไขคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบที่จะกระทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5153/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสิทธิของคู่ความเมื่อถึงแก่ความตาย และการเข้าเป็นคู่ความแทนที่ไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ตามคำสั่งศาล ซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลง หาได้ตกทอดไปยังทายาทของโจทก์ไม่ ส. เป็นเพียงทายาทของโจทก์เท่านั้น ไม่ปรากฏว่า ส. เป็นผู้ปกครองที่พิพาทหรือมีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของ ช. แต่อย่างใด ส. ย่อมไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ ส. เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3717/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาตามยอมที่ไม่ชอบเนื่องจากขาดแผนที่รังวัด และการดำเนินการเรื่องค่าขึ้นศาลที่ไม่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ทั้งสี่แล้ว คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะสั่งคำร้องของโจทก์ทั้งสี่ที่ขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 8 ผู้มรณะ ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 6 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 8 ผู้มรณะได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น และเนื่องจากคดีได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 แถลงต่อศาลชั้นต้นขอให้จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 8 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 8 ผู้มรณะ ทนายโจทก์ทั้งสี่ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาย่อมมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 6 เข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 8 ผู้มรณะ
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมโดยสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ระบุว่า "โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งแปดตกลงยอมรับแนวเขตตามโฉนดที่ดินที่แต่ละฝ่ายออกโฉนดที่ดินแล้วและได้ครอบครองอยู่แล้ว? โจทก์ทั้งสี่และจำเลยทั้งแปดตกลงยอมรับแนวเขตที่ดินที่พิพาทในคดีนี้ตามแผนที่พิพาทหรือรายงานการรังวัดที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตและนำส่งศาลในคดีนี้?" แต่ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม คู่ความยังมิได้ส่งแผนที่พิพาทหรือรายงานการรังวัดที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตดังที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นจะบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาในวันที่มีคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความติดตามนำแผนที่หรือรายงานการรังวัดของเจ้าพนักงานที่ดินมาส่งต่อศาล มิฉะนั้น ให้ถือตามแนวเขตภาพถ่ายที่แนบสัญญายอมซึ่งคู่ความแถลงว่าเป็นแนวเขตเดิมตามหลักหมุดที่ดิน อันแตกต่างไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ก็หาเป็นผลให้สัญญาประนีประนอมยอมความตลอดจนคำพิพากษาตามยอมเปลี่ยนแปลงไป ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ดังกล่าว เมื่อไม่มีแผนที่หรือรายงานการรังวัดที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นตามที่คู่ความได้ชี้แนวเขตดังที่ระบุไว้ซึ่งเป็นสาระสำคัญในอันที่จะระงับข้อพิพาทมาพิจารณาประกอบด้วยแล้ว ทำให้ข้อสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่อาจระงับข้อพิพาทต่อกันได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว จึงไม่ชอบ
โจทก์ยื่นฟ้องอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมโดยยังไม่ได้มีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเสียก่อน จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845-2847/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแรงงานในการตรวจสอบการลงโทษทางวินัยของนายจ้าง: ต้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่นายจ้างลงโทษทางวินัยแก่ลูกจ้างที่มิได้เป็นกรรมการลูกจ้างและการลงโทษนั้นไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ หมวด 9 นั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตามมาตรา 52หรือให้ความคุ้มครองตามมาตรา 121 ถึงมาตรา 123 ดังนั้น ศาลแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจการลงโทษของนายจ้างได้ต่อเมื่อเป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้นว่าขัดต่อระเบียบข้อบังคับอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง ไม่สุจริตกลั่นแกล้งหรือไม่สมเหตุสมผลอย่างชัดแจ้ง เมื่อโจทก์ทั้งสามทำผิดวินัยจริง จำเลยลงโทษตัดเงินเดือนร้อยละ 10 คนละ 1 เดือน ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของจำเลย โดยไม่ปรากฏว่ามีการใช้ดุลพินิจลงโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว มิใช่กรณีที่ศาลแรงงานกลางจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจการลงโทษของจำเลยหรือลดโทษโจทก์ทั้งสามให้เป็นภาคทัณฑ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1946/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีเยาวชนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ไว้โดยไม่ชอบ และผลกระทบต่อการฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ภายหลังลดโทษแล้วคงจำคุกคนละ 4 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104(2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดราชบุรี มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 3 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปี กรณีเป็นเรื่องกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 121 ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ เว้นแต่ถ้าเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปกักหรืออบรมตามมาตรา 105 มีกำหนดระยะเวลาขั้นสูงเกิน 3 ปี จึงจะอุทธรณ์ได้กรณีนี้จึงมิใช่การส่งไปกักและอบรมตามข้อยกเว้นดังกล่าว เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 เป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ดังนั้น คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว มิได้ระบุข้อเท็จจริงไม่ให้เหตุผลในการตัดสินและมิได้ระบุมาตราที่ยกขึ้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ไว้โดยไม่ชอบ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจึงไม่ชอบด้วยเช่นกัน ดังนั้น ฎีกาดังกล่าวแม้เป็นข้อกฎหมายแต่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
of 64