พบผลลัพธ์ทั้งหมด 53 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12124/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีซ้ำซ้อนและการไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากเป็นข้อพิพาทที่ควรยกขึ้นต่อสู้ในคดีเดิม
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่า โจทก์กับจำเลยต่างเป็นคู่ความเดียวกันทั้งในคดีของศาลแพ่งและศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และอยู่ในชั้นบังคับคดี คำพิพากษาย่อมผูกพันโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ทั้งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้ออ้างของโจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การของโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยทั้งสองคดีได้ ประกอบกับตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไร การฟ้องคดีของจำเลยเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้หาใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ กรณีจึงไม่ได้เกิดข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน โดยเห็นว่าการที่จำเลยนำคดีมาฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน โดยเห็นว่าการที่จำเลยนำคดีมาฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่ เป็นการใช้สิทธิทางศาลที่กฎหมายกำหนดให้กระทำได้โดยชอบ จึงหาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ และหากโจทก์เห็นว่ามูลหนี้ที่จำเลยนำมาฟ้องมีข้อบกพร่องประการใดหรือไม่มีมูลหนี้อยู่จริง หรือโจทก์มีข้ออ้างข้อเถียงประการใดที่จะทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อจำเลยแล้ว โจทก์ก็สามารถยกขึ้นต่อสู้แก้ข้อกล่าวหาในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ได้อยู่แล้ว ไม่จำต้องมาฟ้องเป็นคดีใหม่ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ หรือโจทก์มีความจำเป็นประการใดที่จำต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์ฎีกาโดยคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้นซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำวินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่าไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 7 ควรวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8714/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีภาษีอากรข้ามกำหนดระยะเวลา แม้จะยื่นฟ้องผิดศาลก็ไม่มีอำนาจฟ้อง
เดิมโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางซึ่งศาลภาษีอากรกลางได้รับไว้ และมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องให้โจทก์ต่อมาโจทก์กลับนำคดีมายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยศาลภาษีอากรกลางจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง โจทก์จึงมายื่นฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อเกินกำหนดระยะเวลายื่นคำฟ้องที่ศาลภาษีอากรกลางขยายให้ ซึ่งถือเป็นความบกพร่องของทนายโจทก์เองและกำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลที่กำหนดไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) ถือเป็นระยะเวลาให้ฟ้องคดีที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ถือเป็นอายุความ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง มาบังคับใช้กับกรณีนี้ได้ นอกจากนี้แม้ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่การที่โจทก์เข้าใจผิดในข้อกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ยื่นฟ้องผิดศาลไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ศาลจะใช้ดุลพินิจขยายระยะเวลาให้ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเมื่อพ้นระยะเวลาตามที่ขอขยายระยะเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องคดีล่าช้าเกิน 43 ปี และการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
แม้คำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่า ในการประกาศผลสอบไล่เนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 14 ประจำปี พ.ศ.2504 จำเลยซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของชาติกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยกรรมการของจำเลยสมคบกันทุจริตในการให้คะแนนสอบปากเปล่าด้วยความลำเอียงไม่ให้คะแนนตามความรู้ ด้วยการให้คะแนนสอบปากเปล่าแก่ อ. ผู้ซึ่งสอบข้อเขียนได้เป็นอันดับ 3 สูงถึง 85 คะแนน แต่กลับให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สอบข้อเขียนได้คะแนนสูงสุดและมีคะแนนข้อเขียนมากกว่า อ. ถึง 19 คะแนน ได้คะแนนสอบปากเปล่าเพียง 65 คะแนน ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับคะแนนสอบข้อเขียนแล้ว ทำให้โจทก์ตกไปอยู่ในอันดับ 2 และส่งผลให้ อ. ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและอับอาย ไม่เป็นที่รู้จักและไม่ได้รับการยกย่องแพร่หลายในฐานะบุคคลที่เรียนดีที่สุดในยุคนั้น ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการขอขมาโจทก์ และประกาศผลการสอบไล่ดังกล่าวเสียใหม่ว่าโจทก์เป็นผู้สอบไล่ได้เป็นอันดับ 1 มิใช่ อ. โดยให้จำเลยปิดประกาศแผ่นป้ายถาวรไว้ ณ ที่ทำการของจำเลย และแก้ไขรายการผลสอบดังกล่าวในเอกสารต่าง ๆ ด้วย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ดำเนินการโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองนั้น จะเป็นคำฟ้องที่โจทก์ได้กล่าวแสดงซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้วก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องเพื่อสนับสนุนให้เห็นว่ากรรมการของจำเลยสมคบร่วมกันกระทำมิชอบต่อโจทก์นั้น หากมีมูลความจริง โจทก์ก็สมควรต้องรีบดำเนินการโต้แย้งหรือนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลภายในเวลาอันสมควร เพื่อให้จำเลยและบุคคลที่โจทก์กล่าวพาดพิงได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่โจทก์ก็หาได้กระทำไม่ กลับปล่อยเวลาให้ล่วงเลยเนิ่นนานจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาประมาณ 43 ปี จนบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างสูญหายตายจากไปหมดสิ้นแล้ว อีกทั้งข้อเท็จจริงที่โจทก์หยิบยกเอาความรู้ความสามารถ ความสำเร็จจากการสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา และจากหน้าที่ราชการที่โจทก์ปฏิบัติมาตลอดชีวิตราชการ รวมทั้งการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ภายหลังจากการสอบเป็นเนติบัณฑิต เพื่อสนับสนุนว่าโจทก์มีความรู้โดดเด่นไม่น่าจะได้คะแนนสอบปากเปล่าน้อยกว่า อ. ก็ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังการสอบปากเปล่าเป็นระยะเวลายาวนานเกือบตลอดชีวิตการทำงานของโจทก์ทั้งสิ้น หาใช่ข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วหรือเกิดขึ้นภายในระยะเวลาใกล้เคียงวันเกิดเหตุอันจะเป็นเครื่องชี้หรือบ่งบอกถึงความรู้ความสามารถของโจทก์ในวันที่มีการสอบปากเปล่าไม่ การที่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานถึง 43 ปี แล้วค่อยขุดคุ้ยเอาความสำเร็จจากหน้าที่ราชการที่ได้ปฏิบัติมาจนเกือบตลอดชีวิตขึ้นกล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนคำฟ้องว่าจำเลยดำเนินการสอบปากเปล่าโดยมิชอบเช่นนี้ พฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6958/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าปรับปรุงและการไม่มีอำนาจฟ้อง การขอห้ามจำเลยงดจ่ายไฟฟ้าเป็นคำขอที่ไม่ชอบ
การที่ฝ่ายจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับปรุงเพิ่มไปชำระแก่ฝ่ายจำเลยเป็นเรื่องที่จำเลยใช้สิทธิตามปกติอันพึงกระทำได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำการอย่างใดอันเป็นการกระทบต่อสิทธิของโจทก์ แม้ในตอนท้ายของหนังสือจะมีข้อความขอให้โจทก์นำเงินค่ากระแสไฟฟ้าไปชำระ มิฉะนั้นจำเลยจะดำเนินการตามระเบียบก็ตาม ถ้าโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องโจทก์จะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ แม้ต่อมาหากปรากฏว่าจำเลยดำเนินคดีแก่โจทก์ก็ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์ต้องชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยหรือไม่ เพราะศาลอาจมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาเป็นอย่างอื่นได้ ฉะนั้น ลำพังหนังสือของจำเลยที่แจ้งไปยังโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นการกระทำของจำเลยที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษายกเลิกหนังสือดังกล่าวได้ ส่วนที่โจทก์มีคำขอบังคับห้ามจำเลยงดจ่ายกระแสไฟฟ้าแก่โจทก์ซึ่งหมายถึงการระงับหรืองดกระทำการดังกล่าวหลังจากวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นต้นไปนั้น เป็นเรื่องการกระทำในอนาคตซึ่งยังมิได้มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์จึงเป็นคำขอบังคับที่ไม่อาจพิพากษาบังคับจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายที่ดินที่เป็นโมฆะเนื่องจากเจตนาลวง และการไม่มีอำนาจฟ้องของโจทก์
โจทก์และจำเลยไม่มีเจตนาซื้อขายที่ดินกันจริง แต่เป็นการทำสัญญาขึ้นเพื่อให้จำเลยนำไปฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างต่อศาลปกครองระยอง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์และจำเลยตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์และจำเลยสมรู้กันทำสัญญาขึ้นโดยไม่มีเจตนาผูกพันกันและทำเพื่อให้จำเลยนำไปฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างต่อศาลปกครองระยอง จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6614/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อตกลงวิ่งเต้นแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นโมฆะ, การคืนเงินถือเป็นลาภมิควรได้, โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตาม มาตรา 407 และ 411
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8727/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมอำพราง-เจตนาไม่สุจริต: สัญญาเช่าที่ดินที่ถูกจดทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมและภาษี ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีเจตนาเช่าที่ดินพิพาทกันตามสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 120,000 บาท ที่ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดิน ซึ่งทำขึ้นโดยมีเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเช่า ระบุค่าเช่าต่ำกว่าความเป็นจริงและนำไปจดทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าและภาษีอากร ถือว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจโดยไม่สุจริตด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทั้งสองไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องค่าเช่าที่ดินและขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาท โดยอาศัยหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ที่ระบุค่าเช่าที่ดินเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ได้อำพรางไว้ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4313/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เขตอำนาจศาลและสถานที่จับกุม: การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
เจ้าพนักงานตำรวจภูธรแหลมฉบังเข้าจับกุมจำเลยที่อพาร์ตเมนต์ชื่อ ศ. เฮ้าส์ ท้องที่ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 เวลา 15.52 นาฬิกา ตามที่จำเลยต่อสู้ หาใช่จับกุมที่หน้าร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท บริเวณตลาดสี่มุมเมือง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 เวลา 2.30 นาฬิกา ดังที่ผู้จับกุมกล่าวอ้างไม่ เหตุคดีนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม การสอบสวนคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ผิดกฎหมาย: สมาชิกไม่ใช่ผู้เสียหาย, ไม่มีอำนาจฟ้องฐานยักยอก
กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกออมเงินแล้วนำเงินฝากของสมาชิกไปให้สมาชิกกู้ยืม โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 บาท ต่อเดือน แล้วนำดอกเบี้ยมาจ่ายเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิก ดอกเบี้ยดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 24 บาท ต่อปี เกินกว่าร้อยละ 15 บาท ต่อปี ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ในขณะนั้น และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับภายหลัง ดังนี้ วัตถุประสงค์ในการดำเนินการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. จึงต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สมาชิกทุกรายที่เข้าร่วมฝากเงินและกู้ยืมรวมทั้งชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว หรือเมื่อผิดนัด ยินยอมให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการนำต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระที่ฝ่าฝืนกฎหมายรวมเข้ากันแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ต่อไปซึ่งเกินกว่าระเบียบข้อบังคับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. (ฉบับปรับปรุง 2549) ข้อ 23 รวมถึงการส่งมอบเงินฝาก รับเงินกู้ยืม เงินกำไรหรือปันผล ดอกเบี้ยของสมาชิกในทุกขั้นตอนตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว เป็นการร่วมกันกระทำการอันต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนซ้ำซ้อน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความกันได้ตาม ป.อ. มาตรา 356 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง และพนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3603/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้ลงทุนร่วมทราบถึงการลงข้อความเท็จในเอกสารบริษัท จึงไม่มีอำนาจฟ้องดำเนินคดีอาญา
ในการร่วมลงทุนก่อสร้างอาคารชุดเพื่อขายนั้น โจทก์ ร. พ. และ ท. เป็นพี่น้องกันและได้ร่วมกันลงทุนกับจำเลยที่ 2 โดยฝ่ายจำเลยที่ 2 ตกลงลงทุน 25,000,000 บาท ส่วนโจทก์และพี่น้องตกลงลงทุน 25,000,000 บาท บ่งชี้ว่า การร่วมลงทุนดังกล่าวแบ่งผู้ลงทุนเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่ 2 โดยฝ่ายโจทก์มี ร. เป็นกรรมการที่มีอำนาจทำการผูกพันบริษัท ฝ่ายจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการที่มีอำนาจทำการผูกพันบริษัท โดย ร. และจำเลยที่ 2 ต้องลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท จึงจะมีอำนาจทำการผูกพันบริษัท แสดงว่า ร. และจำเลยที่ 2 ต่างเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทเพื่อดูแลผลประโยชน์ของฝ่ายตน เมื่อโจทก์เป็นพี่น้องของ ร. และร่วมลงทุนเป็นฝ่ายเดียวกับ ร. จึงเป็นปกติที่โจทก์จะต้องคอยติดตามการดำเนินงานของบริษัทผ่านทาง ร. เชื่อว่าโจทก์ทราบดีถึงการกระทำของ ร. แต่โจทก์ไม่ได้คัดค้าน ดังนั้น เมื่อ ร. มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของจำเลยที่ 2 และยินยอมให้มีการลงข้อความอันเป็นเท็จในรายงานการประชุมวิสามัญ และงบการเงินของบริษัท อ. ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายเดียวกับ ร. รู้เห็นและยินยอมให้มีการลงข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารดังกล่าวด้วย โจทก์จึงมีส่วนในการกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้อง