คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ชอบด้วยกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 507 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9744/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้รับมอบอำนาจฟ้องแทนโจทก์: ชอบด้วยกฎหมายแม้ไม่ได้เป็นทนายความ
การที่โจทก์มอบอำนาจให้ ส. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนแก่จำเลยทั้งสอง ส. ในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำกิจการที่ตัวการมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไป ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 1 ได้มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า คู่ความ หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาลและเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมาย หรือในฐานะทนายความ ดังนั้น ส. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทนย่อมอยู่ในฐานะคู่ความมีอำนาจยื่นคำฟ้องต่อศาลได้และชอบที่จะเรียงหรือแต่งฟ้องรวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย และพ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง แต่ก็บัญญัติยกเว้นไว้ว่า การแต่งฟ้องนั้นไม่ห้ามไปถึงบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น ส. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แม้มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง และการเรียงหรือแต่งฟ้องแทนโจทก์ก็มิใช่การว่าความอย่างทนายความดังที่ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง บัญญัติห้ามไว้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8852/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายบังคับคดีที่ชอบด้วยกฎหมาย: เวลา, วิธีการปิดหมาย และผลของการปิดหมาย
รายงานการเดินหมายมิได้ระบุเวลาที่ส่งหมายไว้ แต่ก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า การส่งหมายนั้นจะต้องส่งในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 74 (1) ส่วนการที่เจ้าพนักงานเดินหมายใช้สกอตเทปปิดหมายไว้ที่ประตูรั้วโดยไม่ใช้วิธีสอดหมายไว้ระหว่างประตูกระจกและประตูเหล็กนั้น ถือว่าการใช้สกอตเทปปิดหมายเป็นวิธีการที่จะทำให้หมายยึดติดแน่นเพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 5 สามารถทราบประกาศในหมายแล้ว และการที่เจ้าพนักงานเดินหมายปิดหมายในวันอาทิตย์ซึ่งมิใช่ในวันทำการทำให้ไม่มีผู้อยู่ในอาคารนั้น ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าการส่งหมายไม่ชอบเพราะไม่มีกฎหมายระบุว่าจะต้องส่งในวันทำการเท่านั้น อีกทั้ง ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ก็ระบุให้การปิดหมายมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วนับตั้งแต่ได้ปิดหมายไว้ ดังนั้นการส่งหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล่อซื้อยาเสพติดโดยสายลับชอบด้วยกฎหมาย และพยานหลักฐานเพียงพอต่อการพิพากษา
การใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นเพียงการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยตามอำนาจใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (10) ชอบที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกระทำได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยพร้อมด้วยพยานหลักฐาน อันเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4958/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตรวจค้นบ้านโดยไม่มีหมายค้นชอบด้วยกฎหมายเมื่อพบเห็นความผิดซึ่งหน้าจากการล่อซื้อ
แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะมิได้ดำเนินการขอหมายค้นจากศาลชั้นต้นก่อนเข้าตรวจค้นบ้านจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนที่หน้าบ้านจำเลย และเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมได้แอบซุ่มดูและเห็นเหตุการณ์การล่อซื้อดังกล่าว จึงเข้าตรวจค้นและจับกุมจำเลย เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดซึ่งหน้า และการตรวจค้นจับกุมได้กระทำต่อเนื่องกัน เจ้าพนักงานตำรวจจึงเข้าตรวจค้นบ้านจำเลยได้โดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (2) (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปิดประกาศยึดทรัพย์และขายทอดตลาดที่ชอบด้วยกฎหมาย และการแจ้งการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ทั้งสองฐานะ
ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า การปิดหมายหรือปิดประกาศจะต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ไว้ จึงอยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานที่จะปิดให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะปิดซึ่งเป็นที่เปิดเผยให้เห็นได้ง่าย และไม่จำต้องปิดโดยติดกับตัวทรัพย์ไว้เสมอไป การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์โดยใช้กิ่งไม้เสียบไว้กับต้นไม้บนคูนาในที่ดินพิพาทและปิดที่บ้านของจำเลยโดยผูกไว้กับลูกบิดประตูหน้าบ้านของจำเลยล้วนแต่เป็นการปิดในที่เปิดเผยแลเห็นได้ง่ายทั้งสิ้น กรณีถือได้ว่าเป็นการปิดประกาศโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง แล้ว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้วการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย บุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามความหมายของมาตราดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นรวมอยู่ด้วย สำหรับคดีนี้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องถือว่ามี 2 ราย คือ จำเลยและ ส. ผู้ตายซึ่งจำเลยถูกฟ้องให้รับผิดแทนในฐานะทายาทผู้ตายด้วย จึงเห็นได้ว่าจำเลยมี 2 ฐานะ คือเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะส่วนตัว และเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะทายาทของผู้ตายด้วย กระบวนพิจารณาใดที่กระทำต่อจำเลยถือได้ว่ากระทำต่อผู้ตายด้วย ซึ่งในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จำเลยก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนผู้ตายมาโดยตลอด ทั้งยังปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 ก่อนจำเลยถูกฟ้องคดี และผู้ร้องก็ไปขอประนอมหนี้กับโจทก์ด้วย แต่ผู้ร้องก็มิได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินของผู้ตาย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้จำเลยทราบโดยมิได้แจ้งแก่ผู้ร้องหรือทายาทอื่น ย่อมเป็นการแจ้งแก่จำเลยและแจ้งแก่ผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองรายครบถ้วนแล้ว การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการขายทอดตลาดที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3797/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องการส่งคำบังคับที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นหน้าที่ศาล แม้โจทก์มิได้คัดค้าน
ปัญหาว่าการส่งคำบังคับให้จำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นประเด็นในคดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ แม้โจทก์จะมิได้คัดค้านคำร้องของจำเลย ก็เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องไต่สวนเพื่อให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในทางหนึ่งทางใดเสียก่อน จึงจะสามารถวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นตามคำร้องของจำเลยได้ว่ามีเหตุสมควรเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามที่จำเลยอ้างหรือไม่ กรณีเช่นว่านี้ หากศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานนั้นมาสืบเพิ่มเติม ศาลก็มีอำนาจที่จะเรียกพยานหลักฐานใดๆ อันเกี่ยวแก่ประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติมได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสาม ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียก ย. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ศาลผู้ส่งคำบังคับให้แก่จำเลยมาเบิกความในฐานะพยานศาลจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือแจ้งประเมินภาษีที่ระบุตัวเลขและตัวอักษรไม่ตรงกัน ศาลฎีกาเห็นว่าประเมินชอบแล้ว หากตัวเลขชัดเจน
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะที่ระบุจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระเป็นตัวเลขและตัวอักษรต่างกันเป็นเรื่องของความผิดพลาดในการทำหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ ย่อมไม่สามารถระบุเหตุผลได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด เพราะเจ้าพนักงานเองก็เพิ่งมาทราบภายหลัง ซึ่งหากเจ้าพนักงานประเมินทราบความผิดพลาด เจ้าพนักงานประเมินย่อมต้องแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวก่อนส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่โจทก์ สำหรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลที่วินิจฉัยไว้แล้วว่า ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะได้ระบุตัวเลขเป็นรายการเงินภาษี เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น รวมเป็นเงินภาษีที่ต้องชำระไว้ชัดเจนแล้ว การที่ระบุตัวอักษรคลาดเคลื่อนไปจากรายการที่เป็นตัวเลข หาใช่กรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงตาม ป.พ.พ. มาตรา 12 ไม่ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงเป็นการชอบแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวหาได้ขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6982/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยไม่มาศาลตามนัดผ่อนชำระหนี้และมีเหตุอันควรสงสัยว่าหลบหนี
ในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย จำเลยขอถอนคำให้การเดินแล้วให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และตกลงกับผู้เสียหายขอผ่อนชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2548 ศาลชั้นต้นจึงนัดฟังคำพิพากษาหรือฟังผลการชำระหนี้ในวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ซึ่งการที่ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดโดยระบุว่า นัดฟังคำพิพากษาหรือฟังผลการชำระหนี้ย่อมมีนัยว่าโจทก์จำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้รายเดือนภายในวันที่นัดฟังผลการชำระหนี้นั้น หรือภายในวันที่ 25 ของเดือนซึ่งหากจำเลยผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลงกับผู้เสียหายไว้ ศาลก็จะเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปเพื่อให้โอกาสจำเลยผ่อนชำระหนี้ต่อไปให้ครบถ้วน แต่ถ้าหากจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามข้อตกลงที่ได้แถลงไว้และผู้เสียหายไม่ประสงค์ให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ต่อไป ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจอ่านคำพิพากษาไปได้ วันดังกล่าวจึงเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ซึ่งจำเลยได้ทราบวันนัดโดยชอบแล้ว เมื่อปรากฏว่าในวันนัดจำเลยมิได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายอันเป็นการผิดเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับผู้เสียหาย และผู้เสียหายแถลงว่าไม่ประสงค์ให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ต่อไปหากในวันดังกล่าวจำเลยมาศาล ศาลย่อมมีคำพิพากษาไปได้ในวันเดียวกันนั้น แต่จำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ตามข้อตกลงได้ และกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยหลบหนี หรือจงใจไม่มาฟังคำพิพากษา ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นให้ออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษากับให้นัดฟังคำพิพากษาใหม่ในวันที่ 10 กันยายน 2548 เมื่อถึงวันนัดซึ่งพ้น 1 เดือน นับแต่วันออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นย่อมอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ จึงเป็นการอ่านคำพิพากษาโดยชอบด้วยกฎหมาย และถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าวแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้นบ้านโดยไม่ได้รับความยินยอม แต่จำเลยยินยอมและลงลายมือชื่อในบันทึกตรวจค้น ย่อมเป็นการค้นที่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้การค้นบ้านที่เกิดเหตุเป็นการค้นโดยไม่มีหมายค้น และร้อยตำรวจโท ถ. ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้ไปปรากฏตัวที่บ้านที่เกิดเหตุเพื่อแจ้งชื่อหรือตำแหน่งแก่ พ. เจ้าของบ้านก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าก่อนที่จะดำเนินการค้นร้อยตำรวจเอก ศ. ได้ขอความยินยอมจาก พ. เจ้าของบ้าน รวมทั้งจำเลยและ ช. ผู้อาศัยอยู่ในบ้านก่อน แล้วจำเลยเป็นผู้นำการค้นด้วยตนเอง แสดงว่าการค้นดังกล่าวกระทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจความยินยอมจาก พ. ผู้เป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุรวมทั้งจำเลยและ ช. ผู้อยู่อาศัยในบ้านที่เกิดเหตุ เมื่อไม่ปรากฏว่าร้อยตำรวจเอก ศ. ได้ขู่เข็ญหรือหลอกลวงให้ พ. จำเลยและ ช. ให้ความยินยอมในการค้นแต่ประการใด แม้การค้นดังกล่าวจะกระทำลงโดยไม่มีหมายค้นที่ออกโดยศาลอนุญาตให้ค้นได้ก็หาได้เป็นการค้นโดยมิชอบและฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่อย่างใดไม่
นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกการตรวจค้นซึ่งได้ระบุข้อความว่า ...เนื่องจากมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนอยู่หรืออยู่ในนั้น และมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ทรัพย์นั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน อันเป็นข้อยกเว้นที่ให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นอีกกรณีหนึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) ด้วย ดังนี้ เครื่องกระสุนปืนของกลางที่ร้อยตำรวจเอก ศ. ยึดได้จึงเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานที่ชอบและใช้ยันจำเลยเพื่อรับฟังลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4455/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินพิพาทเป็นป่าไม้ถาวร การอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินชอบด้วยกฎหมาย
ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 การเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ที่จะใช้ยันรัฐได้ การขออนุญาตเข้าจับจองก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน ฉบับลงวันที่ 24 สิงหาคม 2498 ที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 (6) มาตรา 27 และมาตรา 33 แห่ง ป.ที่ดิน โดยตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 3 กำหนดไว้ว่า "ที่ดินที่จะจัดให้ประชาชนอยู่อาศัยหรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพตามความในมาตรา 20 (1) และมาตรา 27 แห่ง ป.ที่ดิน ต้องเป็นที่ดินของรัฐซึ่งอยู่ในลักษณะดังต่อไปนี้ คือ (1) ที่ดินซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองและมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินอันราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือมิใช่ที่สงวนหวงห้าม หรือมิใช่ที่เขา ที่ภูเขา (2)......." ระเบียบดังกล่าวนี้ใช้บังคับแก่ที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 แห่ง ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 ด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบ ข้อ 22 ดังนั้น ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงแม้จะเป็นที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยตามมาตรา 33 ก็ต้องอยู่ในบังคับของระเบียบดังกล่าว เมื่อการขออนุญาตจับจองในที่ดินพิพาทและการอนุญาตให้จับจองของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำโดยมิชอบ จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่จะยื่นคำขอเพื่อขอรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงเป็นการออกโดยไม่ชอบ ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าหมายเลข 23 ยังคงเป็นป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2506 ดังนั้น เมื่อต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2532 ให้จำแนกป่าหมายเลข 23 โดยให้จำแนกพื้นที่บางส่วนออกจากป่าไม้ถาวรเพื่อเป็นที่ทำกินของราษฎรหรือเพื่อใช้ประโยชน์อื่น ๆ และคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติมีมติให้จำแนกพื้นที่ส่วนหนึ่งซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงออกจากพื้นที่ป่าไม้ถาวร และมอบให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงซึ่งพ้นจากสภาพป่าไม้ถาวรแล้วจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจนำที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงไปปฏิรูปและจัดให้เกษตรกรเข้าครอบครองทำประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ได้ การอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งห้าแปลงจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ และเมื่อเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (เดิม)
of 51