คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประมาทเลินเล่อ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 519 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของเจ้าหน้าที่ควบคุม/ตรวจรับงานก่อสร้างที่ประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหาย
เหตุละเมิดเกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ.ความทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับ แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้ในวันที่ 18 มกราคม 2544 ซึ่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว แต่เมื่อ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มิได้มีบทบัญญัติให้ใช้บังคับแก่คดีละเมิดที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ความรับผิดทางละเมิดของผู้ทำละเมิดที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับจึงต้องอยู่ภายในบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมงานจ้างก่อสร้างถนน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการตรวจการจ้าง แต่ผู้รับจ้างก่อสร้างถนนไม่ถูกต้องตามแบบทำให้ถนนชำรุด การที่จำเลยที่ 1 ไม่ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างถนน ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้ไปตรวจรับงานจ้างพร้อมกันไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ถือว่าจำเลยทั้งหกประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอสรรคบุรีเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งหกจึงต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 432 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6542/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินโดยมีเจตนาจำกัดขอบเขต แต่จำเลยที่ 1 เพิ่มข้อความเกินขอบเขตและจำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริต ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ
ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ด้านหลังมี ณ. เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ 5 ลงลายมือชื่อรับรองว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือซ้ายของโจทก์ ที่พิมพ์ลงในหนังสือมอบอำนาจจริง และมีเจตนาในการทำนิติกรรมการโอนที่ดินโดย ณ. ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน และในวันเดียวกันก็มีหนังสือมอบอำนาจอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งรับรองโดย ณ. เช่นเดียวกัน แต่เป็นการมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนรับโอนมรดกเฉพาะส่วนพร้อมสิ่งปลูกสร้างตลอดจนให้ผู้รับมอบอำนาจให้ถ้อยคำต่างๆ ต่อเจ้าพนักงานที่ดินแทนโจทก์จนเสร็จการ การที่โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือโดยมีพยานรับรอง 2 คน จึงเป็นการสมบูรณ์ ถือเสมอกับการลงลายมือชื่อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 9 วรรคสอง และตามมาตรา 822 การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าลงลายนิ้วมือในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความ ทั้งมอบสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลยที่ 1 ไป แสดงถึงความประมาทเลินเล่อของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ของโจทก์และนำไปแสดงต่อบุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 2 จนจำเลยที่ 2 หลงเชื่อว่าโจทก์มอบอำนาจเช่นนั้นจริง โจทก์จะยกความประมาทเลินเล่อของตนขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินที่จำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริตหาได้ไม่ เว้นแต่โจทก์จะนำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แพทย์ประมาทเลินเล่อในการวินิจฉัยโรคและสั่งรักษา ทำให้ผู้ป่วยแพ้ยาและเสียหาย โรงพยาบาลต้องรับผิด
การตรวจร่างกายของผู้ป่วยถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร พยาธิสภาพอยู่ที่ไหนและอยู่ในระยะใดเพื่อจะนำไปสู่การรักษาได้ถูกต้อง ในขั้นตอนนี้แพทย์จักต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์มิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เพราะอาจนำมาซึ่งอันตรายที่จะเกิดแก่ร่างกายหรือชีวิตของผู้ป่วยในขั้นตอนการรักษาที่ต่อเนื่องกัน การที่จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพนมสารคามด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามอาการและประวัติการรักษาของโจทก์จากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษา ก็มิใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำ ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร และไม่มีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเอง ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลได้ฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการหลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงโดยโจทก์ไม่มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษาแม้จะเป็นการแสดงออกให้จำเลยที่ 3 กระทำต่อร่างกายของโจทก์เพื่อการรักษาได้ แต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้
ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ถือได้ว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้ตามป.พ.พ. มาตรา 446

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5945/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิไล่เบี้ยค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัย: การประเมินความรับผิดจากประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 ให้แก่บริษัทผู้รับประกันภัยไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเบื้องต้นที่จ่ายไปคืนจากผู้ขับขี่รถหรือผู้ประสบภัยได้ก็แต่กรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้นั้น เมื่อ น. มิได้ขับรถโดยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยที่ 1 ผู้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 15,000 บาท ในฐานะทายาทโดยธรรมของ น. ต้องชำระเงินคืนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2099/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรุกล้ำที่ดิน, ประมาทเลินเล่อ, ค่าเสียหาย, การชดใช้ค่าเสียหาย, การรับโอนกรรมสิทธิ์
ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องนั้น จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เพราะที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ส. อยู่เนื่องจากโจทก์กับนาย ส. สมรู้ร่วมกันแสดงเจตนาลวงว่าทำการซื้อขายกัน เพื่อเป็นข้ออ้างของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเรียกค่าเสียหายนิติกรรมระหว่างโจทก์กับนาย ส. จึงเป็นโมฆะ ตามคำให้การจำเลยดังกล่าวมิได้มีประเด็นพิพาทว่า โจทก์ซื้อที่ดินแทนบริษัท จ. จำกัดแต่อย่างใด ดังนั้น แม้หากจะปรากฏว่ามีการยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วแต่ศาลชั้นต้นดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องนอกประเด็นตามคำให้การของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าประเด็นที่จำเลยหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ดังที่จำเลยฎีกากล่าวอ้างมานั้น เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งนั้นจะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละปัญหากรณีๆ ไป หาใช่ว่าเมื่อเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งแล้ว จะต้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนทุกกรณีไม่ คดีนี้การที่จำเลยหยิบยกปัญหาว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เองหรือซื้อแทนบริษัท จ. จำกัด ขึ้นในชั้นอุทธรณ์เพื่อตั้งประเด็นข้อต่อสู้ว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมิได้เป็นของโจทก์อีกทั้งบริษัท จ. จำกัด ผู้ซื้อมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น แม้จะเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องก็ตาม แต่ก็หาใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 202/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การติดตั้งเสาไฟฟ้าบนที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สำรวจสิทธิและไม่ขออนุญาต ถือเป็นการละเมิด
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับการไฟฟ้านครหลวงจำเลยและบริวารระงับการกระทำละเมิดต่างๆ บนที่ดินของโจทก์ทั้งสาม พร้อมทั้งให้รื้อถอนเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ซึ่งได้กระทำลงบนที่ดินของโจทก์ทั้งสาม จำเลยให้การว่า จำเลยดำเนินการปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าตามคำขอของการเคหะแห่งชาติ ชาวบ้านผู้ใหญ่บ้านซอยชุมชนวัดพรพระร่วงประสิทธิ์ ซึ่งจำเลยตรวจสอบและเห็นว่าถูกต้องตามระเบียบแล้วจึงดำเนินการให้ตามขอ โดยไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทั้งได้รับคำยืนยันจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านและสำนักงานเขตบางเขนว่า ที่ดินในซอยวัดพรพระร่วงประสิทธิ์เป็นทางสาธารณะ จำเลยไม่ได้ให้การว่าที่ดินพิพาทตกเป็นทางภาระจำยอม คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ แม้จำเลยจะนำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องภาระจำยอมก็เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากพยานนอกประเด็นข้อพิพาท และเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังตามป.วิ.พ. มาตรา 87 (1) ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางภาระจำยอม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่ดินพิพาทมิใช่เป็นทางสาธารณะ การที่การไฟฟ้านครหลวงจำเลยทำการปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าในที่ดินพิพาทโดยมิได้สำรวจตรวจสอบถึงสิทธิในที่ดินให้ได้ความแน่ชัดเสียก่อน และมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสาม จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินได้รับความเสียหายย่อมเป็นการละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8888/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิด, ความรับผิดของผู้บริหาร, การประมาทเลินเล่อ, และการตรวจสอบการเงินของหน่วยงาน
จำเลยที่ 3 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบบังคับบัญชาการดำเนินกิจการต่างๆ ของโรงเรียนตั้งแต่วันดังกล่าว ไม่ต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 เป็นต้นไป แต่กรมสามัญศึกษาโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปจนถึงวันที่จำเลยที่ 3 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมีจำนวนเท่าใด ย่อมไม่อาจกำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในจำนวนเงินทั้งหมดได้
กรมสามัญศึกษาโจทก์เป็นกรมในรัฐบาลมีอธิบดีกรมสามัญศึกษาเป็นผู้บริหารราชการ อธิบดีกรมสามัญศึกษาจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์รวมทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีด้วย ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้แก่นิติบุคคลทั่วไปที่ต้องประทับตราของโจทก์ในการลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมาใช้แก่โจทก์
ในวันที่กรมสามัญศึกษาโจทก์ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจแม้จะถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดแล้ว ก็ยังไม่อาจถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวด้วย เมื่อคณะกรรมการสอบสวนสอบสวนเสร็จและรายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมสามัญศึกษาว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยจึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ปรากฏว่ารองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสามัญศึกษาได้รับรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวันที่ 14 กรกฎาคม 2537 โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 และข้อ 37 โดยจำเลยที่ 3 ไม่แต่งตั้งผู้ตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำวันเพื่อตรวจสอบการรับจ่ายเงินในแต่ละวัน เป็นเหตุให้ไม่สามารถตรวจสอบพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้ภายหลังเหตุคดีนี้ จะนำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้
จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 3 ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการับจ่ายเงินและเป็นประธานกรรมการเก็บรักษาตรวจนับเงินประจำวัน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้ตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำวันตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 และข้อ 37 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในผลแห่งการประมาทเลินเล่อดังกล่าวของตน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6159/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดสัญญาเช่าจากเหตุไฟไหม้: ผู้เช่าต้องรับผิดหากประมาทเลินเล่อในการดูแลทรัพย์สิน
โรงงานซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยเช่าถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายทั้งหลัง สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567 เมื่อจำเลยไม่สามารถส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าได้ โจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องจำเลยภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามมาตรา 563
คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยโจทก์ได้แต่งตั้งขึ้นได้ทำรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งแจ้งแก่ผู้ว่าการของโจทก์ระบุว่าไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้และจะต้องรับผิดในทางแพ่ง แต่เห็นว่าจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ผิดสัญญาโดยทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เช่า จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่า จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาเช่าจะต้องส่งมอบโรงงานมาตรฐานที่เช่าจากโจทก์คืนในสภาพเรียบร้อย เมื่อคืนไม่ได้แล้วต้องชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6040/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยประมาทเลินเล่อฟ้องโจทก์โดยใช้ข้อมูลปลอม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
การที่จำเลยที่ 2 ฟ้องเรียกให้โจทก์ชำระค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้เช่าหมายเลขโทรศัพท์จากจำเลยที่ 1 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวใช้ชื่อว่า ร. ยื่นคำขอเข่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านที่มีการปลอมแก้ไขชื่อจาก น.เป็น ร. ซึ่งเป็นคนละคนกับโจทก์ ก่อนฟ้องคดีจำเลยที่ 2 สามารถตรวจความถูกต้องของข้อมูลผู้เช่าใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวได้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบตามสมควรกลับฟ้องโจทก์ให้รับผิดใช้ค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศอันเป็นการประมาทเลินเล่อหรือไม่ใยดีต่อผลแห่งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพื่อการละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6040/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยประมาทเลินเล่อฟ้องโจทก์โดยใช้เอกสารปลอม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ผู้ขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนการสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 2 ใช้ชื่อว่านางสาวรจนาถยื่นคำขอเช่าใช้บริการโดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านที่มีการปลอมแก้ไขชื่อจากนงค์ลักษณ์เป็นรจนาถ ซึ่งเป็นคนละคนกับโจทก์ และก่อนฟ้องจำเลยที่ 2 สามารถที่จะตรวจความถูกต้องได้ แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กระทำ กลับฟ้องโจทก์ให้ชดใช้ค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อหรือไม่ใยดีต่อผลแห่งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร พฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพื่อการละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
of 52