คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ที่ดินพิพาท

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 507 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทหลังคำพิพากษาเดิม: อายุความ 10 ปี และไม่ใช่ฟ้องซ้ำ
คดีเดิมที่โจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉล เพราะการโอนที่ดินพิพาทของ น. ให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ น. เสียเปรียบซึ่งผลของคำพิพากษาคดีดังกล่าวมีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. และจำเลยที่ 1 ต้องถูกเพิกถอนและ น. ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเดิม สิทธิของโจทก์ซึ่งนำมาฟ้องคดีนี้จึงเกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนนั้นเอง เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องฟ้องคดีนี้เพื่อให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาคดีก่อน ซึ่งโจทก์ไม่อาจที่จะบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการฉ้อฉล แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโดยมิชอบ โดยอาศัยสิทธิตามคำพิพากษาในคดีก่อน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ย่อมนำมา ใช้บังคับไม่ได้ แต่เป็นเรื่องการขอให้บังคับตามสิทธิที่เกิดขึ้นตามคำพิพากษา จึงต้องใช้อายุความตามมาตรา 193/32 คือ อายุความ 10 ปี
คดีเดิมโจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการโอนซึ่งเป็นการโอนที่ดินพิพาทที่ น. โอนให้จำเลยที่ 1 อันเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คู่ความเดียวกันกับคดีเดิมทั้งหมด และที่สำคัญเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 เป็นการโอนคนละรายกัน และประเด็นแห่งคดีไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะคดีเดิมมีประเด็นว่า น. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้จึงไม่ใช่ฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 744/2556 ของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6627/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินพิพาท: การครอบครอง การต่อสู้คดี และการบังคับใช้ค่าฤชาธรรมเนียม
คดีนี้จำเลยร่วมทั้งสองให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของตน ประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครองจึงไม่มี เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของบุคคลอื่น ไม่ใช่ที่ดินของตนเอง ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองจึงเป็นฎีกาในข้อนอกประเด็น ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 249 (เดิม)
จำเลยร่วมทั้งสองเป็นคู่ความที่ถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามใบจองของโจทก์ ก็ชอบที่จะบังคับห้ามมิให้จำเลยร่วมทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ตลอดจนรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)
จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองต่างยื่นฎีกามาแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกัน โดยต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเต็มตามทุนทรัพย์ เมื่อกรณีแห่งคดีมีลักษณะเป็นคดีที่มีมูลความแห่งคดีอันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินแก่จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2524/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การบังคับจำนองโดยไม่สุจริต และผลกระทบต่อการขายทอดตลาด
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างมารดาของผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ไม่อาจใช้ยันผู้ร้องทั้งสองในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองได้ โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตเพราะรู้อยู่ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิบังคับจำนองขายทอดตลาดและซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากการขายทอดตลาดได้ ดังนี้ ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ทรัพย์สินหรือที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสอง และการที่ผู้ร้องทั้งสองขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องทั้งสองนั้น ก็มีความมุ่งหมายเพื่อได้รับผลที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดคืนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองนั่นเอง จึงเป็นกรณีต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 288 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องขัดทรัพย์ ซึ่งกำหนดให้ผู้ร้องทั้งสองต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาด กรณีตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองมิใช่เป็นการยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ประกอบมาตรา 296 จัตวา ที่จะทำให้ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไว้ได้แต่อย่างไร เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทที่ยึดไว้ไปก่อนแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ และปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท: โฉนดที่ดินมีน้ำหนักกว่าการครอบครอง
แม้โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนฝ่ายจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเช่นกัน แต่มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง จึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4137/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่: สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทกรณีมีหนังสือรับรอง-คำสั่งเพิกถอน และการเช่าที่ดิน
โจทก์และเจ้าของรวมเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1396, 1397 และ 2289 ซึ่งทางราชการออกให้เมื่อปี 2516 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเช่าที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2555 โดยเสียค่าเช่ามาตลอด ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิแทนโจทก์ แม้ต่อมาอธิบดีกรมที่ดินจะมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสามแปลงอันเป็นคำสั่งทางปกครองมีผลทำให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสามแปลงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่โจทก์ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้ว แม้ในที่สุดผลคดีเป็นว่าคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินชอบแล้ว ทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ก็เพียงแต่ทำให้โจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้เท่านั้น แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน เมื่อจำเลยเช่าที่ดินพิพาทโดยยอมรับสิทธิของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์นั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย
จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกา ส่วนโจทก์แก้ฎีกาโดยยื่นระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมเช่นกัน โดยโจทก์และจำเลยต่างก็มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมพร้อมสำเนาเอกสารภายใน 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 วรรคสอง และมาตรา 90 วรรคสอง แต่เอกสารตามที่ระบุพยานเพิ่มเติมต่างเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นในคดีจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ทั้งเอกสารดังกล่าวเพิ่งมีขึ้นหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วและมิได้อยู่ในความครอบครองของคู่ความมาแต่ต้น พฤติการณ์จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์และจำเลยยื่นบัญชีระบุพยานและสำเนาเอกสารดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และเอกสารดังกล่าวแม้เป็นเพียงสำเนาเอกสาร แต่เมื่อมีเจ้าพนักงานรับรองสำเนาถูกต้อง จึงฟังได้ว่า เอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินพิพาทหลังสัญญาประนีประนอมความ & คำสั่งคืนค่าขึ้นศาล
คดีก่อน น. ฟ้องจำเลยที่ 20 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจำเลยที่ 20 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงขายที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นสินสมรสของ น. โดยไม่ได้รับความยินยอมหรือให้สัตยาบันจาก น. เป็นการจัดการมรดกโดยมิชอบ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลผูกพัน น. จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสซึ่งเป็นของ น. สองในสามส่วนอันเป็นส่วนหนึ่งของสินบริคณห์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1462 วรรคสอง (เดิม) ส. ผู้เป็นสามีมีอำนาจจำหน่ายสินบริคณห์ได้แต่ผู้เดียวโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจาก น. ภริยาก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1468 (เดิม) และมาตรา 1473 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น ส. ย่อมมีอำนาจทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์รวมทั้งในส่วนที่เป็นสินสมรสของ น. ให้แก่ผู้อื่นได้โดยลำพัง โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจาก น. ก่อน จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 20 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. คู่สัญญาให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ ส. ทำไว้ก่อนตายได้ การที่จำเลยที่ 20 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกในการจัดการทรัพย์สินของ ส. เพื่อชำระหนี้ที่ ส. มีความรับผิดอยู่ก่อนตาย และเพื่อนำทรัพย์สินที่เหลือมาจัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทของ ส. ตามกฎหมาย อันเป็นการจัดการทรัพย์มรดกในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ตามหน้าที่ที่จำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 หาใช่เป็นการกระทำนอกเหนือหน้าที่ของผู้จัดการมรดกไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพัน น. รวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของ น. จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 20 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จะโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วและผูกพันโจทก์เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นอย่างอื่นว่า ส. ไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 20 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของ น. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4838/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทซ้ำกับคดีก่อน ศาลฎีกาพิจารณาว่าเป็นการรื้อฟ้อง
ต. เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง ต. และผู้ร้องต่างยื่นคำร้องว่าตนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการกล่าวอ้างว่า ต. และผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสและตกเป็นของ ต. กับผู้ร้องร่วมกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ให้อำนาจเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ การที่ ต. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ต. โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จึงเป็นการกระทำแทนผู้ร้องด้วย ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นคู่ความเดียวกันกับ ต. ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อน เมื่อคดีก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำร้อง โดยวินิจฉัยว่า ต. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของผู้ตาย หาใช่ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของไม่ ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้ว คดีถึงที่สุด เช่นนี้แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วครอบครองทำประโยชน์ด้วยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันจนได้กรรมสิทธิ์ แต่ก็เป็นการยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกับคดีก่อน จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง
of 51