คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประมาทเลินเล่อ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 519 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ไม่ตรงตามความประสงค์, ความประมาทเลินเล่อของผู้รับมอบ, และผลกระทบต่อค่าสินไหมทดแทน
จำเลยทำสัญญาขายอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้อทรอนให้แก่โจทก์ จำเลยจะมอบสินค้ายี่ห้ออื่นแก่โจทก์มิได้ แม้สินค้านั้นจะมีคุณสมบัติการใช้งานเหมือนกันก็ตาม เมื่อจำเลยส่งมอบอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนยี่ห้ออื่น จึงเป็นการชำระหนี้ที่ไม่ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งหนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้นได้ แต่ ว. พนักงานของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจรับมอบสินค้า มิได้ตรวจสอบสินค้าให้รอบคอบก่อนว่าเป็นยี่ห้อตรงตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของ ว. ตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงต้องรับผิดชอบในความประมาทเลินเล่อของ ว. ด้วยตาม ป.พ.พ มาตรา 223 วรรคสอง ประกอบมาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11039/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้ปฏิบัติงานในการขนถ่ายสินค้าที่ทำให้สินค้าเสียหายจากความประมาทเลินเล่อ
การที่การไฟฟ้านครหลวงทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้นำสินค้าตามฟ้องออกจากตู้คอนเทนเนอร์และขนส่งรถบรรทุกไปยังคลังสินค้าของบริษัท อ. ที่จังหวัดสมุทรปราการ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งทางอื่นไม่ใช่การขนส่งทางทะเลไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.รับขนของทางทะเล มาตรา 6 ฯ จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการรับขนของตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่สัญญารับขนของของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 บัญญัติว่า ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหาย หรือบุบสลาย หรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะได้พิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย หรือบุบสลาย หรือชักช้านั้น เกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเองหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง ตามสัญญารับขนของระหว่างการไฟฟ้านครหลวงกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าตามฟ้องตั้งแต่เปิดตู้คอนเทนเนอร์และเริ่มขนสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์เมื่อความเสียหายของสินค้าตามฟ้องเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในการที่สินค้านั้นได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2958/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารประมาทเลินเล่อจ่ายเช็คปลอม, โจทก์ละเลยการตรวจสอบ, ศาลลดค่าเสียหาย
จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทซึ่งมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมและผิดเงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็ค จึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือว่าจำเลยผิดสัญญาฝากทรัพย์ จำเลยจะยกข้ออ้างว่า พนักงานของจำเลยโทรศัพท์สอบถามผู้จัดการของโจทก์เกี่ยวกับการลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเกินจำนวน และยกพฤติการณ์ในการเก็บรักษาเช็คพิพาทว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ตลอดจนอ้างว่าโจทก์ผู้รับรองการถอนเงินตามเช็คเป็นการรับสภาพหนี้ ขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คปลอมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดหาได้ไม่ แต่พฤติการณ์ที่โจทก์มอบให้ผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้เก็บรักษาสมุดเช็คของโจทก์ไว้ผู้เดียว ซึ่งไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ที่ให้คณะกรรมการของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คโจทก์ และการยอมให้กรรมการผู้มีอำนาจบางคนลงลายมือชื่อในเช็คไว้ล่วงหน้าทั้งการสั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นเงินจำนวนมากกลับจ่ายเป็นเช็คผู้ถือ โดยไม่ระบุชื่อผู้รับเงินและไม่ขีดคร่อมเช็คตามข้อบังคับของโจทก์รวมทั้งไม่ตรวจสอบรายการเดินบัญชีกระแสรายวันที่จำเลยส่งให้ทราบทุกเดือน จนทำให้มีผู้นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีโจทก์ถึง 44 ฉบับ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่าจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5168/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของธนาคารจ่ายเช็คปลอม แม้มีข้อตกลงจำกัดความรับผิด
กรณีนี้ศาลอุทธรณ์ได้นำพฤติการณ์ที่โจทก์มีส่วนประมาทร่วมด้วยมาวินิจฉัยลดความรับผิดตามจำนวนเงินในเช็คปลอมให้จำเลยชดใช้ลงไปแล้ว ประเด็นข้อนี้โจทก์ไม่ได้ฎีกา คดีจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วยหรือไม่อีก
รายงานการตรวจพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทมีคุณสมบัติการเขียนรูปลักษณะลายมือชื่อแตกต่างกันกับที่ปรากฏในการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อ การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คปลอมให้ อ. เบิกถอนเงินไปจากบัญชีของโจทก์ จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพนักงานจำเลยด้วย ถือว่าจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทและหักบัญชีกระแสรายวันเอาแก่โจทก์โดยละเมิด แม้จะมีข้อตกลงตามคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดในการจ่ายเงินตามเช็คในกรณีที่โจทก์ประมาทเลินเล่อในการเก็บรักษาเช็ค เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้เช็คไปและมีผู้ปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายนำมาเบิกเงินจากจำเลยก็ตาม จำเลยก็จะยกข้อตกลงดังกล่าวขึ้นอ้างเป็นข้อยกเว้นว่าโจทก์ตกอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทปลอม เป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2417/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าระวางเรือ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างทำของ
แม้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเรือ แต่บุคคลที่จะรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลจะต้องเป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลซึ่งหมายถึงผู้ใช้ยานพาหนะนั้นในฐานะเป็นผู้ยึดถือในขณะเกิดความเสียหายเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 437จำเลยที่ 2 เพียงแต่มีชื่อในทางทะเบียนเรือเป็นผู้ควบคุมเครื่องยนต์เรือเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวนานแล้วเพราะได้ให้ ธ. บุตรชายนำเรือยนต์นั้นไปใช้ในกิจการส่วนตัวของ ธ. หลังจากที่ ก. ผู้เป็นบิดาเสียชีวิตไปนานแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เพราะไม่ใช่บุคคลผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องร่วมกับ ธ. ในฐานะผู้ควบคุมเครื่องยนต์เรือลากจูงขบวนเรือเกิดเหตุการบรรทุกน้ำหนักของเรือลำเลียงทั้งสามลำที่เกินระวางบรรทุกของเรือเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายอันเป็นกฎหมายที่มีประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า ผู้ควบคุมเรือทุกลำในขบวนเรือ รวมทั้งจำเลยที่ 4 ผู้กระทำการฝ่าฝืนเป็นฝ่ายผิดอีกด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422จำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าทางน้ำโดยนำเรือลำเลียงของตนออกให้ผู้อื่นเช่าใช้งานและรู้เห็นยินยอมให้มีการบรรทุกสินค้าน้ำหนักเกินระวางบรรทุกของเรือตามใบอนุญาตใช้เรือที่โจทก์ที่ 1 กำหนดไว้เยี่ยงนี้เป็นประจำต่อเนื่องตลอดมาทั้ง ๆ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงเป็นการกระทำโดยประมาทด้วยการจงใจฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายอันเป็นกฎหมายที่มีประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ โดยชัดแจ้ง กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเช่นนี้เป็นผู้ผิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422การที่จำเลยที่ 4 รับเงินสินจ้างจากจำเลยที่ 3 โดยตรง เพื่อตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่สรั่งเรือในขณะที่จำเลยที่ 3 นำเรือออกให้เช่าอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง แล้วเกิดเหตุละเมิด จำเลยที่ 3 ผู้เป็นนายจ้างยังต้องรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 4 ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นอีกฐานะหนึ่งด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425ขณะเกิดเหตุเรือ บ. จมนั้น น้ำตาลทรายดิบจำนวนมากละลายและเจือปนกับน้ำในแม่น้ำและส่งผลต่อคุณภาพของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้น้ำเน่าเสียและทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำเสื่อมโทรมลงจนเกิดภาวะมลพิษทางน้ำขึ้น อันเนื่องมาจากน้ำตาลซึ่งเป็นสารอินทรีย์และเป็นอาหารที่ดีที่สุดของจุลินทรีย์สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในน้ำ จุลินทรีย์บริโภคน้ำตาลหรือสารอินทรีย์อื่นเป็นอาหารโดยใช้ออกชิเจนเผาผลาญให้เกิดพลังงานเพื่อแบ่งเซลล์ขยายจำนวน ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลงจนถึงขั้นวิกฤต และเป็นผลให้สิ่งมีชีวิตหรือสัตว์น้ำขนาดใหญ่ อาทิเช่น ปลาหรือกุ้งไม่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำได้ต้องลอยตายเป็นจำนวนมาก แม้น้ำตาลหรือน้ำตาลทรายดิบจะไม่ใช่ทรัพย์หรือสารอันตรายโดยสภาพก็ตาม แต่หากถูกปล่อยทิ้งให้ละลายลงในแม่น้ำเป็นจำนวนมาก ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือเกิดภาวะที่เป็นพิษได้ โดยเฉพาะภาวะมลพิษทางน้ำดังกล่าวข้างต้น ในสภาวการณ์เช่นนี้จึงต้องถือว่าน้ำตาลทรายดิบเป็นมลพิษชนิดหนึ่ง ตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และไม่ใช่แหล่งอันเป็นที่มาของมลพิษอันจะถือได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษจำเลยที่ 14 รู้อยู่แล้วว่าเรือลำเลียงทั้งสามลำที่รับจ้างช่วงนั้น บรรทุกน้ำตาลทรายดิบเกินกว่าอัตราระวางบรรทุกที่กำหนดไว้ในใบทะเบียนเรือหรือใบอนุญาตใช้เรือซึ่งได้มีการทักท้วงแล้ว แต่จำเลยที่ 14 กลับเพิกเฉยมิได้สั่งห้ามหรือสั่งให้แก้ไขเพื่อป้องกันอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จำเลยที่ 14 ผู้ว่าจ้างทำของจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างนั้นอีกฐานะหนึ่งด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 428

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารต้องรับผิดต่อความเสียหายจากเช็คปลอม แม้โจทก์ประมาทเลินเล่อในการตรวจสอบ
ก. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในตู้เซฟภายในห้องทำงาน บางครั้งจะให้ ศ. พนักงานการเงินและบัญชีกรอกรายละเอียดในเช็คที่จะสั่งจ่าย ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ลักเช็คพิพาททั้งสิบเจ็ดฉบับไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย หาก ก. ตรวจสอบก็จะทราบว่าลายมือที่ต้นขั้วเช็คเป็นของ ส. ไม่ใช่ลายมือของ ศ. โจทก์จึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ การจ่ายเงินตามเช็คเป็นงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ พนักงานจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คกับตัวอย่างลายมือชื่อที่จำเลยมีอยู่ว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายจริงหรือไม่ เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมในเช็คแตกต่างกับลายมือชื่อที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลย การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คถึงสิบเจ็ดฉบับจึงเป็นการขาดความระมัดระวังเท่าที่สมควรจะต้องใช้ในกิจการเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการลงบัญชีเงินฝากของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเช็คทั้งสิบเจ็ดฉบับ รวมเป็นเงิน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย เท่ากับเป็นการขอให้บังคับจำเลยคืนเงินตามเช็ค รวมจำนวน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์มากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการประมาทเลินเล่อของตัวการและตัวแทนในการขายทอดตลาด การร่วมรับผิดในค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินการชั้นบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอให้ชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 4 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนวันนัดขายทอดตลาดนัดแรก จำเลยที่ 1 รับแจ้งว่า พ. บุตรของโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 และมีการให้โจทก์ทำหนังสือขอให้พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 พิจารณาเห็นสมควรที่จะอนุมัติตามคำขอของโจทก์หรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือจำเลยที่ 4 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในการมีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 821 จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน
เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือขอประนอมหนี้ของโจทก์ และให้โจทก์ผ่อนชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้แก่จำเลยที่ 4 เรื่อยมา แต่มิได้มีการส่งคำขอประนอมหนี้ของโจทก์แก่จำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา และไม่ได้ดำเนินการให้มีการงดการขายทอดตลาดตามที่ได้มีการขอประนอมหนี้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ที่ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5662/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประมาทเลินเล่อทั้งสองฝ่าย: การพิพากษาความรับผิดทางละเมิด กรณีอุบัติเหตุบนทางก่อสร้าง
เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างส่งภาพถ่ายรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง ทั้งศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายประมาทหรือไม่ และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกภาพถ่ายดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยและมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุด้วยความประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อจะได้กำหนดค่าเสียหายได้ถูกต้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 จึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องละเมิดกรณีหลักสูตรไม่ผ่านการรับรอง: จำเลยไม่มีความผิดฐานประมาทเลินเล่อในการสรรหาอาจารย์
โจทก์ทั้งเก้าฟ้องจำเลยทั้งสองว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองจัดหาคณาจารย์ผู้สอนที่ไม่มีความรู้ความสามารถมาสอนในหลักสูตรที่โจทก์ทั้งเก้าศึกษาเป็นเหตุให้หลักสูตรดังกล่าวไม่ผ่านการประเมินของคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งเก้าได้รับความเสียหายและเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งเก้าจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่จากที่โจทก์ทั้งเก้านำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จงใจเอาคณาจารย์ที่ไม่มีความรู้ความสามารถหรือประมาทเลินเล่อในการสรรหาคณาจารย์ผู้สอนแต่อย่างไร โดยได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนได้ระดับหนึ่งแล้ว และได้ความจากจำเลยที่ 2 ว่า หลักสูตรของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจะผ่านการรับรองของคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการเท่านั้น แม้จะไม่สอดคล้องกับการสรรหาคณาจารย์ของจำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่ข้อชี้ขาดว่าจำเลยทั้งสองกระทำการบกพร่องไม่รอบคอบในการสรรหาคณาจารย์มาประจำหลักสูตรนี้ นอกจากนี้ตามหนังสือของคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีถึงจำเลยที่ 1 แจ้งเพียงว่า คณะอนุกรรมการเห็นควรให้ชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาไว้ก่อน โดยให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการปรับปรุงตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการโดยเชิญโจทก์ทั้งเก้ารวมทั้งนักศึกษาอื่นที่ถูกชะลอการประสาทปริญญาบัตรทุกคนเข้าร่วมโครงการ แต่โจทก์ทั้งเก้าไม่ยอมเข้าร่วม ทั้งปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ดำเนินการดังกล่าวแล้วทำให้มีนักศึกษาที่ถูกชะลอการรับรองมาตรฐานการศึกษาและได้เข้ากระบวนการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาและรับการประสาทปริญญาบัตรจากจำเลยที่ 1 แล้ว แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้สรรหาคณาจารย์ผู้สอนซึ่งมีคุณวุฒิตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งเก้าจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเก้าตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2971/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินโดยผู้จัดการมรดกประมาทเลินเล่อ ผู้รับจำนองสุจริตไม่ต้องรับผิด
ภายหลัง ท. ถึงแก่ความตาย ได้มีผู้ไถ่ถอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งมีชื่อ ท. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และในการที่ บ. ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ก็ได้ระบุว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้น โฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอยู่ในครอบครองของ บ. แล้ว ต่อมาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีการจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 1 โดยมีลายมือชื่อ ท. เป็นผู้มอบอำนาจและมี ส. ลงลายมือชื่อเป็นพยาน ซึ่ง บ. มิได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนมาเป็นชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดกเสียก่อน แต่กลับมีผู้นำหนังสือมอบอำนาจของ ท. ไปโอนขายแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีลายมือชื่อของ ส. เป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจของทั้งสองฝ่าย แม้ตามสัญญาซื้อขายระหว่าง ท. กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่า บ. มีส่วนเกี่ยวข้องทำหนังสือมอบอำนาจให้ แต่ ส. ย่อมมีหนังสือมอบอำนาจที่ ท. ลงลายมือชื่อไว้ล่วงหน้าโดยมีชื่อ ส. เป็นพยาน ดังนั้น ในการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเชื่อได้ว่า ส. เป็นผู้ดำเนินการภายหลัง ท. ถึงแก่ความตายแล้ว จึงสามารถนำโฉนดที่ดินพิพาทมาคืนแก่ บ. ได้ การที่ บ. มอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ ส. ไปดำเนินการโอนขายแก่จำเลยที่ 1 นับว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ. หรืออาจเป็นเพราะ บ. ทราบจาก ส. ว่า การจดทะเบียนโอนที่ดินใส่ชื่อ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจดทะเบียนขายต่อบุคคลภายนอกจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 2 ครั้ง พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ ท. ไม่อาจยกเอาความบกพร่องของตนมาใช้ยันแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนให้รับความเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ บ. และ ฮ. จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองและการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้
of 52