คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เหตุสุดวิสัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 516 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 612/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการขอให้ปล่อยที่ดินจากการบังคับคดี: อำนาจยื่นคำร้อง, ระยะเวลา, และเหตุสุดวิสัย
ผู้ร้องทั้งสองบรรยายคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลในคดีแพ่งโดยจำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่ดินพิพาทบางส่วนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งได้มีการแบ่งการครอบครองกันเป็นส่วนสัด อันเป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทบางส่วนเป็นของตน ขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่ดินพิพาทบางส่วนให้แก่ ส. และผู้ร้องที่ 2 หาได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ด้วยไม่ ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจของ ล. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวเท่านั้น แม้ต่อมา ล. ถึงแก่ความตาย ก็ไม่ทำให้ผู้ร้องที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ในฐานะส่วนตัว เมื่อผู้ร้องที่ 1 ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจยื่นคำร้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
ศาลพิพากษาตามยอม โดยจำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่ดินพิพาทบางส่วนให้แก่ผู้ร้องที่ 2 ผู้ร้องที่ 2 จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แต่การที่ผู้ร้องที่ 2 จะขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 นั้น เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้บุคคลที่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยบุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 และประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทนัดที่ 1 ในวันที่ 25 กันยายน 2561 และมีการงดการบังคับคดีไว้ ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 จึงพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้นและช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรกแล้ว การที่ผู้ร้องที่ 2 จะยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนในกรณีนี้ได้ ผู้ร้องที่ 2 จะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอได้ทันภายในกำหนด แต่ตามคำร้องผู้ร้องที่ 2 คงอ้างแต่เพียงว่า ที่ดินพิพาทบางส่วนเป็นของผู้ร้องที่ 2 ตามคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งของศาลจังหวัดหนองคาย โดยไม่ได้อ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องได้ภายในกำหนดแต่อย่างใด ผู้ร้องที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดทางการแพทย์: การรักษาพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพ แม้ผลไม่เป็นไปตามคาดหวัง ไม่ถือเป็นความประมาทเลินเล่อ
สาเหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 1 สมองพิการเกิดจากสาเหตุใด เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่าสาเหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 1 สมองพิการเสียหายถาวรอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงไปทางหนึ่งทางใดโดยแจ้งชัด จึงต้องถือว่ายังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีอาการสมองพิการเสียหายถาวรช่วยเหลือตนเองไม่ได้เพราะสาเหตุใดแน่ ตรงกันข้ามกับทางนำสืบของโจทก์ทั้งสอง ที่มีโจทก์ที่ 2 และ ส. บิดาโจทก์ที่ 1 เบิกความยืนยันตรงกันว่า หลังเกิดเหตุบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำการผ่าตัดโจทก์ที่ 1 ได้พูดยอมรับว่า เหตุที่โจทก์ที่ 1 มีอาการดังกล่าวเนื่องจากท่อช่วยหายใจหลุดและขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ทั้งตามบันทึกการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของผู้รับบริการ จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า หลังการผ่าตัด เมื่อเกิดปัญหากับโจทก์ที่ 1 วิสัญญีแพทย์ทำการตรวจสอบตำแหน่งท่อช่วยหายใจอีกครั้ง เนื่องจากสงสัยว่ามีเสียงลมรั่วไม่เข้าปอด ซึ่งพบว่าท่อช่วยหายใจไม่ได้อยู่ในตำแหน่งของหลอดลม จึงได้รีบใส่ท่อช่วยหายใจใหม่โดยเพิ่มขนาดจากเบอร์ 4 เป็นเบอร์ 4.5 ตำแหน่งที่ใส่อยู่ที่ 12 เซนติเมตร แม้การจ่ายเงินช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมิได้พิจารณาว่าบุคลากรทางการแพทย์กระทำโดยประมาทและก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ก็ตาม แต่รายงานการประชุมดังกล่าวก็ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการสอบสวน ทั้งคณะอนุกรรมการที่เข้าร่วมพิจารณาก็ล้วนเป็นแพทย์ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความเชี่ยวชาญ เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 และ ส. ซึ่งไม่มีความรู้ทางการแพทย์ยากที่จะเบิกความปรุงแต่งข้อเท็จจริงที่ตนรับฟังมา พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สาเหตุที่โจทก์ที่ 1 สมองพิการอย่างถาวรเกิดจากท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนจากหลอดลมภายหลังการผ่าตัด ทำให้สมองขาดออกซิเจนหล่อเลี้ยงเป็นเวลานานจนโจทก์ที่ 1 เกิดอาการดังกล่าว
กรณีจะถือว่าการกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 เป็นความประมาทเลินเล่อหรือไม่นอกจากต้องพิจารณาจากมาตรฐานการรักษาตามวิชาชีพของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และเหตุผลประการอื่นด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ หากข้อเท็จจริงได้ความว่าแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปดั่งที่คาดหมาย กรณีย่อมไม่อาจถือว่าบุคลากรทางการแพทย์ผู้นั้นกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบและเหมาะสมสอดคล้องแก่สภาวการณ์ที่จำเป็นในการรักษาโจทก์ที่ 1 ทุกขั้นตอนโดยถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพอันเหมาะสมแก่สภาวการณ์แล้ว แม้จะเกิดผลท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนที่ก็ตาม การกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดหมายได้ บุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบต่อความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3106-3109/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุผลที่นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แม้จะหยุดกิจการชั่วคราวจากผลกระทบโควิด-19
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ประสบเหตุการณ์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างรุนแรงจนถึงขั้นนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว และในทางเดียวกันก็มีเจตนารมณ์คุ้มครองลูกจ้างด้วย เพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน โดยตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานในระหว่างหยุดกิจการนั้น นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ ยกเว้นแต่เหตุที่ทำให้นายจ้างหยุดกิจการนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง
จำเลยประกอบกิจการให้บริการเป็นตลาดกลางในการรับจองห้องพัก ที่พัก และโรงแรมในประเทศไทยทางออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ แอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์อื่น ๆ โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย เมื่อต้นปี 2563 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติใช้บริการจองที่พักทางออนไลน์กับจำเลยน้อยลง เป็นผลทำให้รายได้ของจำเลยลดลงจนถึงขนาดขาดทุนเป็นอย่างมาก อันสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลและหน่วยงานราชการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย โดยมีประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 ทำให้กระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมโดยทั่วไป จำเลยจึงหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของจำเลย จนทำให้จำเลยไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาว่าเหตุที่ทำให้จำเลยหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวเกิดจากเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการชำระเงินตามมาตราดังกล่าวแก่ลูกจ้างด้วยหรือไม่นั้น แม้จำเลยมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวใช้บริการกับจำเลยน้อยลง ทำให้รายได้ของจำเลยลดลงและต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างมากก็ตาม แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ดังกล่าวเป็นเพียงการก่อให้เกิดความยากลำบากแก่จำเลยในการดำเนินกิจการของตนต่อไปเท่านั้น มิได้ถึงขนาดเป็นอุปสรรคขัดขวางจนทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่อยู่ในภาวะและวิสัยที่จะประกอบธุรกิจต่อไปได้โดยสิ้นเชิงในขณะนั้น ดังนั้น การที่จำเลยมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งที่ยังสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวเพราะเหตุสุดวิสัย แต่ถือได้ว่าจำเลยมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ได้รับก่อนจำเลยหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่จำเลยไม่ได้ให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ทำงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 ให้ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอได้ หากศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ดังนี้ แม้โจทก์ที่ 2 จะฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 โดยไม่ได้ฟ้องหรือแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 โดยไม่ได้อ้างเหตุว่าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร แต่เมื่อศาลฎีกาพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 ตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยมาได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 275/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยและขยายเวลาการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายสำหรับเจ้าหนี้ต่างประเทศ
ผู้ร้องเป็นชาวต่างประเทศมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร ไม่มีตัวแทนในประเทศไทย ช่วงเวลาที่กำหนดให้เจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย นับว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้ ทั้งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มคลี่คลาย ผู้ร้องก็ได้รีบดำเนินการมอบอำนาจให้ อ. ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทันที กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่จะให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4345/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยทำให้ขายทอดตลาดไม่ได้ เจ้าหนี้ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม
เมื่อการขายทอดตลาดเนิ่นช้าเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย และมาตรการตามข้อกำหนดให้งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดและงดกิจกรรมคนหมู่มาก เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการบังคับคดี ต่อมาเมื่อสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลาย เจ้าพนักงานบังคับได้นำสิทธิการเช่าออกขายทอดตลาดอีกครั้ง ซึ่งสิทธิการเช่าพื้นที่ในอาคาร พ. เหลือระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษ ลดจากระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในวันที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้ายึด ทำให้ไม่มีผู้สนใจเข้าสู้ราคา จนระยะเวลาเช่าสิ้นสุดลง ดังนี้การเสื่อมราคาและการสูญสิ้นไปแห่งสิทธิการเช่าจึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย มิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือความไม่สุจริตของโจทก์ ทั้งมิใช่การถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) (3) (4) (6) หรือ (7) ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีตามมาตรา 169/2 วรรคสี่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์ซึ่งมิใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4171/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างเมื่อนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัยและผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานประกอบการ
กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 17 เมษายน 2563 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นเรื่องให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม มิใช่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง การที่จำเลยไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการตามหนังสือรับรองที่แนบท้ายกฎกระทรวงนี้ ไม่ได้ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยตามกฎกระทรวงดังกล่าว
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความของคำว่า สัญญาจ้าง หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ดังนี้ สัญญาจ้างจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ลูกจ้างมีหนี้ที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างมีหนี้ที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนในการทำงานของลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้แก่นายจ้าง หรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้ค่าจ้างจากนายจ้างต่อเมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง จำเลยหยุดประกอบกิจการเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ปิดโรงแรมทั้งจังหวัดเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถือได้ว่าจำเลยหยุดประกอบกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย การที่โจทก์ไม่ได้เข้าทำงานให้แก่จำเลยมิใช่เกิดจากคำสั่งหรือความผิดของจำเลย จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ แต่หากภายหลังเมื่อพ้นระยะเวลาปิดโรงแรมตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์กลับเข้าทำงานให้แก่จำเลย จำเลยก็มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์
ศาลแรงงานภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยและรับฟังข้อเท็จจริงว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 คำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1797/2563 ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่กำหนดให้ปิดโรงแรม มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น มีผลทำให้จำเลยปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งฉบับอื่นให้ปิดโรงแรมต่อไปอีกหรือไม่ เพียงใด จำเลยเปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด โจทก์เข้าทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ หากเข้าทำงาน โจทก์ทำงานตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะไปสู่การวินิจฉัยประเด็นว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป
of 52