คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เวนคืน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 555 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6261/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 10 ปี และสิทธิในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินจำนองที่ถูกเวนคืน
การร้องขอให้บังคับคดี ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา คดีนี้โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2549 โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ไม่ใช่ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การร้องขอให้บังคับคดีของโจทก์จึงอยู่ภายในกำหนดเวลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271
เงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนองซึ่งการจำนองครอบไปถึงนั้น มิใช่ทรัพย์สินอื่น แต่เงินดังกล่าวเข้ามาแทนที่ทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ถูกเวนคืนในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกับทรัพย์สินซึ่งจำนอง ย่อมตกอยู่ในบังคับแห่งจำนองซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษามีสิทธิบังคับเอาชำระหนี้ได้เช่นเดียวกันกับทรัพย์สินซึ่งจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5962/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: สิทธิในการรับเงินค่าทดแทนต้องฟ้องคดีมีข้อพิพาทเมื่อมีข้อโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์
เหตุที่ผู้ร้องทั้งห้าไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนทั้งสามแปลงและรับเงินค่าทดแทน สืบเนื่องจากผู้คัดค้านอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสามแปลง เจ้าพนักงานจึงได้นำเงินค่าทดแทนฝากไว้กับธนาคารออมสิน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการนำเงินค่าทดแทนไปวางต่อศาล หรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้กับธนาคารออมสิน ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2532 ข้อ 9 ซึ่งกำหนดว่า ...ในกรณีที่การวางเงินค่าทดแทนเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่อาจจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนรายได้ตาม มาตรา 28 วรรคสอง หรือมาตรา 29 เจ้าหน้าที่จะดำเนินการเบิกจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้ก็ต่อเมื่อ ... (2) มีคำพิพากษาถึงที่สุดมาแสดง ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่อาจตกลงกันได้ ซึ่งการที่ผู้ร้องทั้งห้าจะใช้สิทธิในทางศาล ป.วิ.พ. มาตรา 55 บัญญัติไว้ว่า "เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้" ดังนั้น เมื่อการที่ผู้ร้องทั้งห้าไม่สามารถเข้าทำสัญญาซื้อขายและรับเงินค่าทดแทนสืบเนื่องมาจากการโต้แย้งคัดค้านของผู้คัดค้าน ผู้ร้องทั้งห้าจึงต้องฟ้องผู้คัดค้านเป็นคดีมีข้อพิพาท ผู้ร้องทั้งห้าจะเสนอคดีเป็นคำร้องฝ่ายเดียวเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งห้าเข้าทำสัญญาซื้อขายและรับเงินค่าทดแทนที่เจ้าพนักงานฝากไว้กับธนาคารออมสินหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2856/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกัน – ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน – การผ่อนเวลาชำระหนี้ – การเวนคืนหนังสือค้ำประกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อเม็ดเงิน (แร่เงิน) จากโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 สั่งซื้อและรับสินค้าจากโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 50,791,081 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคาสินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้ว ส่วนที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าอะไร แต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าไร ราคาเท่าไร เมื่อใดและครบกำหนดชำระหนี้เมื่อใด อีกทั้งมิได้แนบเอกสารที่แสดงรายละเอียดมาท้ายคำฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาเกินกว่าสองหมื่นบาท กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อซึ่งได้รับมอบสินค้าจากโจทก์ผู้ขายแล้วผิดนัด ขอให้บังคับชำระค่าสินค้า กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายหรือไม่
สัญญาค้ำประกันมิได้มีข้อความว่าเป็นการค้ำประกันการซื้อขายสินค้าเฉพาะที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่สัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับเท่านั้น ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจึงต้องรวมถึงหนี้ตามสัญญาซื้อขายฉบับดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนมีการทำสัญญาค้ำประกันด้วย
จำเลยที่ 2 ได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่ค้ำประกัน อันเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสาม ว่า หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว มิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 จำเลยที่ 2 จะอ้างธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต และจำเลยที่ 2 คืนหลักประกันไป จำเลยที่ 2 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ดังที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วใน ป.พ.พ. มาตรา 698 ถึงมาตรา 701
การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิดนั้น จะต้องเป็นการตกลงผ่อนเวลาแน่นอนและมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องร้องไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระหนี้แก่โจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามมูลหนี้ซื้อขายได้ กรณีไม่ใช่เป็นการตกลงกำหนดวันหรือระยะเวลาชำระหนี้ให้เป็นการแน่นอน จึงไม่เป็นการที่เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้อันจะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 700 (เดิม) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16273/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดินและอาคาร: ตัวแทน, สิทธิในเงินค่าทดแทน, และการบังคับชำระหนี้แทนกัน
การยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อทางราชการมิใช่แบบของนิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบให้เห็นว่าเป็นตัวแทนกันได้ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 อาคารที่ถูกเวนคืนตั้งอยู่บนที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นที่ยินยอมให้อาคารนั้นตั้งอยู่ อาคารดังกล่าวไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินและไม่มีเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่แสดงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของอาคารประกอบกับโจทก์มีหนังสือโต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 5 ซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนจึงควรไต่สวนค้นหาความจริงให้รอบด้านว่าผู้ใดเป็นเจ้าของอาคารตามความเป็นจริงหรือมิฉะนั้น จำเลยที่ 5 ควรรอคำวินิจฉัยของศาลตามคำร้องขอของโจทก์ การที่จำเลยที่ 5 ด่วนจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ไป โดยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มิใช่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 5 จึงไม่อาจอ้างได้ว่าจ่ายเงินค่าทดแทนไปโดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทน เมื่อจำเลยที่ 2 รับเงินค่าทดแทนจากอาคารของจำเลยที่ 1 ถูกทางราชการเวนคืน อันเกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนแล้วไม่ยอมส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 เมื่อจำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 และต้องเสียประโยชน์จากการเพิกเฉยของจำเลยที่ 1 ก็ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องในนามของตนเองแทนจำเลยที่ 1 เพื่อป้องกันสิทธิของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อจำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ทวงถามเอาจากจำเลยที่ 5 และที่ 6 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในนามของตนเองตามมาตรา 233 บังคับจำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้จ่ายเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12994/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องคดีเวนคืนหลังอุทธรณ์ไม่สำเร็จ และการกำหนดค่าทดแทนโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ถูกต้อง
จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 1 ไร่ 49 ตารางวา โดยเจ้าหน้าที่กองจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเป็นเลขานุการคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นพยานจำเลยเบิกความว่า การรังวัดที่ดินครั้งแรกได้เนื้อที่ 2 งาน 53 ตารางวา เป็นการรังวัดเนื้อที่โดยประมาณยังไม่เด็ดขาดจนกว่าเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจะทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดิน จนกระทั่งเมื่อทราบเนื้อที่จริงจำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปทำบันทึกข้อตกลงอีกครั้ง และปรากฏตามสำเนาบันทึกข้อตกลงยินยอมที่จำเลยจัดทำขึ้นมีรายการระบุว่า ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนขอสงวนสิทธิอุทธรณ์เงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือให้มารับเงินค่าทดแทน ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าการแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินครั้งหลังจำเลยรับรู้ถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์จำนวนเงินค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แม้โจทก์ไม่ได้ไปทำบันทึกข้อตกลง แต่ยื่นอุทธรณ์การกำหนดค่าทดแทนก่อนถึงกำหนดวันนัดหมาย โดยกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยยังได้มีหนังสือถึงโจทก์ตอบรับการอุทธรณ์ค่าทดแทนแจ้งให้โจทก์ทราบถึงสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี หากโจทก์ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 60 วัน จึงถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์การกำหนดค่าทดแทนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จ โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นเพียงการแจ้งจำนวนที่ดินจากการรังวัดทางคณิตศาสตร์โดยไม่มีการเพิ่มเติมจำนวนที่ดินผิดไปจากที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน
การที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 (3) บัญญัติให้ถือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินเป็นข้อที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดจำนวนค่าทดแทนจากการเวนคืน จึงเป็นกรณีที่ต้องใช้เกณฑ์ราคาประเมินที่ดินในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับแก่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9784/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับขนสินค้าทางทะเล ผู้ขนส่งต้องเวนคืนใบตราส่งก่อนส่งมอบสินค้า ผู้ซื้อยังไม่ชำระเงินถือเป็นการผิดสัญญา
ใบตราส่งถือเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขนส่งได้ออกให้แก่โจทก์ผู้ส่ง อันแสดงว่า จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งไว้ในความดูแลหรือได้บรรทุกของลงเรือแล้ว และรับที่จะส่งมอบของดังกล่าวให้แก่ผู้มีสิทธิรับของนั้นเมื่อได้รับเวนคืนใบตราส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 และเมื่อออกใบตราส่งให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 จะส่งมอบของให้ได้ก็ต่อเมื่อผู้รับตราส่งเวนคืนใบตราส่งนั้นแก่จำเลยที่ 1 ในกรณีที่ผู้รับตราส่งขอรับของโดยไม่มีใบตราส่งก็จะต้องมีประกันตามสมควรตามมาตรา 28
เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อโดยผู้ซื้อไม่ได้นำต้นฉบับใบตราส่งไปเป็นหลักฐานในการขอให้ปล่อยสินค้าและเวนคืนต้นฉบับหรือคู่ฉบับใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยพยานของจำเลยที่ 1 รับว่าสินค้าถูกปล่อยไปตามสำเนาใบตราส่ง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าใบตราส่งดังกล่าวเป็นชนิดไม่สามารถโอนเปลี่ยนมือได้ แต่ใบตราส่งดังกล่าวก็มีข้อความระบุให้ต้องมีการเวนคืนต้นฉบับใบตราส่ง และแม้การซื้อขายสินค้าพิพาทอาจมีข้อโต้แย้งกันตามที่ปรากฏในจดหมายโต้ตอบของโจทก์ก็เป็นเรื่องของคู่สัญญาซื้อขาย ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ความรับผิดของผู้ขนส่งที่มีต่อผู้ส่ง จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ตามที่ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 บัญญัติไว้ การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อโดยมิได้รับเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งย่อมเป็นการไม่ชอบและเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลต่อโจทก์ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์
แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิเลือกชำระเป็นเงินไทยตามเงื่อนไขใน ป.พ.พ. มาตรา 196 ได้ โดยหากจำเลยที่ 1 ชำระเป็นเงินไทย ให้คิดอัตราถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ สถานที่และในวันที่มีการใช้เงิน ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าว ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันที่มีการใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11246/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายจากใบตราส่งปลอมและการเวนคืนใบตราส่ง
ผู้ซื้อสินค้าจากโจทก์จะใช้สิทธิเรียกให้จำเลยส่งมอบสินค้าได้ต้องเวนคืนใบตราส่งนั้นแก่จำเลยผู้ขนส่งหรือตัวแทนจำเลย เมื่อใบตราส่งที่จำเลยออกให้แก่โจทก์กับใบตราส่งฉบับที่ผู้รับสินค้ามอบให้แก่ตัวแทนจำเลยเพื่อรับสินค้าไปมีข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนหลายประการ โดยเฉพาะชื่อเรือเป็นชื่อเรือคนละลำ ทั้งจำเลยส่งสินค้าผ่านตัวแทนจำเลยดังกล่าวเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว ตัวแทนจำเลยควรที่จะตรวจสอบรายละเอียดให้รอบคอบจนเห็นข้อแตกต่างในใบตราส่งที่ผู้รับสินค้านำมามอบให้กับใบตราส่งที่จำเลยออกให้จริงได้ ข้อผิดพลาดในการตรวจใบตราส่งนี้จึงเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของตัวแทนจำเลย ยิ่งไปกว่านี้หน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยผู้รับขนของทางทะเลและตัวแทนจำเลยที่ทำหน้าที่ส่งมอบสินค้าแทนจำเลยในกรณีนี้ คือต้องส่งมอบสินค้าแก่ผู้มีใบตราส่งฉบับแท้จริงมามอบเวนคืนให้ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 28 หากมีการมอบเวนคืนใบตราส่งปลอมอันมิใช่ฉบับที่แท้จริง แต่ตัวแทนจำเลยส่งมอบสินค้าไป ถือได้ว่าเป็นการส่งมอบสินค้าไปโดยไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่งอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ผู้รับขนของทางทะเลที่ไม่ถูกต้อง ความรับผิดชอบจึงตกอยู่แก่ผู้ขนส่งทางทะเลและต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้ที่นำใบตราส่งปลอมมาเวนคืนต่อไป หาใช่เหตุที่จำเลยจะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อผู้ส่งตามสัญญารับขนของทางทะเล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6237/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยจากเหตุเวนคืนที่ดิน โจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนจากลูกหนี้ร่วมกัน
ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสัญญาจ้างพัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้าน โจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่จะถูกเวนคืนเพื่อทำถนนเพียงแต่ยังไม่มีการสำรวจแนวเขตถนนที่แน่นอน เมื่อภายหลังมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงผ่านที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสี่จึงไม่สามารถส่งมอบที่ดินพร้อมบ้านแก่โจทก์เพื่อได้ใช้ประโยชน์ตามสัญญา การชำระหนี้ย่อมตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิได้ จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตา 372 วรรคแรก โจทก์มีสิทธิเรียกเงินที่ชำระคืนจากจำเลยทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14556/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินราคาที่ดินเวนคืน, สิทธิเรียกร้องค่าทดแทน, และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานราชการหลังการปรับปรุงกระทรวง
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติชัดเจนว่า เจ้าของอสังหาริมทรัพย์จะต้องร้องขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือในระยะเวลาใด เมื่อปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เวนคืนมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปรับเงินค่าทดแทน โจทก์จึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์เงินค่าทดแทนได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แม้ขณะที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์และมีหนังสือขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเป็นระยะเวลาที่เลยกำหนด พ.ร.ฎ.เวนคืนใช้บังคับแล้วก็ตาม ไม่ทำให้อุทธรณ์และหนังสือแจ้งร้องขอให้ซื้อที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนสิ้นสิทธิอุทธรณ์และสิ้นสิทธิร้องขอให้ซื้อที่ดินไปด้วย เพราะมิฉะนั้นก็อาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เวนคืนมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกเวนคืนไปรับเงินค่าทดแทนใกล้กับวันครบกำหนดใช้บังคับตาม พ.ร.ฎ.เวนคืน อันจะทำให้ความในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ไม่มีผลบังคับไปในตัว ซึ่งไม่ชอบด้วยเหตุผลความถูกต้องและความยุติธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6712/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินเวนคืน: สิทธิได้รับค่าทดแทนตกเป็นของผู้รับโอนเดิมก่อนการเวนคืน
ในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เมื่อคณะรัฐมนตรีประกาศให้การเวนคืนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน หากเจ้าหน้าที่เวนคืนจัดให้มีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนในกรณีที่ตกลงกันได้หรือ วางเงินค่าทดแทนในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ ให้ถือว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นับแต่วันชำระเงินหรือวางเงินทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 13 วรรคท้ายประกอบมาตรา 11 วรรคสอง
ที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงถูกเวนคืนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วน กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงส่วนที่ถูกเวนคืนย่อมตกเป็นของฝ่ายจำเลยตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2541 อันเป็นวันที่ฝ่ายจำเลยได้วางเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงโดยนำไปฝากไว้กับธนาคารออมสิน สาขาชัยภูมิ ในนามของโจทก์ซึ่งเป็นวันก่อนที่พระราชกฤษฎีกาฯ สิ้นผลใช้บังคับโดยไม่ต้องมีการตราพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินทั้งสองแปลงตามมาตรา 15 ในภายหลังอีก กรณีถือได้ว่าที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืนรวมเนื้อที่ 111 ตารางวา ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2541 เป็นต้นไป
เมื่อผู้ร้องรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาฯ สิ้นผลใช้บังคับ ผู้ร้องย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงเฉพาะส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเท่านั้น แต่ผู้ร้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืนตามมาตรา 18 (1) และไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนโจทก์เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืนย่อมมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่เพิ่มขึ้นตามคำพิพากษาศาลฎีกา
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ภายหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นการขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่โจทก์เดิมเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามต่อไป มิได้เรียกร้องเกินไปกว่าสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง และเมื่อผู้ร้องชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 มาแล้ว จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่ผู้ร้อง
of 56