คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เวนคืน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 555 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: สิทธิการได้รับค่าทดแทนขึ้นอยู่กับฐานะผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้มีการจ่ายค่าตอบแทน
ที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นกรรมสิทธิ์ของ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ ส. มีวัตถุประสงค์จะตั้งสาขาในการขายประกันและให้บริการแก่ลูกค้าของโจทก์ในบริเวณท้องที่ที่ที่ดินนั้นถูกเวนคืน ส. จึงให้สิทธิแก่โจทก์ใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว แต่โจทก์ต้องรับภาระจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ส. เป็นรายเดือนในรูปของเงินเดือนและเป็นรายปีในรูปของเงินปันผล นิติสัมพันธ์ระหว่าง ส. กับโจทก์ดังกล่าวจึงเข้าเกณฑ์การเช่าทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ฉะนั้น การที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ถูกเวนคืนจึงเป็นการครอบครองในฐานะผู้เช่า ซึ่งเป็นการครอบครองแทน ส. ผู้ให้เช่า ถือไม่ได้ว่าโจทก์ยึดถือที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยเจตนายึดถือเพื่อตน โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ส่งผลให้โจทก์ไม่มีฐานะเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายในที่ดินที่ถูกเวนคืนอันจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 18 (1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 732/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินค่าทดแทนที่ดินเวนคืน: หลักเกณฑ์การคำนวณค่าทดแทนที่เป็นธรรมและดอกเบี้ย
จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 แต่โจทก์ทั้งสองไม่ไปรับเงินดังกล่าว ฝ่ายจำเลยจึงนำเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองไปฝากธนาคารออมสินเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองกับเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 อันจะถือว่าเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ฝ่ายจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งหมดในวันที่ 10 มิถุนาน 2540 แต่โจทก์ทั้งสองไม่ไปรับเงินตามกำหนดเวลาดังกล่าว ฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่นำเงินค่าทดแทนที่ดินนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในนามของโจทก์ทั้งสองโดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ในวันถัดจากวันที่ 10 มิถุนายน 2540 คือวันที่ 11 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่ต้องมีการวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2540 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2540 จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาแต่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6124/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนเวนคืนต้องยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอน หากฟ้องเกินกว่าที่อุทธรณ์ไว้ไม่มีสิทธิ
บทบัญญัติมาตรา 25 วรรคหนึ่งและมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เป็นการกำหนดขั้นตอนในการตรวจสอบการกำหนดเงินค่าทดแทนเพื่อให้ประชาชนที่ถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันราคาลดลงและค่าเช่าอาคารที่ลดลง ซึ่งเกินไปจากวงเงินที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ขอเพิ่มเงินค่าทดแทนดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาก่อนแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินพร้อมอาคารส่วนที่เหลืออันราคาลดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 612/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทดแทนการใช้ที่ดินตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฯ ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์การเวนคืนตามกฎหมายอื่นควบคู่กัน เพื่อให้เป็นธรรม
พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่มุ่งประสงค์ที่จะให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้เป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์หรือผู้ทรงสิทธิอื่น แต่มาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้ดังเช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 อย่างเป็นธรรม จึงต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณดอกเบี้ยค่าทดแทนที่ดินเวนคืน เริ่มต้นเมื่อพ้น 120 วันจากวันที่ทำสัญญาซื้อขาย
หลังจากคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองแล้ว จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปรับเงินค่าทดแทนซึ่งปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองตกลงยอมรับเงินดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลงยินยอมระหว่างผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนกับเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตาม พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 สายสระบุรี - หนองคาย (เขตแดน) ตอนเลี่ยงเมืองนครราชสีมาฯ ฉบับลงวันที่ 1 เมษายน 2540 อันถือว่าวันที่ทำสัญญาซื้อขายคือวันที่ 1 เมษายน 2540 ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 600/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยค่าทดแทนเวนคืน เริ่มนับจากวันที่ต้องวางเงิน ไม่ใช่เมื่อมีการจ่ายจริง
เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กับเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 อันจะถือว่าเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม เมื่อได้ความว่าฝ่ายจำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 แต่โจทก์ไม่ไปรับเงินตามกำหนดเวลาดังกล่าว ฝ่ายจำเลยย่อมมีหน้าที่นำเงินค่าทดแทนที่ดินนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในนามของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ในวันถัดจากวันที่ 10 มิถุนายน 2540 คือวันที่ 11 มิถุนายน 2540 อันเป็นวันที่ต้องมีการวาเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนั้นตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2748/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดค่าทดแทนการใช้ที่ดินตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฯ พิจารณาหลักเกณฑ์จาก พ.ร.บ.เวนคืนฯ และสภาพที่ดิน
พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 บัญญัติไว้กว้างๆ ว่า ให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรม ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้คำนึงถึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนดังเช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ได้นั้น จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ทุกอนุมาตราประกอบกัน เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน โดยวันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือ วันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในโครงการนี้ในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13199/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนเวนคืนที่ดิน: การฟ้องเรียกค่าทดแทนซ้ำกับคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด และการไม่กระทบสิทธิจากความล่าช้าของรัฐ
คดีก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มพร้อมทั้งดอกเบี้ย เป็นเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือที่มีราคาลดลง สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ยืนต้น ค่าเสียหายเนื่องจากต้องรื้อถอนสาธารณูปโภคและขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ได้ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มในรายการและจำนวนเงินเดียวกันกับคดีก่อนพร้อมด้วยดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่องเดียวกันกับฟ้องโจทก์ในคดีก่อน เมื่อปรากฏว่าคดีก่อนซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องนั้น จำเลยทั้งสองในคดีก่อนได้ยื่นอุทธรณ์และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ฟ้องโจทก์คดีนี้ที่ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มพร้อมด้วยดอกเบี้ยจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
แม้คดีซึ่งโจทก์ฟ้องเป็นคดีก่อนโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดพร้อมด้วยดอกเบี้ย ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดชำระค่าเสียหายเป็นส่วนตัวก็ตาม แต่ฟ้องโจทก์คดีนี้ที่ขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดก็มีมูลเหตุมาจากการที่โจทก์อ้างว่าคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ในอัตราที่เป็นธรรมและในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกันว่าเงินค่าทดแทนซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดให้แก่โจทก์เป็นอัตราที่เป็นธรรมแล้วหรือไม่ ซึ่งถึงแม้โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดเป็นส่วนตัวแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 แต่ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ก็เป็นเรื่องเดียวกันกับคดีก่อนเพราะมีประเด็นเกี่ยวข้องกันโดยตรง จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 25 กำหนดให้ผู้ที่ไม่พอใจในจำนวนเงิน ค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ และให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งพิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี และให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ แต่ตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่ยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าว มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ไม่ได้พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์และรัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ไม่เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ จึงไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเงินค่าทดแทนเพิ่มโดยการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้รับความกระทบกระเทือนหรือล่าช้าไปกว่าระยะเวลาหกสิบวันตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย และไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13113/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารต้องรับผิดชำระเงินค่าเวนคืนที่ผิดพลาด หากจ่ายเงินเข้าบัญชีที่ไม่ตรงกับชื่อผู้รับเงินในเช็ค
ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และ ก. ถูกเวนคืนทางกรุงเทพมหานครจ่ายเงินค่าเวนคืนโดยจ่ายเช็คธนาคาร ก. ให้แก่โจทก์ที่ 1 และ ก. เช็คระบุผู้รับเงินไว้คือโจทก์ที่ 1 กับ ก. และขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก ธนาคารต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่สั่งจ่ายระบุชื่อ แม้ระหว่างชื่อของบุคคลทั้งสองมีเพียงเครื่องหมาย " , " คั่นไว้ก็ตาม ก็มีความหมายว่าธนาคารต้องจ่ายเงินให้แก่บุคคลทั้งสองมิใช่หมายถึงจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เพียงคนเดียว อีกทั้งเช็คมีการขีดคร่อมระบุคำว่า "A/C PAYEE ONLY" ธนาคารต้องจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้รับเงินซึ่งมีชื่อในเช็คเท่านั้น การที่ธนาคารจำเลยที่ 1 นำเงินที่เรียกเก็บตามเช็คเข้าบัญชีของโจทก์ที่ 1 หรือ ม. ย่อมเป็นความเข้าใจของธนาคารจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียวว่าสามารถกระทำได้ ทั้งๆ ที่บัญชีมีชื่อไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเช็ค อีกทั้งธนาคารจำเลยที่ 1 ยอมให้ ม. ผู้ไม่มีสิทธิรับเงินตามเช็คเบิกถอนเงินออกไปเพียงผู้เดียว ธนาคารจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามการค้าปรกติของธนาคารย่อมไม่เป็นการกระทำที่สุจริตหรือปราศจากความประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ธนาคารจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของ ก. ฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2
แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กล่าวในคำฟ้องว่าด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีมูลหนี้จากการละเมิด อันจะต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายภายในอายุความ 1 ปีก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องทั้งหมดแล้วเห็นว่า เป็นการที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1000 เพื่อยกเว้นความรับผิดตามมูลหนี้ตั๋วเงิน มีอายุความ 10 ปี จะนำอายุความเรื่องละเมิด 1 ปี มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12048/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าที่ดินถูกเวนคืน ผู้เช่ามีหน้าที่จดทะเบียนยกเลิกสัญญาเพื่อผู้ให้เช่ารับค่าทดแทน
ที่ดินที่จำเลยเช่าบางส่วนถูกเวนคืนตาม พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างถนนวงแหวนอุตสาหกรรม โจทก์จึงถูกบังคับตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าว การที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนกับกรมโยธาธิการผู้ซื้อ ก็เพื่อที่จะได้รับค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 กำหนดไว้ มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์จะไปทำสัญญาหรือไม่ก็ได้ ทำให้การชำระหนี้ตามสัญญาเช่าของโจทก์ในฐานะผู้ให้เช่ากลายเป็นพ้นวิสัยบางส่วน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าเมื่อจำเลยประสงค์จะเช่าที่ดินส่วนที่เหลือต่อไป แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ไปจดทะเบียนยกเลิกการเช่าที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าส่วนที่ถูกเวนคืนแล้วโจทก์ย่อมขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนยกเลิกการเช่าได้ และโจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับค่าทดแทน ถึงแม้ว่ากรมโยธาธิการจะได้นำไปวางทรัพย์ไว้ที่ธนาคารออมสินโดยมีดอกเบี้ยเงินฝากด้วยก็ตาม แต่ค่าทดแทนจะจ่ายให้โจทก์ได้ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ขายจะได้รับเงินค่าทดแทนพร้อมดอกเบี้ยก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว ดังนั้น ดอกเบี้ยเงินฝากที่โจทก์จะได้รับจากธนาคารออมสินจึงเป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในขณะนั้นได้
of 56