คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ชิงทรัพย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 588 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1600/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เนื่องจากไม่ได้ยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) เท่านั้น โดยยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ด้วย เพื่อให้เป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12079/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชิงทรัพย์โดยประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย แม้จะลักทรัพย์ชิ้นหนึ่งไปไม่ได้ ก็ยังเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์โดยลักกุญแจรถจักรยานยนต์ 1 ดอก ของผู้เสียหายไป ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายเก็บกระเป๋าสะพายไว้ใต้เบาะรถจักรยานยนต์ จำเลยใช้มีดทำร้ายผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายเปิดเบาะรถ ผู้เสียหายจะดึงกุญแจรถจักรยานยนต์ออกจากตัวรถแต่จำเลยเงื้อมีดข่มขู่ ผู้เสียหายจึงวิ่งหลบหนี จากนั้นจำเลยใช้กุญแจรถดังกล่าวไขเบาะรถแต่ไม่สามารถเปิดได้ จำเลยจึงเอากุญแจรถดังกล่าวไป พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยประสงค์จะเอาทรัพย์ในกระเป๋าสะพายเป็นอันดับแรก เมื่อไม่สามารถเปิดเบาะรถจักรยานยนต์ได้จึงเอากุญแจรถจักรยานยนต์อันเป็นทรัพย์อีกชิ้นหนึ่งไป เมื่อจำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย แม้จะไม่สามารถเปิดเบาะรถจักรยานยนต์เพื่อเอาทรัพย์ในกระเป๋าสะพาย แต่การกระทำของจำเลยเพื่อเอาทรัพย์ยังไม่ขาดตอน การที่จำเลยเอากุญแจรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปย่อมเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการกระทำโดยทุจริต และเป็นการลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งโจทก์ได้กล่าวในฟ้องแล้ว มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7532/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ การใช้กำลังประทุษร้ายต้องกระทำต่อตัวทรัพย์หรือตัวผู้เสียหายโดยตรง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับ ป. ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลม 1 เล่ม ฟันข้อมือขวาของผู้เสียหาย 1 ครั้ง มิได้บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้สายไฟของเครื่องเป่าผมผูกมัดประตูห้องน้ำไว้กับประตูระเบียงห้องจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถออกจากห้องน้ำได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยและ ป. มิได้ใช้แรงกายภาพกระทำต่อผู้เสียหาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ คงเป็นการกระทำที่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำที่โจทก์บรรยายฟ้องและประสงค์จะให้ลงโทษจำเลย ส่วนการที่ผู้เสียหายใช้มือข้างขวาเปิดบานเกล็ด ป. ใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลมฟันข้อมือผู้เสียหาย 1 ครั้ง เป็นเหตุให้มีบาดแผลยาว 1 ซ.ม. เมื่อผู้เสียหายร้องขอให้จำเลยเอายามาให้ ป. เอายามาให้ผู้เสียหาย นับว่าผิดวิสัยของคนร้ายที่ประสงค์ทำร้ายร่างกายเจ้าของทรัพย์เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ การกระทำของ ป. จึงเป็นการกระทำที่มิได้เกี่ยวเนื่องกับการลักทรัพย์และเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ป. เอง เพราะจากคำเบิกความของผู้เสียหายไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นด้วยในลักษณะอย่างใด จำเลยคงมีความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15732/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ใช้/สนับสนุนการกระทำความผิด: การชิงทรัพย์เกินเลยขอบเขตที่ใช้
จำเลยที่ 2 อ้างว่า ผู้เสียหายเป็นหนี้แล้วไม่จ่าย ขอให้จำเลยที่ 1 จัดการกับผู้เสียหายโดยวิธีใดก็ได้ให้ผู้เสียหายไปอยู่ที่อื่น หรือหายไปจากโลกได้ยิ่งดีแล้วจะมีรางวัลให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ข้อความดังกล่าวย่อมหมายความว่าจำเลยที่ 2 ใช้จำเลยที่ 1 ไปทำให้ผู้เสียหายเกรงกลัวไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ในที่อยู่อาศัยจนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นหรือฆ่าผู้เสียหายอันเป็นผลกระทบต่อจิตใจและชีวิตของผู้เสียหายเท่านั้น มิได้มุ่งประสงค์ต่อผลในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงมิได้มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหายย่อมเกินไปจากขอบเขตที่จำเลยที่ 2 ใช้ และโดยพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับผู้อื่นชิงทรัพย์ผู้เสียหาย ตาม ป.อ. มาตรา 87 วรรคแรก และไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ก่อเหตุคดีนี้ โจทก์หาได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15518/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชิงทรัพย์, กรรโชกทรัพย์, และความผิดต่อเสรีภาพ: การกระทำผิดฐานชิงทรัพย์และกรรโชกทรัพย์โดยมีองค์ประกอบของการข่มขู่และหน่วงเหนี่ยว
จำเลยกับพวกร่วมกันกระชากตัวโจทก์ร่วมลงจากรถแท็กซี่และรุมทำร้ายโจทก์ร่วม แล้วนำตัวโจทก์ร่วมขึ้นรถกระบะแล่นออกไปยังบ่อปลาแห่งหนึ่งโดยระหว่างที่อยู่ในรถกระบะจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมตลอดทางโดยใช้ขวดเบียร์และท่อนเหล็กเป็นอาวุธ และจำเลยได้ล้วงเงิน 10,000 บาท ของโจทก์ร่วมไป เมื่อจำเลยกระทำความผิดโดยมีอาวุธในเวลากลางคืนและใช้ยานพาหนะ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 335 (1) (7), 340 ตรี
การที่จำเลยและ น. เรียกร้องเงินจำนวน 23,000 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วม โดยจำเลยเชื่อว่าโจทก์ร่วมโกงเงิน น. ย่อมเป็นเพียงความเชื่อของจำเลย หาเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมเป็นหนี้ น. ไม่ ดังนั้น เงินจำนวน 23,000 บาท ที่จำเลยเรียกร้องเพื่อแลกกับการปล่อยตัวโจทก์ร่วมจึงเป็นค่าไถ่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 313 วรรคแรก
อนึ่ง เนื่องจากจำเลยจัดให้โจทก์ร่วมได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาโดยโจทก์ร่วมมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 316

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุน vs. ตัวการร่วม: ความผิดฐานชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์
จำเลยที่ 2 ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 1 และ ส. มาก่อนเกิดเหตุเพื่อที่จะมากระทำความผิด แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 และ ส. กระทำความผิดเอาทรัพย์ของผู้ตายไป จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์แยกทางออกไปก่อน ไม่ได้รออยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุที่จะมีเวลาเพียงพอที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และ ส. ในขณะกระทำความผิดได้ จึงไม่ใช่เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันจะเป็นตัวการในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และ ส. ได้ จำเลยที่ 2 คงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเท่านั้น หาใช่ร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป อันจะเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมชิงทรัพย์-การใช้รถจักรยานยนต์-การลดโทษเยาวชน-การเปลี่ยนโทษเป็นฝึกอบรม
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นคนที่ถูกผู้อื่นหลอกลวงได้ง่ายและพฤติการณ์ในคดีก็ได้ความว่าอาของจำเลยเป็นผู้ใช้ให้จำเลยไปชิงทรัพย์ และอาของจำเลยขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปทิ้งให้อยู่ในที่เกิดเหตุ จนกระทั่งจำเลยมาชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วหลบหนีไปเพียงลำพัง โดยอาของจำเลยไม่ได้กลับมาที่เกิดเหตุอีกเลย จำเลยกับอาของจำเลยจึงมิใช่ตัวการร่วมกันชิงทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 83 แต่เป็นกรณีจำเลยชิงทรัพย์ตามที่อาของจำเลยใช้เท่านั้น และตามพฤติการณ์ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์อันจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้น ตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
ปัญหาว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นชิงทรัพย์และปัญหาว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3656/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระบุบทความผิดชิงทรัพย์: พิจารณาเฉพาะวรรคที่มีโทษหนักที่สุด
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แล้ว และปรากฏว่าการชิงทรัพย์ของจำเลยมีเหตุฉกรรจ์ทำให้ต้องได้รับโทษหนักขึ้น และเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 ทั้งวรรคสองและวรรคสาม ในการระบุบทมาตราแห่งความผิดก็ระบุเฉพาะวรรคที่มีบทหนักที่สุดเพียงวรรคเดียว หาจำต้องระบุให้ครบทุกวรรคไม่ เพราะแต่ละวรรคต่างมีองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกับวรรคแรก แตกต่างกันเฉพาะเหตุที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ดังนั้น เมื่อการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 339 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทหนักกว่าวรรคสองแล้ว ก็ไม่ต้องระบุวรรคสองซึ่งเป็นอัตราโทษเบากว่าอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2953/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน & การลดโทษจากความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย
คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 ว่า หลังจากจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์แล้ว ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจออกตรวจที่เกิดเหตุเห็นเหตุการณ์จึงเข้าระงับเหตุ จำเลยกับพวกจึงร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ลูกระเบิดขว้างใส่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 โดยเจตนาฆ่า แต่ลูกระเบิดไม่ระเบิด ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ถึงแก่ความตาย ซึ่งถ้อยคำที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนนี้มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า จำเลยกับพวกรู้แล้วว่า ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจกำลังจะมาจับกุมจำเลยกับพวกจากการที่จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้ลูกระเบิดขว้างใส่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการต่อสู้และขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตนได้ โจทก์ไม่ต้องบรรยายถ้อยคำว่า "ต่อสู้" หรือ "ขัดขวาง" ที่มีความหมายอย่างเดียวกันซ้ำในคำฟ้องอีก คำฟ้องของโจทก์ในข้อหาร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138 จึงครบองค์ประกอบความผิดและเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22246/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้และมีอาวุธปืนในความผิดชิงทรัพย์ การลงโทษเฉพาะผู้มีหรือใช้อาวุธปืน
ป.อ. มาตรา 340 ตรี มุ่งหมายที่จะลงโทษหนักขึ้นเฉพาะผู้มีหรือใช้อาวุธปืนเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 เพื่อไปติดต่อล่อซื้อและจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ โดยผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยที่ 1 เอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปเก็บรักษาไว้เพราะเคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ขณะที่จำเลยที่ 1 เก็บอาวุธปืนไว้แล้วผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ต่างลงจากรถ จำเลยที่ 1 บอกให้ผู้เสียหายหยุด อย่าขยับตัว ผู้เสียหายแย่งปืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงเข้าร่วมทำร้ายผู้เสียหาย โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีอาวุธปืนมาก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืนตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี แต่การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหายในการชิงทรัพย์นั้น แม้จะเป็นอาวุธปืนของผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงเอามาจากผู้เสียหายก็ตาม แต่การชิงทรัพย์ยังไม่ขาดตอน การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนตีผู้เสียหาย จึงเป็นส่วนหนึ่งของการชิงทรัพย์ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนในการชิงทรัพย์ ดังนั้น เฉพาะจำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
of 59