คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ผู้ค้ำประกัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 571 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือยกเลิกค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดตามสัญญาเดิม
หนังสือสัญญารับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ทำให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นเพียงการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ มิได้เป็นการยกเลิกหลักประกันหรือการค้ำประกัน หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลให้หนี้เดิมระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8818/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา ผู้ค้ำประกัน ความรับผิดชอบและขอบเขต
ที่โจทก์ขอดอกเบี้ยจากราคาใช้แทนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นกรณีที่หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถขุดดังกล่าวคืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 225 แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาอันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อเกิดขึ้นเมื่อใด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ และราคาใช้แทนนี้เป็นหนี้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาใช้แทน 400,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมโอนหุ้นของผู้ค้ำประกันเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้จากการถูกทำให้เสียเปรียบ
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 680 บัญญัติว่า "อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น" ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ไว้กับโจทก์ โดยสัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ชั้นต้นที่ไปขอสินเชื่อจากโจทก์ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์แล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ย่อมมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 237 มิได้บัญญัติว่า การที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้กระทำลงภายหลังจากลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้แล้วแต่ประการใด ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ผู้ค้ำประกันได้กระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ก็ย่อมใช้สิทธิเพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ และความรับผิดของผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 686
บันทึกการส่งมอบรถยนต์มีข้อความว่า ข้าพเจ้าประสงค์ขอเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อคืนแก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะรับผิดชอบที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อกรณีที่เจ้าของได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาของข้าพเจ้า โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่า บันทึกการส่งมอบรถยนต์เพื่อเลิกสัญญา และระบุสถานที่รับรถว่า เป็นการส่งมอบคืน ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ เมื่อสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 กำหนดว่า ผู้เช่าซื้อฝ่ายเดียวจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ โดยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนให้เจ้าของ ณ ภูมิลำเนาของเจ้าของ และผู้เช่าตกลงที่จะชำระบรรดาหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่เจ้าของจนครบถ้วน และหากเจ้าของนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขาย หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชำระส่วนที่ขาดนั้นให้แก่เจ้าของจนครบถ้วน การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ค้ำประกันย่อมแปลความหมายได้ว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้เจ้าของ และตกลงจะรับผิดในบรรดาหนี้ที่เกิดขึ้นจากการบอกเลิกสัญญา อันเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 9 สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันตามข้อสัญญาดังกล่าว หาใช่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยคู่สัญญาสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาได้
จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาภายหลัง ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โดยต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด การที่โจทก์เพิ่งมีหนังสือแจ้งสิทธิการซื้อทรัพย์สินลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ส่งไปยังจำเลยที่ 2 ตามที่อยู่ที่ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันโดยหนังสือดังกล่าวถูกส่งคืนกลับต้นทาง และโจทก์ขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 หลังจากนั้นโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 อีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์อันเป็นค่าสินไหมทดแทนเพียง 60 วัน เท่านั้น ส่วนค่าขาดราคาถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ค่าขาดราคา ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5788/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันก่อน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ยังมีผลบังคับใช้ ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชอบ
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีผู้ค้ำประกัน: ผลกระทบจากการล้มละลายของลูกหนี้ และการสะดุดหยุดของอายุความเฉพาะราย
การที่บริษัท ส. ลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และธนาคาร น. เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(3) อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่บริษัท ส. ลูกหนี้ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2543 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์
จึงขาดอายุความ แม้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 บริษัท ม. ผู้ค้ำประกันร่วมได้ชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความดังกล่าวสะดุดหยุดลง แต่ ป.พ.พ. มาตรา 692 หาได้บัญญัติด้วยว่า หากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 ซึ่งกำหนดว่า อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนั้นอายุความ
จึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัท ม. หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขต พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกับรัฐวิสาหกิจ และความรับผิดของผู้ค้ำประกันค่าเสียหาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่... (1) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์" เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ดังนั้นจะนำประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานของลูกจ้าง พ.ศ.2551 อันเป็นการจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันกรณีทั่วไปมาใช้บังคับแก่การค้ำประกันกรณีลูกจ้างเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจหาได้ไม่ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่ ณ. ก่อให้เกิดขึ้นตามสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และสิทธิของฝ่ายขายในการบอกเลิกสัญญาซื้อขาย
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ผิดนัด 3 งวดติดต่อกัน จำเลยที่ 2 จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดแทน ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันข้อ 2 กำหนดว่า "หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โดยมีจำนวนหนี้ค้างชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นสะสมรวมกันตั้งแต่ 3 งวดขึ้นไป ... ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญากู้เงิน และเป็นผลให้หนี้ตามสัญญากู้ถึงกำหนดชำระทันที และผู้ค้ำประกันยินยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน." และตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่มีข้อตกลงว่าก่อนจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนแล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทร ข้อ 9 ให้ถือว่าโจทก์ผู้ซื้อผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน
การใช้สิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนไม่อยู่ในบังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2544 ข้อ 3 (2) เพราะประกาศดังกล่าวเป็นการควบคุมเฉพาะธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา มิได้หมายรวมถึงธุรกิจการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรในการกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในการชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงมิใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค กรณีจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ดังกล่าว ทั้งเมื่อโจทก์ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เมื่อใด จำเลยที่ 2 เจ้าหนี้จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่จำเลยที่ 2 เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระแทนโจทก์ผู้กู้ยืมจึงชอบแล้ว กรณีไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ต้องแก้ไขการผิดสัญญาก่อน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทได้ตามฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้บางส่วนโดยผู้ค้ำประกัน ไม่ปลดหนี้ลูกหนี้ชั้นต้นและผู้ค้ำประกันรายอื่น
ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับแห่งหนี้ ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 5 บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปต่อเมื่อได้มีการชำระหนี้ มีการปลดหนี้ มีการหักกลบลบหนี้ มีการแปลงหนี้ใหม่หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้เพียงบางส่วนจาก บ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์เฉพาะเท่าที่ปลดหนี้ให้ บ. เท่านั้น เมื่อการชำระหนี้นั้นยังไม่ครบจำนวน ทั้งไม่ปรากฏเหตุอื่นที่อาจทำให้หนี้ดังกล่าวทั้งหมดระงับสิ้นไป แต่ยังมีหนี้ที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระอีก การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจาก บ. เป็นเพียงโจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีหนี้ส่วนที่เหลือ จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 685 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปกับ บ. ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกับ บ. เมื่อได้ความว่า ทั้งจำเลยที่ 2 และ บ. ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่มิได้ค้ำประกันร่วมกัน แต่ต้องรับผิดร่วมกันดังกล่าวไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229, 293 และ 296 แม้โจทก์จะยอมรับการชำระหนี้และปลดหนี้ให้ บ. คงเป็นประโยชน์แก่โจทก์เพียงเท่าส่วนของ บ. ชำระให้โจทก์และที่ปลดไป ซึ่งทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ปลดไปได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือไม่ เมื่อได้ความว่า บ. ชำระหนี้ให้โจทก์ไปเพียง 4,050,000 บาท ยังไม่ครบตามภาระหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างชำระในต้นเงิน ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดดอกเบี้ยสัญญาเงินกู้, การหักชำระหนี้จากบัญชีเงินฝาก, และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
แม้จำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ 1 เจตนากู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ก็เป็นนิติบุคคลซึ่งถือเป็นคนละคนกับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 3 จะมีสิทธิเรียกร้องหรือเป็นเจ้าหนี้ธนาคาร ก. ผู้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ เพราะหนี้ค่าจ้างระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยที่ 3 เป็นความผูกพันระหว่างธนาคารกับจำเลยที่ 3 ทั้งมิใช่หนี้ด้อยคุณภาพที่ธนาคารโอนสิทธิมาให้แก่โจทก์ ความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างจึงคงอยู่กับธนาคาร ก. ไม่ได้โอนมาเป็นของโจทก์ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวเอากับธนาคารผู้เป็นคู่สัญญา
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ปรากฏอยู่ในบัญชีเดินสะพัด หากภายหลังวันทำสัญญามีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศโดยผู้ให้กู้หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้พึงเรียกเก็บได้จากลูกค้าสูงกว่าอัตราตามสัญญา ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีอำนาจที่จะปรับดอกเบี้ยตามสัญญาให้สูงขึ้นได้ตามที่ผู้ให้กู้เห็นสมควรในทันที โดยมิต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ และถือว่าผู้กู้ได้ให้ความยินยอมในการปรับอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผู้ให้กู้กำหนดทุกครั้งไป การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมิได้อาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข การปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นทำนองเบี้ยปรับ ศาลจึงไม่มีอำนาจปรับลดลงมาได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดในดอกเบี้ยเพียงอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่มิใช่กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามประกาศของธนาคาร ก. ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 14.5 ต่อปี
อนึ่ง จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่ ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่หก ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้นำเงินฝากในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาหักชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวันที่มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย ส่งผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวอีกต่อไป แต่เมื่อนำเงินฝากไปหักชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากนับแต่วันหักชำระหนี้ แต่ปรากฏว่าหลังวันที่มีการนำเงินฝากไปหักชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้รับดอกเบี้ย 2 ครั้ง จำเลยที่ 3 ได้รับดอกเบี้ย 5 ครั้ง จึงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่ธนาคารพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่และที่หกตามลำดับ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มารับผิดในดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งมิใช่มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาความกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีเรื่องอื่น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดในดอกเบี้ยเงินฝากจึงเป็นการพิพากษานอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) นอกจากนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่ธนาคารจ่ายไปพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารชำระแทนเป็นต้นไป โดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,704.09 บาท รวมเป็นเงิน 15,812.71 บาท แต่ในตอนพิพากษากลับไม่มีการระบุถึงดอกเบี้ยของหนี้เงินทดรองจ่ายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุให้ครบถ้วนตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้ว
of 58