คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ค้ำประกัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 610 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13530/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันในสัญญาจ้างงานตามประกาศกระทรวงแรงงาน แม้ทำสัญญาค้ำก่อนประกาศมีผล
ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ที่ออกโดยอาศัยมาตรา 6 และมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ในข้อ 10 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันโดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ แม้ประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ภายหลังจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่อโจทก์ก็ตาม แต่ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความเสียหายแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไปประมาณต้นปี 2552 และโจทก์ทราบการกระทำของจำเลยที่ 1 ประมาณต้นเดือนมีนาคม 2552 กรณีความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันย่อมเกิดหลังจากประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องใช้ประกาศดังกล่าวอันเป็นกฎหมายที่มีผลในขณะนั้นใช้บังคับ แม้ตามข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อต้องรับผิดตามประกาศดังกล่าวไม่เกินกว่าหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ได้รับ ส่วนที่ต้องรับผิดตามข้อตกลงเกินกว่านั้นถือว่าขัดต่อประกาศดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลให้ข้อตกลงในส่วนที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดเสียเปล่าไป จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์หกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ได้รับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13267/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันสิ้นผลเมื่อลูกหนี้เลิกกิจการ แต่ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ได้
ตามสัญญาค้ำประกันหนี้สินที่จำเลยทั้งสี่ทำไว้กับบริษัทเงินทุน ย. นั้น เป็นการค้ำประกันเพื่อชำระหนี้ในเมื่อบริษัท ก. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เมื่อต่อมาบริษัท ก. ลูกหนี้จดทะเบียนเลิกบริษัท อันมีผลให้ลูกหนี้สิ้นสภาพนิติบุคคล สัญญาค้ำประกันที่จำเลยทั้งสี่ทำไว้จึงไม่มีลูกหนี้ที่จำเลยทั้งสี่จะต้องค้ำประกันอีกต่อไป สัญญาค้ำประกันจึงสิ้นผลไปโดยปริยาย แม้เช็คทั้ง 17 ฉบับ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท ก. ลูกหนี้จะลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของบริษัทก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเช็คดังกล่าวเป็นเช็คของลูกหนี้ ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อบริษัทเงินทุน ย. ในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาวงเงินขายตั๋วลดเช็คที่เกิดขึ้นภายหลังจากลูกหนี้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท ก. ลูกหนี้ รู้ดีว่าในวันที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คทั้ง 17 ฉบับ พร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทนั้น บริษัท ก. ลูกหนี้ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองยังถือโอกาสที่บริษัทเงินทุน ย. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่รู้ถึงการบอกเลิกบริษัทของตนนำเช็คที่สั่งจ่ายในนามของบริษัท ก. ไปขายลดให้แก่บริษัทเงินทุน ย. อีก ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมได้เงินจากการขายลดเช็ค โดยทราบดีว่าเจ้าหนี้ไม่อาจจะบังคับเอาจากบริษัท ก. ลูกหนี้ได้เพราะลูกหนี้ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไปก่อนแล้ว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเช็คพิพาทเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสี่ได้ยกขึ้นให้การต่อสู้โจทก์ และจำเลยที่ 4 นำสืบในศาลชั้นต้นแล้วไม่ใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาก่อน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจนำข้อกฎหมายมาปรับวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตได้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่อาจอ้างการสิ้นสภาพบุคคลแห่งบริษัท ก. เป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12802/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดเฉพาะตัวของผู้ค้ำประกันตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ การรับช่วงสิทธิ และขอบเขตความรับผิดร่วม
บริษัท ม. กับโจทก์และจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ตามเอกสารหมาย จ.5 โดยในส่วนของโจทก์ต้องชำระเงินเพิ่มตามสัญญาข้อ 4.2 อันเนื่องมาจากโจทก์เคยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มาก่อนแล้วปฏิบัติผิดเงื่อนไข โดยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และบรรษัทดังกล่าวได้ยกเลิกสัญญาแล้ว ซึ่งเป็นข้อความจริงที่เกี่ยวถึงตัวโจทก์ผู้เป็นลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งโดยเฉพาะ ย่อมเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่โจทก์เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคหนึ่ง ในข้อนี้สัญญาดังกล่าวในข้อ 4.2 ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ค้ำประกันรายที่ 5 คือโจทก์จะต้องชำระหนี้เงินตามข้อ 4.2.1 จำนวน 570,000 บาท ภายในวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ข้อ 4.2.2 จำนวน 570,000 บาท ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ 23 มิถุนายน 2553 และ ข้อ 4.2.3 จำนวน 553,000 บาท ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ 23 มิถุนายน 2553 ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของโจทก์ มิฉะนั้นแล้วบรรษัทดังกล่าวคงไม่ตกลงไว้เช่นนั้น ดังนั้นโจทก์จะอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมรับผิดด้วยโดยถือเป็นการรับช่วงสิทธิจากบรรษัทดังกล่าวมาไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสี่หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12640/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามประกาศกระทรวงแรงงาน แม้ทำสัญญาก่อนประกาศใช้
ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 นั้น นอกจากจะมีข้อ 10 ซึ่งกำหนดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ อันเป็นการจำกัดขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในความเสียหายจากการทำงานให้แตกต่างไปจากหลักทั่วไปในเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญาแล้วยังมีข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า กรณีที่มีการเรียกหรือรับหลักประกันเกินที่กำหนดไว้มาก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น ให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ด้วย แสดงว่านายจ้างและลูกจ้างไม่อาจตกลงนอกเหนือจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประกาศดังกล่าวกำหนด ดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์แม้จะทำกันก่อนประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งเกิดขึ้นภายหลังก็ต้องบังคับไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศฉบับดังกล่าวคือไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของทายาทในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน แม้ผู้ค้ำประกันถึงแก่กรรมก่อนผิดนัด
ถ. ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์ไว้ต่อโจทก์ด้วย แม้หนี้งวดแรกตามบันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม ถ. ก็มีความความผูกพันในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด และถึงแม้จำเลยที่ 1 จะผิดนัดหลังจาก ถ. ถึงแก่กรรมแล้ว การรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินก็ยังไม่ระงับสิ้นไปเพราะเหตุผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินถึงแก่กรรม ความรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ถ. ดังนั้น จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ถ. จึงต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ได้รับจากกองมรดกของ ถ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21413/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องบังคับชำระหนี้ทายาทของผู้ค้ำประกันและผู้จำนองก่อนถึงกำหนดชำระหนี้หลัก
โจทก์กับบริษัท ด. ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดย ด. ผูกพันยอมรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันและตามสัญญาจำนองที่มีอยู่เดิม ต่อมา ด. ถึงแก่ความตาย ไม่ปรากฏว่าบริษัท ด. ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงยังไม่มีสิทธิเรียกให้กองมรดกของ ด. และจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของ ด. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองประกันหนี้ของบริษัทดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 กรณียังไม่ถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ในการฟ้องบังคับให้กองมรดกของ ด. รวมทั้งจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของ ด. ให้รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13582/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน: ขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญา
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม สัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548
โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าสินค้าของโจทก์สูญหายตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 (วันทำสัญญาค้ำประกัน) ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2548 เป็นจำนวนเงินเท่าใด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13337/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองกับค้ำประกัน: ความแตกต่างและขอบเขตความรับผิดชอบของผู้จำนอง/ผู้ค้ำประกัน
การที่จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินของตนเพื่อประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่ธนาคาร ก. เจ้าหนี้ เป็นการให้สัญญาต่อเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ก็ให้ธนาคารเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 บังคับจำนองเอากับที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้ ต่างกับการค้ำประกันซึ่งโจทก์ผู้ค้ำประกันสัญญาว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้โจทก์จะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ ในกรณีของจำเลยที่ 2 ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ในลักษณะจำนองซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 682 วรรคสอง ในลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับกับจำเลยที่ 2 ให้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน อีกทั้งไม่ใช่กรณีผู้ค้ำประกันหลายคนยอมตนเข้าค้ำประกันหนี้รายเดียวกันอันจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง อันจะทำให้โจทก์รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บังคับจำนองกับที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11408/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันที่ระบุวงเงินค้ำประกันและหลักประกัน
สัญญาค้ำประกันมีข้อความระบุว่า โจทก์ตกลงค้ำประกันการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจริงของสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 30 เมษายน 2539 ในวงเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 460,000 บาท การค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวหากผู้กู้เบิกใช้ไม่เต็มวงเงินตามสัญญาจนเป็นเหตุให้ไม่มีสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกัน หรือสินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันลดลง ให้ถือว่าหนังสือค้ำประกันนี้เป็นอันสิ้นผลโดยทันที หรือให้ถือว่าวงเงินค้ำประกันตามวรรคแรกลดลงตามส่วนตามแต่กรณีไป ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจำนวน 1,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันไว้จำนวน 540,000 บาท ชำระต้นเงินไปแล้วจำนวน 350,000 บาท คงเหลือต้นเงินจำนวน 650,000 บาท สินเชื่อส่วนที่ขาดหลักประกันย่อมลดลงตามส่วนจากยอดต้นเงินคงเหลือจำนวน 650,000 บาท โดยนำหลักประกันที่จดทะเบียนจำนองไว้จำนวน 540,000 บาท มาหักออกจากยอดต้นเงินคงเหลือตามที่สัญญาค้ำประกันระบุไว้เป็นหนี้ที่โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงินจำนวน 110,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 ได้ตามจำนวนหนี้ที่สัญญาค้ำประกันกำหนดไว้เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาค้ำประกันเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10020/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันในหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่แยกจากหนี้เงินกู้หลัก
จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ด้วย โดยจำเลยที่ 1 ต้องเอาประกันภัยทรัพย์จำนอง โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายเบี้ยประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน หนี้ค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์จำนองเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากสัญญาจำนอง จึงไม่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันและหลุดพ้นจากความรับผิดเนื่องจากหนี้ดังกล่าวขาดอายุความ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความรับผิดในหนี้ค่าเบี้ยประกันภัย
of 61