พบผลลัพธ์ทั้งหมด 632 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11788/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องอาญาไม่ชอบเนื่องจากขาดลายมือชื่อผู้เรียงฟ้อง แม้มีลายมือชื่อทนาย
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) เป็นบทบัญญัติที่บังคับให้โจทก์ ผู้เรียง และผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องต้องลงลายมือชื่อไว้ตามที่แบบพิมพ์คำขอท้ายคำฟ้องอาญาได้กำหนดไว้ แต่คำขอท้ายคำฟ้องอาญาในคดีนี้ไม่มีลายมือชื่อผู้เรียง แม้จะมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งเป็นทนายโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ แต่ก็ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์และผู้เขียนหรือพิมพ์เท่านั้น เมื่อฟ้องโจทก์ไม่มีลายมือชื่อผู้เรียง จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11418/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแต่งทนายความของนิติบุคคล ต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย มิฉะนั้นเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ
ในการยื่นใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ที่แต่งตั้งพนักงานอัยการจังหวัดตราดเป็นทนายความของจำเลยที่ 4 ระบุความว่า (กองทัพเรือ) จำเลยที่ 4 โดยพลเรือเอก พ. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนกองทัพเรือ และต่อมาในการยื่นใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ที่แต่งตั้งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นทนายความของจำเลยที่ 4 ระบุความว่า กองทัพเรือ (จำเลยที่ 4) โดยพลเรือเอก ส. (ไม่ปรากฏในฐานะอย่างใด) เหล่านี้ หาได้มีเอกสารใดยื่นประกอบให้สื่อความไว้ เมื่อกองทัพเรือ (จำเลยที่ 4) มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ การแต่งตั้งทนายความของจำเลยที่ 4 ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือจึงต้องเป็นผู้ลงลายมือชื่อแต่งทนายความ ดังนั้น การที่พลเรือเอก พ. หรือพลเรือเอก ส. ซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือลงลายมือชื่อแต่งทนายความจำเลยที่ 4 โดยมิได้แนบหนังสือมอบอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ทั้งมิได้นำสืบพยานเอกสารในเรื่องเหล่านี้ไว้แต่อย่างใดด้วย จึงเป็นการมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 61 อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือว่าเป็นการกระทำของบุคคลภายนอกที่ไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 4 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 4 กรณีดังกล่าวเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกขึ้นวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ดี ความบกพร่องในการแต่งทนายความของจำเลยที่ 4 ไม่กระทบกระเทือนถึงกระบวนพิจารณาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และแก้ไขได้โดยง่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาไปถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7607/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสอบสวนผู้เสพยาเสพติดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ หากไม่ปฏิบัติตาม อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
ตามหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มีหลักการว่า ผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง มิใช่อาชญากรปกติ กฎหมายฉบับนี้จึงกำหนดให้มีกระบวนการคัดแยกผู้เสพยาเสพติดไปดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพแทนการที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนเสนอพนักงานอัยการฟ้องศาลเพื่อลงโทษผู้นั้นเหมือนอย่างผู้กระทำความผิดอื่น ๆ และเมื่อผู้เสพยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูสมรรถภาพ และผลการฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้ว มาตรา 33 บัญญัติว่า "...ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 และให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพมีคำสั่งปล่อยตัวผู้นั้นไป..." แต่ถ้าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพ ยังไม่เป็นที่พอใจ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณีเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป โดยมีมาตรา 19 วางหลักเกณฑ์การคัดแยกผู้ต้องหาที่จะมีสิทธิเข้าสู่ระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพแทนการถูกฟ้องดำเนินคดีว่า "ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์ การเสพหรือการติดยาเสพติด..." ซึ่งจะเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ว่า หากผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ครบถ้วน พนักงานสอบสวนย่อมอยู่ในบังคับที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ตรวจวินิจฉัย ขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ครบถ้วน แต่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยที่ 1 แล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อนย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์คดีที่มีทุนทรัพย์ต่ำกว่า 50,000 บาท และการรับฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3 ตำบลบางเลน (บางยุง) อำเภอบางเลน (บางปลา) จังหวัดนครปฐม (เมืองนครชัยศรี) และเรียกค่าเสียหาย โดยอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินส่วนที่จำเลยครอบครองอยู่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โดยถือทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทคือ 16,100 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์และยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาต่อไป ดังนี้ เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษาคดีไป จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฎีกา กับทั้งไม่ใช่กรณีที่จะรับรองให้ฎีกาได้ การที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกา จึงไม่ชอบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งต้องห้าม รวมทั้งศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริง ล้วนแต่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง ทำให้โจทก์เข้าใจผิดว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นควรให้โอกาสแก่โจทก์ในการดำเนินการขอให้รับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสาม และให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตรวจค้นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและการมีสิทธิโต้แย้งเพื่อป้องกันสิทธิของตน
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาสไม่ใช่หลังซอยโรงถ่านตามที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นประจำแต่อย่างใด และจำเลยไม่มีท่าทางเป็นพิรุธคงเพียงแต่นั่งโทรศัพท์อยู่เท่านั้น การที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 ที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตน ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7005-7006/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิทายาทโดยธรรมลำดับที่ 6 (ลุง ป้า น้า อา) แม้บิดาผู้ตายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการตั้งผู้จัดการมรดก
ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1629 รวมทั้งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก ไม่มีข้อความใดที่บ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ถึง (6) ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก คงมีแต่ข้อความที่บ่งชี้ให้เห็นว่าทายาทโดยธรรมลำดับ (1) เฉพาะชั้นบุตรและ (2) เท่านั้นที่ต้องชอบด้วยกฎหมายกับมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันในทางครอบครัวจึงจะมีสิทธิรับมรดก ทั้งนี้ตามมาตรา 1461 ถึงมาตรา 1484/1 และมาตรา 1627 ดังนั้น ไม่ว่าบิดาของผู้ตายจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ความเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา ของผู้ตายเปลี่ยนแปลงไป เพราะกฎหมายมิได้กำหนดว่าการเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ชอบด้วยกฎหมายต้องให้บิดาของผู้ตายเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายหรืออย่างไรจึงถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ต้องถือความเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย และลุง ป้า น้า อา ตามความเป็นจริง เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายของ พ. ซึ่งเป็นบิดาของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นอาของผู้ตายอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ (6) ของผู้ตายตามมาตรา 1629 (6) เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1620, 1629 และ 1630
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22714/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องในคดีข่มขืนใจ: การแจ้งความร้องทุกข์ของผู้ปกครองที่ไม่ชอบตามกฎหมาย
แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น โดยมีอาวุธ ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก โจทก์มิได้อุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคสอง ความผิดดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 321 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งในความดูแลของ ค. บิดาผู้เสียหาย หรือผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ อันจะทำให้ ค. เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 การที่ ค. ไปแจ้งความร้องทุกข์จึงไม่ชอบ ถือได้ว่าไม่มีคำร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17012/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้พิพากษาไม่มีอำนาจร่วมพิจารณาคดี
การสืบพยานโจทก์และจำเลยแต่ละนัดดังกล่าวมี ต. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนร่วมนั่งพิจารณาคดีทุกนัด โดยไม่ปรากฏว่า ส. ได้ร่วมนั่งพิจารณาคดีด้วย ส. จึงไม่มีอำนาจทำคำพิพากษาร่วมกับ ต. กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 และ 30 คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ ส. ร่วมลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาด้วยจึงไม่ชอบ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13547/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งหมายแจ้งคำพิพากษาอุทธรณ์ผิดที่อยู่ การพิจารณาคดีโดยไม่ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลย พนักงานเดินหมายได้นำสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้จำเลยตรงตามภูมิลำเนาของจำเลยในฟ้องคือ บ้านเลขที่ 161 หมู่ 1 ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ตามบันทึกการส่งหมายระบุว่า "ไม่พบจำเลย ได้สอบถามผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลนางรองแล้ว ได้ความว่า ไม่มีชื่อจำเลยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวจึงนำหมายกลับคืน" ศาลชั้นต้นสั่งว่า กรณีถือได้ว่าส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 201 จึงให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อพิจารณาพิพากษา ต่อมาศาลชั้นต้นได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในหมายนัดระบุที่อยู่ของจำเลยคือ บ้านเลขที่ 141 ถนนประดิษฐปานะ ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยให้ส่งหมายทางไปรษณีย์ตอบรับ ปรากฏว่าในใบตอบรับมีผู้อื่นรับหมายไว้แทน นอกจากนี้เมื่อตรวจสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยตามที่ ส. ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยปรากฏว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 161/1-2 ถนนภักดีบริรักษ์ ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ สอดคล้องกับบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยซึ่งอยู่ท้ายบันทึกการจับกุม ทั้งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาระบุว่า จำเลยมีบ้านพักอยู่ถนนภักดีบริรักษ์ทั้งสิ้น การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยไม่ได้ด้วยเหตุผลว่าไม่มีชื่อจำเลยอยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบหรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาคดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3113/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิติดตามและเอาคืนทรัพย์สินจากผู้รับไปโดยไม่ชอบ กรณีสัญญาฝากทรัพย์
จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ เมื่อพนักงานโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดโดยนำเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็คที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชี โดยเข้าใจผิดว่าจำเลยมีสิทธิรับเงินตามเช็ค และจำเลยได้ถอนเงินจำนวนตามเช็คไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลย จึงเป็นการที่จำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนดังกล่าว ย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ ฯ ในการเรียกร้องเงินคืนจากจำเลย แต่คำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายข้อเท็จจริงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้เงินคืนแก่สหกรณ์ ฯ แล้ว และประสงค์จะเรียกเงินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้เงินจำนวนนั้น ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้วโจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง การยกบทขึ้นปรับใช้แก่คดีเป็นหน้าที่ของศาลเมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า กรณีเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ ฯ ในการเรียกร้องเงินคืนจากจำเลย แต่คำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายข้อเท็จจริงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้เงินคืนแก่สหกรณ์ ฯ แล้ว และประสงค์จะเรียกเงินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้เงินจำนวนนั้น ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้วโจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง การยกบทขึ้นปรับใช้แก่คดีเป็นหน้าที่ของศาลเมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า กรณีเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว