คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เอกสาร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 567 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1894/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: ฉ้อโกงประชาชนและทำให้สูญหายซึ่งเอกสาร ศาลฎีกาแก้โทษลงโทษฐานฉ้อโกงเท่านั้น
เหตุที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฟื้นฟูเกษตรกรไทย จังหวัดมหาสารคาม มีโครงการให้เกษตรกรกู้ยืมเงิน ก็เพื่อให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบโฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ยืมเงิน แม้ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกับความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดจะต่างวาระกัน แต่ก็เป็นเจตนาของจำเลยที่จะหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งเจ็ดนั่นเอง ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของผู้อื่น จึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นกรรมเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8669/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นภาษีเงินได้จากการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย ต้องมีเอกสารครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
มาตรา 42 แห่ง ป.รัษฎากร บัญญัติว่า "เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้... (17) เงินได้ตามที่จะได้กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวง" ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดให้เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) เงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ต้องเป็นจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 300,000 บาท โดยต้องจ่ายไปในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 และต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แล้วเสร็จภายในช่วงเวลาดังกล่าว (2) ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องไม่เคยผ่านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับสิทธิยกเว้น นอกจากจะเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) แล้ว ยังต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดด้วย ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 178) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย โดยข้อ 2 ของประกาศอธิบดีดังกล่าว กำหนดหลักเกณฑ์ว่า การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ขายที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยหนังสือรับรองดังกล่าวต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศนี้ ซึ่งเอกสารแนบท้ายประกาศอธิบดีดังกล่าว คือ หนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ (ที่ใช้ทำการโอนกรรมสิทธิ์ในปี พ.ศ.2552) แสดงว่า การมีหนังสือรับรองเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยในหนังสือรับรองจะต้องมีข้อความอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายประกาศ ซึ่งข้อ 4 ของหนังสือรับรองดังกล่าวกำหนดให้กรอกรายการชื่อโครงการ ประกอบกับหมายเหตุท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) ระบุเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ว่า "เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย...อันจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้" จึงเห็นได้ว่า กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนให้มีการลงทุนมากขึ้นและเพื่อผลักดันให้ประชาชนนำเงินออมที่มีอยู่มาจ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ อันเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเป็นการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ชื่อโครงการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีในหนังสือรับรอง เมื่อหนังสือรับรองที่โจทก์ยื่นต่อเจ้าพนักงานของจำเลยไม่มีชื่อของโครงการและทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส. เป็นผู้ประกอบธุรกิจค้าอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ เงินได้ของโจทก์ที่ใช้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (17) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 271 (พ.ศ.2552) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 178)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724-5725/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาต่างตอบแทนและตัวแทน: การรับผิดจากความประมาทเลินเล่อและการปลอมแปลงเอกสาร
การที่จะเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 จะต้องได้ความว่าผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนประสงค์ทำกิจการร่วมกัน หากผลประกอบการมีกำไรก็แบ่งกำไรกัน หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน แต่ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงแบ่งกำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศคงมีแต่ข้อตกลงให้โจทก์แบ่งรายได้ค่าพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที รายได้ดังกล่าวมิใช่กำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เป็นการร่วมกิจการโดยมุ่งประสงค์จะแบ่งกำไร จึงไม่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการได้ ด้วยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหุ้นส่วน จำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อลูกค้าและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นการร่วมกันทำผิดหน้าที่ของหุ้นส่วนและตัวแทน เป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิดและปฏิบัติผิดสัญญา แม้ความรับผิดในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่ความรับผิดตามสัญญาไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยทั้งสองผิดสัญญาระหว่างปี 2544 ถึงปี 2547 นับถึงวันฟ้องทั้งสองสำนวนวันที่ 24 มิถุนายน 2553 และ 19 พฤศจิกายน 2553 ตามลำดับ ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และได้ทำข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์แบบอัตโนมัติ โดยแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที ต่อมาจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 แบ่งรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 2 เป็นรายนาทีเช่นกัน ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องเปิดให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการให้จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานของผู้ใช้บริการ หากจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการจนโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการได้ ย่อมเป็นการละเมิดและผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ลูกค้าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยอัตโนมัติ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยปฏิเสธไม่ให้ลูกค้าของจำเลยที่ 2 ใช้บริการ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการขอใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ลักษณะการให้บริการของจำเลยทั้งสองยังถือได้ว่าร่วมกันให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยผ่านชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ด้วย แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วน กับขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาตัวแทน แต่เนื้อหาของข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนและตัวแทนโดยปริยาย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองไว้ครบถ้วนแล้ว เพียงแต่โจทก์ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนและตัวแทน ศาลก็มีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายให้ตรงกับคำบรรยายฟ้อง เนื้อหาของข้อตกลง และสัญญาดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นผลโดยตรงทำให้โจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนในการทำสัญญากับผู้ใช้บริการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 812 จำเลยที่ 1 คู่สัญญาต่างตอบแทนกับโจทก์ และร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3324/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานยักยอกทรัพย์, เอาไปเสียซึ่งเอกสาร, และความรับผิดของตัวการร่วม
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองทรัพย์ได้ หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ แม้จำเลยที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกมิใช่พนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ร่วมโดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 เมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น เงินตามเช็คของโจทก์ร่วมจึงเข้าไปอยู่ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมแล้ว และเมื่อจำเลยที่ 4 ไปถอนเงินตามเช็คจากบัญชีของตน จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วม กับจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1472/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องความผิดฐานเอาเอกสารไปเสีย: เอกสารของใคร มีผลต่อการเป็นผู้เสียหาย
ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานสำคัญ ปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณาจึงอยู่ที่เช็คทั้ง 25 ฉบับ เป็นเอกสารของใครโดยไม่จำต้องพิจารณาว่ามูลหนี้ตามเช็คบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองขายลดเช็คทั้ง 25 ฉบับ ให้แก่โจทก์ เช็คนั้นก็เป็นเอกสารของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาไปเสีย ทำให้โจทก์ขาดพยานหลักฐานที่จะต้องฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยซึ่งมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 188

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2836/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดถือโฉนดที่ดินเป็นประกันหนี้และการกระทำความผิดฐานเอาเอกสารผู้อื่นไปในลักษณะน่าจะเกิดความเสียหาย
ผู้เสียหายมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทของบิดาจำเลยที่จำเลยตกลงมอบให้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน การที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายและนำโฉนดที่ดินพิพาทคืนไปโดยไม่ชำระหนี้แก่ผู้เสียหายตามข้อตกลง ทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย เนื่องจากไม่มีหลักประกันให้ยึดถือไว้ตามสัญญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989-1990/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อีเมลและการปลอมแปลงเอกสารราชการ: การส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นเอกสารได้ตามกฎหมาย
การส่งข้อมูลในรูปแบบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตถือเป็นการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์อื่น ซึ่งเป็นวัตถุอื่นใดทำให้ปรากฏและสามารถอ่านและเข้าใจความหมายได้ อันเป็นหลักฐานแห่งความหมาย จึงเป็นเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 1 (7)
of 57