คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ค้ำประกัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 610 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 125/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีค้ำประกัน, มูลหนี้ต่างกัน, สัญญาจำนองครอบคลุมหนี้ทุกประเภท
หนี้เงินลีร์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทครบกำหนดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 และบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี เมื่อโจทก์เพิ่งนำคดีเกี่ยวกับหนี้ส่วนนี้มาฟ้องในวันที่ 24 ตุลาคม 2549 ทั้งที่สิทธิเรียกร้องต่อผู้ค้ำประกันในหนี้เงินลีร์เกิดตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 เกินกำหนดเวลา 10 ปี สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ มาตรา 193/30
มูลหนี้ตามฟ้องคดีนี้เป็นมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งต่างจากมูลหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีประเด็นแห่งคดีในมูลหนี้ทั้งสองย่อมต่างกัน คดีนี้จึงไม่อาจเป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
ไม่ว่าดอกเบี้ยจะค้างอยู่นานเท่าใด ในกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้เรื่องอายุความคิดดอกเบี้ยไว้ โจทก์ก็มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องย้อนหลังไปได้เพียง 5 ปี เท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนำสิทธิ/ค้ำประกัน: สัญญาจำนำสิทธิที่มีข้อความระบุความรับผิดทั้งฐานจำนำและฐานค้ำประกัน ทำให้ลูกหนี้ร่วมต้องรับผิดชอบหนี้
แม้สัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินจะระบุชื่อว่าเป็นเรื่องจำนำและเรียกคู่สัญญาว่าผู้รับจำนำและผู้จำนำ แต่สาระสำคัญของสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินมีสาระสำคัญระบุความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระหนี้แก่โจทก์ไว้ 2 กรณี กรณีแรกระบุว่าจำเลยที่ 2 นำสมุดคู่ฝากเงินมาจำนำไว้โดยยอมให้ธนาคาร ม. หักหนี้ของจำเลยที่ 1 จากสมุดคู่ฝากเงินของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้ กรณีที่สองระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้ธนาคาร ม. อยู่อีกเท่าใด จำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมรับผิดชำระแก่ธนาคาร ม. จนครบถ้วน และตกลงยินยอมเข้ารับเป็นผู้ค้ำประกันและตกลงรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ได้เป็นหนี้ธนาคาร ม. และยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วย สัญญาดังกล่าวจึงมีความชัดเจนโดยธนาคาร ม. มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดทั้งสองกรณี และจำเลยที่ 2 มีความผูกพันตามสัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินเพื่อประกันการชำระหนี้ให้แก่ธนาคาร ม. ทั้งสองกรณีเช่นกัน กล่าวคือ สัญญาจำนำสิทธิตามสมุดคู่ฝากเงินมีข้อความชัดเจนอยู่แล้วว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้จำนำสมุดคู่ฝากเงินของตนและเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หามีข้อสงสัยที่จะตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15904/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน: ความรับผิดจำกัดเฉพาะการทำงานในตำแหน่งเดิมที่ระบุในสัญญาค้ำประกัน
จำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์มีข้อความระบุว่าตามที่โจทก์รับจำเลยที่ 1 ไว้เป็นพนักงานในตำแหน่ง PASSENGER SERVICE หากจำเลยที่ 1 กระทำการใดเป็นการเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่าด้วยประการใดๆ จำเลยที่ 2 จะขอรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามความเป็นจริง เป็นกรณี จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายสำหรับการทำงานในตำแหน่ง PASSENGER SERVICE จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมชำระหนี้กรณีจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ในขณะจำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่ง PASSENGER SERVICE เท่านั้น
ตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์มีอำนาจอนุมัติบัตรโดยสารเครื่องบินราคาพิเศษหรือบัตรโดยสารไม่คิดราคา โจทก์ย้ายตำแหน่งจำเลยที่ 1 ไปทำหน้าที่เลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ มีหน้าที่ส่งคำสั่งอนุมัติไปให้เจ้าหน้าที่พิมพ์คำสั่งออกบัตรโดยสารราคาพิเศษ หรือรับบัตรโดยสารมาก่อนแล้วให้ผู้โดยสารมารับบัตรและชำระราคาที่จำเลยที่ 1 (จำเลยที่ 1 รับชำระราคาไว้เป็นการฝ่าฝืนระเบียบของโจทก์) เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 สามารถกระทำการทั้งในหน้าที่ตามระเบียบและฝ่าฝืนระเบียบ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันมากขึ้นเกินกว่าที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาค้ำประกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานในขณะทำหน้าที่เลขานุการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสฝ่ายการพาณิชย์ ไม่ใช่ในขณะทำงานตำแหน่ง PASSENGER SERVICE จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14144/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลดหนี้ภาระค้ำประกันเมื่อผู้รับจำนองยินยอมให้ผู้ซื้อรับภาระจำนอง และการระงับหนี้ของผู้ค้ำประกันร่วม
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมเงินและหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเดียวกันไว้ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม พร้อมกับจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยที่ 5 ขายที่ดินที่จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์มีหนังสือที่แสดงเจตนาว่ายอมปลดหนี้ภาระการค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 5 จนหมดสิ้นแล้ว เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 293 และมาตรา 296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อจำเลยที่ 5 ย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 5 ระงับไปตามมาตรา 340 และย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามมาตรา 293 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และแม้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 เนื่องจากต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและหนี้ตามภาระการค้ำประกันดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ในระหว่างจำเลยที่ 4 และที่ 5 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 4 ได้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12168/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ค้ำประกันร่วมกันและสิทธิในการไล่เบี้ยตามส่วน
ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพราะโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วจำนวน 17,000,000 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน จำนวน 8,500,000 บาท ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และมาตรา 296เนื่องจากบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตราทั้งสองดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองแยกต่างหากจากค้ำประกัน เจ้าหนี้ไม่อาจยึดทรัพย์สินจำนองเพื่อหนี้ค้ำประกัน
สัญญาค้ำประกันเป็นบุคคลสิทธิซึ่งจำเลยเจ้าหนี้มีสิทธิบังคับเอาแก่โจทก์ผู้ค้ำประกันเมื่อ ป. ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ และเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของโจทก์ผู้ค้ำประกันก่อนเจ้าหนี้อื่น แตกต่างไปจากสิทธิตามสัญญาจำนองที่ทำขึ้นเพื่อประกันหนี้เงินกู้ของโจทก์ที่ได้ทำขึ้นในภายหลังและไม่ได้มีข้อความระบุว่าต้องให้โจทก์รับผิดรวมไปถึงความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันด้วย ประกอบกับโจทก์กู้เงินจำเลยเพื่อนำไปซื้อห้องชุดพิพาทแล้วนำมาจำนองไว้แก่จำเลย แสดงว่าโจทก์มีเจตนาจดทะเบียนจำนองห้องชุดพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ของโจทก์ที่มีแก่จำเลยเท่านั้น ดังนั้น สัญญาค้ำประกันจึงแยกต่างหากจากสัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง นอกจากนี้ขณะที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่จำเลยครบถ้วน จำเลยยังไม่ได้ฟ้องโจทก์ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ความรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาค้ำประกันจึงยังไม่เกิดขึ้น เมื่อหนี้เงินกู้ของโจทก์อันเป็นหนี้ประธานได้ระงับไปและโจทก์ผู้จำนองแสดงความจำนงไถ่ถอนจำนองแล้ว จำเลยจะไม่ยอมให้ไถ่ถอนโดยอ้างว่าโจทก์ยังมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันอยู่อีกหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3833/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้ใหม่และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
การแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 350 ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ป. กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำไปลงทุนด้วยแล้ว กรณีจะทำโดยขืนใจ ป. ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระงับไปแล้ว จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันมิได้ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญากู้เงิน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญากู้เงิน จึงเป็นการพิพากษาเกินไปหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองและค้ำประกันหนี้: สัญญาบังคับใช้ได้แม้จำนองก่อนรับเงินกู้ การปฏิเสธลายมือชื่อไม่ถือเป็นข้อโต้แย้ง
โจทก์มีหนังสือสัญญากู้ 2 ฉบับ ที่จำเลยทั้งสามเถียงว่า โจทก์ลวงให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อผูกผันเป็นผู้กู้ไว้ก่อน อีกทั้ง อ. พยานโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการด้านสินเชื่อสาขาหาดใหญ่ของโจทก์มาเบิกความรับรองด้วยว่า หลังจากโจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 กู้จำเลยที่ 1 ก็ได้รับเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้วโดยจำเลยที่ 1 ลงชื่อรับเงินไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิเสธว่า ลายมือชื่อผู้กู้มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 จึงถือว่าโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตามกฎหมายแล้ว
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องสัญญาค้ำประกันไว้แต่อย่างใดจึงนอกคำให้การของจำเลยที่ 2 และนอกประเด็น
แม้การจดทะเบียนจำนองและจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองเป็นประกันหนี้จะทำขึ้นก่อนเวลาที่โจทก์จะส่งมอบเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนแก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 707 ว่าด้วยจำนอง บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้นท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร" กล่าวโดยเฉพาะ ตามนัยมาตรา 681 ที่ว่าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในอนาคตย่อมทำสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้น เมื่อต่อมาโจทก์มอบเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนแก่จำเลยที่ 1 หลังจากทำสัญญาจำนองกันดังกล่าวหนี้เงินกู้ในส่วนนั้นก็สมบูรณ์ การจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองประกันหนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้, สัญญาค้ำประกัน, การพิสูจน์ลายมือชื่อ, และการบังคับจำนอง
ป.พ.พ. มาตรา 707 บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร" กล่าวโดยเฉพาะตามนัยมาตรา 681 ที่ว่าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในอนาคตย่อมทำสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์มอบเงินกู้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลังจากทำสัญญาจำนองหนี้เงินกู้ในส่วนนั้นย่อมสมบูรณ์ การจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกันและความรับผิดร่วม: ศาลฎีกาชี้ว่าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ในสัญญาซื้อขาย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าปรับเพราะผิดสัญญาซื้อขายรวม 4 ฉบับ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายรายฉบับรวม 4 ฉบับ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับและหลักประกันสัญญาตามรายสัญญา แม้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายรวมกันมาทั้งสี่ฉบับการกำหนดค่าปรับก็ต้องพิจารณาภายในวงเงินตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ จำนวนทุนทรัพย์แห่งคดีจึงต้องคำนวณแยกตามสัญญาซื้อขายและหนังสือค้ำประกันนั้นเป็นรายสัญญา เมื่อมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในแต่ละสัญญาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องเรียกค่าปรับรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,325.37 บาท และหลักประกันสัญญารวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,212.57 บาท รวมเป็นเงิน 10,537.94 บาท ศาลชั้นต้นกำหนดค่าปรับให้ 3,000 บาท คงเหลือจำนวนค่าปรับที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เพียง 7,537.94 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวกับปัญหาในการกำหนดค่าปรับเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ แม้โจทก์จะเห็นพ้องกับการกำหนดค่าปรับของศาลอุทธรณ์และไม่ฎีกาค่าปรับในส่วนนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขได้ตามมาตรา 142 (5)
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 กำหนดอัตราค่าปรับให้หน่วยราชการใช้และถือปฏิบัติเป็นหลักทั่วไปเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม หากให้แต่ละหน่วยราชการต่างกำหนดค่าปรับเองกรณีผิดสัญญาก็จะทำให้เกิดความลักลั่นไม่เป็นธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าอัตราค่าปรับที่กำหนดในระเบียบดังกล่าวจะเหมาะสมแก่ทุกกรณี เมื่อค่าปรับดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นความรับผิดที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าปรับตามสัญญาซื้อขายแก่โจทก์ ประกอบกับหนังสือค้ำประกันระบุว่า ยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้น และให้โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ได้ทันทีโดยไม่ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนซึ่งมีลักษณะต้องร่วมรับผิดอยู่แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม
of 61