คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 632 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4005/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยอดหนี้ไม่ถูกต้อง ศาลให้คิดคำนวณใหม่ได้ แต่ไม่ตัดสิทธิฟ้องใหม่
ป.พ.พ. มาตรา 764 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะนำเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด แต่ปรากฎข้อเท็จจริงทางนำสืบของโจทก์ว่าการขายทอดตลาดครั้งที่สองไม่ได้ประกาศทางหนังสือพิมพ์ทั้งที่ครั้งแรกได้มีการประกาศทางหนังสือพิมพ์ และผู้ทำการขายทอดตลาดก็เป็นพนักงานของโจทก์ โจทก์เป็นผู้เสนอซื้อเพียงรายเดียวในราคาหุ้นละ 100 บาท เท่ากับราคาที่ระบุไว้ในใบหุ้นเท่านั้น พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์แสดงให้เห็นว่า การขายทอดตลาดไม่ได้เป็นไปโดยเปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไปและไม่ได้ขายในราคาที่พอสมควร การบังคับจำนำของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและย่อมทำให้ยอดหนี้ที่โจทก์คำนวณมาในฟ้องไม่ถูกต้อง แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์และหนี้ยังไม่ระงับ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญา ก็สมควรที่จะให้มีการคิดคำนวณใหม่โดยพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิพากษาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า: การบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสิทธิเรียกร้องค่าเช่าค้างชำระ
จำเลยเช่าพื้นที่ชั้นล่างของอาคารจากโจทก์มีกำหนด 3 ปี โดยสัญญาเช่ามิได้มีข้อความระบุว่า จำเลยจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อไรก็ได้ การที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ถึง 389
จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงตกเป็นผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระก่อนสัญญาเช่าครบกำหนดโดยมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งการที่โจทก์ฟัองจำเลยก็ไม่เป็นการบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าที่ค้างชำระ แม้จำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าไปก่อนครบกำหนดเวลาการเช่าก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6181/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายหากไม่วางเงินค่าธรรมเนียมตามคำพิพากษา แม้จะวางเงินภายหลังก็ไม่ช่วย
ป.วิ.พ. มาตรา 229 บัญญัติว่า การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาและคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นด้วย บทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแก่การอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งในทุกกรณี จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เสียเฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่กฎหมายบังคับให้ต้องเสียในขณะยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ แต่เงินดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ครบถ้วนจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะยื่นฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาล ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ไปแล้วกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5275/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำให้การปฏิเสธหนี้โดยอ้างเอกสารปลอม ต้องระบุรายละเอียดการปลอมชัดเจน หากไม่ชัดเจนถือเป็นคำให้การที่ไม่ชอบ
แม้คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจะอ้างเรื่องเอกสารปลอมขึ้นเป็นเหตุแห่งการปฏิเสธ แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้ระบุชี้ชัดว่าเป็นการปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือในส่วนหนึ่งส่วนใด หรือเป็นการปลอมโดยการกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษซึ่งมีลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้จำเลยทั้งสองอ้างว่าเอกสารเกิดขึ้นเพราะกลฉ้อฉลของโจทก์กับพวก โดยจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นยินยอมให้กระทำได้ นิติกรรมจึงตกเป็นโมฆะ ก็เป็นการให้การทำนองยอมรับว่าจำเลยทั้งสองเข้าทำนิติกรรมกับโจทก์จริง แต่ทำไปเพราะถูกโจทก์ทำกลฉ้อฉลซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกล่าวอ้างว่าเอกสารเป็นเอกสารปลอม คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง และไม่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 172 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นที่จำเลยทั้งสองจะนำพยานเข้าสืบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4465/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอดถอนกรรมการบริษัทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประเด็นการนำข้อเท็จจริงใหม่เข้าสู่การพิจารณาในชั้นอุทธรณ์
ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยทั้งสี่ มีประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่าการลงมติถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 แล้วแต่งตั้ง ค. เป็นกรรมการในการประชุมสามัญครั้งที่ 1/2543 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2543 ของบริษัทจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด เมื่อทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสี่มิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเรื่องการประชุมสามัญครั้งที่ 2/2543 ไว้ในคำฟ้องและคำให้การ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง นอกประเด็น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้จำเลยทั้งสี่จะอ้างว่าได้ขออนุญาตศาลชั้นต้นเพื่อขอนำสืบข้อเท็จจริงในประเด็นนี้แล้วก็ตาม อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3791/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดบังคับคดีโดยชอบด้วยกฎหมาย หากเจ้าพนักงานบังคับคดีเพิกเฉยและดำเนินการบังคับคดีต่อ ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจเพิกถอนการขายทอดตลาดได้
การยื่นคำแถลงขอให้งดการบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้กระทำ ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งของดการบังคับคดีไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อนการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้ว แต่มีคำสั่งให้ยกคำแถลง แต่ไม่แจ้งเรื่องคำสั่งยกคำแถลงให้โจทก์ทราบ ทำให้โจทก์ไม่ได้ไปดูแลการขายทอดตลาดตามกำหนดเดิม เจ้าพนักงานบังคับคดียังได้ขายทอดตลาดทรัพย์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ไป เช่นนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์ของดการบังคับคดีไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (3) (เดิม) ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องปฏิบัติตาม การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไปถือว่าได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณาคดี
จำเลยที่ 2 มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายสินค้าให้แก่กรมสรรพาวุธทหารบกซึ่งมีโจทก์เป็นนายหน้า จึงถือไม่ได้ว่าสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลยที่ 1 ณ สถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการงานที่จำเลยที่ 2 ใช้ประกอบกิจการจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 3 (2) (ข), 83 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3097/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ครบถ้วนและยกหนี้ส่วนที่เหลือ การฟ้องเรียกหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์จำเลยตกลงกันให้จำเลยทั้งสองผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์โดยแบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดแรกชำระภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 งวดที่สองชำระส่วนที่เหลือภายใน 30 วัน นับแต่ชำระงวดแรก จำเลยชำระเงินงวดแรกให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยต้องชำระส่วนที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 จะครบกำหนดชำระหนี้ในงวดที่สองวันที่ 10 มีนาคม 2542 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงทวงถามให้จำเลยในฐานะลูกหนี้ให้ชำระหนี้ก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่กำหนดชำระหนี้ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องจำเลยในวันสุดท้ายที่จำเลยยังมีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้โจทก์อยู่ ยังไม่ถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กลับยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนตามข้อตกลงแล้วโดยไม่ได้ยกเงื่อนเวลาชำระหนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ จึงเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาโดยปริยายตาม ป.พ.พ. มาตรา 192 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล่อซื้อยาเสพติด: เจตนาและพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สิบตำรวจตรี ส. ขอซื้อยาลดความอ้วนซึ่งมีส่วนผสมของเฟนเตอมีนจากจำเลย จำเลยบอกว่าไม่มีและที่ร้านของจำเลยไม่ได้ขายลดความอ้วนดังกล่าวสิบตำรวจตรี ส. จึงบอกว่าคนรักต้องการใช้ยาลดความอ้วน จำเลยจึงบอกว่าจำเลยมียาลดความอ้วนอยู่ 1 ชุด ที่จำเลยซื้อมาไว้รับประทานเอง สิบตำรวจตรี ส.ขอซื้อยาลดความอ้วนชุดนั้นจำเลยจึงขายให้และเมื่อมีการตรวจค้นร้านขายยาของจำเลยก็ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมายอื่นแต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่มีเฟนเตอมีนของกลางไว้เพื่อขายดังที่โจทก์ฟ้อง และรับฟังไม่ได้ว่าที่ร้านขายยาของจำเลยเคยมีการขายเฟนเตอมีนมาก่อน ดังนั้น การที่จำเลยขายเฟตเตอมีนของกลางให้แก่สิบตำรวจตรี ส. จึงเกิดจากการถูกล่อให้กระทำความผิด โดยจำเลยไม่มีเจตนาจะกระทำความผิดในการขายเฟตเตอมีนมาก่อน พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นพยานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบโจทก์ไม่สามารถอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2263/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขู่เข็ญเรียกเก็บเงินค่าจอดรถที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้าข่ายพยายามกรรโชก
ผู้เสียหายนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหาย การที่จำเลยพูดกับผู้เสียหายว่าถ้าไม่จ่ายค่าจอดรถจะตบและจำเลยนำเก้าอี้ขวางกั้นมิให้ผู้เสียหายขับรถยนต์ออกไป ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินแก่จำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80
of 64