พบผลลัพธ์ทั้งหมด 54 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3542/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ: การเปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อนและผลกระทบต่อความชอบธรรมของคำชี้ขาด
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส. ประธานอนุญาโตตุลาการเคยเป็นทนายความของ ฟ. ซึ่งประกอบธุรกิจประกันภัย และรับประกันภัยความเสียหายทรัพย์สินในเหตุการณ์เดียวกันกับคดีนี้ โดย ส.เป็นทนายความจำเลยในคดีดังกล่าว ให้การต่อสู้คดีในทำนองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลและเป็นการก่อการร้าย เข้าข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ ซึ่งมีผลให้บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อมา ส. ได้มาเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ย่อมมีแนวความคิดเห็นทำนองเดียวกับคดีที่ตนเคยเป็นทนายความในคดีดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการหรือความสงสัยต่อความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ ซึ่งอนุญาโตตุลาการมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงตั้งแต่เข้าเป็นอนุญาโตตุลาการ ตลอดจนตลอดเวลาที่ยังคงดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการด้วย การที่ ส. ไม่เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ร้องทั้งสิบสี่ไม่อาจทราบเพื่อที่จะได้มีโอกาสคัดค้านเสียตั้งแต่แรก นอกจากนี้การที่ ส. เป็นทนายความจำเลยในคดีดังกล่าว แม้จำเลยในคดีดังกล่าวกับผู้คัดค้านในคดีนี้เป็นคนละบริษัทกัน แต่เหตุการณ์ที่ต้องพิจารณาในคดีดังกล่าวกับคดีนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกัน ถือว่ามีผลประโยชน์ในทางคดีเกี่ยวข้องกัน ผู้คัดค้านย่อมคาดหวังว่า ส. น่าจะมีความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกับคดีดังกล่าวอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คัดค้าน การที่ ส. ไม่เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระ หรือเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตนตามมาตรา 19 จึงทำให้องค์ประกอบและกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 40 (1) (จ) ย่อมส่งผลให้การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 40 (2) (ข) ศาลชอบที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2561)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2561)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังรัฐประหาร และผลกระทบต่อความรับผิดทางอาญา
สภาพความเป็นรัฐของรัฐใดรัฐหนึ่งนั้นจะต้องประกอบไปด้วยดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน และมีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนนั้นโดยมีรัฐบาลปกครอง และมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ประการสำคัญการตีความกฎหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ และต้องเป็นการตีความในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเจตนารมณ์แห่งความธำรงอยู่ของความเป็นรัฐหรือชาติบ้านเมืองด้วย มิฉะนั้นสถานะความเป็นรัฐหรือความเป็นชาติบ้านเมืองจะถูกกระทบให้เสียหายไปเพราะไม่มีอธิปไตยอยู่ครบถ้วน เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลรักษาการได้อย่างเบ็ดเสร็จ และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยพุทธศักราช 2550 คณะรัฐมนตรี และวุฒิสภาสิ้นสุดลง ประเทศไทยในขณะนั้นจึงไม่มีหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์แทน ซึ่งแม้การได้มาซึ่งอำนาจนั้นจะเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และจะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ก็เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวกันในด้านอื่น แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังมีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่าเป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติโดยควบคุมกลไกและหน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีสภาพเป็นกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3771/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างเนื่องจากกระทำผิดซ้ำหลังตักเตือน การพิสูจน์ความผิดซ้ำและความชอบธรรมในการเลิกจ้าง
หนังสือเตือนตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จะต้องประกอบด้วยข้อความซึ่งแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างให้เพียงพอที่ลูกจ้างจะเข้าใจการกระทำของตนและต้องมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามมิให้ลูกจ้างกระทำเช่นนั้นซ้ำอีก หากทำผิดซ้ำอีกจะถูกลงโทษ หนังสือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2559 มีข้อความเฉพาะในส่วนที่แสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่ง โดยไม่มีข้อความที่ระบุในทำนองว่า โจทก์ยังให้โอกาสจำเลยที่ 2 มีโอกาสปรับปรุงตัวอีกครั้ง และไม่ได้ระบุว่าโจทก์ได้ลงโทษทางวินัยสำหรับการกระทำความผิดครั้งนี้ของจำเลยที่ 2 อย่างไร ส่วนข้อความว่า "...ทั้งนี้พนักงานเคยมีประวัติการทำผิดกฎระเบียบของบริษัทฯ ดังกล่าว และบริษัทฯ ได้ดำเนินการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่ลูกจ้างยังคงกระทำผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องเดิม ซึ่งถือว่าบริษัทฯ ให้โอกาสพนักงานในการแก้ไขปรับปรุงตัวแล้ว แต่พนักงานยังคงกระทำผิดซ้ำคำเตือนเรื่องเดิมในเรื่องการขาดความรับผิดชอบในการบริหาร ซึ่งบริษัทฯ ได้แจ้งเตือนแล้วว่า หากพนักงานกระทำผิดซ้ำคำเตือนอีก บริษัทฯ จะพิจารณาตามกฎหมายแรงงาน คือการเลิกจ้างทันทีโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยหรือค่าบอกกล่าวใด ๆ ทั้งสิ้น..." หาได้เป็นข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามมิให้ลูกจ้างกระทำเช่นนั้นซ้ำอีก หากทำผิดซ้ำอีกจะถูกลงโทษด้วยไม่ ทั้งไม่มีข้อความในส่วนใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์ได้ลงโทษจำเลยที่ 2 ทางวินัยด้วย จึงไม่เป็นหนังสือเตือนตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และไม่ใช่การลงโทษทางวินัยด้วยเช่นเดียวกัน หนังสือตักเตือนดังกล่าวจึงเป็นเพียงหนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซ้ำกับที่โจทก์เคยมีหนังสือเตือนจำเลยที่ 2 และโจทก์มีสิทธิลงโทษสถานหนักด้วยการเลิกจ้างจำเลยที่ 2 โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตามที่เคยเตือนไว้เท่านั้น การที่โจทก์มีหนังสือเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ในวันที่ 16 มีนาคม 2559 จึงไม่ใช่การลงโทษทางวินัยจำเลยที่ 2 ซ้ำซ้อนกับการออกหนังสือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2559
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3449/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเปลี่ยนแปลงองค์คณะผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณาคดี ไม่กระทบความชอบธรรมหากไม่มีการโต้แย้ง
การกำหนดให้มีวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม โดยองค์คณะที่ได้รับเลือกให้เป็นองค์คณะประชุมคดีจะได้รับเลือกจากผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์และมีความเข้าใจในการบริหารจัดการคดีเพื่อให้การกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีเป็นไปอย่างถูกต้อง กระชับรัดกุม ไม่ฟุ่มเฟือย และมีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้การพิจารณาคดีเสร็จสิ้นโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แม้คดีนี้องค์คณะในวันนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีจะเป็นคนละองค์คณะกันกับในวันนัดสืบพยานและวันนัดฟังคำพิพากษา แต่การที่ ณ. กับ อ. นั่งพิจารณาคดีในวันนัดสืบพยานและวันนัดฟังคำพิพากษานั้น เนื่องมาจากการจ่ายสำนวนคดีของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นตามมาตรา 32 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งการจ่ายสำนวนคดีดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้องค์คณะประชุมคดีและองค์คณะพิจารณาต้องเป็นองค์คณะเดียวกันเพราะเป็นการพิจารณาคดีคนละขั้นตอนกัน มีวัตถุประสงค์และวิธีการคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษาแตกต่างกัน นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังไม่ใช่การเรียกคืนสำนวนคดีจาก น. และ ป. ซึ่งเป็นองค์คณะประชุมคดี และโอนสำนวนคดีให้ ณ. กับ อ. ตามบทบัญญัติมาตรา 33 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เนื่องจากการเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงกรณีที่มีการมอบหมายให้องค์คณะผู้พิพากษารับผิดชอบพิจารณาพยานหลักฐานและพิพากษาแต่มีเหตุที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลเท่านั้น กรณีจึงไม่ใช่การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีโดยไม่ชอบดังที่จำเลยฎีกา ประกอบกับระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านว่าผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีและสืบพยานไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งหากศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็คงไม่โต้แย้งในปัญหาข้อนี้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับการดำเนินกระบวนพิจารณาของ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าเป็นไปโดยชอบตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ณ. และ อ. จึงเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนี้โดยชอบแล้ว