คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
น้ำมันเชื้อเพลิง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 56 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 61/2483

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมีน้ำมันเชื้อเพลิงเกินปริมาณที่ได้รับอนุญาต ไม่ถือเป็นความผิดตามมาตรา 48 และไม่ต้องริบน้ำมัน
มีน้ำมันเชื้อเพลิงไว้จำหน่ายเกินจำนวนในใบอนุญาตนั้นผิดตามมาตรา 52 ส่วนมาตรา 48 นั้นต้องเป็นการมีน้ำมันเชื้อเพลิงไว้จำหน่ายโดยไม่มีใบอนุญาตจำนวนน้ำมันที่เกินใบอนุญาตจำนวนน้ำมันที่เกินใบอนุญาต พรบ ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงมิได้มีบทบัญญัติไว้ว่าให้ริบ และน้ำมันที่เกินนี้เรียกไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย จึงไม่ต้องริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2477

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเก็บรักษาและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาต: ฟ้องไม่ชัดเจนทำให้ลงโทษไม่ได้
ฟ้องว่าจำเลยมีน้ำมันเชื้อเพลิงธรรมดา 37 ลิตร์ไว้จำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาตแต่ไม่ได้กล่าวว่าจำเลยจำหน่ายนอกสถานที่ ๆได้รับอนุญาตหรือทำผิดต่อกฎกระทรวงประการใดแล้วถึงแม้จำเลยรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ต้องยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 747-748/2477

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเก็บและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดธรรมดาเกิน 500 ลิตร ต้องมีใบอนุญาตและดำเนินการในสถานที่ที่ได้รับอนุญาต
เก็บแลจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดธรรมดาไม่เกิน 500 ลิตร์ไม่ต้องรับใบอนุญาต แต่ต้องเก็บแลจำหน่ายในสถานที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานและต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง เก็บแลจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดธรรมดาไม่เกิน 500 ลิตร์นอกสถานที่ได้รับอนุญาตมีผิดตาม ม.53(ข) ไม่ใช่ ม.48 อ้างฎีกาที่ 747/2477

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5446/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงปลอมปน จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าและ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
น้ำมันหล่อลื่นของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีไว้เพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 จึงต้องริบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115
เครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ชอบที่จะริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
ขวดพลาสติกเปล่าสำหรับบรรจุน้ำมันหล่อลื่น กล่องกระดาษเปล่า ฝาครอบขวดน้ำมัน กระดาษฟอยล์ปิดปากขวด ม้วนเศษกระดาษฟอยล์สำหรับปิดปากขวดบรรจุน้ำมันซึ่งบรรจุอยู่ในถุง กล่องกระดาษที่ใช้สำหรับบรรจุแกลลอนน้ำมัน สติกเกอร์ติดขวด และแกลลอนเปล่าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรดังกล่าวนั้น แม้ไม่อาจถือว่าเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค่าน้ำมันหล่อลื่น โดยยังอยู่ในขั้นตระเตรียมการทำความผิด แต่ของกลางดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ชอบที่ศาลจะสั่งให้ริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
เมื่อน้ำมันหล่อลื่นของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบมาตรา 50 และเครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและทรัพย์สินที่ต้องส่งมอบแก่กรมธุรกิจพลังงานเพื่อทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควรต่อไปตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 61

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5998/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง: จำเลยมีความผิดฐานปลอมปน แต่ไม่ถือเป็นผู้ขนส่งน้ำมันตามกฎหมาย
พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 4 บัญญัติความหมายของผู้ขนส่งน้ำมันไว้ว่า คือผู้ที่รับจ้างทำการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมิใช่เป็นของตนเองโดยใช้ยานพาหนะสำหรับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ ทั้งมาตรา 12, 14 และ 15 ยังบัญญัติให้ผู้ขนส่งน้ำมันมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อส่วนราชการอีกหลายประการ แสดงให้เห็นว่าผู้ขนส่งน้ำมันตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงผู้ที่ประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นเพียงพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันของบริษัท ต. ผู้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่ใช่ผู้ขนส่งน้ำมันตามความหมายของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ต้องรับโทษหนักขึ้นในฐานเป็นผู้ขนส่งน้ำมันกระทำการปลอมปนตาม มาตรา 49 วรรคสอง คงมีความผิดตาม มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4303/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับใช้กฎหมายน้ำมันเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลง และการปลอมปนน้ำมันเชื้อเพลิง การแจ้งประกอบกิจการแทนใบอนุญาต
พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 25 ตรี วรรคสอง วางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับตั้งแต่ 4,000 บาท ถึง 200,000 บาท แต่ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง วางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องถือว่า พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายฐานนี้ให้ถูกต้องได้
ความผิดฐานเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายไว้เพื่อจำหน่ายขาย และทำการจำหน่ายขายในสถานที่ที่มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 48 นั้นปรากฏว่าขณะคดีนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 มาตรา 7 (1) บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับการเก็บรักษา และการควบคุมอื่นเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง ต่อมาได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อที่ 2 (3) กำหนดให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 37.8 องศาเซลเซียส เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมาก ดังนั้น น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วออกเทน 95 ซึ่งมีจุดวาบไฟต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส อันเป็นเชื้อเพลิงชนิดน่ากลัวอันตรายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 มาตรา 4 (3) ถือว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไวไฟมากตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 เมื่อสถานีบริการน้ำมันของจำเลยเป็นสถานีบริการน้ำมันที่เก็บรักษาน้ำมันชนิดไวไฟมากไว้ในถังน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีบริการน้ำมันของจำเลยจึงเป็นสถานีบริการน้ำมันประเภท ง ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อ 15 ซึ่งแก้ไขโดยกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ข้อ 2 อันเป็นกิจการควบคุมประเภทที่ 2 ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้ง การอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2546 ข้อ 19 (3) ซึ่งกฎกระทรวงข้อที่ 21 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการต้องแจ้งการประกอบกิจการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบ ธฑ.น. ท้ายกฎกระทรวง โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ การที่จำเลยประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 การกระทำของจำเลยแม้เป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225
of 6