คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ฟอกเงิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 75 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7799-7800/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงิน: การพิสูจน์เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง และผลของการโอนกรรมสิทธิ์โดยมิชอบ
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การดำเนินการทางศาลตามหมวดนี้ ให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในการนี้ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง" จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ต้องนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่กรณีนี้รวมถึงหมวด 3 ว่าด้วยค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ซึ่งในมาตรา 150 แห่ง ป.วิ.พ. บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินทั้งเก้าแปลงตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้คืนที่ดินทั้งเก้าแปลงดังกล่าวแก่ผู้คัดค้าน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ผู้คัดค้านต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 ข้างต้น เพราะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง ยกเว้นให้เฉพาะพนักงานอัยการที่ไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนผู้คัดค้านไม่ได้รับการยกเว้นด้วย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้คัดค้านเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงชอบแล้ว
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าวมิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า "การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง" ใน ป.วิ.อ. เพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แพ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว คือให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดหรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 46

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 872/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงิน: คำให้การของผู้ร่วมกระทำผิดและหลักฐานการโอนเงินเป็นเหตุรับฟังได้
การที่จำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับข้อเท็จจริงที่จะเป็นเหตุบรรเทาโทษนั้น จะต้องให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา การที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบหลักฐานการโอนเงินจากธนาคารเจ้าของบัญชีของจำเลยทั้งสองจนพบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 กับพวก แม้จำเลยที่ 2 จะไม่เบิกความยอมรับถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็ย่อมพิสูจน์ความผิดได้โดยง่าย การเบิกความยอมรับข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 2 เช่นนั้น ไม่เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงไม่มีเหตุลดโทษให้จำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฟอกเงิน: การร่วมกันครอบครองบัญชีและบัตรเอทีเอ็มของญาติเพื่อใช้ในการซื้อขายยาเสพติด
บัญชีและบัตรเอทีเอ็มเป็นของญาติใกล้ชิดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ต้น และจำเลยที่ 1 เองก็เคยใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินออกจากบัญชี จำเลยที่ 1 ย่อมรู้ว่ามีการใช้บัญชีและบัตรเอทีเอ็มกระทำความผิด โดยเฉพาะก่อนที่จำเลยที่ 1 ใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติด้วยตัวเอง มีการถอนเงินจากบัญชีหลายวันติดต่อกันทุกวัน และหลังจากจำเลยที่ 1 ถอนเงินแล้วก็ยังมีการถอนเงินในวันรุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก แสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันครอบครองบัตรเอทีเอ็มไว้ตลอดเวลาเพื่อถอนเงิน และจำเลยที่ 1 ย่อมรับรู้การกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ในการรับโอนเงินและถอนเงินแต่ละครั้งด้วย ไม่ว่าพวกของจำเลยที่ 1 เป็นผู้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ถอนเงิน หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้มอบหมายให้พวกของจำเลยที่ 1 ถอนเงิน พฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมในการรับโอนเงินและถอนเงินทุกครั้งโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดทุกกระทงตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฟอกเงินของเจ้าพนักงาน กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และฐานส่วนตัว โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน
จำเลยเป็นเจ้าอาวาสวัด ล. ซึ่งตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 45 บัญญัติให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความใน ป.อ. เมื่อจำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ล. ร่วมกับ น. เบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินโดยทุจริต และร่วมกระทำความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการกระทำความผิด อันเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความในมาตรา 5 (1) (2) และมาตรา 9 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จำเลยจึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2862/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฟอกเงินโดยสมคบกันใช้บัญชีเงินฝากเพื่อปกปิดแหล่งที่มาของเงินจากการค้ายาเสพติด
จำเลยกับพวกต่างทราบดีอยู่แล้วว่าเงินที่ต่างเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องได้มาจากการค้ายาเสพติด โดยจำเลยกับพวกสมคบกันกระทำการเพื่อโอนและรับโอนเงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดนั้นด้วยเจตนาปกปิดแหล่งที่มาของเงินดังกล่าว อันเป็นการฟอกเงิน ด้วยการใช้บัญชีเงินฝากของ ท. ม. ส. อ. และ ว. เพื่อโอนและรับโอนเงิน แล้วจำเลยรวบรวมเงินที่ได้รับมาไปมอบให้แก่กลุ่มผู้ค้ายาเสพติด จึงต้องถือว่าการที่ ท. ม. ส. อ. และ ว. ฟอกเงินด้วยการโอนและรับโอนเงินที่ได้มาดังกล่าวเป็นการกระทำของจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรม: อั้งยี่, สมคบฯ, ฟอกเงิน, ฉ้อโกง, และนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย และความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรก็เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งตามองค์ประกอบของความผิดสองฐานนี้ จึงอาจเป็นความผิดต่างกรรมกันได้ แต่เมื่อการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5 (1) และ (2) มีองค์ประกอบของความผิดในลักษณะเดียวกันกับความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่และความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าการเข้าเป็นสมาชิกหรือการสมคบกันนั้นก็เพื่อจะกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ ความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันและโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ ความผิดฐานต่าง ๆ ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แต่ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมูลฐานที่ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินจึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดภายหลังเมื่อมีการกระทำความผิดฐานอื่น ๆ ดังกล่าวสำเร็จแล้ว และเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำต่างจากการกระทำความผิดฐานอื่นนั้นได้ จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างกรรมกัน ซึ่งปัญหาว่าการกระทำความผิดเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีฟอกเงิน: การใช้บทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ กับคดีที่ยังไม่ได้ฟ้อง และหลักการใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้กระทำผิด
ตามคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับผู้คัดค้านระบุว่า ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์กระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินหรือสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2547 เมื่อความผิดที่ผู้ร้องขอให้ออกหมายจับมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 60 ซึ่งบัญญัติระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ความผิดตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลออกหมายจับดังกล่าวจึงขาดอายุความนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2562 ส่วนที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ" นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 อันเป็นระยะเวลาภายหลังวันกระทำความผิดของผู้คัดค้านและการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้าด้วยตามบทบัญญัติมาตรานี้มีผลทำให้ผู้คัดค้านสามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้แม้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ตัวผู้คัดค้านมาฟ้องภายในระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้นับแต่วันกระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่มีบทบัญญัติยกเว้นไม่ให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้าด้วยดังเช่นที่มาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 บัญญัติไว้ บทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ดังกล่าวจึงไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน ซึ่ง ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติว่า "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว..." ดังนั้น แม้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มีบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล มาตรา 52 ว่า บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด และกรณีของผู้คัดค้านยังไม่มีการฟ้องคดีก็ตาม แต่เมื่อบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ผู้เสียหายมีสิทธิขอคืนทรัพย์สิน
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นำห้องชุด 84 ห้อง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชดใช้คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเงิน 40,000,000 บาท หากขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวก็ชดใช้คืนเพียงเท่าที่ขายได้ กรณีขายทอดตลาดได้เงินเกินจำนวนดังกล่าว ให้เงินส่วนที่เกินพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินนั้น เมื่อเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำไปซื้อห้องชุดเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาที่เป็นความผิดมูลฐาน อันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เสียหายร้องขอให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืน ประกอบกับผู้ร้องไม่คัดค้าน กรณีจึงต้องคืนห้องชุด 84 ห้องแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหก โดยไม่อาจมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านที่ 3 มิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. 2558 ข้อ 6 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในเวลาที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา กำหนดว่า การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นโดยต้องแสดงถึง (1) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกาโดยชัดแจ้ง (2) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 249 หรือในข้อกำหนดนี้ซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย เมื่อคำร้องขออนุญาตฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ระบุถึงประเด็นปัญหาตามฎีกาประเด็นใดไว้ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประสงค์จะขออนุญาตฎีกาในประเด็นปัญหานั้น และปัญหานั้นได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดฟอกเงิน สิทธิของผู้ให้เช่าซื้อและทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน
ร. เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากผู้คัดค้าน แต่ชำระค่าเช่าซื้อยังไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทจึงยังคงเป็นของผู้คัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านให้ ร. เช่าซื้อรถยนต์พิพาทและรับเงินตามสัญญาเช่าซื้อโดยสุจริตไม่ทราบว่า ร. นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาชำระค่างวดเช่าซื้อบางส่วน ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะขอคืนรถยนต์พิพาทได้ แต่รถยนต์พิพาทคงมีส่วนที่เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดินรวมอยู่ด้วย โดยเมื่อ ร. ชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้านยังไม่ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อ จึงเหลือเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ยังขาดอยู่ ซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะได้รับ จึงให้คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทแก่ผู้คัดค้านตามจำนวนเงินลงทุนที่ยังขาดพร้อมดอกผล
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้คัดค้านชำระไปก่อนแล้ว ผู้คัดค้านเรียกเก็บจาก ร. เมื่อชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านแล้วบางส่วน ส่วนที่ยังขาดอยู่ผู้คัดค้านมีสิทธิรับคืนได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6046/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองสิทธิผู้รับจำนองในคดีฟอกเงิน: สิทธิได้รับดอกเบี้ยจนถึงวันขายทอดตลาด
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 52 เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลพิจารณากำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของตนตามกฎหมาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ คือ ดอกเบี้ย ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต้นเงินที่คงเหลือตามสัญญาจำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสัญญาไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิของผู้รับจำนองตามกฎหมาย ย่อมไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์
of 8