คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ลดค่าปรับ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 57 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15250/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดค่าปรับจากผิดสัญญาประกันในคดียาเสพติด: คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดเป็นที่สุด
คำร้องขอลดค่าปรับเป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้ประกันทั้งสองผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งการจะลดค่าปรับให้แก่ผู้ประกันทั้งสองหรือไม่ ศาลต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำความผิด ความหนักเบาแห่งข้อหาและการผิดสัญญาประกันประกอบด้วย ดังนั้น คำร้องขอลดค่าปรับถือว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด และกรณีผิดสัญญาประกันและขอลดค่าปรับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 119 มาใช้บังคับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9082/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจอุทธรณ์ของผู้รับรองหลักทรัพย์สัญญาประกัน และเหตุลดค่าปรับ
ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่เห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลมีคำสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องมีนิติสัมพันธ์ระหว่างกันตามสัญญาประกันภัยในฐานะผู้เอาประกันกับผู้รับประกัน จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หนังสือรับรองของผู้ร้องเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หนังสือรับรองดังกล่าวระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกัน และศาลมีคำสั่งบังคับตามสัญญาประกัน ผู้ร้องตกลงชำระค่าปรับตามสัญญาประกันถือได้ว่าผู้ร้องเกี่ยวข้องกับสัญญาประกันในฐานะผู้รับรองหลักทรัพย์ตามสัญญาประกัน ผู้ร้องจึงเป็นฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้น และมีอำนาจยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า ผู้ร้องไม่ใช่คู่สัญญาประกันไม่มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องมานั้น เป็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยในเนื้อหาของการลดค่าปรับตามสัญญาประกัน คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่เป็นที่สุด
จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 8 มิถุนายน 2549 ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลยที่ 1 และวันที่ 21 ตุลาคม 2549 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ส่งศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมีส่วนเกี่ยวข้องหรือช่วยเหลือในการจับกุมจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด แสดงว่าผู้ร้องไม่ได้ขวนขวายติดตามจับตัวจำเลยที่ 1 มาส่งศาล การที่ศาลชั้นต้นไม่ลดค่าปรับให้แก่ผู้ร้องจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปให้เสร็จในคราวเดียวกันโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6274/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันตัวชั่วคราวเพื่อชำระค่าปรับ: ศาลมีอำนาจลดค่าปรับได้เมื่อจำเลยมาศาล
ป.อ. มาตรา 29 บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้" บทบัญญัติดังกล่าวบังคับให้ผู้ต้องโทษปรับชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดดังกล่าว ก็ให้อำนาจศาลที่จะสั่งให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือจะสั่งให้ใช้วิธีกักขังแทนค่าปรับก็ได้ แต่ก่อนที่จะครบสามสิบวันถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ต้องโทษปรับจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันโดยให้ทำสัญญาประกันว่าจะชำระเงินค่าปรับภายในเวลาที่กำหนด หรือจะสั่งกักขังผู้ต้องโทษปรับไปพลางก่อนก็ได้ และแม้จะครบกำหนดสามสิบวันแล้ว ถ้าศาลยังมีเหตุสมควร เช่น การกักขังไปพลางก่อนยังไม่เหมาะกับสภาพการบังคับโทษแก่ผู้ต้องโทษรายใด หรือการด่วนยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับโทษปรับยังไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ ศาลก็อาจจะให้ผู้ต้องโทษปรับขอผัดเวลาชำระค่าปรับต่อไปก่อนได้ โดยยังไม่ยึดทรัพย์สินหรือกักขังในทันทีที่ครบสามสิบวัน ดังนั้น การที่ศาลจะสั่งเรียกประกันไปก่อนโดยยังไม่บังคับโทษปรับไปเสียทีเดียว จึงทำได้เพื่อการปล่อยตัวผู้ต้องโทษปรับชั่วคราวให้ไปหาเงินนำมาชำระค่าปรับ หากในชั้นที่สุดหลบหนีไปหรือมาศาลแต่ไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าปรับได้ ศาลก็ต้องใช้วิธีการยึดทรัพย์สินหรือจัดการเพื่อให้มีการกักขังแทนค่าปรับ
จากความเป็นมาของเรื่อง รูปแบบ และเนื้อความแห่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ รวมทั้งเนื้อความแห่งกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ สัญญาประกันในคดีนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประกันตัวชั่วคราวไม่ให้ศาลกักขังจำเลยแทนค่าปรับไปพลางก่อน โดยเป็นการสัญญาว่าจะมาศาลเพื่อชำระค่าปรับภายในกำหนด ไม่ใช่สัญญาประกันเพื่อในชั้นที่สุดจะให้บังคับเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของค่าปรับตามคำพิพากษา จึงจะนำเงินที่ผู้ร้องนำมาชำระค่าปรับตามสัญญามาเป็นส่วนหนึ่งแห่งค่าปรับไม่ได้ และเมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาประกันตัวชั่วคราว ดังนั้น ในชั้นที่สุดเมื่อมีการนำตัวจำเลยมาศาลได้ ศาลจึงมีอำนาจลดค่าปรับสำหรับผู้ร้องลงได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยสัญญากู้, สิทธิสวัสดิการข้าราชการ, การปรับอัตราดอกเบี้ยผิดสัญญา, เบี้ยปรับ, ลดค่าปรับ
พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 มาตรา 6 บัญญัติเป็นนัยว่า เมื่อรัฐมนตรีกำหนดดอกเบี้ยตามมาตรา 4 แล้ว มิให้นำมาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้ จึงมีผลให้ข้อตกลงในสัญญากู้ ข้อ 1 ที่ว่า "ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้" เป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 654
เมื่อปรากฏรายละเอียดตามรายการปรับอัตราดอกเบี้ยว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยครั้งแรกเพียงร้อยละ 4.75 ต่อปี แสดงว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกระทรวงยุติธรรม จึงบ่งชี้ว่าจำเลยกู้เงินจากโจทก์โดยได้รับสิทธิเงินกู้สวัสดิการตามข้อตกลงดังกล่าว เมื่อโจทก์กลับกำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ถึงร้อยละ 19 ซึ่งแม้ไม่เป็นโมฆะ แต่ก็ไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกระทรวงยุติธรรม จึงไม่อาจบังคับเอาแก่จำเลย คงบังคับกันได้ตามอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามที่กำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี
จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 19 ต่อปี การที่โจทก์ปรับใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ดังกล่าว เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาอันเป็นการใช้สิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ ซึ่งเป็นข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง จึงเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับและศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับดังกล่าวลงได้ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1691/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสัญญาเหมา: ศาลมีอำนาจลดค่าปรับหากสูงเกินความเสียหายจริง และระยะเวลาปรับเริ่มนับจากวันส่งมอบงานที่ขยาย
สัญญาจ้างเหมาขุดลอกลำห้วย ให้สิทธิโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวันจากจำเลยผู้รับจ้างในกรณีที่ไม่ส่งมอบงานตามกำหนดเวลาได้ โดยกำหนดส่งมอบงานวันที่ 30 สิงหาคม 2545 แต่จำเลยขอขยายระยะเวลาการส่งมอบงานและโจทก์ได้ยินยอมขยายระยะเวลาให้จำเลยถึงวันที่ 27 กันยายน 2545 มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงวันส่งมอบงานจากกำหนดเดิมเป็นวันที่ 28 กันยายน 2545 แล้ว โจทก์ไม่อาจเอากำหนดวันส่งมอบงานเดิมมาเป็นฐานที่ตั้งแห่งการเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยได้อีกต่อไป เมื่อกำหนดวันที่งานจะต้องแล้วเสร็จได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 28 กันยายน 2545 แต่จำเลยไม่ส่งมอบงานตามกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเบี้ยปรับนับแต่วันที่ 29 กันยายน 2545 เป็นต้นไป
เบี้ยปรับแม้จะได้กำหนดกันไว้ในสัญญา แต่กฎหมายก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามจำนวนนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับในสัญญาซื้อขาย: ศาลใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหากสูงเกินส่วน และต้องพิสูจน์ความเสียหายจริง
โจทก์ทำสัญญาซื้อยางแอสฟัลต์ซีเมนต์จากจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้ถูกต้องตามสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาริบหลักประกันและในระหว่างที่ยังไม่บอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าที่ยังไม่ส่งมอบนับแต่วันครบกำหนดส่งมอบถึงวันบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ตามกำหนดในสัญญา โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาในทันที แต่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าและแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับ จำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบรับยินยอมชำระค่าปรับตามสัญญา พฤติการณ์ถือได้ว่าความเสียหายพิเศษของโจทก์ในส่วนนี้ จำเลยที่ 1 ได้คาดเห็นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 จำเลยที่ 1 จึงมีความผูกพันต้องชำระค่าปรับตามสัญญาเป็นรายวัน
โจทก์เป็นส่วนราชการจะได้รับความเสียหายจากงานของราชการไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการซึ่งเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่คู่ความได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง และคู่กรณีจะต้องรับข้อเท็จจริงกันหรือนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏ แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าโจทก์เสียหายเป็นพิเศษอย่างไร จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลลดค่าปรับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 383
หากโจทก์ผู้รับจ้างปฏิบัติผิดข้อกำหนดตามที่ระบุในสัญญา จำเลยผู้ว่าจ้างมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีที่โจทก์ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้า จึงเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับและค่าปรับที่จำเลยเรียกจากโจทก์สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่การที่จำเลยคิดค่าปรับจากโจทก์เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดค่าปรับซึ่งเป็นเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืน เพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา
of 6