คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาหมั้น

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 54 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาหมั้นไม่เป็นผลผูกพันเมื่อคู่หมั้นไม่ได้ตกลงเรื่องจดทะเบียนสมรส และไม่ได้วางแผนชีวิตคู่ร่วมกัน
การที่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีเรื่องทะเลาะกันทั้งๆ ที่โจทก์กับจำเลยได้จัดงานแต่งงานใหญ่โต มีแขกไปในงานมากมายและโจทก์กับจำเลยก็ได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากันแล้ว ซึ่งการเลิกรากันก็ทำให้เป็นที่อับอายและเสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียงของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นหญิง ทั้งโจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยาเป็นไปโดยไม่ราบรื่น เพราะต่างต้องแยกกันทำงานคนละจังหวัด แทนที่โจทก์จะพยายามทำความเข้าใจกับจำเลยให้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันตามสภาพแต่โจทก์กลับไปแจ้งความว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์โดยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วยทั้งที่เวลาสู่ขอกันไม่มีการตกลงเช่นนั้น จึงถือไม่ได้ว่ากรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทำให้โจทก์ไม่สมควรสมรสกับจำเลย เพราะตามพฤติการณ์แสดงว่าต่างมิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณีเท่านั้น จึงไม่อาจกล่าวโทษได้ว่า การที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรสเกิดจากความผิดของฝ่ายใด ดังนั้น กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงมิได้ผิดสัญญาหมั้น โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกสินสอดและของหมั้นคืนจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาหมั้นผิดนัด การฟ้องคดีขาดอายุความ การพิพากษาแก้ผลคดี
โจทก์ที่ 1 เป็นคู่หมั้น โจทก์ที่ 2 เป็นมารดาโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนจากจำเลยทั้งสามฐานผิดสัญญาหมั้น ซึ่งเป็นคดีมิใช่เกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน
แม้การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและฟ้องซ้อนจะเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความสามารถยกขึ้นว่ากล่าวภายหลังได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง ก็ตาม แต่จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้จากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็น ไม่เกี่ยวกับคู่ความที่จะต้องนำสืบหรือมีข้อกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเพื่อใช้ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ได้
จำเลยที่ 2 เป็นมารดาของจำเลยที่ 1 มาร่วมเจรจาและรับรู้วันประกอบพิธีหมั้น อันเป็นธรรมเนียมประเพณีไทยที่ต้องมีผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายมารับรู้การหมั้น ถือว่า จำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญาหมั้นรายนี้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นน้องชายของจำเลยที่ 2 ถือเป็นญาติผู้ใหญ่ที่มาร่วมเป็นสักขีพยานเพื่อเป็นเกียรติแก่การหมั้นเท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงมิใช่คู่สัญญาในการหมั้นครั้งนี้แต่อย่างใด
เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถอนหมั้นกันเมื่อใดแต่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ได้แจ้งเรื่องถอนหมั้นให้ประธานในพิธีหมั้นทราบแล้ว ก็ถือว่า โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้มีการถอนหมั้นกันอย่างเป็นทางการในวันที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ที่ 2 ทราบ
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2546 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องเพราะฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่อยู่ในเขตอำนาจโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นฟ้องใหม่ยังศาลที่มีเขตอำนาจ ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ทั้งสองจึงยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ คดีโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 ที่ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 555/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยฝ่ายเดียวไม่ผูกพันคู่หมั้น และประเด็นการฎีกาที่ขัดต่อข้อที่ว่ากล่าวในศาลล่าง
จำเลยที่ 2 บอกโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องการสมรสกับโจทก์ เป็นการบอกเลิกสัญญาหมั้นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่มีผลผูกพันโจทก์
โจทก์กับจำเลยที่ 2 สมัครใจเลิกสัญญาหมั้นกัน ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้คดีในปัญหาดังกล่าวไว้ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะหยิบยกปัญหาเรื่องการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2 ขึ้นวินิจฉัยก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3296/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าใช้จ่ายในการเตรียมแต่งงาน (ถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง) ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมตามฐานะทางสังคม และผู้ผิดสัญญาหมั้นต้องรับผิดชอบ
พิธีสมรสในปัจจุบันมิได้จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางขนบธรรมเนียมประเพณีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดประสงค์เพื่อแสดงถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคู่บ่าวสาวรวมถึงครอบครัวของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในงานพิธีสมรสจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของคู่บ่าวสาว สถานะทางการเงินตลอดจนสถานภาพทางสังคมของทั้งคู่ ดังจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันคู่บ่าวสาวจะใช้บริการจัดเตรียมงานโดยติดต่อกับบริษัทที่ทำธุรกิจวางแผนจัดงานแต่งงานที่ให้บริการคำปรึกษาและประสานงานเกี่ยวกับงานหมั้นและงานแต่งงาน ด้วยการแนะนำรูปแบบของงานให้เหมาะสมกับคู่บ่าวสาว และควบคุมให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ภายในงบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งจะให้การบริการโดยดูแลเรื่องเครื่องแต่งกายและภาพถ่ายของคู่บ่าวสาวตั้งแต่การถ่ายภาพก่อนวันแต่งงานและวันหมั้นไปจนถึงพิธีสมรส ทำให้การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งกลายเป็นที่นิยมอย่างหนึ่งที่คู่รักแทบทุกคู่ต่างถ่ายภาพก่อนวันแต่งงานเตรียมไว้ เพื่อนำภาพถ่ายไปใช้ทำการ์ดแต่งงาน หรือนำภาพถ่ายไปใช้ตกแต่งในการจัดงานวันหมั้นหรือวันทำพิธีสมรส ตลอดจนทำวิดีโอคู่บ่าวสาวนำเสนอในงานแต่งงาน และเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกภายหลังวันงานแต่งงาน ดังนี้ ทำให้การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งมิใช่สิ่งฟุ่มเฟือยแต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการสมรสที่จำเป็นสำหรับคู่บ่าวสาวเพื่อให้งานพิธีสมรสเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (2) เมื่อได้ความว่าในการเตรียมการสมรสโจทก์กับจำเลยได้ร่วมกันตัดสินใจจัดเตรียมงานโดยกำหนดให้มีการถ่ายภาพพรีเวดดิ้งก่อนแต่งงานจึงเป็นความตั้งใจและสมัครใจของทั้งสองฝ่ายที่ประสงค์จะถ่ายภาพพรีเวดดิ้งก่อนแต่งงาน มิใช่เกิดจากความประสงค์ของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวการดำเนินการของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเตรียมการก่อนสมรสโดยสุจริต ทั้งโจทก์และจำเลยต่างประกอบอาชีพแพทย์มีรายได้สูง ย่อมมีสถานภาพทางสังคมที่ดี มีเกียรติ และเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป เมื่อคำนึงถึงสถานะทางการเงินตลอดจนสถานภาพทางสังคมของทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามฐานานุรูปและตามสมควร ประกอบกับเหตุที่ผิดสัญญาหมั้นเกิดจากความผิดของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ควรให้ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ จึงรับฟังได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายเนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (2) โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนดังกล่าวได้
of 6