คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หักลดหย่อน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 52 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1229/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเว้นภาษีซ้อน: ค่าใช้จ่ายสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่างประเทศ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ
พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรแก่บุคคลตามสัญญา ว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้หรือจะได้ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ ดังนั้น หากข้อตกลงตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุนขัดแย้งกับบทบัญญัติใน ป.รัษฎากร จะต้องถือตามความตกลงดังกล่าวซึ่งเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติตาม ป.รัษฎากร เมื่อความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีดังกล่าว ข้อ 7 (3) ระบุว่า "ในการกำหนดกำไรของสถานประกอบการถาวรให้ยอมให้หักค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการนั้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการถาวรนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น" ข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายว่า นอกจากค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้แล้ว ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะหากตีความว่าแม้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปก็ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่มีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรเท่านั้นแล้ว ข้อตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนก็ไม่จำต้องมีขึ้น เพราะรายจ่ายใดที่มีขึ้นเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะย่อมนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้โดยไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (14) อยู่แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายที่สำนักงานใหญ่ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสำนักงานภูมิภาคสาธารณรัฐสิงค์โปร์เฉลี่ยมาไม่ได้คำนวณมาอย่างเหมาะสมและตามสัดส่วนของจำนวนสาขาที่มีอยู่ทั่วโลกอย่างไร โจทก์จึงมีสิทธินำค่าใช้จ่ายเฉลี่ยดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ และไม่อาจถือว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นเงินกำไรที่โจทก์จำหน่ายออกไปจากประเทศไทย อันจะต้องเสียภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7323/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายเงินกำไรออกนอกประเทศและค่าใช้จ่ายที่หักลดหย่อนได้ การประเมินภาษีถูกต้องตามกฎหมาย
พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร แก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้หรือจะได้ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ" ดังนั้น หากข้อตกลงตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ขัดแย้งกับบทบัญญัติใน ป.รัษฎากร จะต้องถือตามความตกลงดังกล่าวซึ่งเป็นข้อยกเว้นของบทบัญญัติตาม ป.รัษฎากร และความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ข้อ 7 (3) ระบุว่า "ในการกำหนดกำไรของสถานประกอบการถาวร ให้ยอมให้หักค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรนั้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการถาวรนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น" ข้อตกลงดังกล่าวมีความหมายว่า นอกจากค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้แล้ว ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะสถานประกอบการถาวรที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธินำค่าใช้จ่ายที่มีขึ้นเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะและค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในประเทศไทยซึ่งสถานประกอบการถาวรของโจทก์ตั้งอยู่หรือที่อื่นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้
แต่ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันฯ ฯ ข้อ 7 (3) ไม่ได้วางหลักเกณฑ์ว่าค่าใช้จ่ายที่ปันส่วนมาจากต่างประเทศต้องคำนวณโดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์และพยานหลักฐานใด เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 โจทก์มีค่าใช้จ่ายปันส่วนจากสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาคเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิสำหรับสาขาในประเทศไทย 223,525,955.62 บาท โจทก์จึงต้องมีภาระการพิสูจน์ว่า จำนวนรายจ่ายที่ปันส่วนจากสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาคมีจำนวนที่เหมาะสมไม่เกินสมควร เป็นไปเพื่อความจำเป็นของกิจการสาขาในประเทศไทยเพียงใด แต่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวิธีการที่โจทก์นำมาใช้มีความเหมาะสม เป็นไปเพื่อความจำเป็นของกิจการสาขาในประเทศไทยเพียงใด จึงนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้
กรณีจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ตามมาตรา 70 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ให้เสียภาษีเงินได้โดยหักภาษีจากจำนวนเงินที่จำหน่ายนั้น..." และวรรคสอง "การจำหน่ายเงินกำไรตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง (1) การจำหน่ายเงินกำไร หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรจากบัญชีกำไรขาดทุนหรือบัญชีอื่นใด ไปชำระหนี้หรือหักกลบลบหนี้หรือไปตั้งเป็นยอดเจ้าหนี้ในบัญชีของบุคคลใด ๆ ในต่างประเทศ..." เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายปันส่วนจำนวน 223,525,955.62 บาท มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ และโจทก์ไม่โต้แย้งว่าได้จ่ายเงินดังกล่าวออกไปต่างประเทศจริงในปี 2541 จำนวน 25,482,207.62 บาท ที่เหลือจำนวน 198,043,748 บาท โจทก์บันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายค้างจ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2541 โดยตั้งสำนักงานในต่างประเทศเป็นเจ้าหนี้แล้วจ่ายเงินดังกล่าวทั้งหมดออกไปต่างประเทศจริงในปี 2542 จึงถือว่าเงิน 223,525,955.62 บาท เป็นเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 ทวิ
of 6