คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
แก้ไขกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 59 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนภายหลังการแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา: การใช้กฎหมายเดิมก่อนแก้ไข
ก่อนสอบคำให้การจำเลย พนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ประกอบด้วยมาตรา 7 ทวิ จึงชอบด้วยกฎหมายในขณะที่พนักงานสอบสวนทำการสอบคำให้การจำเลยแล้ว ส่วน ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 ซึ่งบัญญัติว่า ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า (1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ (2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้เป็นบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22)ฯ ซึ่งมีผลใช้บังคับภายหลังวันที่เจ้าพนักงานสอบสวนทำการสอบคำให้การจำเลย ดังนั้น ถ้อยคำของจำเลยที่ให้ไว้แก่พนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาจึงเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายก่อนมีการแก้ไขให้ถ้อยคำของผู้ต้องหาใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำ มาตรา 134/4 มาใช้บังคับแก่คดีที่การสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขกฎหมายยาเสพติดโทษหลังกระทำความผิดและการกำหนดโทษใหม่ในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว
แม้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 16.833 กรัม ซึ่งความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในส่วนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท อันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ากฎหมายเดิม ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด นั้น ไม่ปรากฏว่ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด กรณีต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ากฎหมายเดิมเช่นกันก็ตาม แต่การจะนำโทษตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดมากำหนดโทษใหม่ในคดีที่ถึงที่สุดแล้วนั้น จะต้องปรากฏว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 50 ปี และฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 10 ปี แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ การกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงอยู่ในระวางโทษตามบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงถือไม่ได้ว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีไม่เข้าอยู่ในเกณฑ์ ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะรื้อฟื้นกำหนดโทษใหม่ให้จำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5069/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดูหมิ่นผู้พิพากษา - การวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาคดี - อายุและประวัติจำเลย - เหตุบรรเทาโทษ - การแก้ไขกฎหมายโทษ
ผู้เสียหายทั้งห้าเป็นองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องในคดีที่จำเลยเป็นผู้ฟ้องคดี เป็นการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตาม ป.อ. มาตรา 198 และการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว คำว่า "ศาลหรือผู้พิพากษา" นั้น มิได้หมายความถึงเฉพาะศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาซึ่งมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (1) เท่านั้น หากยังมีความหมายรวมถึงศาลหรือตุลาการศาลอื่นซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายด้วย ซึ่งการดูหมิ่นผู้พิพากษาตามบทบัญญัติมาตรานี้ หมายถึง การกระทำที่ลดคุณค่าในการพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาในสายตาของผู้กระทำการดูหมิ่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3178/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษคดีที่เกี่ยวพันกัน & การใช้กฎหมายขณะกระทำผิด แม้แยกฟ้อง & มีการแก้ไขกฎหมาย
ป.อ. มาตรา 91 ให้อำนาจศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปและกรณีที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกินยี่สิบปีนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกในกรณีกระทำความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวพันกันและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง หรือกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดีและคดีแต่ละคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน และรวมถึงคดีที่เกี่ยวพันกันแต่โจทก์กลับแยกฟ้องจำเลยเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงจะอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 91 (2) สำหรับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแถลงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ของโจทก์ว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่โจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่และฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น แม้ข้อหาความผิดที่ฟ้องจะเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีเป็นคนละรายกันกับคดีนี้และพยานหลักฐานในคดีเป็นคนละชุดกัน จึงไม่เป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีนี้ได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตาม ป.อ. มาตรา 22 แม้มีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินยี่สิบปี ก็พิพากษาให้บังคับเช่นนั้นได้ กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 ของศาลชั้นต้นนั้น เป็นการไม่ชอบ ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่า คดีดังกล่าวและคดีนี้มีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน แม้วันเวลากระทำความผิดจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับมอบหมายจากโจทก์ที่ 1 ให้เป็นผู้จัดทำบัญชีและนําเงินไปเสียภาษีแทน กระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินที่มอบให้นําไปเสียภาษีไป และจำเลยทั้งสองไม่คืนเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการทำบัญชีและเสียภาษีแก่โจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกับคดีนี้ ดังนั้น เมื่อคดีมีคู่ความเดียวกัน ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน โจทก์ที่ 1 อาจฟ้องจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อเป็นคดีเดียวกันได้ แต่โจทก์ที่ 1 แยกฟ้องคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่ง แยกต่างหากจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ดังกล่าวโดยศาลมิได้สั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี เต็มตามกำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 91 (2) แล้ว ย่อมไม่อาจนําโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไปนับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นได้เพราะจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (2) บัญญัติไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นมานั้น ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2970/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าบริการส่วนกลาง, ดอกเบี้ยผิดนัด, การแก้ไขกฎหมาย และการปรับอัตราดอกเบี้ยโดยศาล
การขออนุญาตจัดสรร ผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะตามที่ได้แสดงไว้ในคำขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (4) โดยมีกำหนดระยะเวลาการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ตามมาตรา 23 (5) และมีหน้าที่ดูแลสาธารณูปโภค ตามมาตรา 43 และมาตรา 44 (เดิม) ให้ผู้จัดสรรที่ดินพ้นจากหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามมาตรา 43 เมื่อได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลาที่ผู้จัดสรรที่ดินรับผิดชอบการบำรุงรักษาสาธารณูโภคตามมาตรา 23 (5) แล้ว ดังนี้ (1) ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ. นี้หรือตามกฎหมายอื่นเพื่อรับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปจัดการบำรุง ดูแล รักษา...(2) ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค (3) ผู้จัดสรรที่ดินจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ จากบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่และการสิ้นสุดการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของผู้จัดสรรที่ดินเป็น 2 ระยะ ระยะแรกผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่บำรุงรักษาตามกำหนดเวลาที่ระบุในแผนผังโครงการที่ดินจัดสรรที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (5) และระยะที่สอง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลารับผิดชอบดังกล่าว ผู้จัดสรรที่ดินยังมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตาม มาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตเพื่อโอนให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรรับไปดำเนินจัดการดูแลเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้ใช้ประโยชน์จากสาธารณูปโภคได้โดยสมบูรณ์ภายในเวลาอันควร ข้อตกลงที่มีผลผลักความรับผิดค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตาม มาตรา 44 (1) (2) (3) (เดิม) ย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
สำหรับค่าบริการสาธารณะเป็นคนละกรณีกับค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ความรับผิดค่าบริการสาธารณะจึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 43 และ 44 แห่ง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดใน พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดความรับผิดในค่าบริการสาธารณะที่เกิดขึ้นก่อนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนการบำรุงรักษาและจัดการสาธารณูปโภค เมื่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาบริการจึงใช้บังคับกันได้แต่ต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกำหนดตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 53 เมื่อโจทก์ไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครในอัตราที่เรียกเก็บ จำเลยยังคงต้องรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะนั้น และเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4371/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขกฎหมายกระทำชำเรา/อนาจารหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุด ศาลฎีกาพิพากษายืนโทษเดิม
เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะส่งอุทธรณ์ดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาตามลำดับชั้นศาล แต่ศาลชั้นต้นกลับส่งอุทธรณ์นั้นมายังศาลฎีกา อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษา
แม้ในภายหลังมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 276 แห่ง ป.อ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราก็ตาม แต่มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่ง ป.อ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยวรรคสี่บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." ดังนั้น จากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ยังคงบัญญัติว่า การกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่น ซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กยังเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารโดยการล่วงล้ำอยู่ จึงเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) มิได้เป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ซึ่งเมื่อคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้ว และโทษที่กำหนดสำหรับความผิดฐานกระทำอนาจารโดยการล่วงล้ำซึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต โทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังจึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลจึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ด้วย จำเลยจึงไม่พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และการลงโทษดังกล่าวนั้นมิได้สิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของชำรุดบกพร่อง & การคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบัญญัติหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี" และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี..." ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และ พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก. นี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ คดีนี้โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินที่ได้รับไว้นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2560 ต่อมาจำเลยได้ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินคืน และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 จำเลยฟ้องแย้งขอเรียกคืนเงินสำรองและค่าเสียหาย จึงมีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ กรณีต้องนำบทบัญญัติมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ โดยจำเลยมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละสามต่อปีตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีเท่ากับร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 อันเป็นวันที่ พ.ร.ก. นี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 545/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษตามกฎหมายศุลกากรที่แก้ไขใหม่ และการพิจารณาโทษที่เหมาะสมสำหรับความผิดเกี่ยวกับการส่งออกไม้แปรรูป
ขณะจำเลยทั้งสองกระทำความผิด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2560 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้แก่จำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคแรก แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดแล้วได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 และให้ใช้ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 แทน โดยตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้การนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ เป็นความผิดตามมาตรา 243 และบัญญัติให้การนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรหรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดน หรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นเป็นความผิดตามมาตรา 244 การที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 บัญญัติโดยแยกการกระทำซึ่งเดิมเป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ออกเป็นมาตรา 243 และมาตรา 244 แสดงให้เห็นว่ากฎหมายประสงค์จะแยกการกระทำความผิดตามมาตรา 244 ออกต่างหากจากความผิดตามมาตรา 243 ดังนั้นเมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไม้ประดู่แปรรูปของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และจะต้องริบไม้ประดู่แปรรูปของกลางดังกล่าวเสียทั้งสิ้นตามมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ไม้ประดู่แปรรูปของกลางจึงไม่ใช่ของที่เสียภาษีได้อันจะเป็นผลให้การหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 แต่ถือเป็นของที่ต้องจำกัดหรือต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งไม้ประดู่แปรรูปของกลางซึ่งเป็นของต้องจำกัดหรือต้องห้ามออกไปนอกราชอาณาจักรโดยซุกซ่อนในตู้สินค้าหมายเลข HALA 5615694 แล้วร่วมกันยื่นใบขนส่งสินค้าออกเลขที่ A 0081-6004-03946 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสำแดงชนิดของสินค้าว่าเป็นเก้าอี้สนามทำด้วยไม้ประดู่เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรนั้นเป็นการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามเกี่ยวกับของนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 เพียงบทเดียว มิใช่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 ด้วย และตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องฐานร่วมกันพยายามส่งไม้ประดู่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างกับโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติให้ลงโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จ พ.รบ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 กำหนดโทษไว้เท่ากันเช่นเดียวกัน เมื่อโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีเท่ากัน แต่คดีนี้เมื่อคำนวณโทษปรับสี่เท่าราคาของซึ่งรวมอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 4,371,199 บาท โทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ซึ่งปรับไม่เกินห้าแสนบาท จึงเป็นคุณแก่ฝ่ายจำเลยมากกว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แต่การกำหนดความรับผิดในค่าปรับตามบทบัญญัติมาตรา 244 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 จะต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดในลักษณะรวมกันตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4912/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำเลยในคดียาเสพติดหลังมีการแก้ไขกฎหมายโทษหนักกว่าเดิม ศาลมีอำนาจกำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะขอให้ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกและปรับในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาใหม่ โดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้มีพฤติการณ์ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) โดยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการปรับบทกำหนดโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 104, 162 จึงถือว่าจำเลยพอใจไม่โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดบทกำหนดโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว เช่นนี้ การกำหนดบทกำหนดโทษตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 104, 162 ย่อมเป็นอันยุติตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก คงมีอำนาจวินิจฉัยตามประเด็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การกระทำของจำเลยมีพฤติการณ์ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) หรือไม่ หากศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นก็ปรับบทกำหนดโทษจำเลยตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่หากศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทกำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 145 วรรคสอง (2) ไม่ถูกต้อง โดยเห็นว่าต้องปรับบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) ศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นปรับบทกำหนดโทษจำเลยใหม่ได้เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ศาลอุทธรณ์จะก้าวล่วงไปวินิจฉัยการปรับบทกำหนดโทษจำเลยอีกครั้งหนึ่งและปรับบทกำหนดโทษเสียใหม่ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) โดยมิได้อ้าง ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 หาได้ไม่ ทั้งกรณีไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้อำนาจศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับการปรับบทกำหนดโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษาคดี ภาค 4 ลักษณะ 1 อุทธรณ์ และไม่ก่อสิทธิให้จำเลยฎีกาในข้อที่ว่าที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทกำหนดโทษตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) ชอบหรือไม่ แม้ศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยได้เพราะกรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาได้ต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
of 6