คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ใช้ประโยชน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 61 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 921/2472

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิร่วมในทรัพย์สิน (กำแพง) การใช้ประโยชน์และการละเมิดสิทธิ
เจ้าของร่วมคนหนึ่งไม่มีสิทธิจะใช้ทรัพย์นั้นให้เปนที่เสื่อมเสียแก่เจ้าของร่วมอีกคนหนึ่ง กำแพงกั้นที่ดินซึ่งเจ้าของที่ดินทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิอยู่ด้วยกัน ถ้าฝ่ายหนึ่งทำชายคายื่นออกไปคร่อมกำแพงนั้นเสียทั้งหมด เรียกว่าเปนการละเมิดสิทธิของอีกฝ่ายหนึ่ง ป.พ.พ.ม.1344-1360

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14596/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์: โจทก์ใช้ประโยชน์จริง จึงมีสิทธิฟ้อง
แม้คดีนี้เริ่มต้นโดยการที่โจทก์ทั้งห้ามีหนังสือฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่ามีกลุ่มบุคคลบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์หนองปลาแขยง หนองหินตั้ง และบุ่งกระเบา และมีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ให้โอนเรื่องร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งห้าไปยังศาลปกครองตามมาตรา 103 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลปกครองกลางรับเป็นคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 99/2544 โดยไม่ปรากฏว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าจัดทำคำฟ้องมายื่นใหม่ แต่เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้โอนคดีนี้มายังศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นเห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้ต้องเป็นไปตาม ป.วิ.พ. จึงมีคำสั่งให้โจทก์จัดทำคำฟ้องมายื่นใหม่และโจทก์ทั้งห้าได้ยื่นคำฟ้องใหม่ต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้า โดยจำเลยทั้งสี่และผู้ร้องทั้งสิบสองมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าจัดทำคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มายื่นใหม่และมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจททั้งห้าเป็นการไม่ถูกต้อง จึงต้องถือว่า คำฟ้องฉบับใหม่ของโจทก์ทั้งห้า เป็นคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้ เมื่อพิจารณาคำฟ้องดังกล่าว โจทก์ทั้งห้าบรรยายมาด้วยว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นราษฎรอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์หนองปลาแขยง หนองหินตั้ง และบุ่งกระเบา โดยจับปลา เลี้ยงสัตว์ และเก็บฟืน ทั้งบรรยายด้วยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐมีหน้าที่รับจดทะเบียนและออกเอกสารสิทธิในที่ดินท้องที่ จำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานของรัฐ ต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่ปกครองและกำกับดูแลจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 เป็นหน่วยงานปกครองท้องถิ่นมีอำนาจตามกฎหมายในการดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์รวมทั้งดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกและฟ้องขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิผู้บุกรุก ทั้งมีอำนาจตรวจสอบรังวัดที่ดินสาธารณประโยชน์ในท้องที่ของตนด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันออกเอกสารสิทธิให้ผู้บุกรุกโดยมิชอบ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ละเลยต่อหน้าที่ดูแลรักษา เป็นเหตุให้ผู้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์โดยมิชอบ ดังนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้างมาในคำฟ้อง ย่อมทำให้โจทก์ทั้งห้าไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวได้ตามปกติ ต้องถือว่าโจทก์ทั้งห้ามีข้อโต้แย้งสิทธิกับจำเลยทั้งสี่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3235/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกสัญญาซื้อขายที่ดิน: การคืนเงินมัดจำและค่าเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
การให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการเลิกสัญญาจะซื้อจะขายเป็นการชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดจากการเลิกสัญญา คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องปฏิบัติต่อกันในลักษณะสัญญาต่างตอบแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 392 ประกอบมาตรา 391 และมาตรา 369 เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ให้จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงยังไม่มีหน้าที่ปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนโจทก์ทั้งสอง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ต่าง ๆ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินที่เคยตกลงซื้อจากโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป โดยมิได้ให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินมัดจำและเช็คที่ได้รับไว้จากจำเลย อันเป็นการชำระหนี้ต่างตอบแทนที่เกิดจากการเลิกสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะเดิมให้แก่จำเลยด้วยนั้นจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9322/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ การใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนา
การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ เป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินภารยทรัพย์โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาจะได้สิทธิในภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 กฎหมายมุ่งประสงค์ให้ถือเอาการใช้ประโยชน์ของเจ้าของสามยทรัพย์เป็นข้อสำคัญในการพิจารณาว่าจะได้ภาระจำยอมหรือไม่ โดยไม่คำนึงว่าภารยทรัพย์จะอยู่ในครอบครองของผู้ใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเฉลี่ยทรัพย์จากเจ้าหนี้สามัญและการระงับสิทธิจำนำกรณีผู้จำนำใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินจำนำ
การจำนำเครื่องจักรโดยคู่สัญญาตกลงให้ อ. ภริยาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้เป็นผู้รักษาทรัพย์สิน แต่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำในการประกอบธุรกิจโรงโม่หินของตนตลอดมา ซึ่งเครื่องจักรนั้นจำเลยที่ 1 ผู้จำนำซื้อจากโจทก์เพื่อผลิตสินค้าออกจำหน่ายสร้างรายได้ และนำเงินชำระคืนแก่ผู้ร้องซึ่งรับจำนำ แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ที่ต้องการใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าเพื่อประโยชน์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว แม้ว่าสัญญาจำนำและรักษาทรัพย์จะมีข้อตกลงว่าผู้จำนำได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ เป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย การที่ผู้ร้องยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำตามมาตรา 769 (2) แล้ว สิทธิจำนำจึงระงับสิ้นไป ผู้ร้องจึงไม่มีบุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนตามสัญญาจำนำเครื่องจักร
เจ้าหนี้ที่จะมีบุริมสิทธิในมูลหนี้จ้างทำของ เจ้าหนี้นั้นจะต้องทำรายการประมาณราคาชั่วคราวไปบอกลงทะเบียนไว้ก่อนเริ่มลงมือทำการก่อสร้างเพื่อให้มีผลบริบูรณ์เป็นบุริมสิทธิพิเศษใช้ยันเจ้าหนี้อื่นในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 286 โจทก์ไม่ได้กระทำการดังกล่าว ทั้งบุริมสิทธิในมูลจ้างทำของอันเป็นการงานทำขึ้นบนอสังหาริมทรัพย์นั้น กฎหมายให้มีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์ที่ทำการงานขึ้น และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องเป็นของลูกหนี้ แต่ที่ดินซึ่งโจทก์ทำการก่อสร้างโรงโม่หินเป็นของกรมป่าไม้มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เรื่องที่โจทก์มีบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 273 และมาตรา 275 โจทก์จึงมิใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ เมื่อโจทก์และผู้ร้องต่างก็เป็นเจ้าหนี้สามัญด้วยกัน จึงชอบที่จะใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 เพื่อเฉลี่ยทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5139/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิเจ้าของทรัพย์สินโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่น กรณีการกีดขวางการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ร้องสอดเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะหน้าที่ดินของโจทก์ โดยกั้นรั้วระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการใช้สิทธิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายอื่นได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 การเปิดประตูรั้วและมีทางสาธารณะเล็กๆ ให้โจทก์เดินลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ย่อมทำให้ความสะดวกในการใช้ที่ดินของโจทก์ลดน้อยลงกว่าปกติ ทั้งยังบดบังทัศนียภาพทำลายสิ่งแวดล้อมหน้าที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเป็นกรณีพิเศษเกินกว่าปกติที่ควรได้รับ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลที่ทำให้เกิดความเสียหาย เพื่อให้โจทก์ได้รับความสะดวกในการใช้ทรัพย์ตามปกติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10305/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่เคลือบคลุม โจทก์มีอำนาจฟ้องได้ หากบรรยายฟ้องชัดเจนถึงการใช้ประโยชน์และเหตุไม่ต้องยกเว้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างคือตึกแถวสองชั้น 1 หลัง ใช้อยู่เองและประกอบการค้า และตึกแถวหนึ่งชั้นเป็นโกดังเก็บสินค้าอีก 1 หลัง อยู่ติดกัน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน คำบรรยายฟ้องของโจทก์ชัดแจ้งแล้วว่า ตึกแถวสองชั้น 1 หลัง จำเลยใช้เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบการค้าด้วย และมีตึกแถวหนึ่งชั้นเป็นโกดังเก็บสินค้า 1 หลัง อยู่ติดกับตึกแถวสองชั้น และโจทก์ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า ตึกแถวสองชั้นและโกดังเก็บสินค้าต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมินค่าภาษีโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของโรงเรือนหรือทรัพย์สินที่ให้เช่าตามหลักเกณฑ์การกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรในเขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี และบัญชีแสดงการแบ่งทำเลเพื่อกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร ซึ่งมีรายละเอียดชัดเจนว่า ตึกแถวสองชั้นทำเลใดคิดค่าเช่าเท่าใด โกดังเก็บของคิดค่าเช่าเท่าใด กำหนดเป็นค่ารายปีและค่าภาษีเท่าใด ซึ่งจำเลยสามารถเข้าใจได้ดีจึงต่อสู้ได้ถูกต้องว่าตึกแถวและโกดังของจำเลยไม่ต้องเสียภาษีเพราะเหตุใด ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม้โจทก์จะมิได้ระบุว่าจำเลยใช้โรงเรือนเป็นที่ไว้สินค้าหรือประกอบอุตสาหกรรมตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าตึกแถวสองชั้น 1 หลัง จำเลยใช้อยู่เองและประกอบการค้าจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมาย อันเป็นการระบุว่าจำเลยต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินในส่วนของตึกแถวสองชั้น เพราะจำเลยได้ใช้ประกอบการค้าด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม: การรุกล้ำแนวทาง และการใช้ประโยชน์ทางอื่นไม่ทำให้ภาระจำยอมสิ้นสุด
จำเลยเจ้าของภารยทรัพย์มีความผูกพันต้องยอมรับกรรมหรืองดใช้สิทธิบางอย่างในที่ดินของตนเองส่วนที่จดทะเบียนเป็นทางเดินและทางรถยนต์แก่โจทก์ จำเลยไม่อาจประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1390 การที่จำเลยก่อสร้างหลังคาโรงจอดรถรุกล้ำแนวทางภาระจำยอม แม้โจทก์ได้ใช้ที่ดินที่ทางราชการกันไว้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิสร้างหลังคาโรงจอดรถยื่นออกมารุกล้ำทางภาระจำยอมได้ การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก โจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยรื้อถอนโครงหลังคาเฉพาะส่วนที่รุกล้ำทางภาระจำยอมได้
การที่โจทก์ประกอบธุรกิจในที่ดินโฉนดเลขที่ 19922 และโจทก์ให้ลูกค้าของโจทก์ซึ่งใช้บริการในที่ดินดังกล่าวมาใช้ทางภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 19778 ของจำเลยด้วย อันเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1388 และมาตรา 1389 แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวห้ามมิให้โจทก์กระทำเช่นนั้น หาทำให้สิทธิในการใช้ทางภาระจำยอมของโจทก์สิ้นไปไม่
ส่วนการที่โจทก์ใช้ทางที่ติดกับลำห้วยมะลิเป็นทางเข้าออกด้วยนั้น ก็ได้ความว่า โจทก์ยังคงใช้ทางภาระจำยอมเพื่อประโยชน์ของที่ดินโฉนดเลขที่ 13578 อยู่ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 บัญญัติว่า ถ้าภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมนั้นสิ้นไป แต่ถ้าความเป็นไปมีทางให้กลับใช้ภาระจำยอมได้ไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมนั้นกลับมีขึ้นอีก แต่ต้องยังไม่พ้นอายุความที่ระบุไว้ในมาตราก่อน ซึ่งคำว่า ภาระจำยอมหมดประโยชน์นั้นหมายความว่าไม่สามารถใช้ภารยทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่สามยทรัพย์ได้อีกต่อไป หากภารยทรัพย์ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่แม้ไม่มีการใช้ภารยทรัพย์นั้น ก็หาใช่ภาระจำยอมหมดประโยชน์ตามความหมายของบทกฎหมายดังกล่าวไม่ ดังนั้น แม้โจทก์จะใช้ทางที่ติดกับลำห้วยมะลิเป็นทางเข้าออกด้วยก็หาทำให้ทางภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 19778 ของจำเลยที่มีอยู่แล้วสิ้นไปไม่ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินเลขที่ 19778 ของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรื้อถอนสะพานไม้แล้วสร้างสิ่งปลูกสร้างกีดขวางการใช้ประโยชน์เดิม ถือเป็นการละเมิดและต้องชดใช้ค่าเสียหาย
สะพานไม้ของโจทก์ที่ 1 สร้างอยู่บนคลองระบายพระยาพิสูตร์หรือคลองแสมขาว ซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนมีสิทธิใช้ร่วมกัน โดยโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ใช้ประโยชน์ในสะพานมาก่อน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในสะพานรวมทั้งที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองรื้อถอนสะพานไม้ของโจทก์ที่ 1 เหลือแต่เสาบางส่วน สร้างบ้านพักคนงานคร่อมบนสะพานและทำคานไม้สำหรับวางสิ่งของ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถนำเรือมาจอดเทียบสะพานได้ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8906/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิด: เจ้าของกรรมสิทธิ์/ครอบครองจริง แม้กรรมสิทธิ์จะเปลี่ยนมือ แต่ยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์
โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า ช. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 ตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งบ้านเลขที่ 110/1 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว ต่อมา ช. รื้อบ้านหลังดังกล่าวและปลูกสร้างเป็นอาคาร 2 หลัง แทนหลังเดิมและขอเลขที่บ้านเป็น 3 หลัง ให้ ส. ภริยาและบุตร 4 คน พักอาศัยอยู่ร่วมกันในที่ดินแปลงเดิม แบ่งเป็นบ้านเลขที่ 110/1 ให้ ส. ป. และ ก. พักอาศัย บ้านเลขที่ 110/4 ให้โจทก์ที่ 2 พักอาศัยและบ้านเลขที่ 110/5 ให้ ณ. พักอาศัย แสดงให้เห็นเจตนาและความประสงค์ให้บุตรและภริยาได้พักอาศัยเป็นสัดส่วน ช. โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ ป. และ ก. โดยเสน่หา แต่โจทก์ที่ 2 ยังคงพักอาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวมาโดยตลอดไม่ได้ปล่อยให้ ป. และ ก. ครอบครองเพียงฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ที่ 2 แต่งงานกับโจทก์ที่ 1 แล้วย้ายไปพักอาศัยที่อื่น ก็นำบ้านหลังดังกล่าวให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่มีบุคคลใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของและครอบครองบ้านเลขที่ 110/4 เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่า ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
ส่วนการยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ต้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นนั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน โดยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ ถ้ายื่นภายหลังนั้นต้องแสดงเหตุให้เป็นที่พอใจของศาลว่าไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นได้แต่ต้องยื่นก่อนมีคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 6 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีพร้อมกับคำให้การได้โดยจำเลยที่ 6 แสดงเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 6 ไม่สามารถยื่นคำร้องได้เนื่องจากจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันขอตรวจสอบความเสียหายและเจรจากับโจทก์ทั้งสองก่อน จนกระทั่งจำเลยร่วมปฏิเสธไม่รับผิด จำเลยที่ 6 จึงยื่นคำร้องขอหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีภายหลังจากที่จำเลยที่ 6 ยื่นคำให้การแล้ว แต่เป็นระยะเวลาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี คำร้องขอหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีของจำเลยที่ 6 จึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)
of 7