คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 632 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2183/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจากการไม่วางค่าธรรมเนียมตามคำพิพากษา ศาลชอบที่จะไม่รับอุทธรณ์ได้
บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 229 หาได้ใช้บังคับเฉพาะการอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีเท่านั้นไม่ แม้จะเป็นเพียงการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย แต่จำเลยมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยอนุญาตให้จำเลยดำเนินกระบวนพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์เป็นอันเพิกถอนไป ผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว และการที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งและเสียเฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่กฎหมายบังคับให้จำเลยต้องเสียในขณะยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ เงินดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ครบถ้วนจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที และกรณีมิใช่เรื่องการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ที่ศาลจะต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์มาก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1610/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบปากคำผู้เยาว์ต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ หากไม่ปฏิบัติตาม พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการสอบสวน บัญญัติว่า "ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป...การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยาน ให้แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย" และในวรรคสี่บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 139 การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน" เมื่อจำเลยถูกกล่าวหาว่าพรากนางสาว จ. ผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท เมื่อปรากฏว่านางสาว จ. มีอายุเพียง 17 ปีเศษ การสอบปากคำนางสาว จ. ไม่ว่าในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน จึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ โดยไม่มีข้อยกเว้น และไม่จำต้องได้รับการร้องขอจากนางสาว จ. ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลตามวรรคหนึ่งได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 133 ทวิ วรรคห้าแต่อย่างใด การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำนางสาว จ. โดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะเป็นการไม่ชอบแต่ก็หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด และถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397-1399/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิทายาทโดยธรรม: พี่น้องร่วมบิดา แม้เกิดจากบิดาที่ไม่ใช่สามีจดทะเบียน
การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) นั้น นอกจากกฎหมายมิได้กำหนดว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันแล้ว การที่จะตีความบทกฎหมายดังกล่าวว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาเดียวกันผลก็จะกลายเป็นว่า พี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจะมีได้แต่เฉพาะเมื่อการสมรสระหว่างบิดากับมารดาคนก่อนสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการตีความที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายแคบเกินกว่าบทบัญญัติตามตัวอักษรของกฎหมาย และมิใช่ความมุ่งหมายของบทบัญญัติที่ให้ทายาทโดยธรรมซึ่งอยู่ในฐานะเป็นญาติสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดอยู่ในลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลังและตัดญาติห่างซึ่งอยู่ในลำดับถัดลงไปไม่ให้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 ทั้งการเป็นพี่น้องด้วยกันนี้ก็หาได้มีบทบัญญัติให้เกิดสิทธิหน้าที่ต่อกันเหมือนเช่นการเกิดสิทธิหน้าที่ระหว่างบิดากับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฉะนั้น การเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันจึงต้องถือตามความเป็นจริง เมื่อผู้ร้องที่ 1 และผู้ตายต่างมีบิดาคนเดียวกันแม้ผู้ตายจะเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาก็ถือว่าผู้ร้องที่ 1 กับผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ผู้ร้องที่ 1 จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (4) เมื่อผู้ตายไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับอื่นที่สูงกว่าผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 จึงมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านเป็นเพียงบุตรของ จ. ซึ่งเป็นลุงของผู้ตาย โดย จ. เป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (6) เมื่อมีผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 4 ซึ่งสูงกว่า จ. แล้ว จ. จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ทำให้ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสามมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ส่วนผู้คัดค้านไม่มีสิทธิดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10452-10453/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาทางธุรกิจ: การบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้บริษัทเลิกไปแล้ว สัญญาเดิมยังผูกพัน
โจทก์กับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำสัญญากิจการร่วมค้าและอนุญาตให้ใช้สิทธิ โดยร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ช. เป็นต่างหาก เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยทั้งสี่จึงไม่อาจบอกเลิกสัญญาแต่ฝ่ายเดียวได้ แม้การเลิกบริษัท ช. จะได้ดำเนินไปโดยชอบด้วยกฎหมาย การบอกเลิกสัญญากิจการร่วมค้าและอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสัญญาก็ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8396-8399/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่แก้ไขแล้วแต่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาให้ใช้ข้อบังคับเดิมแทน
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่นายจ้างจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ดังนั้น หากจำเลยประสงค์จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่แจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จำเลยจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง หรือมิฉะนั้นจำเลยจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 13 จนมีการเจรจาตกลงกัน หรือหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของ พ.ร.บ. ดังกล่าว การที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับดังกล่าว ในส่วนขั้นตอนการลงโทษกรณีโทษสถานเบาจึงไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงต้องใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนขั้นตอนการลงโทษกรณีโทษสถานเบา และรายละเอียดความผิดโทษสถานร้ายแรงตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 5 และ 23 ส่วนรายละเอียดความผิดโทษสถานร้ายแรงตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ข้อ 22 และ 25 ไม่มีผลบังคับ ดังนั้น บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.9 ที่จำเลยทำกับสหภาพแรงงานโรงแรม อ. ข้อ 3 ที่มีข้อความว่า "สภาพการจ้างใดไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้มีผลบังคับตามเดิม..." จึงมีความหมายว่า สภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ในส่วนขั้นตอนการลงโทษกรณีโทษสถานเบา และรายละเอียดความผิดโทษสถานร้ายแรงที่กำหนดไว้ในข้อ 5 และ 23 ยังคงใช้บังคับตามเอกสารหมาย จ.2 เช่นเดิม ส่วนรายละเอียดความผิดโทษร้ายแรง ตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ข้อ 23 และ 25 ไม่มีผลใช้บังคับ
แม้ว่าโจทก์ทั้งสี่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานโรงแรม อ. ที่ยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย ล.2 โจทก์ทั้งสี่ถูกผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ตกลงกันได้ตามเอกสารหมาย ล.9 แต่เมื่อจำเลยใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ในส่วนที่ไม่เป็นคุณไม่มีผลใช้บังคับมาใช้บังคับแก่ลูกจ้างซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสี่ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของลูกจ้างซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสี่ด้วย โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้อง
อนึ่ง การที่จำเลยประกาศให้ลูกจ้างนำหนังสือคู่มือพนักงานฉบับเก่ามาเปลี่ยนเพื่อขอรับหนังสือคู่มือพนักงานฉบับใหม่ตามเอกสารหมาย จ.3 แสดงว่าจำเลยใช้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน (คู่มือพนักงาน) เอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 บังคับแก่ลูกจ้างทุกคน เมื่อเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.13 ในส่วนขั้นตอนการลงโทษกรณีโทษสถานเบาและรายละเอียดความผิดโทษสถานร้ายแรงข้อ 5, 22, 23 และ 25 ไม่มีผลใช้บังคับ ลูกจ้างอื่นของจำเลยจึงเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีด้วย เห็นสมควรให้คำพิพากษาผูกพันจำเลยและลูกจ้างอื่นของจำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 53

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8378/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งตั้งกรรมการลูกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้การเลิกจ้างลูกจ้างเป็นไปโดยชอบ
ข้อบังคับสหภาพแรงงาน น. กำหนดว่าการประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงาน น. จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่จดทะเบียนไว้ สหภาพแรงงาน น. มีคณะกรรมการตามที่จดทะเบียนไว้จำนวน 11 คน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงาน น. เพื่อแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างมีกรรมการสหภาพแรงงาน น. เข้าร่วมประชุม 5 คน จึงไม่ครบองค์ประชุม โจทก์จึงเป็นกรรมการลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7608/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากที่อยู่ไม่เป็นภูมิลำเนา ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีไม่ถูกต้อง
โจทก์ฟ้องจำเลยโดยระบุที่อยู่จำเลยในคำฟ้องเป็นบ้านเลขที่ทะเบียนบ้านกลาง 317 ทะเบียนบ้านกลางของเขตดุสิต โดยไม่ปรากฏว่าก่อนหน้านั้นจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด และปรากฏตามรายงานการเดินหมายว่าพนักงานเดินหมายได้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้ตามภูมิลำเนาที่ระบุไว้ในหมาย ซึ่งมีลักษณะเป็นสำนักงานเขตดุสิต สอบถามบุคคลที่อยู่ที่นั่นแล้วได้รับแจ้งว่าไม่รู้จักจำเลย ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ มาตรา 4, 33 บัญญัติให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกของผู้มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านซึ่งไปอยู่ที่อื่นเกิน 180 วัน และเจ้าบ้านไม่ทราบว่าผู้นั้นไปอยู่ที่ใดต่อนายทะเบียนโดยระบุว่าไม่ทราบที่อยู่ และให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งเพิ่มชื่อและรายการผู้นั้นในทะเบียนบ้านกลางซึ่งนายทะเบียนบ้านกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน ดังนั้น บ้านเลขที่ทะเบียนบ้านกลาง 317 ซึ่งเป็นสำนักงานเขตดุสิตไม่ใช่ถิ่นที่อยู่อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 การที่พนักงานเดินหมายปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตามที่อยู่ที่ระบุในคำฟ้องจึงไม่ใช่การปิดคำคู่ความ ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย เป็นการส่งที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง ทำให้กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางนับแต่การส่งหมายและสำเนาคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายปัญหาเรื่องการส่งหมายเรียกและสำนวนคำฟ้องให้จำเลยโดยไม่ชอบเป็นกรณีมิได้ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมชอบที่จะเพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7608/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้านกลางไม่ใช่ภูมิลำเนาของจำเลย ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีไม่สมบูรณ์
ตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 4, 33 บัญญัติให้เจ้าบ้านแจ้งการย้ายออกของผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านซึ่งไปอยู่ที่อื่นเกิน 180 วัน และเจ้าบ้านไม่ทราบว่าผู้นั้นไปอยู่ที่ใด ต่อมานายทะเบียนโดยระบุว่าไม่ทราบที่อยู่ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งเพิ่มชื่อและรายการผู้นั้นในทะเบียนบ้านกลางซึ่งนายทะเบียนบ้านกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่ปรากฏว่าก่อนหน้าที่จำเลยมีชื่อในทะเบียนบ้านกลางจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด พนักงานเดินหมายส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายที่บ้านเลขที่ทะเบียนบ้านกลาง 317 ซึ่งเป็นสำนักงานเขตดุสิต ไม่ใช่ถิ่นที่อยู่อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 จึงไม่ใช่การปิดคำคู่ความ ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลย เป็นการส่งที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง ทำให้กระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางนับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาเรื่องการส่งหมายและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยไม่ชอบเป็นกรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ชอบที่จะเพิกถอนเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บงจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5887/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ลงลายมือชื่อในฎีกาทำให้ฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ฎีกาของจำเลยไม่มีลายมือชื่อผู้ฎีกา โดยเหตุที่ฎีกาเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตามคำนิยามในมาตรา 1 (3) แห่ง ป.วิ.พ. ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น เมื่อไม่มีลายมือชื่อผู้ฎีกา ฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 158 (7) ประกอบด้วยมาตรา 215 และ 225 แห่ง ป.วิ.อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4827/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอปล่อยตัวจากการควบคุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 เกิดขึ้นได้เฉพาะขณะถูกควบคุมเท่านั้น
สิทธิของผู้ถูกคุมขังในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 นั้น มีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ผู้ถูกคุมขังยังถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ตามคำร้องปรากฏว่าภายหลังจากผู้ร้องถูกควบคุมตัว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวผู้ร้องชั่วคราวไปแล้ว โดยให้ผู้ร้องทำสัญญาประกันไว้ กรณีจึงไม่มีการควบคุมตัวผู้ร้องในขณะยื่นคำร้องแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอตามมาตรา 90 ได้ หากการจับไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่จับผู้ร้องด้วยการร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานหรือฟ้องคดีต่อศาลตามกฎหมายเรื่องนั้น ๆ ต่อไป
ทรัพย์สินซึ่งผู้ร้องกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจคืนแก่ผู้ร้องนั้น ก็มิใช่กรณีที่จะยื่นคำขอมาพร้อมกับคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 เช่นกัน ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2550)
of 64