คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 687 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15036/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีแรงงานจากความผิดสัญญาจ้างและละเมิด ศาลกลับคำพิพากษาให้ชำระหนี้
โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องจำเลยที่ 1 ลูกจ้างให้ชำระหนี้ที่เกิดจากการที่ลูกจ้างกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์ เบิกสินค้าของโจทก์ไปแล้วไม่ส่งเงินค่าสินค้าให้ครบถ้วนหรือนำสินค้ามาคืน จึงเป็นการฟ้องคดีให้จำเลยที่ 1 รับผิดทั้งจากมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14938/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของคู่สัญญาและผู้ควบคุมงานในสัญญาจ้างก่อสร้าง กรณีงานล่าช้าและค่าล่วงเวลา
เมื่อความล่าช้าของงานก่อสร้างเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 สัญญาจ้างควบคุมงาน ข้อ 19 วรรคแรก ระบุกรณีที่ผู้รับจ้างของหมวดงานใดหมวดงานหนึ่งหรือหลายหมวดงานปฏิบัติงานล่วงเลยกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างก่อสร้างเนื่องจากความผิดของผู้รับจ้างของหมวดงานนั้น ที่ปรึกษาจะได้รับค่าจ้างในอัตราตามที่ระบุไว้ในสัญญาของแต่ละหมวดงาน ตามจำนวนวันที่ได้ปฏิบัติล่วงเลยกำหนดเวลานั้นต่อเมื่อผู้ว่าจ้างได้เรียกร้องเอาจากผู้รับจ้างมาจ่ายให้ที่ปรึกษา จำเลยที่ 1 ได้หักเงินค่าจ้างที่ค้างจ่ายให้จำเลยที่ 2 ในกรณีที่โจทก์ทั้งสามได้ปฏิบัติงานเกินกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างไว้แล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญากับโจทก์ทั้งสาม จึงต้องรับผิดชำระค่าควบคุมงานในส่วนที่จำเลยที่ 2 ทำงานเกินกำหนดเวลา 28 วัน ตามที่ระบุในสัญญาแก่โจทก์ทั้งสาม แต่สำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้หักเงินหรือได้เรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เพื่อนำมาจ่ายให้โจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจเรียกเงินส่วนนี้จากจำเลยที่ 1 ได้ และในระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ข้อตกลงตามสัญญาจ้างแต่ละฉบับของคู่สัญญากำหนดไว้ว่าหากผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และผู้ว่าจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างตามจำนวนเงินที่กำหนดและจะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานในเมื่อผู้ว่าจ้างต้องจ้างผู้ควบคุมงานอีกต่อหนึ่ง อันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 เมื่อโจทก์ทั้งสามได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ชำระเงินดังกล่าวแล้ว ถือได้ว่าได้เข้ารับเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงต้องผูกพันรับผิดตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
โจทก์ทั้งสามเป็นเพียงตัวแทนจำเลยที่ 1 ในการควบคุมงานก่อสร้าง มีหน้าที่ควบคุมงานให้เป็นไปตามสัญญาก่อสร้าง และให้ถูกต้องตามหลักวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในฐานะต้องรับผิดชอบหากจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลา ทั้งตามข้อกำหนดในสัญญาระบุว่าการทำงานล่วงเวลาต้องได้รับอนุมัติจากผู้ควบคุมงานก่อนทุกครั้งและต้องมีตัวแทนผู้ควบคุมงานอยู่ด้วยตลอดเวลา ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นผู้รับจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ต้องแจ้งความจำนงไปยังโจทก์ว่าจะทำงานล่วงเวลา มิใช่โจทก์เป็นผู้สั่งและการทำงานล่วงเวลาถ้าเป็นผลทำให้งานตามสัญญาจ้างของผู้รับจ้างทำเสร็จเร็วขึ้น ถือเป็นประโยชน์ของผู้รับจ้างโดยตรง ซึ่งตามสัญญาจ้างได้กำหนดให้ผู้รับจ้างซึ่งจะได้ประโยชน์โดยตรงจากการทำงานล่วงเวลามีหน้าที่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้ผู้ควบคุมงาน จำเลยที่ 1 จึงหาต้องร่วมรับผิดชำระค่าล่วงเวลาด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14738/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานเรียกรับเงินเพื่ออนุมัติสัญญาจ้าง ความผิดมาตรา 149 แก้ไขโทษ
พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 58/2 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุบัญญัติว่า "ให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง..." เมื่อประกาศผลเลือกตั้งในวันที่ 15 กันยายน 2551 จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 59, 60 และ 65 มีอำนาจหน้าที่ควบคุม รับผิดชอบ ในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ตลอดทั้งมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ เพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4
พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 58/5 วรรคสอง บัญญัติว่า "...หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของราชการหรือราษฎร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะดำเนินการไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็นก็ได้..." แสดงว่ากฎหมายกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตั้งแต่วันได้รับเลือกตั้ง ส่วนการแถลงนโยบายก่อนเข้ารับหน้าที่เป็นเพียงเงื่อนไขในการเข้าปฏิบัติงานเท่านั้น ไม่ใช่จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ หากยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14260/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างก่อนครบกำหนดสัญญาจ้าง ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแก่ลูกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าต้องเป็นกรณีที่มีการจ้างกันครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง) เท่านั้น
สัญญาจ้างกำหนดระยะเวลาการจ้าง 11 เดือน นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2549 อันเป็นการเลิกจ้างก่อนครบกำหนดตามสัญญาจ้าง เป็นกรณีจำเลยไม่ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาจ้างเป็นสาระสำคัญ จำเลยจึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าและจำเลยจะจ่ายค่าจ้างตามจำนวนที่ต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาและให้โจทก์ออกจากงานทันทีก็ได้ตามมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี่ (ที่ใช้บังคับในขณะเลิกจ้าง)
กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 10 ของเดือน วันที่ 21 เมษายน 2549 จำเลยออกประกาศเลิกจ้างโจทก์โดยให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน 2549 เป็นกรณีจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างเป็นหนังสือก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 จึงมีผลเป็นการเลิกสัญญาในวันที่ 10 มิถุนายน 2549 จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2549 จนถึงวันเลิกสัญญาคือวันที่ 10 มิถุนายน 2549 แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างของเดือนเมษายน 2549 ให้โจทก์แล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2549 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2549

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13862/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาระบุไม่จ่ายค่าชดเชย ย่อมใช้ได้ แม้มีข้อบังคับบริษัทกำหนดจ่ายไว้ก็ได้
ตาม พ.ร.บ.สภาการเหมืองแร่ พ.ศ.2526 มาตรา 23 วรรคสอง ที่บัญญัติให้เลขาธิการสภาการเหมืองแร่มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี เป็นหลักการทั่วไป ไม่ได้ห้ามเด็ดขาดว่าสัญญาจ้างผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่จะมีกำหนดระยะเวลาน้อยกว่า 4 ปี ไม่ได้ แต่กลับบัญญัติให้เลขธิการสภาการเหมืองแร่อาจต้องพ้นตำแหน่งก่อนครบวาระไว้หลายประการ สัญญาจ้างโจทก์ให้เป็นลูกจ้างตำแหน่งเลขาธิการสภาการเหมืองแร่มีกำหนด 1 ปี จึงไม่ขัดต่อมาตรา 23 วรรคสอง
จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ
แม้กฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) ระบุว่ามิให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างก็ตาม แต่หากนายจ้างนั้นกำหนดข้อบังคับให้จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างอันมีผลให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าวก็กระทำได้ ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดให้จ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานจึงมีผลบังคับใช้
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้ค่าชดเชยหากโจทก์ตกลงรับข้อเสนอให้มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ทราบ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2551 โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาจ้าง ซึ่งข้อ 2.1 ระบุว่าลูกจ้าง (โจทก์) จะไม่ได้รับค่าชดเชย แสดงว่าโจทก์สมัครใจทำสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับค่าชดเชย อันเป็นการไม่ใช้บทบัญญัติ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หมวด 11 ค่าชดเชย ตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 ทั้งนี้โจทก์ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสามารถตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ได้ สัญญาจ้างในส่วนค่าชดเชยชอบด้วยกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13550/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายสถานประกอบกิจการและการบอกเลิกสัญญาจ้างงานภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 หมายถึง ผู้ประกอบกิจการย้ายสถานที่ผลิตสินค้า ขายสินค้าหรือสถานที่ให้บริการซึ่งมีอยู่เดิมจากแห่งหนึ่งไปยังสถานที่แห่งใหม่ เดิมปี 2536 โจทก์ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์มีสำนักงานเทพลีลาเป็นสถานที่ประกอบกิจการแห่งเดียว ต่อมาปี 2549 โจทก์เปิดสถานประกอบกิจการอีกแห่งหนึ่งแล้วจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสถานประกอบกิจการแห่งใหม่เป็นสำนักงานใหญ่และสำนักงานเดิมเป็นสำนักงานสาขา โจทก์ทยอยปิดสำนักงานเดิมเป็นแผนก ๆ โดยย้ายลูกจ้างไปปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ ครั้งสุดท้ายวันที่ 30 เมษายน 2552 โจทก์ย้ายลูกจ้างในแผนกที่เหลืออยู่ที่สำนักงานเดิมทั้งหมด ถือว่าเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว
เมื่อโจทก์จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ทำการสำนักงานใหญ่แล้วทยอยปิดส่วนงานที่สำนักงานเดิมเป็นแผนก ๆ ไปโดยโยกย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ทันที และในที่สุดโจทก์ประกาศปิดการดำเนินกิจการที่สำนักงานเดิมอย่างถาวร แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของโจทก์ว่าต้องการย้ายสถานประกอบกิจการจากสำนักงานเดิมไปยังสำนักงานใหญ่เพียงแห่งเดียวตั้งแต่ปี 2549 เพียงแต่ทยอยย้ายแผนกงานและลูกจ้างเท่านั้นไม่ได้ย้ายไปทั้งหมดในทันที การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้สำนักงานเดิมเป็นสาขาเป็นวิธีการหรือกระบวนการของการย้ายสถานประกอบกิจการของโจทก์เท่านั้น แม้จะใช้เวลาถึง 2 ปีเศษ ก็หาใช่โจทก์ย้ายสถานประกอบกิจการไปยังสถานที่อื่นซึ่งโจทก์มีอยู่ก่อนแล้วไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13416/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงห้ามแข่งขันหลังเกษียณ: ศาลตีความเคร่งครัดตามสัญญา หากไม่ได้ห้ามชัดเจนถือไม่ผิดสัญญา
สัญญาจ้างมีใจความว่า หากอายุสัญญาสิ้นสุดแล้ว ห้ามจำเลยทำงานในตำแหน่งใด ๆ หรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดในประเทศไทยซึ่งเป็นคู่แข่ง (ผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกา) ของโจทก์ เป็นเวลา 2 ปี ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์โดยระบุจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้เป็นการห้ามประกอบอาชีพอันเป็นการปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาดและจำเลยก็สามารถที่จะประกอบอาชีพหรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากข้อตกลงนี้ได้ ขอบเขตพื้นที่ที่ห้ามก็เฉพาะประเทศไทย ลักษณะของข้อตกลงเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมด เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับโจทก์เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นไปโดยชอบในเชิงของการประกอบธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ
ข้อตกลงในการห้ามจำเลยทำงานหลังจากพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของโจทก์เป็นข้อตกลงในการจำกัดสิทธิของจำเลย จึงต้องตีความในข้อตกลงดังกล่าวโดยเคร่งครัด เมื่อเงื่อนไขในข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ห้ามจำเลยเข้าทำงานหรือช่วยเหลือบริษัทอื่นใดซึ่งเป็นคู่แข่งของโจทก์กำหนดห้ามไว้เฉพาะบริษัทอื่นที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนนาฬิกาเท่านั้น การที่จำเลยลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์แล้วไปเข้าทำงานกับบริษัท ป. ซึ่งประกอบกิจการผลิตสายนาฬิกาส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ หาใช่เป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตตัวเรือนดังที่ข้อสัญญาดังกล่าวกำหนดห้ามไว้ไม่ การเข้าทำงานของจำเลยกับบริษัท ป. จึงไม่เป็นการผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13244/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้าง การคำนวณค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และการกำหนดค่าเสียหายซ้ำซ้อน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ต้องการให้มีการบอกเลิกสัญญาจ้างกันล่วงหน้าอย่างน้อย 1 รอบของการกำหนดจ่ายค่าจ้าง เมื่อนายจ้างลูกจ้างตกลงกันให้มีการบอกกล่าวล่วงหน้านานกว่ากำหนดดังกล่าวก็ย่อมทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย
ข้อตกลงว่าหากมีการเลิกจ้างจำเลยที่ 8 ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน 3 เดือน แต่จำเลยที่ 8 บอกเลิกจ้างในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ให้มีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2551 เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้างเพียง 2 วัน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 2 เดือน 28 วัน
แม้โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและค่าเสียหายการผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งเป็นเงินที่เรียกจากมูลกฎหมายที่แตกต่างกันมาในคราวเดียวกันได้ก็ตามแต่เมื่อคดีนี้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นมูลเหตุเดียวกันกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้วจึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนโดยอาศัยมูลเหตุเดียวกันย่อมเป็นการไม่ชอบ
การคำนวณจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอาศัยค่าจ้างอัตราสุดท้ายที่จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ การจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็คำนึงถึงค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับประกอบการพิจารณาด้วย ราคาค่าบัตรโดยสารเครื่องบินโจทก์ก็นำสืบว่ามีราคาเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง เพื่อป้องกันการได้เปรียบหรือเสียเปรียบจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอันทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนนี้ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11269/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีแรงงาน: สัญญาจ้าง, การผ่อนชำระหนี้, และการย้อนสำนวนเพื่อพิจารณาความรับผิด
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างลูกจ้างมีข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน นอกจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว ยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย และตามหนังสือรับรองและค้ำประกัน ข้อ 2 ก็ระบุว่า "หากปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานได้ทำความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่โจทก์ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือประมาท จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในความเสียหายนั้นๆ และยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนที่เสียหายไปนั้นทั้งสิ้น รวมทั้งความเสียหายทั้งปวง ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่จำกัดวงเงิน และให้ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วม..." ข้อผูกพันของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์จึงหมายถึงจำเลยที่ 2 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มูลละเมิดระหว่างจำเลยที่ 1 และโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เดือนละ 1,350 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2548 อันเป็นการผ่อนชำระหนี้ขณะยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี จึงมีผลทำให้อายุความในส่วนนี้สะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ถัดจากวันผ่อนชำระหนี้โจทก์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 ทั้งการที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดวันที่ 6 กันยายน 2550 ยังไม่พ้น 10 ปี นับจากวันที่ 17 ธันวาคม 2544 คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น โจทก์มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10158/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน: การนับอายุความเริ่มจากวันกระทำละเมิด/ผิดสัญญา และผลของการพิพากษายกฟ้องเดิม
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งหกชดใช้ค่าเสียหาย ระบุว่าจำเลยทั้งหกผิดสัญญาจ้าง และในคำฟ้องข้อ 4 ระบุว่าในส่วนความรับผิดทางละเมิดจำเลยทั้งหกต้องรับผิดตามคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดโดยให้จำเลยทั้งหกรับผิดตามส่วน คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งหกรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน ผู้อำนวยการของโจทก์ทราบการกระทำผิดและทราบว่าจำเลยทั้งหกเป็นผู้กระทำผิดโดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความผิดวินัยพนักงาน และความรับผิดในทางแพ่งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2541 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 จึงเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคสอง ส่วนการฟ้องฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 กล่าวคือนับแต่วันที่จำเลยทั้งหกร่วมกันวิเคราะห์และอนุมัติปล่อยสินเชื่อผิดระเบียบ ซึ่งเป็นวันผิดสัญญาจ้างแรงงาน อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ นับถึงวันฟ้องเกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความทั้งฐานละเมิดและฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน
คดีก่อนศาลแรงงานภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ เนื่องจากผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีอำนาจแต่งตั้งทนายความโดยไม่ได้ระบุในคำพิพากษาว่าให้ยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์ในการนำคดีมาฟ้องใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 4 ถึงที่สุดตามมาตรา 193/17 วรรคสอง
of 69