คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ขอบเขต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 651 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15732/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ใช้/สนับสนุนการกระทำความผิด: การชิงทรัพย์เกินเลยขอบเขตที่ใช้
จำเลยที่ 2 อ้างว่า ผู้เสียหายเป็นหนี้แล้วไม่จ่าย ขอให้จำเลยที่ 1 จัดการกับผู้เสียหายโดยวิธีใดก็ได้ให้ผู้เสียหายไปอยู่ที่อื่น หรือหายไปจากโลกได้ยิ่งดีแล้วจะมีรางวัลให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ข้อความดังกล่าวย่อมหมายความว่าจำเลยที่ 2 ใช้จำเลยที่ 1 ไปทำให้ผู้เสียหายเกรงกลัวไม่อาจใช้ชีวิตอยู่ในที่อยู่อาศัยจนต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นหรือฆ่าผู้เสียหายอันเป็นผลกระทบต่อจิตใจและชีวิตของผู้เสียหายเท่านั้น มิได้มุ่งประสงค์ต่อผลในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงมิได้มีเจตนาให้จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 1 ไปชิงทรัพย์ผู้เสียหายย่อมเกินไปจากขอบเขตที่จำเลยที่ 2 ใช้ และโดยพฤติการณ์จำเลยที่ 2 ไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะไปชิงทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับผู้อื่นชิงทรัพย์ผู้เสียหาย ตาม ป.อ. มาตรา 87 วรรคแรก และไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 จ้างวานให้จำเลยที่ 1 ก่อเหตุคดีนี้ โจทก์หาได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15200/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร: บรรลุนิติภาวะ หรือเมื่อไม่สามารถดูแลตนเองได้ และค่าฤชาธรรมเนียม
หน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นให้กระทำขณะเป็นผู้เยาว์ หรือหากต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะก็เฉพาะที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 แสดงว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องกระทำจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจบรรลุนิติภาวะได้ทั้งการสมรสเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การที่ศาลล่างกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้จำเลยซึ่งเป็นบิดาชำระเป็นช่วงระยะเวลาจนถึงบุตรผู้เยาว์อายุ 20 ปี นั้น จึงไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไขให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ส่วนการที่จำเลยฎีกาอ้างว่า มีภาระค่าใช้จ่ายมาก มีหนี้สิน และต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดกับภริยาที่จดทะเบียนสมรสอีก 3 คน เพื่อขอลดค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น ล้วนเป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยไม่เป็นเหตุให้ยกอ้าง และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจำเลยสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม คดีนี้มีประเด็นในชั้นอุทธรณ์เพียงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับจึงไม่ชอบ เห็นควรให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14813/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตค่ารักษาพยาบาลตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน: ค่าห้อง-อาหาร รวมในค่ารักษาพยาบาล 110,000 บาท
ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 "ค่ารักษาพยาบาล" หมายความว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจ การรักษา การพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นเพื่อให้ผลของการประสบอันตรายหรือการเจ็บป่วยบรรเทาหรือหมดสิ้นไป และหมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องใช้ หรือวัตถุที่ใช้แทนหรือช่วยอวัยวะที่ประสบอันตรายด้วย ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไปตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 6 จึงเป็นส่วนหนึ่งของ "ค่ารักษาพยาบาล" ด้วย เนื่องจากถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่จำเป็น
กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 6 มีเจตนารมณ์ให้นายจ้างรับผิดในส่วนของค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไป โดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่นายจ้างหรือกองทุนเงินทดแทนรับผิดไม่เกินวันละ 1,300 บาท ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการทั่วไปรวมอยู่ในค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์มีสิทธิได้รับ 110,000 บาท แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13703/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบพยานนอกคำให้การ และขอบเขตการรับฟังพยานหลักฐานในคดีทรัพย์สิน
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยได้มาจาก ข. ให้จำเลยในระหว่างมีชีวิต ย่อมแตกต่างจากการได้มาโดยพินัยกรรม ซึ่งเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน ที่จำเลยนำสืบสำเนาพินัยกรรมจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ แม้ศาลชั้นต้นรับสำเนาพินัยกรรมเข้าไว้ในสำนวนก็มิได้หมายความว่าศาลชั้นต้นรับไว้เป็นพยานหลักฐานของจำเลยแล้ว เพราะเป็นเพียงการรับไว้เพื่อจะวินิจฉัยต่อไปว่าจะรับฟังได้หรือไม่ เมื่อเป็นการนำสืบนอกคำให้การ จึงไม่อาจรับฟังสำเนาพินัยกรรมเป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21745/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพาอาวุธปืนในชุมนุมชน: การพิจารณาขอบเขต 'ชุมนุมชน' ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน
ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปในชุมนุมชน ซึ่งคำว่า "ชุมนุมชน" หมายความถึง หมู่ชนที่มารวมกันมาก ๆ โดยเป็นการรวมบุคคลหลาย ๆ คนโดยทั่วไป มิใช่บุคคลเฉพาะบางหมู่บางพวก แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงโดยสภาพเข้าไปในบริเวณที่มีหมู่ชนมารวมกันมาก ๆ ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยถืออาวุธปืนพกยืนอยู่บริเวณข้างกำแพงด้านนอกแม้ไม่ได้เข้าไปที่ศาลหลักเมืองบริเวณที่จัดงานแสดงหมอลำและชกมวยก็ตาม แต่บริเวณที่จำเลยยืนถืออาวุธปืนดังกล่าวมีรถยนต์ของผู้มาเที่ยวงานจอดอยู่ห่างจากปากทางเข้าออกงานประมาณ ๒๐ เมตร แสดงว่าบริเวณที่จำเลยยืนถืออาวุธปืนนั้นอยู่ในที่ซึ่งหมู่ชนมารวมกันมาก ๆ มาจอดรถเพื่อเข้าร่วมงาน ถือว่าการกระทำของจำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในชุมนุมชน ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13582/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน: ขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญา
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม สัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548
โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าสินค้าของโจทก์สูญหายตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 (วันทำสัญญาค้ำประกัน) ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2548 เป็นจำนวนเงินเท่าใด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 127/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าต่างประเทศ, การยกเลิกความผิดฐานปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า, และขอบเขตการอุทธรณ์
ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าว แต่จำเลยได้ขอแก้ไขคำให้การก่อนสืบพยานจำเลยเป็นให้การรับสารภาพในข้อหานี้แล้ว เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 222 ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 26 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมว่า ในวันดังกล่าวโจทก์ จำเลย และทนายจำเลยมาศาล จำเลยแถลงขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้อง ส่วนข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ยังคงยืนยันให้การปฏิเสธ ตามคำให้การจำเลยที่ศาลบันทึกไว้ การให้การรับสารภาพของจำเลยในข้อหาความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้อง เป็นการให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและเป็นการร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยก่อนศาลพิพากษา เมื่อความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงไม่ใช่ความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยและศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อนหากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวได้ ดังนั้น คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดในฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ตามฟ้องได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานนี้โดยระบุในคำพิพากษาว่าจำเลยให้การปฏิเสธและโจทก์ไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดในข้อหาความผิดฐานดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง
แม้ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังมีบทบัญญัติในมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 บัญญัติให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้น เป็นความผิดทางอาญา โดยมิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมดังเช่นที่บทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ความคุ้มครองไว้ กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติใน ป.อ. ดังกล่าวขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และเมื่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะซึ่งใช้บังคับในภายหลัง มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ยกเลิกเฉพาะ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2504 เท่านั้น ศาลจึงชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นซึ่งได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ได้ เพราะบทบัญญัติมาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 แห่ง ป.อ. ดังกล่าวมิได้ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่จำเลยผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "POSH RACING PROJECT" มิใช่การละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร แต่เป็นกรณีที่จำเลยคิดเครื่องหมายการค้าคำว่า "POSH RACING PROJECT" ขึ้นเอง มิใช่การปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยสุจริตตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 โจทก์ร่วมมิได้นำสินค้าของโจทก์ร่วมเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทย จำเลยมิได้มีเจตนาปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักร พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มิได้ห้ามผู้จำหน่ายสินค้าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยจึงมิใช่เรื่องแปลกดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยนั้น อุทธรณ์ดังกล่าวทั้งหมดเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยในข้อหานี้ 5,000 บาท และไม่ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งรับรองว่ามีเหตุอันสมควรอุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการขนส่งระหว่างประเทศ: การจำกัดสิทธิในการหักภาษีซื้อ
การประกอบกิจการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเลที่กระทำโดยผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลที่จะอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น หมายถึงกิจการขนส่งที่บางส่วนได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 วรรคสองและวรรคสาม กิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากในราชอาณาจักรออกไปนอกราชอาณาจักร และในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักร ถือว่าเป็นกิจการที่บางส่วนได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรจึงอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สำหรับกิจการของโจทก์ในส่วนที่เป็นการขนส่งสินค้าจากนอกราชอาณาจักรแห่งหนึ่งไปยังนอกราชอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งมีลักษณะเป็นการรับขนสินค้านอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น ถือว่าเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนใดได้ทำหรือได้ใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 ภาษีซื้อที่เกี่ยวกับกิจการในส่วนนี้ย่อมไม่อาจนำมาหักในการคำนวณภาษีได้ ดังนั้น แม้ในเดือนภาษีพิพาทโจทก์ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าภาษีซื้อดังกล่าวเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการขนส่งสินค้าจากในราชอาณาจักร ออกไปนอกราชอาณาจักร หรือจากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงไม่อาจนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บดังกล่าวมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากเป็นภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8168/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม-การย้ายทาง-ขอบเขต-การพิพากษาเกินคำขอ-ศาลอุทธรณ์แก้ไขได้-ปัญหาความสงบเรียบร้อย
โจทก์กับบริวารใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 บริเวณที่เป็นทางคอนกรีตเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะมาตั้งแต่ปี 2516 ถือว่าโจทก์ใช้สิทธิเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 มาโดยตลอดจำเลยทั้งสี่กับพวกมาซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 หลังจากโจทก์กับบริวารใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว นับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางในที่ดินนี้จนกระทั่งจำเลยทั้งสี่รับโอนที่ดินโฉนดดังกล่าว ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ตกอยู่ในภาระจำยอมของที่ดินโจทก์โดยอายุความแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสี่กับพวกทุบทำลายทางคอนกรีตที่โจทก์ใช้เป็นทางพัฒนาที่ดินและแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้ว ทำถนนบริเวณกึ่งกลางที่ดินกว้าง 8 เมตร อันเป็นทางพิพาท โจทก์กับบริวารจึงย้ายมาใช้ทางพิพาท การที่จำเลยทั้งสี่กับพวกซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ทุบทำลายทางคอนกรีตอันเป็นทางภาระจำยอมเดิมของโจทก์แล้วไปทำถนนบริเวณกึ่งกลางที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 จึงเป็นกรณีที่เจ้าของทรัพย์ให้ย้ายภาระจำยอมไปยังส่วนอื่น เพื่อประโยชน์แก่จำเลยทั้งสี่ที่เป็นเจ้าของภารยทรัพย์นั้น จำเลยทั้งสี่ประสงค์ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับภาระะจำยอมเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ที่โจทก์มาใช้ทางพิพาทจึงไม่จำต้องนับอายุความกันใหม่
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์ขอให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอม ในเรื่องทางรถยนต์ด้วยและข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อจำเลยทั้งสี่ย้ายภาระจำยอมเดิมมาเป็นทางพิพาทที่มีสภาพเป็นถนน สำหรับรถยนต์แล่นเข้าออก และโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า เมื่อจำเลยทั้งสี่ย้ายทางภาระจำเลยเดิมมาเป็นทางใหม่ โจทก์และบริวารใช้รถยนต์แล่นผ่านเข้าออกทางพิพาท ฟังได้ว่า ทางดังกล่าวตกอยู่ภาระจำยอมทางรถยนต์ด้วย
โจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ได้ภาระจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงและข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสี่ย้ายทางภาระจำยอมไปยังทางที่พิพาท อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่จำเลยทั้งสี่ จนทำให้โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ทั้งแปลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ก็ตาม แต่ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ทางภาระจำยอมแล้วพิพากษาให้โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7995 ซึ่งไม่เป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1392 ก็ตาม แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งทางที่พิพาทคงเป็นเพียงทางภาระจำยอม มีผู้ได้ภาระจำยอมในทางที่พิพาทเพียงไม่กี่รายเท่านั้น การที่โจทก์ใช้ทางพิพาทอาจไม่ได้รับความสะดวกบ้างแต่ไม่ถึงกับทำให้เกิดความไม่สงบในสังคม ปัญหาดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาในปัญหาดังกล่าวมา จึงเป็นการพิพากษาในสิ่งใดๆ นอกเหนือจากคำฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความผิดฐานกระทำชำเราตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 หลังแก้ไข: การสัมผัสภายนอกไม่ใช่ความผิด
การกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 277 เดิม คือ การร่วมประเวณีหรือการร่วมเพศ โดยต้องเป็นการกระทำถึงขั้นใช้อวัยวะเพศของชายใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า "การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำ กระทำกับอวัยะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น" เห็นได้ว่า การแก้ไขดังกล่าวเป็นการขยายขอบเขตของการกระทำชำเราให้กว้างขึ้นเฉพาะในส่วนเพศของผู้กระทำกับเพศของผู้ได้รับการกระทำ อวัยวะและสิ่งที่ใช้กระทำกับอวัยวะที่ได้รับการกระทำกับเจตนาพิเศษในการกระทำ โดยจากเดิมเพศชายกระทำกับเพศหญิงเท่านั้น เป็นเพศใดกระทำกับเพศใดก็ได้ จากเดิมใช้อวัยวะเพศชายกระทำกับอวัยวะเพศหญิงเท่านั้น เป็นใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำเพศใดก็ได้กระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่นเพศใดก็ได้ หรือใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศ หรือทวารหนักของผู้อื่นเพศใดก็ได้ แล้วแต่กรณี และต้องกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ อันเป็นการทำให้บุคคลทุกเพศได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกัน แต่ในส่วนลักษณะของการกระทำนั้น มิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด จึงยังต้องเป็นการกระทำถึงขั้นใช้อวัยวะเพศหรือสิ่งอื่นใดใส่ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะต่างๆ ดังกล่าวอันเป็นอวัยวะที่เป็นช่องหรือรูเปิดของร่างกาย ดังนั้น การที่จำเลยใช้อวัยวะเพศถูไถบริเวณอวัยวะเพศของผู้เสียหายอันเป็นการสัมผัสภายนอก ไม่มีการล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศผู้เสียหาย จึงยังไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 277 แต่เป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศ อันเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคแรก การกระทำชำเรารวมถึงการกระทำอนาจารอยู่ในตัว ศาลจึงลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารตามที่พิจารณาได้ความ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
of 66