คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
มอบอำนาจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 648 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4288/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดี เนื่องจากไม่ใช่ผู้มีสิทธิโดยตรงและไม่ได้รับมอบอำนาจ
โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินไว้แทน น. ซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ทั้งสาม น. ได้ ตกลงจะขายที่ดินดังกล่าวกับที่ดินแปลงอื่นรวม 73 แปลงให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ทั้งสามได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการล่วงหน้าและรับเงินมัดจำจำนวน 8,000,000 บาท ไปจากจำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ทั้งสามจึงบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนแก่โจทก์ทั้งสาม และให้โจทก์ทั้งสามริบเงินมัดจำจากจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องโจทก์ทั้งสามเป็นตัวแทนของ น. ในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน และดำเนินการต่างๆ ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่ น. ทำไว้กับจำเลยที่ 1 สิทธิในที่ดินและตามสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เป็นของโจทก์ทั้งสาม หากมีการโต้แย้งสิทธิก็เป็นการโต้แย้งสิทธิของ น. มิใช่โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงมิใช่บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายแพ่งที่จะนำคดีมาสู่ศาลได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3732/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีจำนองเดิมถึงที่สุดแล้ว ฟ้องใหม่โต้แย้งการมอบอำนาจเดิม ถือเป็นการฟ้องซ้ำ
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับโจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีก่อน ร่วมกันรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. กับพวกรวม 6 คน ในฐานะที่จำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) เป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และคดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) ทำสัญญาจำนองที่ดินรวมที่ดินที่พิพาทในคดีนี้ไว้แก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) และจำเลยอื่นในคดีก่อนร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองรวมทั้งที่ดินที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ (จำเลยที่ 1 คดีนี้) หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) และจำเลยที่ 6 ในคดีก่อนจนกว่าจะครบ ส่วนคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์คดีก่อนและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ว่า การมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย นิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาท ดังนี้ ฟ้องโจทก์คดีนี้ละคดีก่อนจึงมีมูลมาจากสัญญาจำนองฉบับเดียวกัน เพียงแต่โจทก์กล่าวอ้างในคดีก่อนว่า โจทก์ (จำเลยที่ 2 ในคดีนี้) ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองเพราะห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 1 (โจทก์คดีก่อน) และจำเลยที่ 1 (โจทก์คดีก่อน) บอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่หาได้ให้การต่อสู้ว่าการมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทกับโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งๆ ที่โจทก์อาจต่อสู้ไว้ในคดีก่อนเพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทได้ ฉะนั้น แม้คดีนี้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องเนื่องจากไม่มีต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจมาแสดง การทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะ ซึ่งดูประหนึ่งว่าจะมิได้เกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีก่อนก็ตาม แต่ตามเนื้อหาแห่งคดีที่โจทก์นำสืบและเนื้อความแห่งฎีกาของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์โต้เถียงความถูกต้องของสัญญาจำนองที่ดินพิพาท และโจทก์ไม่จำต้องผูกพันตามสัญญาจำนองที่ดินพิพาทดังกล่าว คดีทั้งสองจึงมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่า โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ไว้แก่จำเลยที่ 1 หรือไม่นั่นเอง เมื่อคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสามจึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่ก็เป็นบุคคลที่โจทก์อ้างว่ารับมอบอำนาจซึ่งสืบสิทธิมาจากจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีภาษีอากรต้องยื่นคำร้องขอพิจารณาการประเมินใหม่โดยผู้มีอำนาจ หรือมีเอกมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย มิฉะนั้นขาดอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 26 กำหนดให้คำร้องขอพิจารณาการประเมินใหม่ต้องเขียนลงในแบบพิมพ์และผู้รับประเมินต้องลงนาม หากผู้รับประเมินต้องการให้ตัวแทนลงนามแทนต้องมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 37 เมื่อผู้ลงนามเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในนามโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าเป็นผู้แทนซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และไม่ปรากฏว่าผู้ลงนามได้รับมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ลงนามเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แทนโจทก์ ทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจให้สัตยาบันภายหลังได้ กรณีถือว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 7 (1) และมาตรา 8

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15187/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบอำนาจล่วงหน้าและการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการฟ้องเพิกถอนจำนอง
การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจล่วงหน้าไว้โดยมิได้มีการกรอกข้อความรายละเอียดลงไป แสดงว่าโจทก์รู้ดีและยอมรับอยู่แล้วว่าผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทจะสามารถนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปกระทำการโอนขายต่อหรือจำนองหรือกระทำการใด ๆ ก็ได้ภายหลังที่พ้นกำหนดข้อห้ามโอน 5 ปีนับแต่ออกเอกสาร น.ส.3 ก. แล้ว เมื่อจำเลยรับจำนองที่ดินโดยสุจริตจากผู้ที่ซื้อที่ดินพิพาทไปตามวิธีปฏิบัติดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองเพื่อให้โจทก์มิต้องชำระหนี้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๕ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15057/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การมอบอำนาจโดยสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ ไม่ใช่ตัวกลุ่มออมทรัพย์
สมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านบางเท่าแม่ ประชุมร่วมกันและลงลายมือชื่อร่วมกัน มอบอำนาจให้ ส. ร. และ ม. ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย มิใช่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านบางเท่าแม่ เป็นผู้มอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์แต่อย่างใด การร้องทุกข์จึงเป็นไปโดยชอบ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120,121 ศาลฎีกาเห็นสมควรยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1344/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่ติดอากรแสตมป์เป็นโมฆะ ทำให้ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจฟ้องคดี
ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นใบมอบอำนาจตามประมวลรัษฎากรปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในศาลชั้นต้น และเพิ่งจะยกขึ้นเป็นข้อโต้เถียงคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้
หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องและดำเนินคดี หากไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นาย ก. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ นาย ก. จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองแทนโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10687/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีล้มละลาย: การมอบอำนาจให้สถาบันการเงินดำเนินคดีแทนเจ้าหนี้ แม้ไม่มีข้อความระบุในวัตถุประสงค์
แม้วัตถุประสงค์ของโจทก์และธนาคาร ท. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตามหนังสือรับรองจะมิได้มีข้อความว่า โจทก์สามารถมอบอำนาจให้สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นฟ้องคดีหรือดำเนินคดีแทน และธนาคาร ท. สามารถเป็นผู้รับมอบอำนาจจากสถาบันการเงินอื่นหรือนิติบุคคลอื่นในการฟ้องคดีหรือดำเนินคดีแทนสถาบันการเงินหรือนิติบุคคลอื่นได้ก็ตาม แต่ทั้งโจทก์และธนาคาร ท. ต่างก็มีวัตถุประสงค์ฝากเงิน ให้กู้ยืมเงิน ประกอบกิจการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน นายหน้า ตัวแทนเรียกเก็บหนี้ รับซื้อ รับโอนลูกหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยทั้งห้ากับพวกเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งห้ากับพวกชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีล้มละลายนี้ได้ และย่อมมีอำนาจมอบอำนาจให้ธนาคาร ท. ดำเนินคดีนี้และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ด้วย ธนาคาร ท. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10323/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีได้ แม้ไม่ได้เป็นทนายความ หากเป็นฐานะคู่ความตามกฎหมาย
ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอยู่ในฐานะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) จึงมีอำนาจยื่นคำฟ้องต่อศาลได้และชอบที่จะเรียงหรือแต่งคำฟ้องรวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย เพราะมิใช่การว่าความอย่างทนายความตามมาตรา 60 วรรคสองและ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10228/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้รับมอบอำนาจฟ้องแทนและการแต่งคำฟ้องโดยมิได้เป็นทนายความ
การที่โจทก์มอบอำนาจให้ ส. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนต่อจำเลยทั้งสอง ส. ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำกิจการที่ตัวการมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไป ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 1 ได้มีบทวิเคราะห์ศัพท์ คำว่าคู่ความหมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องหรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้นๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ ดังนั้น ส. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทน ย่อมอยู่ในฐานะคู่ความมีอำนาจยื่นคำฟ้องต่อศาลได้และชอบที่จะเรียงหรือแต่คำฟ้องรวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย และเมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ทนายความฯ มาตรา 33 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นทนายความว่าความในศาลหรือแต่งคำฟ้อง แต่ก็บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่าการเรียงหรือแต่งฟ้องนั้น ไม่ห้ามไปถึงบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น ส. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แม้มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง และการเรียงหรือแต่งคำฟ้องแทนโจทก์ก็มิใช่การว่าความอย่างทนายความดังที่ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง บัญญัติห้ามไว้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10081/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแทนของตัวแทนที่มิได้เป็นทนายความ: คำฟ้องชอบด้วยกฎหมายเมื่อได้รับมอบอำนาจตาม ป.วิ.พ.
การที่โจทก์มอบอำนาจให้ ส. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนแก่จำเลยทั้งสอง ส. ในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำกิจการที่ตัวการมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 1 ได้มีบทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า "คู่ความ" หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้นๆ ตามกฎหมาย หรือในฐานะทนายความ ดังนั้น ส. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทนย่อมอยู่ในฐานะคู่ความมีอำนาจยื่นคำฟ้องต่อศาลได้และชอบที่จะเรียงหรือแต่งฟ้องรวมทั้งลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์ได้ด้วย และ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง แต่ก็บัญญัติยกเว้นไว้ว่า การแต่งฟ้องนั้นไม่ห้ามไปถึงบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น แม้ ส. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มิได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง และการเรียงหรือแต่งฟ้องแทนโจทก์มิใช่การว่าความอย่างทนายความดังที่ ป.วิ.พ.มาตรา 60 วรรคสอง บัญญัติห้ามไว้ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
of 65