พบผลลัพธ์ทั้งหมด 634 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5856/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นในคดีชู้สาว ต้องมีพฤติการณ์เปิดเผยความสัมพันธ์
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้" จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การที่ภริยาเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นโดยไม่มีเงื่อนไขต้องฟ้องหย่าสามีมาด้วยนั้น ต้องปรากฏพฤติการณ์ด้วยว่าหญิงอื่นนั้นได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์อย่างไร เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีพฤติการณ์แสดงตนโดยเปิดเผยอย่างไร อันเป็นประเด็นแห่งคดีที่โจทก์จะนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 313/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความค่าทดแทนทางแพ่งจากการเปิดใช้ทางจำเป็นบนที่ดิน และการพิสูจน์กรรมสิทธิ์หลังการเวนคืน
การเรียกร้องค่าทดแทนเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อชดเชยความเสียหายอันที่เกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสี่ โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนการใช้ที่ดินจากจำเลยเป็นคดีต่างหากได้ หากศาลในคดีก่อนวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยได้สิทธิทางจำเป็นบนที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โดยโจทก์ทั้งสามไม่จำต้องฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนมาในคำให้การ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของคู่ความว่า มีการบังคับคดีเปิดทางจำเป็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 โจทก์ทั้งสามจึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นบนที่ดินของโจทก์ทั้งสามนับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2555 อายุความสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องอายุความใช้ค่าทดแทนในการเปิดทางจำเป็นไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลานับแต่วันที่มีการเปิดใช้ทางจำเป็นจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกค่าทดแทนในคดีนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3296/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าใช้จ่ายในการเตรียมแต่งงาน (ถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง) ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมตามฐานะทางสังคม และผู้ผิดสัญญาหมั้นต้องรับผิดชอบ
พิธีสมรสในปัจจุบันมิได้จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ทางขนบธรรมเนียมประเพณีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีจุดประสงค์เพื่อแสดงถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของคู่บ่าวสาวรวมถึงครอบครัวของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในงานพิธีสมรสจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของคู่บ่าวสาว สถานะทางการเงินตลอดจนสถานภาพทางสังคมของทั้งคู่ ดังจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันคู่บ่าวสาวจะใช้บริการจัดเตรียมงานโดยติดต่อกับบริษัทที่ทำธุรกิจวางแผนจัดงานแต่งงานที่ให้บริการคำปรึกษาและประสานงานเกี่ยวกับงานหมั้นและงานแต่งงาน ด้วยการแนะนำรูปแบบของงานให้เหมาะสมกับคู่บ่าวสาว และควบคุมให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ภายในงบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งจะให้การบริการโดยดูแลเรื่องเครื่องแต่งกายและภาพถ่ายของคู่บ่าวสาวตั้งแต่การถ่ายภาพก่อนวันแต่งงานและวันหมั้นไปจนถึงพิธีสมรส ทำให้การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งกลายเป็นที่นิยมอย่างหนึ่งที่คู่รักแทบทุกคู่ต่างถ่ายภาพก่อนวันแต่งงานเตรียมไว้ เพื่อนำภาพถ่ายไปใช้ทำการ์ดแต่งงาน หรือนำภาพถ่ายไปใช้ตกแต่งในการจัดงานวันหมั้นหรือวันทำพิธีสมรส ตลอดจนทำวิดีโอคู่บ่าวสาวนำเสนอในงานแต่งงาน และเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกภายหลังวันงานแต่งงาน ดังนี้ ทำให้การถ่ายภาพพรีเวดดิ้งมิใช่สิ่งฟุ่มเฟือยแต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการสมรสที่จำเป็นสำหรับคู่บ่าวสาวเพื่อให้งานพิธีสมรสเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (2) เมื่อได้ความว่าในการเตรียมการสมรสโจทก์กับจำเลยได้ร่วมกันตัดสินใจจัดเตรียมงานโดยกำหนดให้มีการถ่ายภาพพรีเวดดิ้งก่อนแต่งงานจึงเป็นความตั้งใจและสมัครใจของทั้งสองฝ่ายที่ประสงค์จะถ่ายภาพพรีเวดดิ้งก่อนแต่งงาน มิใช่เกิดจากความประสงค์ของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวการดำเนินการของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการเตรียมการก่อนสมรสโดยสุจริต ทั้งโจทก์และจำเลยต่างประกอบอาชีพแพทย์มีรายได้สูง ย่อมมีสถานภาพทางสังคมที่ดี มีเกียรติ และเป็นที่ยอมรับนับถือของคนทั่วไป เมื่อคำนึงถึงสถานะทางการเงินตลอดจนสถานภาพทางสังคมของทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามฐานานุรูปและตามสมควร ประกอบกับเหตุที่ผิดสัญญาหมั้นเกิดจากความผิดของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ควรให้ฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ จึงรับฟังได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายเนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (2) โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าทดแทนหลังการหย่าตกทอดถึงทายาทและปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่
เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง ซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ โดยสิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น แม้จะสละหรือโอนมิได้และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 1598/41 ก็ตาม แต่โจทก์มีสิทธิดังกล่าวก่อนที่จะถึงแก่ความตาย ประกอบกับโจทก์ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยที่ 1 ตามสิทธิแล้ว สิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์โดยแท้ และเป็นกองมรดกของโจทก์ตามมาตรา 1600 เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตายสิทธินี้ย่อมตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599