คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ประกันภัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 702 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อบุคคลภายนอกกรณีผู้ขับขี่ได้รับความยินยอมตามกรมธรรม์
โจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ครอบครองรถร่วมกัน ส่วนจำเลยที่ 4 รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์นั้นไปในทางการที่ใช้หรือจ้างวานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดต่อ ว. ผู้ตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของผู้ตาย อันเป็นการบรรยายฟ้องไปตามข้อเท็จจริงเท่าที่โจทก์ทั้งห้าทราบ โดยเห็นว่าข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าคือในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันเกิดเหตุ ซึ่งความผิดของจำเลยที่ 4 จะมีประการใดย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความรับผิดของผู้รับประกันภัยค้ำจุน โดยจะต้องพิจารณาเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยประกอบด้วย เมื่อผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิด และเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 4 กำหนดว่า ผู้รับประกันภัยจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับรถโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัยเอง เช่นนี้ การที่ศาลอุทธรณ์นำเงื่อนไขดังกล่าวมาวินิจฉัยโดยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยอันเป็นไปตามเงื่อนไขแล้วก็เพื่อวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามที่โจทก์ทั้งห้าฟ้องนั่นเอง จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
กรมธรรม์ประกันภัยเป็นแบบไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่และข้อเท็จจริงได้ความว่า ม. ภริยาของจำเลยที่ 3 ได้ยืมรถยนต์คันที่เอาประกันภัยจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปใช้ จำเลยที่ 1 เป็นน้องชายของจำเลยที่ 3 ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเกิดเหตุคดีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ ม. ภริยาจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขอยืมรถที่พยานยืมจากบิดาเพื่อนำบุตรของจำเลยที่ 1 ไปรักษาที่คลินิก ศ. พยานจำเลยที่ 4 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ขอยืมรถยนต์คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 3 ไปใช้ก็ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 อีก ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถคันเกิดเหตุจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นญาติขับรถคันเกิดเหตุได้ ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 4 ระบุว่า บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ซึ่งหมายความว่า นอกจากรับผิดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยทำละเมิดต่อผู้อื่นตามข้อ 1 แล้ว จำเลยที่ 4 ยังยอมรับผิดในกรณีที่ผู้อื่นเป็นผู้ทำละเมิดโดยผู้นั้นได้ขับรถคันที่จำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยถือว่าได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเสมือนผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามข้อสัญญาประกันภัยดังกล่าว
จำเลยที่ 4 วางเงินที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อชำระแก่ทายาทผู้ตายโดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์ทั้งห้าหรือญาติผู้ตายจะรับเงินได้ก็ต่อเมื่อคดีแพ่งของจำเลยที่ 4 ถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงไม่อาจรับเงินได้เนื่องจากติดเงื่อนไขที่จำเลยที่ 4 กำหนดไว้ในการวางเงินดังกล่าว ดังนั้น การวางเงินโดยมีเงื่อนไขดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ชำระเงินนั้นให้โจทก์ทั้งห้าแล้ว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ศาลจะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นฝ่ายแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งรวมถึงค่าทนายความให้แก่โจทก์ทั้งห้าได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 4 อย่างมากแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขดุลพินิจของศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15978/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิด vs. ประกันภัย: การกำหนดอายุความที่ถูกต้องสำหรับลูกหนี้ร่วม
การวินิจฉัยว่าคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงก่อนว่าวันที่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องอันเป็นวันเริ่มนับอายุความนั้น เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด จึงจะสามารถวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่าคดีโจทก์ที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อฎีกาของโจทก์ที่ 2 เป็นฎีกาที่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกา เมื่อโจทก์ที่ 2 เรียกให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 90,000 บาท ซึ่งทุนทรัพย์ระหว่างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นมูลหนี้ที่แบ่งแยกจากกันได้ คดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ภายหลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 ให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวนว่ามิได้เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท แสดงว่าโจทก์ทั้งสองทราบอยู่แล้วว่าโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทก่อให้เกิดเหตุในคดีนี้ ทั้งในวันเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองได้พบกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองที่สถานีตำรวจภูธรหนองแค โจทก์ทั้งสองจึงทราบถึงตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544 โจทก์ที่ 1 ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในทางละเมิดต่อจำเลยทั้งสามได้นับแต่วันดังกล่าว โดยไม่จำต้องรอให้ศาลในคดีส่วนอาญามีคำพิพากษาว่าโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นฝ่ายกระทำโดยประมาทแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ที่ 1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงขาดอายุความ
ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง จะนำอายุความในมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับจำเลยที่ 3 มิได้ เหตุเกิดวันที่ 11 สิงหาคม 2544 โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีวันที่ 12 มีนาคม 2546 คดีโจทก์ทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงไม่ขาดอายุความ ทั้งโจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ละคนต้องชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ทั้งสองโดยสิ้นเชิงเพียงครั้งเดียว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 ซึ่งมาตรา 295 บัญญัติให้กำหนดอายุความของลูกหนี้ร่วมคนใด ก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนี้ แม้ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยได้ขาดอายุความไปแล้วก็เป็นคุณเฉพาะแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น หามีผลถึงจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ไม่ และการที่คดีขาดอายุความสำหรับจำเลยที่ 2 ก็ไม่ใช่เหตุทำให้หนี้ดังกล่าวระงับไป ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ 1 ปี ยกฟ้องถึงจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยด้วยนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ปัญหาข้อที่ว่าจะใช้บทบัญญัติอายุความละเมิดหรืออายุความประกันวินาศภัยมาใช้บังคับนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15977/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีประกันภัย: นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยรู้ตัวผู้ละเมิด ไม่ใช่วันที่ผู้รับประกันภัยรู้
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ที่เสียหาย ที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์และอยู่ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่ในมูลหนี้ต่อบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ประกอบ 226 วรรคหนึ่งนั้น ในการนับอายุความของโจทก์ดังกล่าว ต้องนับตามสิทธิของผู้เอาประกันภัย คดีนี้เมื่อสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิ ก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัย คือ ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทนของผู้เอาประกันได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเช่นกัน หาใช่นับอายุความ ตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ เมื่อได้ความว่า ผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกัน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้รู้ตัวผู้ขับรถยนต์อีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใดในวันที่ 3 เมษายน 2546 ซึ่งเป็นวันที่พนักงานสอบสวนนัดผู้ขับรถของผู้เอาประกันมาตกลงกับจำเลยที่ 1 และเป็นวันที่ผู้ขับรถของผู้เอาประกันภัยพบกับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์เป็นครั้งแรก ฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 8 ธันวาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี เมื่อนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2546 ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15400/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชดใช้ค่าเสียหายจากการลักทรัพย์: การรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัยและการคำนวณค่าเสียหายที่แท้จริง
ฎีกาของจำเลยที่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์และไม่มีเจตนากระทำความผิด ซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยและไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ขณะเกิดเหตุรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักไปมีราคา 30,400 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงมีสิทธิเรียกร้องราคารถจักรยานยนต์ที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดคืนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 เป็นเงิน 30,400 บาท ไม่ใช่ 80,000 บาทตามฟ้อง เมื่อจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้เสียหายและผู้รับประกันภัยไม่ติดใจเรียกร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีก จำเลยจึงไม่จำต้องชำระราคาในส่วนที่ขาดเป็นเงิน 49,600 บาท เพราะมิฉะนั้นผู้เสียหายย่อมได้กำไรเกินกว่าราคาที่สูญเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13383-13386/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ, ประกันภัย, รถยนต์สูญหาย: ความรับผิดของผู้เช่าซื้อ, ผู้ค้ำประกัน และผู้รับประกันภัย
ผู้เช่ามีเจตนาทุจริตหลอกลวงจำเลยที่ 1 ให้ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้เช่ามาตั้งแต่แรกด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าผู้เช่าประกอบธุรกิจเกี่ยวกับขนส่งกับเป็นตัวแทนผู้นำเข้าและส่งออกสินค้า และมีความประสงค์จะเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ทำให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงตกลงส่งมอบรถยนต์ 3 คัน ให้ผู้เช่า แต่ความจริงผู้เช่าไม่มีเจตนาที่จะเช่ารถยนต์แต่อย่างใด แม้จะชำระค่าเช่ามาบางส่วนแต่ก็เพื่อที่จะทำให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อและเพื่อฉ้อโกงรถยนต์คันต่อไปจากโจทก์เพิ่มอีกดังที่ได้ติดต่อไว้ จึงถือว่าไม่มีการเช่ารถยนต์ดังกล่าวกันจริง แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้ดำเนินคดีอาญากับ ม. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เช่าในเรื่องนี้ และศาลแขวงพระโขนงมีคำพิพากษาลงโทษ ม. ในความผิดฐานยักยอก โดยจำเลยที่ 1 เข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ตาม แต่คดีนี้มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาข้างต้น จึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่ต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานข้างต้นถือได้ว่าการกระทำของผู้เช่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานยักยอกดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถติดตามรถยนต์ที่ให้เช่ากลับคืนมาได้ย่อมถือได้ว่ารถยนต์ที่ให้เช่าดังกล่าวได้สูญหายไปเนื่องจากถูกฉ้อโกงแล้ว และเมื่อสัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังที่ระบุในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 869 ได้ให้นิยามคำว่า วินาศภัย ว่า ให้หมายความรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยร่วมตามสัญญา จำเลยร่วมตกลงรับชำระเบี้ยประกันภัย จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมเป็นอันสัญญาว่าตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งกรณีวินาศภัยหากเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เอาประกันภัย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขและความคุ้มครองตามข้อ 5 ระบุว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น แต่คดีนี้ฟังได้ว่าการที่รถยนต์ทั้งสามคันสูญหายเป็นผลมาจากการฉ้อโกง กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว แม้ข้อ 2 ในเรื่องการชดใช้ความเสียหายหรือสูญหายต่อรถยนต์ ในข้อ 2.1 ในกรณีรถยนต์สูญหายจะมิได้กำหนดว่าในเรื่องรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความผิดฐานฉ้อโกง ให้จำเลยร่วมต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้ก็ตาม ก็เห็นว่าการรับประกันภัยก็เป็นการรับผิดชอบต่อความสูญหายหรือเสียหายจากวินาศภัยในกรณีต่างๆ อยู่แล้วซึ่งยากที่จะกำหนดให้ครบถ้วนทุกกรณีได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นดังที่วินิจฉัยมาแล้ว วินาศภัยอื่นที่เกิดขึ้นแม้มิได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย อย่างเช่นความสูญหายของรถยนต์ทั้งสามคันอันเกิดจากการฉ้อโกงคดีนี้ จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยก็หาพ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ จำเลยร่วมจึงมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2 ซึ่งในเงื่อนไขข้อดังกล่าวยังระบุว่าให้จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้จำเลยร่วมทันทีและให้ถือว่าการคุ้มครองรถรถยนต์นั้นสิ้นสุดลง ดังนั้น แม้ภายหลังจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 จะได้ติดตามรถยนต์ที่สูญหายคืนมาได้ 1 คัน แต่จำเลยที่ 1 ก็มีหนังสือถึงจำเลยร่วมเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ที่สูญหายไปทั้งสามคัน และให้มารับซากรถยนต์ที่ติดตามได้คืนมาแล้ว อันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิตามข้อ 2.1.2 ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยสละสิทธิไม่ขอรับรถยนต์คืน จำเลยร่วมจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในรถยนต์คันนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย
แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายจะเป็นผลให้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 แต่ปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 และข้อ 6.2.3 ระบุความรับผิดของผู้เช่าซื้อในกรณีทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไว้ความว่า หากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถือว่าผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาทั้งหมด และโจทก์อาจยอมรับการบอกเลิกสัญญานั้นทันทีหรือเมื่อใดหลังจากนั้นก็ได้ และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเสียหายต่างๆ แก่โจทก์ อันได้แก่ ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันให้คำนวณจากเงินงวดและดอกเบี้ยที่ค้าง ค่าโสหุ้ยและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโจทก์ในการค้นหา ยึดคืน ซ่อมแซม เก็บรักษา ทวงหนี้ ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันให้คำนวณจากเงินค่างวดทั้งหมดที่จะต้องชำระในระยะเวลาเช่าซื้อที่เหลือ ตลอดจนค่าเสียหายอื่นๆ ดังนี้ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในกรณีนี้ไว้ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว แต่การกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าตามข้อตกลงเช่นว่านี้ มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระแต่ละงวดมิใช่เป็นการชำระราคารถแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีค่าธรรมเนียมเช่าซื้อและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย เมื่อหักค่าธรรมเนียมเช่าซื้อและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวออกจากค่าเช่าซื้อที่ชำระไปแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เหมาะสมแล้ว
อนึ่ง คดีนี้ศาลรวมพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งสี่สำนวนเข้าด้วยกัน มูลคดีมาจากรถยนต์พิพาท 3 คัน สำนวนแรกจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เอาประกันภัยรถยนต์ ฟ้องจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยเนื่องจากรถยนต์สูญหาย ส่วนสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ข้างต้นฟ้องจำเลยทั้งสาม ในฐานะผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ และศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่แล้ว ทำให้ในคดีสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่นี้ ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมใช้ค่าเสียหายที่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยแก่โจทก์ในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ได้ ดังนั้น เมื่อศาลได้วินิจฉัยในสำนวนแรกให้จำเลยร่วมรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีจึงให้นำเงินที่จำเลยร่วมต้องชำระต่อจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกซึ่งมีจำนวนที่มากกว่าอยู่แล้ว มาชำระให้โจทก์ในนามของจำเลยทุกคนในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ เหลืออยู่เท่าใดก็ให้จำเลยร่วมชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยร่วมต้องชำระเงินให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,450,000 บาท และจำเลยร่วมต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระให้โจทก์เป็นเงิน 1,441,000 บาท เมื่อนำมาหักกลบกันตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น จึงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยร่วมต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,009,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้พ้นความรับผิดต่อโจทก์ไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13102/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศ, การจำกัดความรับผิด, การรับช่วงสิทธิจากสัญญาประกันภัย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างใช้ชื่อ ยูพีเอส (UPS) และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ใช้ชื่อยูพีเอส เอสซีเอส (UPS SCS) เช่นเดียวกัน ทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทผู้สำรวจเหตุความเสียหายเบิกความว่าจำเลยที่ 3 ได้ส่งเอกสารการเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยไปยังจำเลยที่ 1 ตามแบบพิมพ์การเรียกร้องของลูกค้ายูพีเอส เอสซีเอส ซึ่งแบบพิมพ์นี้นอกจากจะใช้เครื่องหมาย UPS เหมือนกับเครื่องหมายในใบรับขนทางอากาศของจำเลยที่ 1 แล้ว ในรายละเอียดก็ยังมีข้อความในลักษณะเกี่ยวกับเครือข่ายการทำธุรกิจของกลุ่มบริษัทยูพีเอส เอสซีเอส โดยมีข้อความตอนล่างสุดระบุถึงการให้บริการรวมทั้งความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามข้อความและเงื่อนไขการให้บริการของยูพีเอส เอสซีเอส ที่สามารถตรวจดูได้ทางเวปไซต์ www.ups-scs.com แสดงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกลุ่มบริษัทในเครือข่ายเดียวกันที่ให้บริการเป็นระบบเครือข่ายในประเทศต่างๆ เชื่อว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบริษัทในเครือข่ายเดียวกันกับที่ร่วมกันประกอบกิจการรับขนของเป็นเครือข่ายร่วมกัน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันรับขนส่งสินค้าตามฟ้อง
แม้ผู้รับประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ถ้าทรัพย์สินอันได้เอาประกันภัยไว้นั้นได้คืนมา แต่เมื่อสินค้าดังกล่าวเป็นอะไหล่ที่ใช้ประกอบกับเครื่องจักรในโรงงานของผู้เอาประกันภัยซึ่งต้องมีสำรองไว้ใช้ในโรงงานประกอบกับในการซื้อสินค้า ผู้เอาประกันภัยตกลงซื้อในเทอม เอฟซีเอ ท่าอากาศยานซูริค ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องเสียค่าขนส่งจากท่าอากาศยานดังกล่าวมายังท่าอากาศยานกรุงเทพเอง การที่ผู้เอาประกันภัยยอมเสียค่าขนส่งทางอากาศซึ่งย่อมมีค่าขนส่งสูงแต่ขนส่งได้รวดเร็ว ก็เป็นเหตุผลแสดงถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องได้รับสินค้าไว้ใช้โดยเร็ว ในการขนส่งครั้งนี้ควรขนส่งสินค้าถึงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2550 แต่สินค้านี้ไม่ได้ขนส่งถึงตามกำหนดดังกล่าว จนต้องมีการเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของสินค้า ทั้งยังมีการเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ด้วย และในที่สุดผู้เอาประกันภัยก็ต้องซื้อสินค้าดังกล่าวใหม่ ดังนี้แม้จะมีการพบสินค้าที่ขนส่งตามฟ้องนั้นในภายหลังก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัยอีกต่อไป และการหาสินค้าดังกล่าวพบก็เป็นเวลาหลังจากที่สินค้าควรขนส่งถึง 6 เดือนเศษ พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมก่อความเสียหายในลักษณะอันถือได้ว่ามีผลทำนองเดียวกันหรือเสมือนกับสินค้าสูญหายนั่นเอง แม้จะค้นหาพบในภายหลังก็ถือได้ว่าเป็นกรณีผู้รับตราส่งเสียหายจากความสูญหายของสินค้าแล้ว จึงชอบที่จะปฏิเสธการรับสินค้าที่หาพบ การที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยจึงชอบแล้ว
ใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ออกให้ ด้านหลังต่างก็มีข้อความจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เป็นเงินไม่เกิน 20 ดอลลาร์ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม โดยด้านหน้าของใบรับขนของทางอากาศมีช่องว่างสำหรับเติมข้อความเพื่อการแสดงราคาสินค้าเพื่อการขนส่ง และมีข้อความอธิบายให้ผู้ส่งตรวจดูข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ โดยหากประสงค์จะให้เพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่ระบุไว้ ก็ให้แสดงราคาและชำระเงินเพิ่มได้ แต่ปรากฏว่าในช่องแสดงราคาเพื่อการขนส่งระบุข้อความว่า เอ็นวีดี หรือการไม่แสดงราคา อันแสดงว่าผู้ส่งยอมรับข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงจำกัดความรับผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและบริษัทประกันภัย กรณีสินค้าสูญหาย/ส่งช้า การตีความความคุ้มครองตามกรมธรรม์
จำเลยที่ 1 รับสินค้าจากโจทก์เพื่อดำเนินการขนส่ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 ครั้นเมื่อมีการขนส่งสินค้าไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อแล้ว ปรากฏในขณะนั้นว่าสินค้าสูญหายไป 1 กล่อง แต่ได้ความต่อมาว่าจำเลยที่ 2 พบสินค้าที่คิดว่าสูญหายดังกล่าวที่ท่าอากาศยานเบรเมน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2550 ดังนี้ย่อมไม่มีเหตุอันจะถือได้ว่าสินค้า 1 กล่องนี้สูญหายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงกำหนดเวลาในการขนส่งสินค้าให้จำเลยที่ 1 ต้องขนส่งไปมอบแก่ผู้ซื้อไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ตามปกติในการขนส่งทางอากาศย่อมเป็นที่เข้าใจและคาดหมายกันได้ระหว่างโจทก์ผู้ส่งกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งว่าควรขนส่งไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อโดยคู่สัญญามีเจตนาให้ขนส่งไปส่งมอบได้ภายในกำหนดเวลาเท่าที่พึงคาดหมายว่าการขนส่งทางอากาศในระยะทางเช่นนี้ควรส่งมอบแก่ผู้ซื้อได้ ประกอบกับผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความทำนองว่า พยานได้รับแจ้งจากผู้ซื้อว่าได้รับสินค้าไม่ครบถ้วน ไม่เกินวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 จึงเชื่อได้ว่าการขนส่งครั้งนี้มีกำหนดเวลาอันคาดหมายได้ว่าควรส่งสินค้าถึงผู้ซื้อได้ไม่เกินวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 และมีการส่งสินค้าไปมอบแก่ผู้ซื้อแล้วเพียงแต่ส่งมอบได้ไม่ครบถ้วนเท่านั้น เมื่อสินค้าขาดหายไป 1 กล่อง และค้นพบวันที่ 27 มีนาคม 2550 ย่อมเป็นกรณีที่หากส่งมอบสินค้า 1 กล่องนี้ได้ก็เป็นการส่งมอบชักช้ากว่าเวลาอันควรส่งมอบได้ จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งคนอื่นที่ได้รับมอบหมายให้ขนส่งต้องร่วมกันรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการส่งมอบชักช้าดังกล่าว อันเกิดจากโจทก์ต้องผลิตสินค้าใหม่และส่งให้ผู้ซื้อทดแทน
ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความแสดงถึงกรณีที่สัญญาประกันภัยไม่คุ้มครองไว้ในข้อ 2.6 ว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองในกรณีการสูญหาย เสียหาย หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าโดยเฉพาะ เมื่อสินค้า 1 กล่อง หายไปโดยหาไม่พบแต่แรก แต่ต่อมาก็ค้นพบภายหลังในเวลาประมาณ 40 วัน ซึ่งถือว่าเป็นกรณีส่งได้ชักช้าเท่านั้น ไม่ถึงกับถือว่าเป็นการสูญหาย จึงไม่อยู่ในความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10348-10350/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัย และการหักชดเชยค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 ซึ่งใช้บังคับกับคดีนี้บัญญัติไว้ความว่า "ในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก เมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ให้บริษัทผู้รับประกันภัยมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกได้" ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 8 จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นไปสามรายการ รวมเป็นเงิน 45,000 บาท ไปแล้ว โจทก์ที่ 8 ย่อมไล่เบี้ยเอาแก่ ฉ. ผู้ขับรถโดยสารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ และย่อมไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ต้องร่วมกันรับผิดกับ ฉ. ได้ด้วย เมื่อจำเลยที่ 5 ผู้เอาประกันภัยรถโดยสารไว้ต่อจำเลยที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิด จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย โจทก์ที่ 8 ย่อมไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 4 ได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10347/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีประกันภัยและการสละสิทธิในการเสนอข้อพิพาทเข้าอนุญาโตตุลาการ
กรมธรรม์ข้อ 9 ที่ระบุว่า "ถ้ามีการขัดแย้งเกิดขึ้นภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยนี้ คู่กรณีจะเสนอให้นำข้อขัดแย้งดังกล่าวให้อนุญาโตตุลาการคนหนึ่ง ซึ่งคู่กรณีแต่งตั้งขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นผู้วินิจฉัย หรือถ้าคู่กรณีไม่สามารถตกลงเลือกบุคคลเดียวกันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษร อาจจะเสนอให้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการสองคน ฝ่ายละ 1 คน เป็นผู้วินิจฉัย ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการสองคนตกลงกันไม่ได้ ให้อนุญาโตตุลาการตั้งผู้ชี้ขาดเป็นลายลักษณ์อักษรทำการชี้ขาด" หาใช่เป็นการบังคับให้คู่กรณีจำต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนเสมอไปไม่ แต่มีความหมายไปในทางให้โอกาสคู่กรณีฝ่ายหนึ่งเสนอต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้นำข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด หากจำเลยที่ 1 มีความจริงใจให้มีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อน จำเลยที่ 1 น่าจะให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์และจำเลยทั้งสามไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ หาใช่เพิ่งยื่นคำร้องกล่าวอ้างเรื่องนี้ขึ้น หลังจากจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การนานถึง 6 ปีเศษ พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะหยิบยกข้อ 9 แห่งเงื่อนไขทั่วไปดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างแล้ว
ม. ผู้เอาประกันภัยชกต่อยกับ ธ. ยุติไปก่อนที่ ธ. นำอาวุธปืนมายิง ม. ฟังไม่ได้ว่า ม. เสียชีวิตขณะเข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของห้างสรรพสินค้าต่อการโจรกรรมรถในลานจอดรถ และสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของบริษัทประกันภัย
จำเลยเป็นห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค ย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่น ๆ หรือไม่ แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9), 34 บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารต้องจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร แต่จำเลยยังต้องคำนึงและมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเอง การที่จำเลยเคยจัดให้มีการแจกบัตรสำหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากไม่มีบัตรผ่าน กรณีจะนำรถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของจำเลย แต่ขณะเกิดเหตุกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวรจรปิดแทน เป็นเหตุให้คนร้ายสามารถเข้าออกลานจอดรถห้างฯ ของจำเลยและโจรกรรมรถได้โดยง่ายยิ่งขึ้น แม้จำเลยจะปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ยังนำรถเข้ามาจอดก็ตาม ก็เป็นเรื่องข้อกำหนดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในการทำละเมิดของจำเลย
of 71