คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ภาษีอากร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 716 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10773/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การคำนวณกำไรสุทธิ, การหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย, และการพิจารณาเงินได้พึงประเมินจากค่าธรรมเนียมการโอน
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.73.1) ในเดือนภาษีสิงหาคม 2540 กันยายน 2540 ตุลาคม 2540 พฤศจิกายน 2540 มกราคม 2541 และมีนาคม 2541 ตามลำดับ มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันไม่เกินเดือนภาษีละ 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
กำหนดเวลาที่ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน ตามมาตรา 30 (2) แห่ง ป.รัษฎากร เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายหรือย่นระยะเวลาให้โจทก์ได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528
การที่เจ้าพนักงานออกหมายเรียกตาม ป.รัษฎากร เป็นการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าพนักงานประเมินเพื่อจัดให้มีหนังสือแจ้งการประเมิน ดังนั้น การออกหมายเรียกจึงมิใช่เป็นการออกคำสั่งทางปกครอง
หนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองจะต้องทำเป็นหนังสือและจะต้องแสดงเหตุผลหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงกรณีอันเป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือไม่ต้องแสดงเหตุผลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 วรรคสาม (1) ถึง (4) ประกอบด้วย และเหตุผลที่ต้องแสดงนั้นอาจมีหลายกรณีแตกต่างกันไป การที่ผู้ออกหนังสือแจ้งการประเมินกับผู้ออกใบแนบรายการประเมินอ้างเหตุผลต่างกันนั้น ถือเป็นการจัดให้มีเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว
ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปพบเจ้าพนักงานประเมิน ให้ถ้อยคำและนำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องไปแสดงตามประเด็นการตรวจสอบหลายครั้ง เจ้าพนักงานประเมินบันทึกคำให้การและให้โจทก์ทราบผลการตรวจสอบแต่ละขั้นตอน โจทก์โต้แย้งคัดค้านหลายประเด็น ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ให้โจทก์รับทราบผลการตรวจสอบและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยโต้แย้งข้อเท็จจริงและเหตุผลในการประเมินได้ชัดแจ้งแล้ว ถือว่าเหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก
แม้บทบัญญัติของ ป.รัษฎากรในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลมิได้กำหนดนิยามคำว่า "ราคาตลาด" ไว้ แต่เมื่อพิจารณาถึงความหมายทางการค้าทั่วไปแล้ว คงมีความหมายในทำนองเดียวกันกับมาตรา 91/1 (3) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในส่วนของภาษีธุรกิจเฉพาะที่กำหนดนิยามคำว่า "ราคาตลาด" คือ ราคาสินค้าที่มีการซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง ราคาตลาดของสินค้าในแต่ละช่วงเวลาย่อมอาจเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยที่มีผลต่อราคาสินค้านั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเอาราคาประเมินของทางราชการที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ผู้ซื้อเป็นราคาตลาดในวันที่โอน เป็นการประเมินที่ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) และมาตรา 91/16 (6) แล้ว
โจทก์ให้บริษัท พ. กู้ยืมเงินโดยไม่ได้คิดดอกเบี้ยตามราคาตลาด เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) ประเมินดอกเบี้ยเท่ากับดอกเบี้ยอัตราถัวเฉลี่ยรายไตรมาส การแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิในส่วนนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย
ผู้เสียภาษีที่ใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณภาษีนั้น จะต้องนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีไปรวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และนำรายจ่ายที่มีหน้าที่ต้องจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีไปรวมเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง บัญญัติว่า การคำนวณรายได้และรายจ่ายตามวรรคหนึ่งให้ใช้เกณฑ์สิทธิ ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.61/2539 เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและเงินได้สุทธิสำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ คำสั่งดังกล่าวข้อ 5 (6) กำหนดว่า ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดจากสัญญากู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในการจัดสรรที่ดินหรือพัฒนาที่ดินเพื่อขายแต่ละโครงการเฉพาะส่วนของดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระก่อนที่โครงการนั้นพร้อมที่จะขาย แต่ไม่รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามข้อ 4 วรรคสอง ให้ถือเป็นมูลค่าต้นทุนของอสังหาริมทรัพย์หน่วยหรือแปลงที่ขายในแต่ละโครงการ... ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่โครงการนั้นพร้อมจะขาย ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถึงกำหนดชำระได้ทั้งจำนวน แต่คำสั่งดังกล่าวไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับกรณีที่มีการขายโครงการทิ้งทั้งโครงการโดยที่ยังสร้างไม่เสร็จว่าดอกเบี้ยจ่ายที่นำไปรวมเป็นมูลค่าต้นทุนของอสังหาริมทรัพย์จะถูกนำไปใช้อย่างไร ซึ่งเมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์เรื่องการจับคู่ของรายได้และรายจ่ายกับวัตถุประสงค์ของมาตรการยกเว้นเกณฑ์สิทธิดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นจากการขายโครงการทั้งโครงการโดยที่ยังสร้างไม่เสร็จ ดอกเบี้ยจ่ายที่รวมเป็นต้นทุนอสังหาริมทรัพย์ของโครงการดังกล่าวย่อมถูกนำไปหักเป็นรายจ่ายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการขายโครงการดังกล่าวเนื่องจากมีรายได้ที่จะนำรายจ่ายไปจับคู่แล้วและการจับคู่ผิดจะไม่เกิดขึ้น ทางพิจารณาไม่มีพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าโครงการที่โจทก์อ้างว่าขายไปนั้นได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันใด ลำพังเพียงการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 1 ถึงแผ่นที่ 24 นั้น ไม่เพียงพอให้รับฟังว่าโจทก์ได้ขายโครงการทั้งสองดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท ดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายไปจึงต้องห้ามมิให้หักเป็นรายจ่าย
ค่าธรรมเนียมในการโอนนั้น ป.พ.พ. มาตรา 457 บัญญัติให้ผู้ซื้อและผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย แต่โจทก์ทำสัญญาให้ผู้ซื้อชำระค่าธรรมเนียม เป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นอย่างอื่น และค่าธรรมเนียมดังกล่าวผู้ซื้อจ่ายให้แก่กรมที่ดิน ไม่ได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้โจทก์ จึงไม่เป็นรายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการของโจทก์ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวย่อมไม่ถือเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่โจทก์ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ไม่จำต้องบันทึกบัญชีเป็นรายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายฝาก: เงินได้พึงประเมินจากการไม่สามารถไถ่ถอนได้ และการหักค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย
สัญญาซื้อขายไม่ทำให้ผู้ขายมีสิทธิจะได้ทรัพย์คืนโดยตรง ดังนั้น ผู้ขายย่อมต้องคำนึงถึงการที่จะต้องสูญเสียทรัพย์ไปในการกำหนดราคาขายสูงตามมูลค่าทรัพย์ แต่ในสัญญาขายฝากมีสิทธิได้รับทรัพย์คืนโดยการไถ่ถอนได้ ย่อมมีเหตุผลที่ผู้ขายฝากจะกำหนดราคาขายฝากเพื่อใช้สิทธิไถ่ถอนในราคาต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์ตามความจำเป็นที่ต้องการเงินและไม่เป็นภาระที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการใช้สิทธิไถ่ถ่อนเกินความจำเป็น ดังนั้น เมื่อมีการทำสัญญาขายฝากโดยตกลงราคาต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์ที่แท้จริงและต่อมาไม่สามารถไถ่ถ่อนการขายฝากได้ ก็ย่อมมีผลให้โจทก์ผู้รับซื้อฝากได้รับทรัพย์สินนั้นในมูลค่าทรัพย์ที่สูงกว่าจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้ผู้ขายฝากไปได้ อันเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 40 (1) ถึง (7) ดังที่บัญญัติไว้ในความตอนท้ายของมาตรา 40 (8) ประกอบกับมาตรา 39 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับเงินได้ของผู้ขายฝากที่ได้รับเงินจากผู้ซื้อฝากตามสัญญาขายฝาก นอกจากนี้หากเป็นกรณีที่โจทก์ผู้รับซื้อฝากไว้ในราคาสูงหรือเท่ากับมูลค่าทรัพย์จริง โจทก์ก็อาจพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคานี้ เพื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร... ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาดังต่อไปนี้... (27) การรับสินไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก หรือการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยเด็ดขาดจากการขายฝาก ร้อยละ 85 และ มาตรา 8 วรรคสอง กำหนดว่า เว้นแต่ผู้มีเงินได้จากกิจการตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ... และมาตรา 65 ตรี... แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ โจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ เจ้าพนักงานประเมินจึงใช้อัตราร้อยละ 85 ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) มาตรา 8 (27) มีผลเท่ากับว่าโจทก์มีเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายอันเป็นกำไรเพียงร้อยละ 15 ซึ่งก็สอดคล้องกับอัตราผลประโยชน์ตอบแทนจากการขายฝากตาม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ที่กำหนดให้ผู้รับซื้อฝากมีสิทธิได้รับสินไถ่ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้น การที่โจทก์รับซื้อฝากที่ดินแล้วผู้ขายฝากไม่ไถ่ถอนภายในกำหนดเวลาตามสัญญาถือว่าโจทก์มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ในปีภาษีนั้น และให้โจทก์หักค่าใช้จ่ายตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่กลับทำให้การจัดเก็บภาษีไม่เกิดความซ้ำซ้อน เนื่องจากราคาที่ขายฝากซึ่งเคยนำมาคำนวณเรียกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินได้ของผู้ขายฝากไปแล้วนั้นจะถูกนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ของผู้รับซื้อฝาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10111/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางภาษีอากรจากการแสดงรายได้และรายจ่ายที่ไม่ถูกต้อง และการตัดสินใจไม่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
คำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้แสดงถึงมูลหนี้จากสิทธิเรียกร้องตามข้อตกลงโอนหุ้น และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาการโอนหุ้นประกอบกับรายละเอียดแห่งหนี้ค่าภาษีอากรค้างที่จำเลยทั้งยี่สิบหกต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าวแต่ไม่ชำระ อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์เพียงพอที่ฝ่ายจำเลยจะให้การต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นเพียงรายละเอียดที่อาจนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณาได้ ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์เช่นนี้ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างซึ่งใช้เป็นหลักแห่งข้อหาตลอดจนคำขอบังคับโดยชัดเจนพอเข้าใจได้ ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
คู่สัญญามีเจตนาให้ฝ่ายผู้โอนชำระแทนบริษัทโจทก์หรือชำระให้บริษัทโจทก์ เพื่อการชำระหนี้ของบริษัทโจทก์ที่มีนอกเหนือบัญชีท้ายนั่นเอง ดังนี้ แม้โจทก์ไม่ได้เป็นคู่สัญญา แต่โจทก์ก็เป็นผู้รับประโยชน์ ตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานี้ก็มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยตรงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และการวินิจฉัยตามข้อสัญญาดังกล่าว ไม่ใช่นิติกรรมที่กฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงไม่มีเหตุใด ๆ ให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 94 แห่ง ป.วิ.พ.
การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งมีการส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องที่กล่าวอ้างถึงเหตุที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดและขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยอื่นชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้อยู่ในตัวด้วย และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยการปิดหมายเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2538 ซึ่งมีผลเป็นการส่งได้ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2538 แล้วจำเลยที่ 3 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นการผิดนัดอันจะต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรับผิดโดยอ้างสิทธิตามสัญญาเกี่ยวกับการโอนหุ้นและกิจการของบริษัทโจทก์ อันเป็นคดีที่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงความรับผิดตามสัญญาเป็นสำคัญ เพียงแต่ที่มาแห่งคดีหรือมูลคดีตามสัญญานี้มาจากหนี้ภาษีอากรเท่านั้น การที่มีประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะมีผลให้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาหรือไม่ก็ตาม แต่ปัญหานี้แม้หากจะถือว่าเป็นดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกาก็เป็นเพียงปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลางหรือศาลแพ่งกรุงเทพใต้ซึ่งฝ่ายจำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528
การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิยื่นขอเสียภาษีตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2529 แม้ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจผิดและทำให้ถูกประเมินเรียกเก็บภาษีเป็นจำนวนมากตามคำฟ้องก็ตาม แต่ก็จะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์โดยสิ้นเชิงหาได้ไม่ เพราะต้นเหตุแห่งการที่เสียภาษีไว้ไม่ครบถ้วนจนถูกประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มดังกล่าวนั้นล้วนเกิดจากการกระทำของกรรมการบริษัทชุดเดิม ทั้งยังไม่เปิดเผยความจริงเพื่อให้โจทก์ตัดสินใจใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกำหนดดังกล่าวอันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และกรรมการบริษัทชุดเดิมมีส่วนผิดในการทำให้เกิดหนี้ภาษีอากรตามที่โจทก์ถูกประเมินเรียกเก็บตามฟ้องด้วย กรณีเช่นนี้ก็จะถือว่าเป็นความผิดของกรรมการบริษัทชุดเดิมเต็มที่ก็ไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากโจทก์โดยกรรมการชุดใหม่ก็ตัดสินใจผิดพลาดในการไม่ใช้สิทธิยื่นขอเสียภาษีตามพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งน่าจะทำให้ต้องเสียภาษีน้อยกว่าจำนวนที่ถูกประเมินเรียกเก็บตามฟ้อง ซึ่งควรเป็นเรื่องที่โจทก์โดยกรรมการชุดใหม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการตัดสินใจด้วยเช่นกัน หนี้ค่าภาษีอากรตามจำนวนที่ถูกเจ้าพนักงานประเมินกรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บทั้งหมดนี้เกิดจากความผิดของฝ่ายกรรมการบริษัทโจทก์ชุดเดิมเป็นต้นเหตุส่วนหนึ่งและกรรมการชุดใหม่ก็มีส่วนผิดพลาดในการตัดสินใจที่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน โดยยังไม่แน่ชัดว่าฝ่ายใดมีส่วนผิดพลาดมากกว่ากัน จึงเห็นว่าต่างฝ่ายต่างมีส่วนผิดพลาดไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เช่นนี้ย่อมฟังไม่ได้ว่าหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้องนั้นฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ก่อหนี้หรือเกิดจากความรับผิดของฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อันจะต้องรับผิดชดใช้แทนโจทก์เต็มจำนวนทั้งหมด และคงฟังได้เพียงว่า ฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีส่วนผิดพลาดอันมีผลให้เป็นหนี้จำนวนนี้เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8763/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทภาษีอากร: การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และการไถ่ถอนหุ้นกู้
กรณีคำสั่งทางปกครองที่เข้าข้อยกเว้นว่าเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เจ้าพนักงานออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนให้โจทก์นำหลักฐานมาแสดง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปพบเจ้าพนักงานหลายครั้ง เจ้าพนักงานแจ้งผลการตรวจสอบให้โจทก์ทราบ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินตามผลการตรวจสอบนั้น และโจทก์อุทธรณ์การประเมินได้ตรงตามการประเมิน จึงเป็นกรณีที่เหตุผลที่ต้องแสดงนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่จำต้องระบุแสดงเหตุผลอีก
การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เป็นกรณีบังคับผู้จ่ายเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ หักภาษีก่อนจ่ายหรือทันทีที่จ่ายเมื่อนำส่งแก่ผู้รับเงินได้พึงประเมิน โจทก์ล้างบัญชีเพราะบริษัท ซ. เจ้าหนี้เลิกกิจการและชำระบัญชีโดยไม่ทวงถามต้นเงินและดอกเบี้ยจากโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์มิได้จ่ายเงินดอกเบี้ยให้แก่บริษัท ซ. ตามการประเมิน และกรณีมิใช่โจทก์และบริษัท ซ. หักกลบลบหนี้กัน เพราะโจทก์ลงทุนถือหุ้นมิได้เป็นเจ้าหนี้บริษัท ซ. จึงไม่มีหนี้ที่จะหักกลบลบกันได้ระหว่างเงินที่โจทก์กู้ยืมกับเงินลงทุนซึ่งบริษัท ซ. ชำระบัญชีไปแล้ว
โจทก์ปลดหนี้ให้แก่บริษัท ท. และนำจำนวนเงินดังกล่าวไปบวกกลับเป็นรายได้เพื่อคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิในการเสียภาษีแล้ว แสดงว่าไม่ใช่กรณีโจทก์จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้โดยฝ่าฝืนต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2543)
โจทก์ขายหุ้นบริษัท อ. ให้แก่บริษัทในเครือ หุ้นของบริษัท อ. ที่โจทก์ขายยังอยู่ในกลุ่มบริษัทของโจทก์ตามเดิม มิใช่เป็นการขายให้แก่คู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกัน เมื่อข้อมูลและวิธีการหามูลค่าที่แท้จริงของราคาหุ้นไม่น่าเชื่อถือ การขายหุ้นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นที่ดินแดนหมู่เกาะบริติชเวอร์จินให้แก่บริษัทในเครือในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาตามมูลค่าทางบัญชีประเมินภาษีแก่โจทก์จึงมีเหตุผลอันสมควร
การปลดหนี้เป็นผลให้หนี้เงินกู้ระงับไปแล้ว โจทก์ไม่มีรายรับดอกเบี้ยจากเงินกู้ตามการประเมิน จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิมีข้อความระบุรายการที่ประเมิน เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินรายการดังกล่าวจึงเป็นอันยุติตามการประเมิน
หนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล หนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะแต่ละเดือนภาษี มีสภาพเป็นคำฟ้องแต่ละข้อหาไม่เกี่ยวข้องกัน สามารถแยกออกจากกันได้ คำฟ้องจึงมีหลายข้อหา การที่ศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลแยกเป็นรายการตามข้อหาจึงชอบแล้ว
การที่เจ้าพนักงานเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิขึ้นใหม่ทำให้ผลขาดทุนสุทธิน้อยลงไป หากศาลวินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์ในส่วนภาษีนิติบุคคลที่เปลี่ยนแปลงตามรายการนั้นด้วย ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์
การออกหุ้นกู้ของโจทก์เป็นกรณีโจทก์กู้เงินจากผู้ถือตราสารหุ้นกู้และต้องคืนโดยการไถ่ถอนหุ้นกู้ การที่โจทก์ไถ่ถอนหุ้นกู้โดยเจ้าหนี้ยอมรับชำระไม่เต็มจำนวนที่ตราไว้ในตราสารแสดงสิทธิในหุ้นกู้ตามการประเมิน มิใช่เป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7016/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนองหลังผู้จำนองเสียชีวิต, เบี้ยปรับภาษีอากร และการประเมินที่ถูกต้องตามกฎหมาย
แม้โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี หลังจากรู้ว่า ก. ตายก็ตาม แต่โจทก์ผู้รับจำนองยังสามารถใช้สิทธิบังคับจำนองได้ เพราะเหตุดังกล่าวไม่ทำให้หนี้ตามสัญญาจำนองระงับสิ้นไปตามที่ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 744
ป.รัษฎากร มาตรา 67 ตรี ได้กำหนดบทลงโทษให้ผู้เสียภาษีชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจประเมินให้จำเลยที่ 1 เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 26 อีก
บทบัญญัติใน ป.รัษฎากร มาตรา 89 มิได้มุ่งหมายให้ลงโทษผู้กระทำผิดเรียงตามอนุมาตราไป แต่มุ่งหมายให้ลงโทษตามอนุมาตราที่กำหนดเบี้ยปรับสูงสุดเพียงอนุมาตราเดียว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (2) (3) (4) หรือ (10) เพียงอนุมาตราเดียวซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์สามารถเรียกเก็บเบี้ยปรับได้สูงสุด
สำหรับกรณีเบี้ยปรับตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 (8) และ (9) ทั้งสองกรณี เป็นการเสียเบี้ยปรับที่สามารถแยกจากบทบัญญัติตามมาตรา 89 (2) (3) (4) (10) ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (8) หรือ (9) อีกฐานหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14590/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนใบแจ้งคำชี้ขาดภาษีที่ไม่มีเหตุผล และค่าขึ้นศาลที่คำนวณจากจำนวนทุนทรัพย์ที่ไม่ถูกต้อง
ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 30 ระบุว่า การแจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่มิได้ระบุว่าจะต้องทำตามแบบพิมพ์ลักษณะใด เมื่อพิจารณาหนังสือของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ถึงผู้จัดการโจทก์ โดยอ้างถึงคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ มีรายละเอียดว่า ตามที่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินนั้น คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในการประชุมครั้งที่ 1/2551 มีมติให้ใช้อัตราค่าภาษีต่อตารางเมตรตามที่จำเลยที่ 1 ใช้ในการประเมินและจัดเก็บภาษีของโจทก์ในปี 2548 เป็นเกณฑ์ประเมินและจัดเก็บภาษีในปี 2549 และระบุจำนวนภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 หนังสือลงนามโดยจำเลยที่ 2 ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ข้อความในหนังสือดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้พิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์แล้ว และถือได้ว่าเป็นใบแจ้งคำชี้ขาดที่จำเลยที่ 2 แจ้งไปยังโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13930/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การประเมินต้นทุนซื้อทอง, การลดเบี้ยปรับ, และเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
กำหนดเวลาให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) เป็นการกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี แม้ไม่เป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ แต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากร ศาลย่อมมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 17
บันทึกคำให้การที่โจทก์ขอคัดถ่ายสำเนาปรากฏรายละเอียดและเหตุผลในการตรวจสอบ รวมทั้งข้อมูลที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ในการประเมิน ดังนี้ ย่อมฟังได้ว่าเหตุผลแห่งการประเมินเป็นที่รู้กันอยู่แล้วแก่โจทก์ จึงไม่จำต้องระบุในหนังสือแจ้งการประเมินถึงรายละเอียดและเหตุผลอีก ต้องด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 37 วรรคสาม (2) แล้ว
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์รับซื้อทองคำเก่าโดยใช้ราคาตลาดโลก แต่โจทก์ไม่สามารถชี้แจงที่มาของราคาตลาดโลกตามที่โจทก์อ้างซึ่งมีหลายราคา ทั้งโจทก์ไม่สามารถนำสืบอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการรับซื้อ ตลอดจนไม่สามารถชี้แจงถึงค่าความเสี่ยงที่โจทก์อ้างคืออะไร และเป็นจำนวนเท่าใด การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ใช้ราคาประกาศของสมาคมค้าทองคำในการคำนวณต้นทุนจึงมีเหตุผลและเป็นธรรม
แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 27 ทวิ ให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรวางระเบียบในการงดหรือลดเบี้ยปรับออกมาใช้ แต่ก็เป็นเพียงระเบียบที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องถือปฏิบัติ ไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบเช่นว่านั้น ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการลดหรืองดเบี้ยปรับนั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดได้เองในกรณีมีเหตุสมควรอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12211/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีอากร: สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมาย และผลของการไม่ใช้สิทธิ
จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้วไม่อุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ ทั้งมิได้อุทธรณ์การประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 การประเมินจึงยุติ ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าหนังสือแจ้งการประเมินไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิกล่าวอ้างว่าการประเมินที่ยังมีผลสมบูรณ์โดยไม่ถูกเพิกถอนตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 42 วรรคสอง เป็นการประเมินที่ไม่ชอบเพื่อปฏิเสธความรับผิดในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าภาษีอากร
จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2) และมาตรา 1087

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3616/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากร: ผู้ยื่นคำร้องต้องมีอำนาจตามกฎหมาย หรือได้รับมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษร มิฉะนั้นไม่มีสิทธิฟ้อง
ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติให้ถือว่าการที่เทศบาลนครจำเลยรับคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์ไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยแล้ว เป็นการรับรองว่าผู้ลงลายมือชื่อในคำร้องมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และเป็นกรณีที่จำเลยไม่มีสิทธิที่จะกลับมาอ้างว่าคำร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายในภายหลัง หากจำเลยพบในภายหลังถึงเหตุที่ทำให้คำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้ลงลายมือชื่อในคำร้องไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างโต้แย้งอำนาจฟ้องของโจทก์ได้
ป. มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือได้รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ให้ลงนามแทนในคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน คำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ ป. ยื่นต่อจำเลย เป็นการยื่นคำร้องที่ผู้รับประเมินมิได้ลงนามหรือมอบฉันทะเป็นลายลักษณ์อักษรให้ตัวแทนลงนาม จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 26 และมาตรา 27 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลตามมาตรา 7 (1) และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11002/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความภาษีอากร: เริ่มนับเมื่อใด? การประเมินภาษีและการฟ้องคดีเป็นเหตุสะดุดอายุความ
จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7(1) และมาตรา 8 และมีผลให้จำเลยไม่มีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในกรณีถูกฟ้องด้วย การประเมินภาษีส่วนนี้จึงเป็นอันยุติ และสืบเนื่องจากกรณีดังกล่าว ในส่วนภาษีการค้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยมิได้อุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 ภาษีส่วนนี้จึงเป็นอันยุติเช่นกัน
แม้ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสองอ้างว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริงโดยเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร อันต้องด้วยเหตุยกเว้นตามข้อความตอนแรกสุดของมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องใช้อายุความ 10 ปี หรือ 2 ปี ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ก็มีผลเพียงให้กรณีสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ไม่มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงต้องใช้อายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 และการนับอายุความต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 ทวิ บัญญัติว่า ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นำเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จ ดังนี้สิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าภาษีอากรขาเข้าจึงอาจบังคับได้นับแต่วันที่จำเลยนำเข้าสินค้า ไม่อาจถือว่าต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 ตรวจพบการกระทำผิด อันจะมีผลให้วันเริ่มนับอายุความยาวนานไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด หรือจะเริ่มนับเมื่อใดก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานของโจทก์ที่ 1 จนอาจเป็นเวลาหลายสิบปีก็ได้ ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายผู้เสียภาษีที่อาจไม่ได้หลีกเลี่ยงภาษี แต่ไม่ได้เก็บพยานหลักฐานไว้นานพอจะพิสูจน์ความบริสุทธ์ได้ เมื่อนับแต่วันนำเข้าถึงวันที่จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินรวมถึงฟ้องคดีในภายหลังเกินกำหนดอายุความ 10 ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 จึงขาดอายุความ
สำหรับหนี้ค่าภาษีการค้า ภาษีส่วนท้องถิ่น และภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ป.รัษฎากรมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 และ 193/12 เช่นกัน และตาม ป.รัษฎากร มาตรา 78 จัตวา (เดิม) 78 เบญจ (1) (เดิม) และ 78/2 (1) บัญญัติทำนองเดียวกันว่า ความรับผิดในการเสียภาษีการค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการนำเข้าเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาเข้า วางหลักประกันอากรขาเข้า จึงเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 2 อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่ความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้นตามบทมาตรานี้ เมื่อนับแต่วันจำเลยชำระอากรขาเข้าถึงวันที่จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินรวมทั้งฟ้องคดีในภายหลังเกินกำหนดอายุความ 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ แต่การนำเข้าครั้งที่ 2 จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2546 อันเป็นการกระทำที่ถือได้ว่ามีผลอย่างเดียวกับการฟ้องคดี เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงยังไม่ขาดอายุความ
of 72