คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาจ้าง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 687 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6211/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างบริหารจัดการอาคารชุด: ความรับผิดเมื่อไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้า
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริหารจัดการอาคารชุดแต่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้าง จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุดและต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอาคารชุดตามข้อบังคับหรือตามมติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการ ข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้เจ้าของร่วมทุกคนต้องชำระค่าใช้จ่ายล่วงหน้าแก่นิติบุคคลอาคารชุดในวันโอนกรรมสิทธิ์เพื่อไว้เป็นกองทุนหมุนเวียนสำหรับการบริหาร พัฒนาปรับปรุงซ่อมแซม หรือจัดซื้อทรัพย์สินส่วนกลาง และเป็นเงินสำรองใช้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน และให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนำฝากธนาคารในนามของจำเลย แต่โจทก์ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้าดังกล่าวตามข้อบังคับในวันโอนกรรมสิทธิ์ และไม่ได้นำเงินฝากเข้าบัญชีของจำเลย โจทก์กลับออกหนังสือรับรองปลอดหนี้ให้แก่เจ้าของร่วมไปใช้ในการโอนกรรมสิทธิ์รวม 6 ห้อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ประเด็นพิพาทจึงอยู่ที่ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างบริหารจัดการอาคารชุด หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจากเจ้าของร่วมเรียบร้อยแล้วจึงออกหนังสือรับรองปลอดหนี้ให้เจ้าของร่วมเพื่อใช้ในการโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่ได้ผิดสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างตามฟ้อง แต่หากเป็นไปดังที่จำเลยให้การโจทก์ย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยปฏิเสธการชำระค่าจ้างได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาพิพากษาไปด้วยกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4025-4026/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าจ้างลูกจ้างต้องจ่ายตามสัญญาจ้าง แม้มีเงื่อนไขตามผลงาน เงื่อนไขที่เป็นการลดทอนสิทธิลูกจ้างย่อมเป็นโมฆะ
การที่โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลย โดยได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท เป็นค่าจ้างตอบแทนในการทำงานเป็นรายเดือนทุกเดือน ดังนั้นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงต้องเป็นไปตามสัญญาจ้างแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โดยจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่โจทก์ทั้งสองทำงานให้แก่จำเลย และแม้โจทก์ทั้งสองจะทราบเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ทั้งสองจะได้รับค่าจ้าง 10,000 บาท ต่อเมื่อปล่อยสินเชื่อจำนวนรถยนต์ได้ 20 คัน หรือวงเงิน 1,500,000 บาท ในเดือนนั้นก็ตาม แต่เมื่อเงื่อนไขดังกล่าวมีผลให้โจทก์ทั้งสองที่ทำงานให้แก่จำเลยเพียงแต่การทำงานในเดือนนั้นอาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดไว้กลับทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนการทำงานที่ตนได้ลงแรงไปแล้ว อันเป็นการขัดแย้งกับหน้าที่ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติและขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างค้างให้แก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสัญญาจ้างและการไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่
การแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยที่ 1 การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ แต่การที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจะต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกองทุน ซึ่งตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7 ระบุว่า "ในกรณีต่อไปนี้สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ... ทุจริตต่อหน้าที่.." เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติได้ความว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจากจำเลยที่ 2 ตามระเบียบข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3958/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดสัญญาจ้างและละเมิดจากการไม่ฟ้องล้มละลาย, อายุความคดีล้มละลาย, และความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ฟ้องคดีล้มละลาย บ. แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ กลับรายงานเท็จต่อโจทก์ ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่ามีการฟ้องคดีล้มละลาย บ. แล้ว เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างและละเมิดต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ดำเนินการฟ้อง บ. ภายในอายุความ แม้ปรากฏว่า บ. ไม่มีทรัพย์สินใดให้บังคับคดีในคดีแพ่งก็ตาม แต่ในคดีล้มละลายมีกระบวนการพิจารณาแตกต่างไปจากการบังคับคดีแพ่งทั่วไป เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยให้ลูกหนี้แสดงรายการหรือรายละเอียดของทรัพย์สินที่มีอยู่รวมทั้งสิทธิต่างๆ ในการที่จะได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกรวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบสินทรัพย์ของ บ. ได้ จึงอาจทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีล้มละลาย บ. จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาให้ บ. ใช้เงินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2543 การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้ บ. เป็นบุคคลล้มละลาย อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 แต่โจทก์กลับปล่อยระยะเวลาไว้นาน จึงมีมติให้ฟ้องคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษ คดีจะขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้นหนี้อันต้องใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 442
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3600/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออก vs. การเลิกจ้าง: สิทธิเรียกร้องเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด
โจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 โดยระบุข้อความว่า วันสุดท้ายที่มาทำงาน คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ถ้าเป็นไปได้ หรือในวันที่ 9 สิงหาคม 2555 อันมีความหมายว่าโจทก์ประสงค์ลาออกโดยให้มีผลบังคับในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2555 การขอลาออกของโจทก์เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นบังคับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด ประกอบกับการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจะเลิกกันก็ต่อเมื่อถึงกำหนดวันที่ระบุไว้ในใบลาออก คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2555 แล้วแต่กรณี มิใช่เกิดผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างแรงงานในวันที่โจทก์ยื่นใบลาออก ระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้นโจทก์และจำเลยยังคงมีความสัมพันธ์และมีสิทธิหน้าที่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่จนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล เมื่อจำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ว่าโจทก์ถูกปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของบริษัท ซึ่งมีผลทันที ถือว่าจำเลยใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างสัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่ มิใช่จำเลยใช้สิทธิให้โจทก์ออกจากงานก่อนครบกำหนดตามความประสงค์ของโจทก์ในใบลาออกอันจะถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3393-3394/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างหมดอายุ-คุ้มครองกรรมการลูกจ้าง: นายจ้างไม่ต้องขออนุญาตเลิกจ้างหากสัญญาหมดอายุตามกำหนด
โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจ้างกับจำเลยโดยมีระยะเวลาการทำงาน 10 เดือน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาจำเลยจะจ่ายค่าชดเชยตามระยะเวลาการทำงานให้แก่โจทก์ทั้งสองและเรียกให้โจทก์ทั้งสองมาทำสัญญาจ้างแรงงานฉบับใหม่ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาแต่ละคราว การที่ในระหว่างสัญญาจ้างสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยมีมติแต่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการลูกจ้างในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 นั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ในการห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน แต่การที่จำเลยไม่ต่อสัญญาจ้างฉบับใหม่กับโจทก์ทั้งสองถือเป็นกรณีระยะเวลาตามสัญญาจ้างสิ้นสุดลงอันส่งผลให้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยต้องเลิกกันตามผลของสัญญา ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยกลั่นแกล้งไม่ต่ออายุสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับที่จำเลยจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 และไม่จำต้องรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 163/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างผู้บริหาร: สิทธิในการพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนพิเศษเป็นดุลยพินิจของนายจ้าง ไม่ถือเป็นการผูกมัด
สัญญาจ้างผู้บริหาร ระบุว่า ผู้ว่าจ้างอาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลประกอบการของโรงพิมพ์ตำรวจและผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของคณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจ ในอัตราไม่เกินกว่าร้อยละ 30 ของค่าตอบแทนรวมในแต่ละปี ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ได้มีถ้อยคำที่เป็นการผูกมัดโรงพิมพ์ตำรวจว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีแก่โจทก์ทุกปี แต่กลับเป็นการให้สิทธิแก่โรงพิมพ์ตำรวจเพียงฝ่ายเดียวในการพิจารณาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีแก่โจทก์หรือไม่ แม้ข้อสัญญาดังกล่าวมีถ้อยคำต่อไปว่า.......จ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีตามผลประกอบการของโรงพิมพ์ตำรวจและผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินของคณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจ ในอัตราไม่เกินกว่าร้อยละ 30 ของค่าตอบแทนรวมในแต่ละปี ก็เป็นการกล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการกำหนดจำนวนค่าตอบแทนพิเศษประจำปีหลังจากที่มีการพิจารณาว่าจะจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวแก่โจทก์แล้วเท่านั้น เมื่อคณะกรรมการโรงพิมพ์ตำรวจเห็นว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โรงพิมพ์ตำรวจได้รับความเสียหาย และมีมติไม่จ่ายค่าตอบแทนพิเศษประจำปีสำหรับการปฏิบัติงานในปีที่ 2 แก่โจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามสัญญาข้อ 3.2 ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าตอบแทนพิเศษประจำปีไม่ได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2868/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสัญญาทํางานและค่าเสียหาย: แม้มีคำสั่งรับกลับเข้าทำงาน แต่สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายสิ้นสุดเมื่อเลิกจ้าง
นิติสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงไม่ว่าจะกรณีใด สิทธิและหน้าที่อันเกิดจากการปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวย่อมระงับสิ้นไปด้วย จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง น้ำมัน ค่าเที่ยว หรือค่าโทรศัพท์ตามสัญญาจ้างแรงงานให้แก่โจทก์อีกต่อไป เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์อีก
แม้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งที่ 378/2561 ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานพร้อมทั้งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับโจทก์กลับเข้าทำงาน เพราะเห็นว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวก็เป็นเพียงการใช้อำนาจตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์กำหนดไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการถือเสมือนว่าจำเลยไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ อำนาจการรับโจทก์กลับเข้าทำงานจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมเพื่อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานเดิมย่อมเป็นของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง เพราะหากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานอาจต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ต่อเนื่องไปตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานจากจำเลยนับแต่วันที่จำเลยเลิกจ้างซึ่งเป็นวันที่สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงแล้วได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2367/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกหนี้ร่วมในสัญญาจ้างเหมา และการแก้ไขค่าเสียหายที่ศาลกำหนดเกินคำฟ้อง
โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ทำงานรวม 3 สัญญา จำเลยที่ 3 นำจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมาร่วมทำงานรับจ้าง ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงเข้าร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำงานรับจ้างให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะคู่สัญญากับโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 3 ตามสัญญาจ้างอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาที่ 1 โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ตั้งแต่ต้นปี 2557 ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงเกิดขึ้นนับแต่เวลาดังกล่าวเป็นต้นมา แม้จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนก่อตั้งภายหลังจากโจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 3 แล้วก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่มีต่อโจทก์จำกัดอยู่เฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นไม่สำหรับงานตามสัญญาที่ 2 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องแก้ไขซ่อมแซมงานเป็นเงิน 130,765 บาท ค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคคลอื่นทำแบบแนวสายเคเบิลเป็นเงิน 100,000 บาท และค่าสายเคเบิลที่ต้องคืนเป็นเงิน 279,296.75 บาท รวมเป็นเงิน 510,061.75 บาท แต่โจทก์นำสืบค่าเสียหายที่ถูกบริษัทผู้ว่าจ้างหักเงินค่าจ้าง 275,528 บาท เพิ่มเข้ามา ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายแก้ไขงานกับที่โจทก์ถูกหักค่าจ้างและเสียค่าใช้จ่ายในการทำแบบแนวสายเคเบิล โดยกำหนดค่าเสียหาย 3 ส่วนนี้เป็นเงิน 400,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าสายเคเบิลจำนวน 279,296.75 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แล้ว ค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 3 รับผิดเป็นจำนวน 679,296.75 บาท จึงเกินกว่าที่โจทก์ฟ้อง อันเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และโจทก์หาอาจเรียกค่าเสียหายในส่วนที่กำหนดเกินไปจากคำฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4111/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา และสิทธิการรับเงินโบนัสขึ้นอยู่กับดุลพินิจนายจ้าง
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและออกแบบการบริการ เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาทำงาน 2 ปี และมีการต่อสัญญาทุก 2 ปี ฉบับสุดท้ายมีกำหนดระยะเวลาทำงานตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2559 จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2561 เห็นได้ว่า โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างกันไว้ 3 ฉบับติดต่อกัน สัญญาแต่ละฉบับกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้มีวันเริ่มต้นและสิ้นสุดเป็นการแน่นอน แม้จะมีข้อความในสัญญาจ้าง ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 ข้อ 6 ข้อกำหนดอื่น ๆ (ง) การบอกเลิกสัญญา วรรคหนึ่ง ว่า "ตลอดระยะเวลาของการทดลองงานนานสี่ (4) เดือน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาฉบับนี้โดยแจ้งล่วงหน้าสอง (2) สัปดาห์ และไม่ต้องอ้างเหตุผล" แต่ก็ไม่มีผลบังคับเพราะโจทก์ทำงานและทำสัญญาจ้างกับจำเลยมาเป็นเวลาคราวละ 2 ปี รวม 3 ครั้ง โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์และจำเลยประสงค์ให้มีระยะเวลาการทดลองงานมาใช้บังคับแก่กันเมื่อมีการต่อสัญญาจ้างใหม่ และการเลิกจ้างคดีนี้ก็เป็นกรณีเลิกจ้างเมื่อสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างฉบับที่ 3 อีกด้วย ส่วนที่มีการกำหนดเงื่อนไขไว้อีกว่า ตลอดระยะเวลาทดลองงานนายจ้างมีสิทธิบอกเลิกการจ้างลูกจ้างหากลูกจ้างฝ่าฝืนข้อตกลงในสัญญาฉบับนี้หรือลูกจ้างกระทำความผิดกฎหมายแห่งประเทศไทย ก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าโจทก์ทำผิดสัญญาไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดโจทก์ยอมให้จำเลยเลิกจ้างหรือไล่โจทก์ออกจากงานได้ทันทีก่อนที่จะครบกำหนดเลิกจ้างตามสัญญาได้เท่านั้น มิใช่ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่ทำให้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรม โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและออกแบบการบริการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ได้แก่ ดูแลเกี่ยวกับการจัดการออกแบบเชิงสร้างสรรค์จากแนวความคิดไปสู่กระบวนการผลิต บริหารจัดการบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์ออกแบบปฏิบัติงานกับผู้แทนกลุ่มตลาดรวมทั้งเจ้าหน้าที่จัดลำดับชิ้นงาน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และบริการ โดยต้องรายงานผลไปยังรองประธานฝ่ายการตลาดของจำเลย อันไม่ใช่การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยผู้เป็นนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ และเมื่อได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 และถือได้ว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20 และครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (4)
การเลิกจ้างที่จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นต้องพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างมีเหตุอันสมควรหรือเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างดังกล่าว จำเลยย่อมทำได้ตามที่ตกลงกันไว้ การเลิกจ้างไม่ได้กระทำโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ถือว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
เงินโบนัสไม่มีกฎหมายบังคับว่านายจ้างต้องจ่ายเสมอไป หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินโบนัสหรือสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินโบนัส จึงต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง คดีนี้มีข้อตกลงระหว่างจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกับโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ข้อ 4 (ค) ว่า "การพิจารณาผลงานและการให้โบนัส-นายจ้างจะพิจารณาทบทวนผลงานของลูกจ้างเป็นระยะ ๆ เพื่อพิจารณาการปรับเงินเดือนรวมทั้งโบนัส ถ้ามี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว" เมื่อจำเลยใช้ดุลพินิจพิจารณาไม่จ่ายโบนัสตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัสตามฟ้อง
of 69