คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เบี้ยปรับ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 673 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดและค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า (เบี้ยปรับ) ที่ศาลพิจารณาแล้วเป็นจำนวนพอสมควร
สัญญาเช่าข้อ 10.3 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนหมดอายุสัญญา โดยมิได้เป็นความผิดของผู้ให้เช่า ผู้เช่าต้องรับผิดชอบชำระค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญาเช่า สอดคล้องกับข้อ 3.2 ซึ่งกำหนดว่า หากสัญญาเช่าสิ้นสุดก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่า โดยเหตุจากการกระทำผิดสัญญาของผู้เช่าหรือผู้เช่าขอเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดระยะเวลา ผู้เช่าตกลงให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดเงินประกันได้ทั้งจำนวน นอกจากนี้สัญญาเช่าข้อ 11 ยังระบุว่า เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุครบกำหนดสัญญาแล้ว ไม่มีการต่อสัญญาออกไปตามข้อ 9 หรือโดยการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10 หรือด้วยเหตุอื่นใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิดังต่อไปนี้ ข้อ 11.1 ผู้ให้เช่ามีสิทธิกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าได้ทันที โดยมิจำเป็นต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าทราบก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้ให้เช่ามีสิทธิครอบครองยึดหน่วง และขนย้ายทรัพย์สินทั้งปวงที่อยู่ในทรัพย์สินที่เช่าออกไป รวมทั้งมีสิทธิดำเนินการให้ผู้อื่นเช่าทรัพย์สินที่เช่าต่อไปด้วย และสัญญาจ้างบริการข้อ 8 ยังกำหนดให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันการใช้บริการได้ในกรณีสัญญาจ้างบริการสิ้นสุดโดยเหตุแห่งการผิดสัญญาของจำเลย แสดงให้เห็นว่าหากการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวมิได้เป็นความผิดของโจทก์ จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยให้จำเลยชำระค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญา แม้ว่าจำเลยจะมิได้ครอบครองใช้ประโยชน์พื้นที่เช่าอีกต่อไป รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันการเช่าและเงินประกันการใช้บริการดังกล่าว อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ดังนั้น การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าและสัญญาจ้างบริการก่อนหมดอายุสัญญา โดยมิได้เป็นความผิดของโจทก์ จึงมีผลให้สัญญาเลิกกันตามสัญญาเช่าข้อ 10.3 เมื่อคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแต่อย่างใดไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์จึงเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าค้างชำระเสมือนหนึ่งเป็นการเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาที่เลิกกันไปแล้วหาได้ไม่ คงเรียกได้แต่ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยที่บอกเลิกสัญญาก่อนหมดอายุสัญญาโดยมิได้เป็นความผิดของโจทก์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงทบดอกเบี้ยเข้าต้นเงิน: ชอบด้วยกฎหมายหากไม่ใช่เบี้ยปรับสูงเกินไป
การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น เป็นข้อตกลงที่มีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระดอกเบี้ย โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงโดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียวนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1101/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับ, สัญญาค้ำประกัน, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, ศาลลดเบี้ยปรับ, กรอบเวลาความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งหกชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชําระหนี้แก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์อาศัยข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามคําขอสินเชื่อ คําขอสินเชื่อธุรกิจ ประเภทวงเงินออกหนังสือค้ำประกัน คำขอและข้อตกลงยินยอมให้ธนาคารออกหรือต่ออายุหนังสือค้ำประกัน ที่ระบุว่า "หากโจทก์ได้รับความเสียหายใด ๆ ในการออกหนังสือค้ำประกัน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกัน ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดจนค่าปรับต่าง ๆ จำเลยที่ 1 จะรับผิดชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์ทันทีพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันไปนั้น" ข้อตกลงดังกล่าวจะเห็นว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากจำเลยที่ 1 ได้ต่อเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใด ๆ ในการออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีลูกหนี้ไม่ชําระหนี้อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
แม้จำเลยทั้งหกขาดนัดยื่นคำให้การ แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่นําสืบข้อเท็จจริง ให้ได้ความตามฟ้อง ปัญหาว่าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 เดิม หรือตามมาตรา 686 ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขใหม่ หรือไม่เพียงใด ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246
จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ แต่มาตรา 19 แห่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ บทบัญญัติของมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่จึงต้องบังคับใช้กับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ด้วย
of 68