คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
ภาษี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 691 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035-6038/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี การไม่อุทธรณ์ภายในกำหนด และผลของการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนก่อนฟ้องคดี
การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรเป็นเรื่องที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งสำนวนไปตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน อันเป็นขั้นตอนในชั้นสอบสวนคดีอาญา หาได้มีผลผูกพันกับคดีแพ่งไม่ จึงจะนำมารับฟังเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลในคดีแพ่งไม่ได้ว่าจำเลยไม่ได้สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่ขาด
แม้จำเลยให้การว่า หนังสือแจ้งการประเมินเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และไม่ปรากฏว่าจำเลยคัดค้าน จึงถือว่าจำเลยสละประเด็นดังกล่าว ทั้งศาลภาษีอากรกลางไม่ได้วินิจฉัย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง
จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับการประเมิน จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน แต่จำเลยหาได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินไม่ แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจโต้แย้งการประเมิน อันมีผลให้การประเมินเป็นอันยุติ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวและย่อมไม่มีสิทธิต่อสู้คดีว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจวินิจฉัยการคืนภาษีและการปฏิเสธค่าใช้จ่ายต้องห้ามทางภาษี กรณีเบี้ยประกันภัย
การอุทธรณ์หนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรเป็นกรณีโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งทางปกครองของจำเลยเกี่ยวกับการขอคืนภาษีของโจทก์ กรณีคืนภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ผู้มีอำนาจออกคำสั่งคือ เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งหรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่นั้น ตามมาตรา 44 และ 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ไม่ใช่เป็นกรณีโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 (1) (ก) แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วยอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดและผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น น. สรรพากรภาค 1 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งจึงมีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งทางปกครองได้
การจ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัท อ. เพื่อประกันความเสี่ยงในการขายลดลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือทั้งสามเพื่อบริการด้านงานสินเชื่อตามสัญญา แม้เป็นค่าใช้จ่ายเนื่องจากการปฏิบัติตามสัญญา แต่การที่โจทก์จ่ายเบี้ยประกันภัยแทนบริษัทในเครือทั้งสาม โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหน้าที่หรือความจำเป็นอย่างไรที่ต้องไปจ่ายแทนบริษัทในเครือทั้งสาม และค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้จ่ายไป ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็ตกแก่บริษัทในเครือของโจทก์ โจทก์ได้รับเพียงค่าตอบแทนจากการให้บริการจัดการธุรกิจตามสัญญาเป็นรายปีในอัตราร้อยละ 2 ของยอดขายสุทธิเท่านั้น ดังนั้น เงินค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์จ่ายให้บริษัท อ. เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงจากการนำลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือทั้งสามไปขายลดให้ธนาคาร จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่ง ป.รัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9145/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ภาษีและคำนวณเงินเพิ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามการประเมิน ซึ่งจำเลยคำนวณเงินภาษีและเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระและแจ้งเตือนให้โจทก์ทราบ เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยโต้แย้งว่าวิธีการหักกลบลบหนี้ของจำเลยไม่ถูกต้อง จึงมีประเด็นว่าจำเลยหักกลบลบหนี้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่มถูกต้องหรือไม่ และการคิดเงินเพิ่มถูกต้องหรือไม่ แม้การหักกลบลบหนี้เกิดขึ้นก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในคดีก่อน แต่เมื่อคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์โต้แย้งในวิธีการคำนวณภาษีที่ต้องชำระโดยวิธีการหักกลบลบหนี้ว่าไม่ถูกต้องและในส่วนเงินเพิ่มเท่านั้น จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน มีประเด็นต่างกับคดีเดิมและการวินิจฉัยของศาลก็อาศัยเหตุที่แตกต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม ในขณะเดียวกันจำเลยมีคำสั่งให้คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยนำไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามการประเมินดังกล่าวบางส่วน โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์การประเมินและยื่นฟ้องคดี คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าไม่เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระ ซึ่งโจทก์ชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวไปก่อน และยื่นหนังสือโต้แย้งว่าการคำนวณเงินเพิ่มไม่ถูกต้องในวันเดียวกัน ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า เงินเพิ่มที่จำเลยเรียกเก็บไว้ถูกต้องตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร แล้ว โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงมาฟ้องคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนหรือแก้ไขการคำนวณภาษีและเงินเพิ่มตามแบบขอชำระภาษีอากรคงค้าง เพิกถอนคำสั่งตามหนังสือแจ้งเตือนให้นำเงินภาษีอากรไปชำระและคำสั่ง ในส่วนการคิดเงินภาษีและเงินเพิ่มและให้คืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แสดงให้เห็นว่ากรณีเป็นเรื่องในชั้นบังคับชำระค่าภาษีอากรค้าง โดยโต้แย้งกันในเรื่องวิธีการคำนวณภาษีที่ต้องชำระโดยการหักกลบลบหนี้ว่าไม่ถูกต้องและในส่วนเงินเพิ่มเท่านั้น มิได้พิพาทกันเกี่ยวกับมูลหนี้ภาษีอากรโดยตรง ประกอบกับเมื่อโจทก์ยื่นหนังสือโต้แย้งการคำนวณเงินเพิ่ม จำเลยก็รับวินิจฉัยให้โดยไม่ได้โต้แย้งถึงเรื่องรูปแบบของหนังสือ กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องหนี้ภาษีอากรค้างชำระ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ขอคืนเงินภาษีอากรที่นำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอคืนตามมาตรา 27 ตรี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และขอคืนเงินภาษีจากจำเลยได้
เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร มิใช่ดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่อาจนำเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าภาษีซึ่งเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดภาระและเป็นฐานในการคำนวณเงินเพิ่มจึงเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง จำเลยจึงต้องนำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนไปหักชำระค่าภาษีอากรให้หมดก่อนแล้วจึงไปหักในส่วนเงินเพิ่มได้
ป.รัษฎากร มาตรา 27 วรรคสาม บัญญัติว่า การคำนวณเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ส่วนการหักกลบลบหนี้หรือการชำระหนี้ภาษีซึ่งอาจทำให้จำนวนเงินภาษีอากรที่ผู้เสียภาษีต้องเสียหรือนำส่งลดลงนั้น การคำนวณเงินเพิ่มก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนภาษีอากรที่ลดลง เงินเพิ่มที่คำนวณได้จึงต้องไม่เกินต้นเงินภาษีอากรตามการประเมิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8943/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีราคาทรัพย์สินในการโอนกิจการและผลกระทบทางภาษี กรณีค่าความนิยมที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน
โจทก์ทำสัญญาโอนกิจการโจทก์ทั้งหมดให้แก่บริษัท บ. ตามราคาตลาด ณ วันโอนกิจการ เป็นเงิน 998,000,000 บาท โดยโจทก์ตีราคาสินทรัพย์ ณ วันโอนกิจการ 1,081,368,626.10 บาท เมื่อหักมูลค่าหนี้สินทั้งหมดแล้วคงเหลือเป็นราคาทรัพย์สินสุทธิ 293,300,378.95 บาท ส่วนที่สูงกว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิดังกล่าว เป็นเงินจำนวน 704,699,621.05 บาท ย่อมควรถือว่าเป็นจำนวนเงินที่โจทก์ได้กำไรจากการขายทรัพย์สินสูงกว่ามูลค่าราคาตลาดทรัพย์สินสุทธิ แม้โจทก์จะอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าความนิยมที่โจทก์ตีราคาตลาดอันมีผลให้ไม่ต้องนำเงินจำนวนนี้มารวมคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 74 (1) (ค) ประกอบ (ข) แต่ตามรายงานการประเมินราคาตลาดที่ยุติธรรมไม่ปรากฏรายละเอียดว่าผู้ประเมินราคาได้ประเมินราคาทรัพย์สินที่เป็นค่าความนิยมของโจทก์ไว้ และโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นได้ว่า เหตุใดจึงถือเอาจำนวนเงินดังกล่าวเป็นการประเมินราคาตลาดทรัพย์สินของโจทก์ นอกจากนี้ในรายงานและงบการเงินของโจทก์ก็แสดงในส่วนรายได้ว่า กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์สุทธิตามสัญญาขายและโอนธุรกิจเป็นเงิน 704,699,621 บาท ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้บันทึกในบัญชีว่าค่าความนิยมเป็นทรัพย์สินของบริษัท ส่วนบริษัท บ. ผู้ซื้อกิจการโจทก์ก็บันทึกค่าความนิยมไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินเท่านั้น ซึ่งตามมาตรา 74 (1) (ค) บัญญัติว่าในการตีราคาทรัพย์สินในกรณีที่มีการโอนกิจการระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลด้วยกัน...ให้นำความใน (ข) มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งข้อความตามมาตรา 74 (1) (ข) ที่ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น ก็เห็นได้ว่า ทรัพย์สินที่จะตีราคาตลาดเป็นทรัพย์สินที่มีราคาปรากฏในบัญชีบริษัทเดิมอยู่แล้ว เมื่อบริษัทเดิมเพียงแต่เข้าควบรวมกันจนเกิดเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมา บริษัทใหม่จึงต้องถือราคาตามราคาที่ปรากฏในบัญชีของบริษัทเดิมในวันที่ควบเข้ากันนั้น ซึ่งกรณีของโจทก์ที่ขายกิจการให้แก่บริษัท บ. ค่าความนิยมที่โจทก์กล่าวอ้างไม่อาจรับรู้เป็นทรัพย์สินของโจทก์ได้มาแต่ต้นและบริษัท บ. ก็ไม่อาจถือราคาค่าความนิยมตามที่ปรากฏในบัญชีของโจทก์ได้ จึงไม่ใช่กรณีที่จะปฏิบัติในการตีราคาตลาดเพื่อประโยชน์ในการไม่นำมารวมคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 74 (1) (ข) (ค) จึงย่อมถือว่าเงินจำนวน 704,699,621.05 บาท เป็นรายได้เนื่องจากกิจการของโจทก์ผู้โอน อันเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 39 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำกำไรจากการขายทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6320/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดประเภทเงินได้พึงประเมินและสิทธิในการหักค่าใช้จ่ายทางภาษี กรณีตัวแทนนายหน้าประกันชีวิต
การพิจารณาว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด นอกจากพิจารณาถึงลักษณะของงานที่ทำแล้วยังต้องพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดเงินได้จากการประกอบวิชาชีพดังกล่าวประกอบด้วย เนื่องจาก ป.รัษฎากร ให้หักค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนที่แตกต่างกัน เงินได้ตามมาตรา 40 (8) ให้หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่าเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ดังนั้น การที่จะถือว่าเงินได้ที่บริษัท อ. จ่ายให้โจทก์จากการเป็นตัวแทนนายหน้าประกันชีวิตเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจตามมาตรา 40 (8) ได้จะต้องเป็นการประกอบธุรกิจที่มีรายจ่ายค่อนข้างสูงและรายจ่ายดังกล่าวต้องเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ การเป็นตัวแทนนายหน้าธุรกิจประกันชีวิตของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจะต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อผลสำเร็จของงาน ที่โจทก์นำสืบว่า มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าอาหารเครื่องดื่มเลี้ยงรับรอง ค่าน้ำมัน ค่าวัสดุสำนักงาน ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื่อมรถยนต์ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าถ่ายเอกสาร ค่าไปรษณีย์ และค่าของขวัญต่าง ๆ ค่าจ้างพนักงานก็มีเพียงใบสำคัญรับเงินของผู้ที่อ้างว่าเป็นพนักงานที่ทำขึ้นฝ่ายเดียว ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ไม่มีหลักฐานการยื่นรายการตามแบบ ภ.ง.ด. 1 ก ค่าอาหารเครื่องดื่มเลี้ยงรับรอง ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าของขวัญไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ หากมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายที่ระคนปนกันจนไม่อาจแยกได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวหรือเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ ไม่มีหนังสือรับรองในการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนของบริษัท อ. และบริษัท อ. ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ว่าเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) มาโดยตลอด เงินได้ของโจทก์จึงต้องถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2)
ในคดีหมายเลขแดงที่ 150/2552 ของศาลภาษีอากรกลาง เป็นกรณีเจ้าพนักงานประเมินอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 21 กรณีผู้เสียภาษีไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุผลอันควร ซึ่งศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยในคดีดังกล่าวว่า การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 21 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้วินิจฉัยว่าการออกหมายเรียกไม่ชอบด้วยกฎหมาย หมายเรียกฉบับเดิมจึงยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ถูกต้องแสดงเงินได้ผิดประเภทและหักค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง ย่อมมีอำนาจประเมินใหม่ให้โจทก์ชำระภาษีตามที่เห็นว่าถูกต้องได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนอีกครั้งตามมาตรา 19 ทั้งการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นการอาศัยอำนาจตามมาตรา 20 ซึ่งเป็นคนละกรณีกับคดีหมายเลขแดงที่ 150/2552 การประเมินภาษีในครั้งหลังซึ่งพิพาทในคดีนี้จึงไม่ได้ออกหมายเรียกและประเมินภาษีตามมาตรา 21 และมีผลให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพียงครั้งเดียวหาใช่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนดังอุทธรณ์ของโจทก์แต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์หลักฐานค่าใช้จ่ายทางภาษี: รายจ่ายที่พิสูจน์ตัวผู้รับไม่ได้ และการหักล้างผลขาดทุน
ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ บัญญัติว่า "การคํานวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) รายการที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ตรี ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย..." และมาตรา 65 ตรี บัญญัติว่า "รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคํานวณกำไรสุทธิ... (18) รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ..." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวของอนุมาตรานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายรายจ่ายต้องพิสูจน์ตัวตนของผู้รับเงินได้ หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับก็ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคํานวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ป.รัษฎากร ซึ่งทางนําสืบของโจทก์มีรายละเอียดข้อมูล ที่เกี่ยวกับ ก. เพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ก. และบิลเงินสดที่ ก. ทำเรื่องเบิกเงินจากโจทก์ที่ปรากฏแต่ชื่อของ ก. เท่านั้น และโจทก์นําตัว ก. มาให้ถ้อยคําในชั้นตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สรรพากรไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อพิรุธเพราะโจทก์และ ก. ติดต่อทำธุรกิจกันมาเป็นระยะเวลานานมีมูลค่าหลายล้านบาท เฉพาะที่ปรากฏในชุดใบสำคัญจ่ายสำหรับการเช่ารถระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน 2552 มีการเช่ารถพร้อมคนขับจำนวนมาก โดยคนขับรถต้องไปรับพนักงานของโจทก์ในสถานที่แตกต่างกันเพื่อสำรวจข้อมูลทำแผนที่ ในการเช่ารถดังกล่าวตามปกติย่อมต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของ ก. เพื่อติดต่อใช้รถในแต่ละครั้ง แต่โจทก์กลับไม่สามารถให้ข้อมูลติดต่อ ก. ได้ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าโจทก์กับ ก. มีการทำหลักฐานเอกสารการเช่ากันเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีการระบุตัวทรัพย์สินที่ให้เช่า คงมีเพียงตารางค่าเช่ารถเท่านั้น ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของการทำธุรกิจให้เช่ารถจำนวนมาก เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจปฏิบัติการสอบยัน ณ ภูมิลำเนาของ ก. ก็ไม่สามารถเข้าตรวจได้เนื่องจากสถานประกอบการมีลักษณะเป็นทาวน์เฮาส์ ไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการ ไม่มีผู้ใดพักอาศัยและไม่พบตัว ก. แม้โจทก์จะประกอบกิจการจริงและได้ชําระเงินค่าเช่ารถให้ ก. โดยสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อ ก. และขีดคร่อม ประทับตราว่า A/C PAYEE ONLY ขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือออกและมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คก็ตามแต่โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ว่า ก. เป็นผู้ให้เช่ารถและรับเงินค่าเช่ารถจริง ทางนําสืบของโจทก์จึงยังไม่พอให้รับฟังได้ว่า ก. เป็นผู้ให้เช่ารถที่แท้จริง เพราะหาก ก. เป็นผู้ให้เช่ารถแล้ว น่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ก. มากกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ารายจ่ายค่าเช่ารถเป็นรายจ่ายต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ค่าโดยสารรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์แม้โจทก์ไม่มีใบเสร็จรับเงินจากผู้ให้บริการมาแสดง แต่โจทก์ได้จ่ายไปจริงและส่งมอบบิลให้แก่จำเลยแล้ว และโดยปกติผู้ให้บริการเหล่านี้จะไม่มีการออกใบเสร็จรับเงินจากผู้ให้บริการมาแสดง โจทก์จึงไม่อาจมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงได้ รายจ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่รายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับนั้น เห็นว่า โจทก์เพียงแต่จัดทำยอดรวมสรุปค่าใช้จ่ายซึ่งรวมถึงค่าโดยสารรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งตามตารางดังกล่าวมีการระบุวันเดือนปีประเภทค่าใช้จ่าย และชื่อผู้เบิกเงิน โดยไม่ปรากฏรายละเอียดของรายจ่าย ประกอบกับประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พ.ศ. 2544 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. 2543 มาตรา 7 (1) (2) (3) และ (4) ข้อ 8 ซึ่งกำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายทรัพย์สินพร้อมขาย: เงื่อนไขการชำระภาษีไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
เงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ชนะการแข่งขันราคาเป็นผู้ชำระค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งในเอกสารการประมูลทรัพย์สินพร้อมขาย โจทก์ที่ 5 ย่อมต้องทราบดีว่าหากตนชนะการแข่งขันและได้ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลย โจทก์ที่ 5 จะต้องมีภาระภาษีจำนวนเท่าใด การที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ที่ 5 เป็นผู้รับภาระในการชำระค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงในสัญญาที่ทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ที่ 5 เกินสมควร อันจะเข้าลักษณะของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ดังนั้น โจทก์ที่ 5 รวมทั้งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ที่ได้รับอนุมัติจากจำเลยให้ร่วมรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินรวม 21 โฉนด จากจำเลย ต้องผูกพันตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่โจทก์ที่ 5 ทำไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1110/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตกลงชำระภาษีแทนกันในการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่ขัดต่อกฎหมาย
แม้เงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และจําเลย (ผู้ขาย) มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายทอดตลาดตาม ป.รัษฎากรก็ตาม แต่คู่กรณีอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 810/2556 เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจําหน่ายทรัพย์สิน ข้อ 2 ระบุว่า "ในการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดจะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอน ค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์และค่าอากรตาม ป.รัษฎากรเองทั้งหมด โดยผู้ซื้อไม่สามารถนําใบเสร็จรับเงินค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายหรือค่าอากรแสตมป์มาขอรับเงินคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้" และประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องขายทอดตลาดที่ดินระบุว่า "ผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอน ค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์และค่าอากรตาม ป.รัษฎากร" ซึ่งประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวได้ระบุภาระหน้าที่ของผู้ซื้อที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีและค่าอากรตาม ป.รัษฎากรไว้โดยละเอียดแล้ว เมื่อผู้ร้องได้ทราบประกาศขายทอดตลาดที่ดินของเจ้าพนักงานบังคับคดีมาก่อนและเข้าร่วมประมูล จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้ยอมรับและตกลงกับเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะปฏิบัติตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับตาม ป.รัษฎากร ไม่ได้ห้ามคู่กรณีที่จะตกลงกันว่าผู้ใดจะเป็นผู้รับภาระชําระภาษีเงินได้ รวมทั้งไม่ได้ห้ามบุคคลอื่นชําระภาษีเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์แทนผู้ขายหรือผู้มีเงินได้จากการขายทอดตลาด คำสั่งกรมบังคับคดีที่ 810/2556 เรื่องการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจําหน่ายทรัพย์สิน ประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องขายทอดตลาดที่ดิน และข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับเจ้าพนักงานบังคับคดีที่กําหนดให้ผู้ร้องในฐานะผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดเป็นผู้เสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จึงไม่ขัดต่อ ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) และไม่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจึงต้องเสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีรับจ่ายและคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้ร้องชําระแทนจําเลยไป 49,568,500 บาท ให้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีหลังบริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน: สิทธิในการประเมินและผลของการสิ้นสภาพนิติบุคคล
เมื่อจำเลยถูกขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท การถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนย่อมเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 กล่าวคือ บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนตามมาตรา 1273/4 แม้ตามมาตรา 1273/4 วรรคหนึ่ง จะกำหนดว่า การที่ศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน ให้ถือว่าบริษัทยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย โดยศาลจะสั่งและวางข้อกำหนดไว้เป็นประการใด ๆ ตามที่เห็นเป็นการยุติธรรมด้วยก็ได้ เพื่อให้บริษัทกลับคืนสู่ฐานะอันใกล้ที่สุดกับฐานะเดิมเสมือนบริษัทนั้นมิได้ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเลยก็ตาม แต่การที่จะถือเสมือนว่าบริษัทคงอยู่ตลอดมา เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน เมื่อโจทก์ที่ 1 ออกแบบแจ้งการประเมิน ฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบสามปีนับแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2552 ที่จำเลยถูกสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนกลางขีดชื่อออกจากทะเบียนตามมาตรา 1273/3 แต่กลับไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพนิติบุคคลของจำเลยและดำเนินการให้มีการจดชื่อบริษัทจำเลยกลับคืนสู่ทะเบียนก่อนมีการออกและส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยทั้งที่มีระยะเวลานานที่จะดำเนินการได้ และการตรวจสอบสภาพนิติบุคคลกระทำได้ไม่ยาก แม้ขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาตามหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะมีผู้ลงชื่อรับตามไปรษณีย์ตอบรับ แต่ขณะนั้นศาลยังไม่ได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน จำเลยจึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลในขณะที่มีการส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าว ต่อมาโจทก์ที่ 1 กลับเพิ่งยื่นคำร้องต่อศาลให้จดชื่อจำเลยกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน โดยระบุในคำร้องด้วยว่าจำเลยถูกขีดชื่อจากทะเบียนเป็นผลให้บริษัทสิ้นสภาพนิติบุคคลแสดงว่าโจทก์ทั้งสองทราบสภาพบุคคลของจำเลยดีอยู่แล้ว และเมื่อศาลมีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยกลับคืนสู่ทะเบียนได้ตามมาตรา 1273/4 ก็ไม่ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งและวางข้อกำหนดใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการนี้ ดังนั้น การส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบริษัทที่สิ้นสภาพนิติบุคคลในขณะนั้นจึงไม่สามารถทำได้และยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลยแล้ว เมื่อการส่งแบบแจ้งการประเมินให้แก่จำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าจำเลยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมิน กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยพอใจและการประเมินเป็นอันยุติแล้วไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4847/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการภาษีจากการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีล้มละลาย: การแก้ไขบัญชีรับ-จ่ายให้ถูกต้อง
การที่ผู้คัดค้านในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดที่ดินของจำเลย เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเป็นเงินได้ของกองทรัพย์สินจำเลย จำเลยโดยผู้คัดค้านมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) เว้นแต่จะมีข้อตกลงเรื่องภาระภาษีเงินได้กันเป็นอย่างอื่น ที่ผู้คัดค้านกำหนดเงื่อนไขในการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์และข้อตกลงในหนังสือสัญญาซื้อขายให้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมการโอนและค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายทอดตลาดและมีสิทธินำใบเสร็จรับเงินที่มีรายการชำระค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายมาขอคืนภาษีภายใน 20 วัน นับแต่วันชำระราคาครบถ้วน หากไม่มาขอคืนภายในกำหนดจะถือว่าผู้ซื้อทรัพย์ไม่ติดใจขอคืนภาษีนั้น ไม่มีลักษณะเป็นข้อตกลงเรื่องภาระภาษีเงินได้กันเป็นอย่างอื่น หากแต่เป็นเพียงเพื่อให้การจัดการทรัพย์สินของจำเลยดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและสะดวกรวดเร็วอันเป็นประโยชน์แก่ผู้คัดค้านที่ไม่จำต้องนำส่งหรือไปชำระภาษีดังกล่าวด้วยตนเองโดยผลักภาระให้ผู้ซื้อทรัพย์ไปชำระภาษีแล้วนำใบเสร็จรับเงินมาขอคืนเงินที่ชำระเป็นค่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากผู้คัดค้านเท่านั้น เมื่อผู้คัดค้านจำหน่ายทรัพย์ของจำเลยในคดีล้มละลายแล้ว ทรัพย์สินซึ่งเหลือจากที่กันไว้สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ผู้คัดค้านต้องจัดการแบ่งในระหว่างเจ้าหนี้โดยเร็วตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 124 ซึ่งผู้คัดค้านสามารถกันเงินในส่วนที่ผู้ซื้อทรัพย์จะมาขอรับเงินที่จ่ายเป็นค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายคืนได้ในชั้นทำบัญชีแสดงรายการรับ–จ่ายเงิน แล้วแจ้งให้ผู้ซื้อทรัพย์มารับเงินคืน หากผู้ซื้อทรัพย์ไม่มารับเงินดังกล่าวคืนภายในห้าปีนับแต่วันที่ศาลสั่งปิดคดี เงินดังกล่าวก็จะตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 176 ผู้คัดค้านจะกำหนดเงื่อนไขหรือข้อตกลงในการขายทอดตลาดทรัพย์หรือหนังสือสัญญาซื้อขายให้ผู้ซื้อทรัพย์มารับเงินดังกล่าวคืนภายในกำหนดเวลาผิดแผกแตกต่างจากบทกฎหมายดังกล่าวหาได้ไม่
of 70