พบผลลัพธ์ทั้งหมด 687 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำนองห้องชุด, การรับผิดของลูกหนี้ร่วม, ดอกเบี้ยผิดนัด, การบังคับชำระหนี้
ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของ จ. ว่า จำเลยที่ 4 ปลอมลายมือชื่อตน ทำรายงานการประชุมเท็จ และนำห้องชุด 20 ห้องของจำเลยที่ 5 ไปจดทะเบียนจำนองกับโจทก์ตามฟ้อง และ จ. มาฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ผลแห่งคดีเป็นเช่นไร ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวนั้น ก็เป็นเรื่องการดำเนินการภายในของจำเลยที่ 5 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ โดยโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองห้องชุด 20 ห้อง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร ข้ออ้างของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวจึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ โจทก์มิอาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 5 ดังที่จำเลยที่ 5 ฎีกา ประกอบกับโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 5 โดยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันโดยไม่เพิ่มวงเงิน รวม 20 ห้องชุด และตามสัญญาค้ำประกัน ตามที่โจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3312/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประกันภัย: ความคุ้มครองภัยลมพายุ และการรับผิดของบริษัทประกันภัย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 สัญญาประกันภัยเป็นนิติกรรมสองฝ่ายที่คู่สัญญามีคำเสนอคำสนองต้องตรงกันที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตกลงจะชำระเบี้ยประกันภัยด้วย กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบของสัญญาไว้ ส่วนตารางกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเพียงหลักฐานการรับประกันที่ผู้รับประกันภัยออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยเพื่อแสดงว่าตนได้เข้ารับประกันความเสี่ยงภัยนั้นไว้แล้ว หาใช่เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวไม่ เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองในนามของโจทก์ตามใบคำขอเอาประกันภัย ซึ่งในข้อ 12 ระบุความคุ้มครองภัยเพิ่มพิเศษรวมถึงลมพายุไว้ด้วย และต่อมาจำเลยที่ 2 ออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ได้ให้คำจำกัดความคำว่า กรมธรรม์ประกันภัย หมายความรวมถึง ใบคำขอเอาประกันด้วย ดังนั้น ใบคำขอเอาประกันภัยจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากนี้ยังปรากฏข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยว่าทำสัญญาประกันภัยวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 พิจารณารับประกันวินาศภัยในทรัพย์ที่เอาประกันภัยของโจทก์ และถือว่าเป็นวันที่คำเสนอและคำสนองของโจทก์และจำเลยที่ 2 ตรงกันอันเป็นวันที่สัญญาประกันภัยเกิดขึ้น และจำเลยที่ 2 ไม่ได้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณารับประกันภัยของผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ในการสืบพยานต่อศาลชั้นต้นทั้งที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 2 และไม่ยากแก่การนำสืบว่าเพราะเหตุใดจึงไม่คุ้มครองความเสี่ยงภัยพิเศษจากลมพายุ และกรมธรรม์ประกันภัยออกเป็นหลักฐานเมื่อวันหลังจากที่เกิดวินาศภัยในคดีนี้ หากจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะคุ้มครองความเสี่ยงภัยพิเศษจากลมพายุก็ควรโต้แย้งหรือแจ้งต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์เสียแต่ในโอกาสแรก แต่ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น และต้องถือว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยจากโจทก์โดยรวมถึงภัยอันเกิดจากลมพายุตามที่มีการระบุในใบคำขอเอาประกันภัยตามข้ออ้างของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2262/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำเลยผู้สู้ราคาสูงสุดต้องรับผิดในส่วนต่างราคาที่ดินเมื่อไม่ชำระเงินตามสัญญา แม้เจ้าหนี้ต้องผ่านเจ้าพนักงานบังคับคดี
จำเลยเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดที่ละเลยไม่ใช้ราคาค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง เมื่อได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม จำเลยซึ่งเป็นผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ทำกับเจ้าพนักงานบังคับคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 เงินในส่วนที่ขาดที่จำเลยต้องรับผิดตามบทบัญญัติมาตรานี้ ถือว่าเป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่เกิดจากการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.254/2553 ของศาลชั้นต้น ต้องตกอยู่ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในฐานะเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางกับยึดหรืออายัดหรือยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 278 วรรคหนึ่ง (เดิม) แม้โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ก็ต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้จัดสรรชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่ 4 ในคดีดังกล่าวหากมีการร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งหากมีเงินเหลืออยู่ในภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 322 วรรคสอง (เดิม) บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากจำเลยเพื่อดำเนินการบังคับคดีตามอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย โจทก์หามีสิทธิเรียกร้องเอาเป็นส่วนของตนได้โดยลำพังไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า เมื่อโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยหรือบังคับคดีจากจำเลยแล้ว ให้หักเป็นค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี (ถ้ามี) แก่โจทก์ แล้วส่งคืนเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.254/2553 ของศาลชั้นต้น เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ในคดีดังกล่าวต่อไป เป็นการพิพากษาไปตามสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมาย หาได้พิพากษานอกคำฟ้องไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้ครอบครองรถยินยอมให้คนเมาขับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถที่โจทก์รับประกันภัยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถในขณะเกิดเหตุ ทั้งที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เมาสุราซึ่งจากผลการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์จำเลยที่ 1 มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 102 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายและกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์กำหนด เมื่อจำเลยที่ 1 มีอาการมึนเมาแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถโดยจำเลยที่ 2 นั่งโดยสารมาในรถที่จำเลยที่ 1 ขับด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่าการขับรถในขณะเมาสุราอาจทำให้ผู้ขับขี่หย่อนสมรรถภาพในการควบคุมบังคับรถให้อยู่ในทิศทางและช่องเดินรถของตน ทั้งไม่อาจควบคุมความเร็วของรถให้ช้าลงหรือหยุดรถเมื่อจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นได้ การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถดังกล่าวย่อมเล็งเห็นว่าจะเกิดอุบัติเหตุได้ กรณีถือว่าจำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองรถไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอในการควบคุมดูแลรถซึ่งอยู่ในความครอบครอง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคคลภายนอกที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุละเมิดครั้งนี้ และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกด้วย นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถที่โจทก์รับประกันภัยในขณะเมาสุราเป็นการผิดเงื่อนไขและความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ข้อ 7.6 เมื่อโจทก์ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความรับผิดที่จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้จ่ายไปนั้นคืนให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในข้อ 8 ข้อสัญญาพิเศษ อันเป็นเงื่อนไขการยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับผิดของผู้รับประกันภัยในคดีประมาทเลินเล่อ ผู้ตายมีส่วนประมาท ความรับผิดเป็นพับ
แม้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตามคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าหรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรณีที่ต้องฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายในประเด็นพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ประมาทแต่เพียงฝ่ายเดียวตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องหรือไม่ ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียว และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 หรือประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 และความเสียหายของโจทก์เป็นพับ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ การอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3956/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำ: หน่วยงานรัฐรับผิดละเมิดเจ้าหน้าที่ – ผูกพันตามคำพิพากษาเดิม
การที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนแล้วมาฟ้องคดีนี้ แม้จำเลยที่ 2 คดีนี้และจำเลยในคดีก่อนจะเป็นนิติบุคคลแยกจากกัน แต่จำเลยในคดีก่อนและจำเลยที่ 2 คดีนี้ ต่างเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ พ. (จำเลยซึ่งในคดีนี้) เป็นเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับจำเลยในคดีก่อน เมื่อโจทก์คดีนี้ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดของ พ. ซึ่งเป็นการฟ้องโดยอาศัยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน และในคดีก่อนได้ถึงที่สุดไปแล้ว ดังนี้ โจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 อันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3853/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของหน่วยงานรัฐต่อละเมิดของเจ้าหน้าที่ กรณีขายทอดตลาดโดยประมาทเลินเล่อ และการปรับอัตราดอกเบี้ยผิดนัด
เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ธนาคาร อ. ผู้รับจำนองทราบก่อนการขายทอดตลาด เป็นเหตุให้ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ด้วยเหตุดังกล่าว เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ในเรื่องสำคัญและเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องมีความระมัดระวังในเรื่องนี้เพราะเป็นหน้าที่ของตนตามกฎหมาย แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง ย่อมเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ความรับผิดทางละเมิดในกรณีเช่นนี้จึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เนื่องจากมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ บัญญัติว่า "บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน" ดังนั้น ในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กล่าวคือ มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ บัญญัติว่า "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้..." กรณีจึงไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ข้อ 4 ของหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน มีผลยกเว้นความรับผิดทางละเมิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ เพียงใด เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 285 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ได้บัญญัติในเรื่องนี้ไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อ 4 ของหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน ได้ระบุยกเว้นความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ กรณียังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีและจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 285 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ดังนั้น กรณีต้องรับฟังว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่โจทก์โดยความประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5