คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
กฎหมายแก้ไข

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 73 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8566/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไขใหม่ ศาลต้องใช้บทกฎหมายเดิมที่ให้คุณแก่จำเลย
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้กำหนดโทษจำเลยที่ 2 ใหม่ ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังในส่วนที่เป็นคุณ โดยโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 และมาตรา 66 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด ซึ่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า "แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัม ขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัม ขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 5,290 เม็ด น้ำหนัก 459.520 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 66.355 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมทแอมเฟตามีนของกลางที่จำเลยที่ 2 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินกว่า 20 กรัม ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 15 วรรคสอง เดิม ซึ่งความผิดดังกล่าวต้องด้วยบทกำหนดโทษใน มาตรา 66 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต" มิใช่ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เมื่อมาตรา 66 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 2 กระทำความผิด บัญญัติว่า "ผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท" โทษตามกฎหมายเดิมจึงเป็นคุณมากกว่าโทษตามมาตรา 66 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ กรณีตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3806/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์บังคับตามกฎหมายที่ใช้ ณ เวลาอุทธรณ์ แม้กฎหมายแก้ไขภายหลังก็ใช้จำกัดสิทธิไม่ได้
สิทธิของคู่ความที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้ในขณะยื่นอุทธรณ์ ปรากฏว่าขณะผู้ซื้อทรัพย์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยยื่นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2547 นั้น ยังอยู่ในช่วงเวลาที่ ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ เดิม มีผลใช้บังคับอยู่ จึงต้องบังคับใช้ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว ดังนั้น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจึงไม่เป็นที่สุด ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 309 ทวิ วรรคสี่ เดิม ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงชอบที่จะรับอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ไว้วินิจฉัย แม้ต่อมาขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 21)ฯ มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 309 ทวิ เดิม และให้ใช้ความในมาตรา 309 ทวิ ที่แก้ไขใหม่แทน ซึ่งกำหนดให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นที่สุดก็ตาม แต่ไม่อาจนำมาใช้จำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ได้ เนื่องจากขณะผู้ซื้อทรัพย์ใช้สิทธิอุทธรณ์นั้น บทบัญญัติดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์จนเสร็จสำนวนและมีคำพิพากษามานั้น ย่อมเป็นการพิจารณาและพิพากษาโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 436/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องอ้างอิงกฎหมายที่แก้ไขใหม่ โดยไม่ได้ระบุข้อแตกต่างจากกฎหมายเดิม ไม่ถือว่าทำให้จำเลยหลงต่อสู้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยผลิตกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยการเพาะปลูกกัญชา 5 ต้น น้ำหนักรวม 501.420 กรัม โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และหลังจากที่จำเลยเพาะปลูกกัญชาแล้ว จำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งกัญชา 5 ต้น อันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26, 75, 76 กับอ้าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 22 ซึ่งยกเลิกความในมาตรา 75 และมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทนด้วย การที่โจทก์บรรยายฟ้องอ้างถึง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงเป็นการอ้างถึงมาตรา 75 และมาตรา 76 ที่แก้ไขใหม่โดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 เป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเป็นความผิดชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งกรรมและบทลงโทษคดียาเสพติด: เจตนา, กรรมเดียว, ความผิดใหม่, และการใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่
การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ เมทแอมเฟตามีน 20,061 เม็ด ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่หลังจากที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด เสร็จสิ้นไปแล้ว จำเลยทั้งสองยังร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการจำหน่ายอีก 61 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายต่อไป จึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นใหม่แยกต่างหากจากกัน คือฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนฐานหนึ่งและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกฐานหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจลงโทษอีกกรรมหนึ่งได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลยทั้งสองโดยโจทก์ไม่ได้ฎีกา ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225
โจทก์มีคำขอให้ริบรถยนต์และลูกกุญแจรถยนต์ของกลางซึ่งศาลชั้นต้นยกคำขอของโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องการริบของกลางดังกล่าวย่อมยุติ จึงต้องคืนของกลางแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบ มาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1843/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่ออนาจาร และการปรับบทความผิดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม มุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองดูแลของผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก มิให้ถูกผู้ใดล่วงละเมิดได้ ข้อสาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่าขณะมีการกระทำความผิด เด็กนั้นอยู่ในความปกครองดูแลของผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ หากปรากฏว่าเด็กอยู่ในอำนาจปกครองดูแลไม่ว่าเป็นของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว ผู้ใดก็ไม่อาจมารบกวนหรือทำให้อำนาจปกครองของบุคคลนั้นต้องถูกกระทบกระเทือนโดยปราศจากความรู้เห็นยินยอมของบุคคลดังกล่าวได้
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 อายุ 6 ปีเศษ อยู่ในอำนาจปกครองดูแลของ ห. เพียงแต่เดินผ่านหน้าบ้านของจำเลยจะไปตาม ต. กลับมารับประทานอาหารที่บ้าน เหตุที่แวะไปหาจำเลยเพราะจำเลยเรียกผู้เสียหายที่ 1 ให้เข้าไปหาที่แคร่หน้าบ้านจำเลยแล้วล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 1 จึงถือได้ว่าเป็นการพรากเด็กออกจากอำนาจปกครองที่มีอยู่เหนือผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้อำนาจปกครองถูกกระทบกระเทือนแล้ว แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 มิใช่ ห. ตามที่พิจารณาได้ความก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าวก็ไม่ถือเป็นข้อสำคัญอันกระทบต่อสาระอันเป็นเนื้อหาขององค์ประกอบความผิด ศาลชอบจะลงโทษจำเลยไปตามข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความดังกล่าวนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7142/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีค้ามนุษย์และพรากผู้เยาว์ การพิพากษาความผิดฐานต่างๆ และการใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดนับแต่จำเลยทั้งสองกับพวกเริ่มพรากผู้เสียหายที่ 1 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่นอกราชอาณาจักร และเป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมาในท้องที่ต่าง ๆ หลายท้องที่ตลอดเวลาที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ไว้เพื่อการค้าประเวณีที่จังหวัดตราด ถือได้ว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อเนื่องเกิดขึ้นหลายท้องที่ทั้งนอกราชอาณาจักรและในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก (เดิม) และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ตามมาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้ร่วมกระทำความผิดกับตน เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นธุระจัดหาและพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น มิใช่เพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสองกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดสองฐานนี้ ความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี กับความผิดฐานร่วมกันดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีของจำเลยทั้งสองนั้นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 แก้ไขอัตราโทษตาม ป.อ. มาตรา 286 วรรคแรก และมาตรา 318 วรรคสาม แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด แต่ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ให้ยกเลิกความในมาตรา 286 ซึ่งกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณเฉพาะในส่วนโทษจำคุก จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2982/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กชายโดยใช้นิ้วสอดใส่ และผลกระทบของกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
ผู้เสียหายที่ 2 วิ่งไปหาจำเลย จำเลยกอดผู้เสียหายที่ 2 แล้วจูบหน้าผาก จากนั้นถอดกางเกงผู้เสียหายที่ 2 ออกแล้วอุ้มผู้เสียหายที่ 2 ใช้นิ้วมือสอดเข้าไปในทวารหนักของผู้เสียหายที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยอุ้มพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อื่น จำเลยล่วงเกินทางเพศผู้เสียหายที่ 2 ตรงบริเวณที่พบผู้เสียหายที่ 2 นั้นเอง เท่ากับว่าผู้เสียหายที่ 2 มาหาจำเลยเองด้วยความเต็มใจ จำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 มา อีกทั้งมิได้เหนี่ยวรั้งผู้เสียหายที่ 2 ไว้ เช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีการกระทำประการใดอันเข้าลักษณะเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารด้วย
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18)" "กระทำชำเรา" หมายความว่า "การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น เป็นความผิดฐานกระทำชำเรา และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 279 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่น ซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษ..." และวรรคห้า บัญญัติว่า "ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสี่เป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบสามปีต้องระวางโทษ..." ดังนั้นจากบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขดังกล่าว ยังคงบัญญัติว่าการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นยังเป็นความผิดอยู่ มิได้เป็นเรื่องที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง เพียงแต่เปลี่ยนฐานความผิดจากการกระทำชำเราเป็นความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำเท่านั้น ซึ่งตามสภาพทางธรรมชาติในการกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) การปรับบทความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3 แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารโดยการล่วงล้ำตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับหนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและปรับบทลงโทษจำคุกให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษเกินคำขอในฟ้องอาญา และผลของกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง" แม้โจทก์จะนำสืบข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 336 ทวิ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพโดยรับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดตามบันทึกการจับ เอกสารหมาย จ.6 ก็ตาม แต่เมื่อคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ระบุมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษสูงขึ้น อันเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามมาตรา 336 ทวิ ศาลย่อมไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ ได้ เพราะเป็นการเกินคำขอที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องทั้งกรณีมิใช่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และวรรคห้า ปัญหาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 3 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องรับโทษดุจจำเลยที่ 3 ผู้ฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร้องซ้ำ-การยึดทรัพย์-ปล่อยทรัพย์: ศาลฎีกาตัดสินคดีร้องซ้ำหลังคดีถึงที่สุดแล้ว และพิจารณาผลกระทบของการแก้ไขกฎหมายต่อระยะเวลาการยื่นคำร้อง
แม้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างก่อน ป.วิ.พ. มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 มาตรา 20 มีผลใช้บังคับ คือ วันที่ 5 กันยายน 2560 แต่ผู้ร้องยื่นคําร้องขอปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึดหลังจากวันดังกล่าว จึงต้องนําบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่มาบังคับใช้แก่คดี ซึ่งตามมาตรา 323 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "... ให้ยื่นคําร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคําร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคําร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และได้ยื่นคําร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดหรือจําหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย บุคคลนั้นจะยื่นคําร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจําหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น" เมื่อมีการยึดที่ดินพร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ก่อนวันที่ ป.วิ.พ. มาตรา 323 ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับ การที่จะยื่นคําร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดภายในระยะเวลาหกสิบวันนับแต่วันยึดทรัพย์โดยที่บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ยังไม่ใช้บังคับจึงไม่อาจกระทำได้ อีกทั้งก่อนคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินมาก่อน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุด ผู้ร้องจึงมายื่นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ถูกยึดเป็นคดีนี้ จึงถือว่ามีพฤติการณ์พิเศษแล้ว ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคําร้องขอปล่อยทรัพย์สินที่ยึด
ผู้ร้องเคยยื่นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินมาก่อน ตามคําร้องคดีก่อนเป็นการขอให้ปล่อยทรัพย์สินอาคารโรงงานและบ้านพักคนงาน แต่คําขอท้ายคําร้องกลับขอให้ปล่อยทรัพย์สินบ้านพักคนงานและโรงเก็บของ ซึ่งโจทก์ยื่นคำให้การโต้แย้งไว้ชัดแจ้งแล้วว่า ผู้ร้องมิได้มีคําขอให้ปล่อยทรัพย์สินอาคารโรงงาน แต่ผู้ร้องมิได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว จนศาลชั้นต้นคดีก่อนมีคําวินิจฉัยว่าผู้ร้องมีความประสงค์ขอให้ปล่อยทรัพย์สินโรงเก็บของ มิได้ขอให้ปล่อยอาคารโรงงาน ให้ยกคําร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกามีคําสั่งไม่รับฎีกา คดีจึงถึงที่สุด แม้ผู้ร้องมายื่นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินขึ้นใหม่เป็นคดีนี้โดยมีคําขอท้ายคําร้องขอครบถ้วน แต่ก็เป็นการยื่นคําร้องขอโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ผู้ร้องอาจแก้ไขข้อบกพร่องในส่วนคําขอท้ายคําร้องในคดีก่อนเพื่อให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไปพร้อมกับประเด็นคําร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินบ้านพักคนงาน การที่ผู้ร้องหยิบยกข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีก่อนมาร้องเป็นคดีนี้อีก เท่ากับเป็นการแก้ไขคําร้องขอในคดีเดิมให้สมบูรณ์ขึ้น ถือว่าผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับผู้ร้องคดีก่อนรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทซื้อขายที่ดินพร้อมบ้าน และการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 310,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ก็ปรากฏว่ามีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
of 8